รายงาน: ใบปลิวหมิ่นฯ จากเถียงนา ประมวลการสืบพยานคดี 112 ที่ร้อยเอ็ด

ประชาไท 10 ตุลาคม 2555 >>>


นอกจากร้อยเอ็ดจะเป็นจังหวัดที่มีการแจ้งความร้องทุกข์ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวนมาก (ดู รายงานพิเศษ: สถิติที่น่าสนใจของการใช้มาตรา 112 โดย 'I Pad' และ สภ.ร้อยเอ็ด) ล่าสุดยังมีคดีที่ฟ้องร้องกันด้วยมาตรานี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ใช่จากผู้ใช้นามแฝงว่า “I Pad”
คดีที่เกิดขึ้นนี้มาจากกรณีกล่าวหากันว่ามีการแจกใบปลิวที่มีเนื้อหา หมิ่นฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นคดีแรกๆ ที่มีการนำขึ้นสู่ชั้นศาลในจังหวัดร้อยเอ็ด รายงานชิ้นนี้พยายามประมวลคำเบิกความในศาลของฝ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในคดีนี้
คดีดำที่ อ.1292/55 นี้เกิดขึ้นที่อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด โดยนายอุทัย (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดีนี้ ถูกกล่าวหาว่าได้แจกใบปลิวที่มีข้อความหมิ่นพระราชินีและรัชทายาทให้กับผู้อื่น ตั้งแต่เมื่อปี 2552 แต่จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล และได้รับการประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งของข้าราชการที่จำเลยรู้จัก ในตำแหน่งเทียบเท่ากับหลักทรัพย์จำนวน 3 แสนบาท การสืบพยานในคดีทั้งพยานฝ่ายโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นอย่างเงียบๆ ไปแล้วที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 21, 29 สิงหาคม และ 24 กันยายน 2555 และมีกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 พฤศจิกายน ศกนี้
สำหรับ นายอุทัย อายุ 38 ปี เรียนจบชั้นป.6 อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอธวัชบุรี มีอาชีพทำนา และรับจ้างในบริเวณหมู่บ้าน เช่น รับจ้างตัดผมหรือซ่อมจักรยานยนต์ และยังมีโรงสีขนาดเล็กรับจ้างสีข้าวในหมู่บ้าน นายอุทัยแต่งงานแล้วและมีบุตรชาย 1 คน อายุ 14 ปี
ในคดีนี้มีนายธงชัยและนางไพรวัลย์ ตามภิบาล สามีภรรยาซึ่งเป็นผู้อ้างว่าได้รับใบปลิวที่มีเนื้อหาหมิ่นพระราชินีจาก จำเลย โดยทั้งคู่อาศัยอยู่ที่อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด มีอาชีพทำนาและค้าขาย ทั้งคู่เป็นผู้ว่าจ้างภรรยาของนายอุทัยให้ถักรอบคอและแขนเสื้อคอกระเช้ามา เป็นเวลา 2-3 ปีแล้ว โดยจะมีการนำเสื้อไปส่งและไปรับที่เถียงนาบ้านนายอุทัย เดือนละครั้ง และมีภรรยานายอุทัยเป็นผู้กระจายเสื้อให้ชาวบ้านในหมู่บ้านอีกทีหนึ่ง
นายธงชัยได้เบิกความในศาลเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ในวันเกิดเหตุคือเย็นวันที่ 26 ก.ค. 52 ตนและภรรยาได้ไปรับเสื้อที่ถักเสร็จและจ่ายค่าจ้างตามปกติ  ระหว่างรอภรรยาจำเลยนับเสื้อ ตนก็นั่งอ่านหนังสือการ์ตูนรอที่แคร่บริเวณเถียงนา จำเลยได้เข้ามาคุยด้วย และถามว่า “เหลืองหรือแดง” ตนตอบว่า “ไม่เหลืองไม่แดง” จำเลยจึงลุกขึ้นหยิบเอกสารที่เย็บติดกัน จำนวน 7-8 แผ่นจากแผ่นไม้ที่พาดใต้หลังคาเถียงนามาให้ แล้วพูดว่าลองอ่านนี่สิ เมื่ออ่านไปได้ 4-5 บรรทัด เป็นขณะเดียวกับที่ภรรยาของตนนับเสื้อเสร็จ นายอุทัยจึงยื่นเอกสารมาให้แล้วบอกว่า “เอากลับไปอ่านก็ได้”  ตนจึงรับมาแล้ววางไว้หน้าคอนโซลรถตู้ที่ขับมา
จากนั้นสองสามวัน ตนได้ไปทำงานที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และภรรยาได้โทรศัพท์แจ้งว่าผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านมาสอบถามว่าได้เอกสารอะไร จากหมู่บ้านที่จำเลยอยู่หรือไม่ เพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถามถึง ผู้ใหญ่บ้านจึงได้ประกาศและสอบถามชาวบ้าน ตอนแรกตนจำไม่ได้ แล้วก็นึกได้ว่าได้เอกสารมาจากนายอุทัยซึ่งอยู่หมู่บ้านนั้น จึงโทรศัพท์ให้ภรรยาหยิบเอกสารนั้นให้ผู้ใหญ่บ้าน  หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญไปให้ปากคำที่โรงพักทั้งที่ สภ.เชียงขวัญ และ สภ.ธวัชบุรี โดยให้การเช่นเดียวกับที่เบิกความในศาล
ทนายจำเลยได้ถามค้านนายธงชัยในเรื่องสถานที่ที่นายธงชัยอ้างว่าจำเลยหยิบ เอกสารมาให้ โดยชั้นสอบสวนนายธงชัยให้การว่าขณะที่ภรรยาตนนับเสื้ออยู่ ได้หยิบหนังสือการ์ตูนและมีเอกสารใบปลิวนั้นวางอยู่ด้วย ซึ่งไม่ตรงกับที่ได้เบิกความว่าจำเลยหยิบเอกสารจากใต้หลังคายื่นให้ โดยนายธงชัยยืนยันว่าคำเบิกความต่อศาลเป็นความจริง ทนายยังถามถึงสภาพบริเวณเถียงนาที่เปิดโล่ง 4 ด้าน ใครก็สามารถเข้าออกในบริเวณบ้านของจำเลยตามลักษณะบ้านในชนบทได้ ซึ่งนายธงชัยก็ยอมรับว่าใช่ รวมทั้งนายธงชัยยืนยันว่าวันที่ตนไปที่บ้านนายอุทัยและได้รับเอกสารคือวัน ที่ 26 ก.ค. 52 ไม่ใช่วันที่ 24 ก.ค. 52 นายธงชัยยังเบิกความว่าไม่เคยร่วมกิจกรรมทางการเมือง และไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงมาก่อน
นายสว่าง เรืองศักดิ์ ผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านของนายธงชัย เบิกความถึงเหตุการณ์ว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 52 ตนได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่อำเภอเชียงขวัญ สอบถามในลักษณะว่าเห็นใบปลิวหมิ่นฯ ที่หมู่บ้านบ้างหรือไม่ ซึ่งตนไม่ทราบ แต่ในอีกชั่วโมงต่อมาก็มีอาสาสมัครรักษาดินแดนมาถามถึงใบปลิวหมิ่นฯ อีกเช่นกัน ตนจึงถามไปว่าใบปลิวนี้มาจากไหน จึงทราบว่ามาจากอำเภอธวัชบุรี จึงได้ออกไปสอบถามจากลูกบ้านว่ามีใครเห็นใบปลิวหมิ่นฯ บ้างไหม ถามมาเรื่อยๆ จนมาเจอนางไพรวัลย์ ภรรยาของนายธงชัย ที่แจ้งตนว่าได้รับใบปลิวหนึ่งมา และได้หยิบเอกสารนั้นที่วางอยู่หน้ารถตู้มาให้ เป็นเอกสารขนาด A4 จำไม่ได้ว่ากี่แผ่น อ่านแล้วพบว่ามีข้อความหมิ่นเบื้องสูง ตนเห็นว่าไม่เหมาะสม ในวันต่อมาจึงได้นำไปมอบให้ปลัดอำเภอเชียงขวัญ
นายวีระ วรวัฒน์ ปลัดฝ่ายความมั่นคงอำเภอเชียงขวัญ เบิกความว่าเมื่อตนได้รับเอกสารจากนายสว่าง ก็ได้นำเอกสารนั้นไปให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา เมื่อเห็นเป็นเรื่องสำคัญ จะนำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ ผู้บังคับบัญชาจึงมอบหมายให้ตนไปแจ้งความที่ สภ.เชียงขวัญ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
นายวีระตอบคำถามทนายจำเลยว่าตนก็จำไม่ได้ว่านายสว่างนำใบปลิวมาจากใคร จำได้แต่มาจากหมู่บ้านไหน อีกทั้งเอกสารก็ไม่ระบุชื่อว่าใครเป็นผู้ทำ และไม่มีที่มาที่ไป อาจสามารถหยิบไปวางเพื่อให้ร้ายใครต่อใครได้ง่ายก็ได้ อีกทั้งในความขัดแย้งทางการเมือง ยังมีการใช้เรื่องหมิ่นฯ มากลั่นแกล้งกันได้
พ.ต.ท.กฤษฎิณทร์ จันทรศรีชา พนักงานสอบสวนสภ.ธวัชบุรีและเป็นคณะสอบสวนในคดีนี้ ได้เบิกความในศาลว่าตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบกรณีที่มีการ แจกใบปลิว ที่มีเนื้อหาดูหมิ่นและหมิ่นประมาทพระราชินีและรัชทายาท เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 52 จึงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อทางตำรวจภูธรภาค 4 พิจารณาคดีนี้ จึงให้สถานีตำรวจภูธรธวัชบุรีรับคำร้องทุกข์ และตั้งคณะพนักงานสอบสวนในคดี ทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุและพยานหลักฐาน
คณะพนักงานสอบสวนได้มีความเห็นเบื้องต้นว่าจำเลยน่าจะได้กระทำผิด จึงได้ออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ แต่เมื่อเสนอเรื่องไปให้คณะกรรมการคดีหมิ่นฯ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา ได้มีคำสั่งให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติม ในเรื่องความประพฤติของผู้ต้องหา และแหล่งข่าวของนายวีระ และเมื่อเสนอสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมกลับไป คณะกรรมการคดีหมิ่นฯ ได้มีคำสั่งให้ไม่ฟ้องคดี  แต่เมื่อเสนอสำนวนกลับมายังพนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด ทางอัยการได้พิจารณาให้ส่งฟ้อง
ในการเบิกความของ พ.ต.ท.กฤษฎิณทร์ ศาลได้ถามย้ำในเรื่องข้อเท็จจริงจากการสอบสวนหลายครั้งว่านายสว่าง ผู้ใหญ่บ้าน ได้รับใบปลิวจากใครกันแน่ ซึ่ง พ.ต.ท.กฤษฎิณทร์ เบิกความว่าได้มาจากนายธงชัยเป็นผู้หยิบให้เอง ซึ่งไม่ตรงกับที่นายสว่างเบิกความ
ทนายจำเลยยังซักค้านว่าหลักฐานที่ชี้ว่าจำเลยครอบครองเอกสารหมิ่นฯ นี้มาจากคำให้การของนายธงชัยและนางไพรวัลย์เท่านั้น ซึ่ง พ.ต.ท.กฤษฎิณทร์ ยอมรับว่าใช่ อีกทั้งในคำให้การขณะสอบสวนยังไม่มีการกล่าวถึงว่าจำเลยได้ถามนายธงชัยว่า “เสื้อเหลืองหรือแดง” อีกด้วย
นอกจากนั้นยังมีนางไพรวัลย์ ภรรยาของนายธงชัยขึ้นเบิกความให้การเป็นพยานฝ่ายโจทก์ด้วย โดยเบิกความเป็นไปในทิศทางเดียวกับนายธงชัย
ด้าน นายอุทัย จำเลยในคดี เบิกความในศาลว่าภรรยาของตนเคยรับถักเสื้อคอกระเช้า ตั้งแต่ก่อนปี 2552 โดยตอนแรกตนก็ไม่รู้ว่าภรรยารับมาจากใคร เพราะคนที่มาส่งผ้าส่วนใหญ่จะคุยกับภรรยา ตนทราบว่าภรรยาได้ค่าจ้างถักตัวละ 3 บาท วันหนึ่งถักได้ประมาณ 10 ตัว ตอนหลังตนพยายามไม่ให้เอามาทำ เพราะไม่คุ้มค่า ทั้งกับเงินที่ได้และการปวดตา จึงอยากให้เลิกทำ แต่ภรรยาก็ไม่เลิก และเคยทะเลาะกัน จนพูดกับภรรยาว่าถ้าเอามาทำอีก จะเอามาเผาทิ้งให้หมด ซึ่งอาจมีชาวบ้านที่มารับ-ส่งเสื้อได้ยิน เพราะปกติเขาจะเอามาเสื้อทั้งหมดมาส่งที่บ้านตน แล้วชาวบ้านในหมู่บ้านก็มารับเสื้อไปถักต่อ
นายอุทัยเบิกความว่าวันที่นายธงชัยและภรรยามาที่บ้านตนเป็นวันที่ 24 ก.ค. 52 ที่จำได้เพราะเป็นวันเกิดของหลาน ซึ่งเป็นบุตรของน้องสาวภรรยาตน เย็นวันนั้นบิดาของตนนั่งที่ใต้ถุนบ้าน ซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านเดียวกัน ส่วนภรรยาตนไปทำกับข้าวในงานวันเกิดที่บ้านของหลาน ส่วนตนสีข้าวอยู่ที่โรงสี เวลาประมาณ 6 โมงกว่า เห็นไฟรถส่องเข้ามา ก็เลยเดินจากโรงสีไปดู เจอคนที่มาส่งเสื้อ โดยไม่มีใครอยู่บ้าน จึงให้พ่อของตนไปเรียกภรรยา แล้วตนกลับไปสีข้าวต่อด้านหลังและเอาข้าวสารไปส่งตามหมู่บ้าน กลับมาเกือบ 2 ทุ่มกว่า โดยตนไม่ได้เจอใครเลย เข้าใจว่าไปอยู่บ้านที่จัดงานวันเกิด
เกือบเดือนหลังจากนั้น มีเจ้าหน้าที่ของสภ.เชียงขวัญมารับตัวตนไป โดยขับรถมาที่บ้าน เมื่อไปที่ สภ. ก็ถามว่าเขาได้ใบปลิวมาจากบ้านของตน และบอกให้รับสารภาพ แต่ตนไม่รู้เรื่อง ก็เลยไม่รับ ต่อมานายธงชัยมาคุยกับตนข้างล่างสถานี โดยตอนนั้นยังไม่รู้จักชื่อเขา เพราะไม่เคยคุยกับนายธงชัยมาก่อน รู้จักแต่ชื่อนางไพรวัลย์ วันนั้นนายธงชัยบอกให้รับสารภาพ โดยบอกว่าเรื่องนี้มันไม่มีอะไรหรอก แต่ตนก็ไม่ได้รับ และวันนั้นก็ยังไม่รู้ว่าใบปลิวเรื่องอะไรและถูกแจ้งข้อหาอะไร
จนอีก 2-3 เดือนต่อมา ก็มีเจ้าหน้าที่จากสภ.ธวัชบุรีมาที่บ้าน สอบถามเรื่องใบปลิวโจมตีสถาบัน ตนก็บอกว่าไม่เคยเห็น จากนั้นอีกครั้งหนึ่งก็มีเจ้าหน้าที่ไปที่บ้านอีก โดยไปกันหลายคน รวมทั้งนายธงชัยและนางไพรวัลย์ คราวนี้มาถ่ายรูปบ้านด้วย และจะให้ตนลงชื่อเป็นหลักฐานด้วย แต่ตนไม่ได้ลง ต่อมายังถูกเรียกไปให้การอีกหลายครั้งที่สภ.ธวัชบุรี โดยตนปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และได้อ่านใบปลิวก็เมื่อตอนตำรวจเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว
นายอุทัยเบิกความยืนยันว่าวันที่ 26 ก.ค. 52 นั้นไม่มีใครไปที่บ้านตน อีกทั้งครอบครัวตนเป็นชาวนาธรรมดา เทิดทูนพระมหากษัตริย์ ตนสอนลูกสอนเมียให้นับถือท่าน ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มอะไรพวกนี้ และไม่เคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มใดๆ
อัยการถามค้านว่าเหตุใดจึงมีนายคารม พลพรกลาง ซึ่งเป็นทนาย นปช. เป็นทนายของจำเลย นายอุทัยเบิกความว่าตนไม่สตางค์จ้างทนาย น้องชายก็แนะนำให้ไปหาทนายคารม ซึ่งรับว่าความให้ฟรีและตนเคยเห็นในโทรทัศน์ แต่ตนก็รู้ว่านายคารมเป็นทนายของ นปช. อีกทั้งแม้ตนจะพูดว่าจะเผาเสื้อคอกระเช้า แต่ก็ไม่เคยเผาจริงๆ
ส่วนนางสมพาน (ขอสงวนนามสกุล) ภรรยาของจำเลย ได้เบิกความว่าได้รู้จักนางไพรวัลย์ตั้งแต่ตอนที่มาส่งเสื้อ ส่วนนายธงชัยเคยเห็น แต่เพิ่งทราบชื่อตอนที่เกิดเหตุ โดยทั้งสองคนหาคนรับจ้างเย็บเสื้อคอกระเช้า จึงมีคนแนะนำตนมา ในการติดต่อทั้งคู่จะติดต่อกับตนเป็นหลัก แทบไม่ได้คุยกับจำเลย และนายอุทัยเคยบอกตนว่าไม่ต้องรับเสื้อมาทำอีก มันไม่คุ้ม เพราะทำปวดหัว และสายตาเสีย แต่ที่ไม่เลิกเพราะตนอยากมีรายได้ โดยนายอุทัยพูดกับตนค่อนข้างแรง และอาจมีชาวบ้านผ่านมาได้ยิน
นางสมพานเบิกความว่าในวันเกิดเหตุคือวันที่ 24 ก.ค. 52 เป็นวันเกิดหลาน เย็นนั้นตนได้ไปทำกับข้าวงานเลี้ยงในบ้านน้องสาวที่ห่างออกไป 100 เมตร ต่อมาเวลาราว 1 ทุ่มกว่า บิดาของจำเลยได้ไปเรียกตน แจ้งว่ามีคนเอาเสื้อมาส่ง ตนบอกว่าเดี๋ยวจะกลับไป และจนเวลา 2 ทุ่มกลับไปเจอนายธงชัยกับนางไพรวัลย์นั่งรออยู่บนแคร่ โดยไม่มีคนอื่นอยู่ ส่วนจำเลยได้ยินเสียงสีข้าวอยู่ในโรงสี และไม่ได้เดินมาพบทั้งสองด้วย หลังจากนับเสื้อและจ่ายเงินกัน ตนก็ได้กลับไปงานวันเกิดหลานต่อ เมื่อกลับบ้านอีกครั้ง ก็ไม่มีใครอยู่แล้ว และตนไม่เคยได้อ่านใบปลิวที่ถูกอ้างถึงแต่อย่างใด
นอกจากนั้นพยานจำเลยปากอื่นๆ ได้แก่บิดาของจำเลย ผู้ใหญ่บ้าน และเพื่อนบ้านของจำเลย ก็ได้มาเบิกความยืนยันความบริสุทธิ์ของนายอุทัย โดยยืนยันว่าจำเลยไม่เคยมีพฤติกรรมหมิ่นสถาบันฯ ไม่ได้ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับฝ่ายไหน และยืนยันว่าจำเลยมีความประพฤติเป็นคนดีและเป็นที่พึ่งพาของคนในหมู่บ้าน
นายคารม พลพรกลาง ทนายความของจำเลย กล่าวหลังการสืบพยานเสร็จสิ้นว่า ในคดีแบบนี้เท่าที่ตนเจอ เป็นสิ่งที่ใช้กลั่นแกล้งกันง่าย อย่างการเอาใบปลิวที่มีข้อความหมิ่นฯ ซึ่งใครไม่รู้ทำขึ้นง่ายๆ ไปถ่ายเอกสารแล้วไปวาง เมื่อเอาไปวางไว้ที่ไหน ถ้าบ้านคุณก็แจ้งความคุณ ถ้าเอาวางบ้านตนก็แจ้งตนได้เหมือนกัน ซึ่งอย่างนี้มันทำให้เสีย เป็นคดีลักษณะที่ถือว่าสร้างความแตกแยก ทำลายความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เกิดการแบ่งแยก แล้วทำให้คนหนีออกจากสถาบันเพราะความกลัว คดีนี้ค่อนข้างมีปัญหา แต่ก็ต้องติดตามผลการพิจารณาของศาลต่อไป