มติชน 10 ตุลาคม 2555 >>>
นายธาริตชี้ แจงว่าในส่วนของดีเอสไอมีความเห็นถึงการเสียชีวิตของนายวสันต์ ภู่ทอง ที่สี่แยกคอกวัว ถนนตะนาว ไม่ได้ตายด้วยฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ปรากฏว่าญาติผู้ตายได้ยื่นคำร้องกับ บช.น. ในที่สุด บช.น. จึงส่งสำนวน ต่อศาล ทั้งนี้ตนเห็นว่าควรส่งข้อมูลนี้ให้กับศาล เพราะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อคดี ทั้งนี้ยอมรับว่าหลายคดีได้อาศัยพยานเป็นสาระสำคัญ เพราะการเข้าเก็บหลักฐานยากต่อการเข้าถึง เนื่องจากอยู่ในเขตควบคุมของทหาร
"กรณีของชายชุดดำยอมรับว่ามีอยู่ในเหตุการณ์จริง แต่จากการที่ไต่สวนการตาย 36 ศพในส่วนของดีเอสไอพบว่ามี 25 ศพ เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่เกี่ยวกับชายชุดดำ โดยเสนอว่าหากอนุกรรมาธิการชุดนี้มีความเห็นไม่ตรงก็ควรดำเนินการภายใต้ กระบวนการยุติธรรมทางอาญา" นายธาริต กล่าว
'ธาริต' ย้ำ 'ก่อการร้าย' ฟ้องศาลแล้ว
ต่อมานายธาริต ให้สัมภาษณ์หลังเข้าชี้แจงต่อ กมธ. ว่าได้ชี้แจงการดำเนินการของดีเอสไอในคดีดังกล่าวหลายประเด็นโดยภาพรวม ของคดี 4 ประเภท คือ
1. การกระทำเกี่ยวกับการก่อการร้าย
2. การกระทำเกี่ยวกับการขู่บังคับรัฐบาล
3. การกระทำเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ
4. การกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ
รวมทั้งสิ้น 213 คดี จับกุมผู้ต้องหา 295 คน ซึ่งคดี 3 ประเภทคือ การก่อการร้าย การขู่บังคับรัฐบาล และการกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ สรุปสำนวนส่งอัยการสั่งฟ้องต่อศาลแล้ว
นายธาริตกล่าวว่า ที่ดีเอสไอกำลังดำเนินการ เหลือเพียงคดีการทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ 75 คดี จากผู้เสียชีวิต 98 ศพ แยกเป็นคดีฆาตกรรม 31 คดี อีก 44 คดี เป็นคดีพยายามฆ่า สำหรับสาเหตุที่คดีทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่เสียชีวิต ต้องส่งสำนวนให้ ศาลไต่สวนการเสียชีวิต เนื่องจากการเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ดีเอสไอจึงต้องส่งสำนวนให้ บช.น. ทำสำนวนชันสูตร ส่งอัยการ ยื่นศาลไต่สวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ตอนนี้ดีเอสไอส่งสำนวนไปแล้ว 36 ศพ ส่วนมากอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาล
ย้ำ 36 ศพชายชุดดำไม่เกี่ยว
นาย ธาริตกล่าวอีกว่า คณะกรรมาธิการสอบถามในประเด็นเรื่องชายชุดดำ ตนได้ชี้แจงเฉพาะคดีก่อการร้าย ยอมรับว่าในสำนวนที่ส่งอัยการยื่นฟ้องศาลไม่ได้เรียกว่าชายชุดดำแต่ใช้คำว่า "กองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย" ซึ่งจะอนุมานว่าเป็นชายชุดดำก็ได้ แต่ประการสำคัญในคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 98 ศพ หรือ จำนวน 36 ศพ ที่อาจเกิดจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างศาลไต่สวน ไม่มีชายชุดดำเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
"ระหว่างที่ผมชี้แจงในประเด็นดังกล่าวประธาน กมธ.และรองประธานหลายคน ลุกขึ้นโต้แย้งว่านายธาริตชี้แจงแบบนี้ไม่ได้ ห้ามสรุปแบบนี้ ผมไม่ได้สนใจ ยืนยันว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นข้อเท็จจริงตามการสอบสวน จะให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร ผมบอกให้ที่ประชุมบันทึกถ้อยคำที่ชี้แจงเช่นนี้ได้เลย" นายธาริต กล่าว และว่า ไม่ทราบว่าคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว จะมีความเห็นในเรื่องดังกล่าวอย่างไร เป็นเรื่องของความคิดเห็นที่ยังไม่มีข้อยุติ เรื่องนี้จะได้ข้อยุติโดยการไต่สวนของศาล เพราะเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย
นาย ธาริต กล่าวถึงอาวุธของกลางที่รับมอบจากตำรวจว่า เป็นวัตถุพยานของกลางในคดีหลายคดี ยังไม่สามารถคืนให้กับหน่วยงานใด ต้องรอการพิจารณาคดีให้เสร็จสิ้น ส่วนจำนวนของอาวุธที่ได้รับมายังไม่ขอตอบ เพราะยังไม่ทราบตัวเลขที่แท้จริง
บช.น. ระบุดีเอสไอทำคดีปืนหาย
พล.ต.ต. อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. ดูแลงานกฎหมายและคดี เปิดเผยความคืบหน้ากรณี พ.อ.สรรเสริญ ระบุว่าปืนทหารที่ถูกคนเสื้อแดงแย่งไปยังไม่ได้คืนว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ในเรื่องการข่มขู่บังคับรัฐบาลให้กระทำการใดๆ การทำร้ายประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ และการกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของรัฐบาลอันเกี่ยวข้องกับการชุมนุม ตั้งแต่ปลายปี 2552 เป็นต้นไป รวมถึงความผิดที่เกี่ยวพันให้เป็นความผิดคดีพิเศษในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นเป็นคนเซ็นอนุมัติ ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2553 ในส่วนของ บช.น. ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้ทำเพียงสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพเท่านั้น