วรเจตน์ ภาคีรัตน์: เหตุใดจึงควรแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดสถาบันกษัตริย์

ประชาไท 1 ตุลาคม 2555 >>>




สรุปการอภิปรายของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ กลุ่มนิติราษฎร์ ระบุว่า ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของรัฐประหาร 2490 คือ การฝังสำนึกห้ามแตะต้องรัฐธรรมนูญหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เพื่อให้สังคมไทยเดินไปข้างหน้าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ต่อหน้าได้ ถ้าเราต้องการการปรองดองที่สถานฉันท์อย่างแท้จริง อย่างน้อยรัฐธรรมนูญต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สถาบันการเมือง ศาล และกองทัพ

30 ก.ย. 55 นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ร่วมเสวนาหัวข้อ “การรัฐประหารกับระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่ากิจกรรมต่อไปของนิติราษฎร์คือการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเวทีเสวนา วรเจตน์กล่าวว่า รัฐประหาร 2490 โดยผิน ชุณหวัณ เป็นต้นแบบของการทำรัฐประหารปัจจุบันคือ ล้มลางการปกครองแล้วเขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราว และจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ รัฐประหารครั้งที่เปลี่ยนแปลงการเมืองไทยไปโดยสิ้นเชิงคือจอมพลสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปี 2500 ตามด้วย รัฐประหารอีกครั้ง 2501 ใช้เวลายาวนานก่อนจะก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 รัฐประหารอีกครั้งที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกฎเกณฑ์ตามกฎหมายในส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ รัฐประหารปี 2534 โดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2534 ขึ้นมา
รัฐประหารที่สำคัญๆ นั้นส่งผลกระทบต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร แม้บางช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจะปกครองไปในเชิงอำนาจนิยมบ้าง แต่ก็มีกฎหมายเหนี่ยวรั้งอยู่จนถึง พ.ศ. 2489 แต่หลังรัฐประหาร โดยผิน ชุณหวัณ  เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2490 ได้เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ มีผลเป็นการสถาปนาการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ก่อนรัฐประหารปี 2490 กฎเกณฑ์การถ่วงดุลของสถาบันทางการเมืองได้มาตรฐานสากลพอสมควร แต่หลังรัฐประหารครั้งนั้นได้เปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญหลายเรื่อง
ประการแรก คือ การจตัดตั้งให้มีคณะอภิรัฐมนตรี ถ้า ครม. จะเปลี่ยนแปลงนโยบายจากเดิมที่ทำไว้ ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ก่อน
รัฐธรรมนูญปี 2492 ก็ได้เป็นต้นแบบให้รัฐธรรมนูญต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน คือ การกำหนดให้มีองคมนตรี และในกรณีที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการฯ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนฯ กำหนดห้ามยกเลิก-แก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วนการสืบสันตติวงศ์ และอำนาจในการวีโต้กฎหมายของสถาบัน ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้ได้สืบต่อมาถึงรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
นี่จึงเป็นที่มาที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้กลับไปใช้แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามแนวทางก่อนปี 2490 เพราะเป็นการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับองค์กรทางการเมืองที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยมากที่สุด
แม้ปี 2517 รัฐธรรมนูญได้ถูกแก้ให้พระราชธิดาสืบสันตติวงศ์ได้ แต่หลายท่านก็ไม่ทราบยว่าหลังรัฐประหารปี 2534 ได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ 2 เรื่อง คือ ในกรณีที่มีการแต่งตั้งแล้ว ให้เชิญรัชทายาทที่แต่งตั้งไว้โดยให้รัฐสภารับทราบ ต่างจากเดิมที่ให้รัฐสภาเห็นชอบ อีกประการคือ แม้ว่ารัฐธรรมนูญบางช่วงเช่น ปี 2492 จะถึงขนาดห้ามแก้ไขกฎมณเฑียรบาล แต่ปี 2517 ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยวิธีเดียวกับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่กฎเกณฑ์นี้ได้รับการยกเลิกไปปี 2534 เพราะหลังรัฐประหาร รัฐธรรมนูญถาวรปี 34 เพิ่มเติมว่าการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลเรื่องการสืบสัตติวงศ์กระทำได้โดยพระมหากษัตริย์เท่านั้น และหลักดังกล่าวรับกันต่อมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2540-2550 คงไว้เหมือนเดิมทุกตัวอักษร
ขณะนี้กำลังมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีข้อห้ามในทางสาธารณะว่าจะไม่แตะต้องกฎเกณฑ์ในหมวดพระมหากษัตริย์ทั้งๆ ที่ไม่มีการห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญ
ประเด็นสำคัญในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็มีการพูดถึงการแตะหรือเปลี่ยนแปลงหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ คำถามคือ การที่รัฐบาลยกร่างฯ แล้วไม่ให้แตะหมวดกษัตริย์ทั้งหมวดนั้นมากเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดห้ามแก้แค่ 2 ประเด็นคือ ห้ามแก้ไขรูปของรัฐ การห้ามแก้เรื่องพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กับกับห้ามแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ไม่ได้ห้ามแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ ไม่มีการห้ามไม่ให้แก้ไขเรื่ององคมนตรี การห้ามแก้ไขดังกล่าวในร่างแก้ไขฯ ที่กำลังจัดทำนั้น จึงเป็นสิ่งที่มากกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
วรเจตน์ พบว่าการรัฐประหารในระบบกฎหมายไทย ส่งผลในทาง tradition (จารีต) ในหมู่นักกฎหมายไทยตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมาว่า เมื่อผู้ใดยึดอำนาจรัฐแล้วสามารถใช้อำนาจนั้นได้อย่างมั่นคง เขาก็เป็นรัฏาธิปัตย์ ศาลและวงการกฎหมายก็เดินตาแนวคิดแบบนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดการเดินตามแนวคิดแบบนี้ได้ก็ต้องมีการรัฐประหารสำเร็จ ไม่ได้แยกแยะการปฏิวัติในแง่การเปลี่ยนแปลงระบอบกับการแย่งชิงอำนาจรัฐออกจากกัน
อ.หยุด แสงอุทัย ได้เสนอไว้และตนมีความเห็นต่างคือ ประเด็นเรื่องความเป็นรัฎฐาธิปัตย์จากการทำรัฐประหาร โดยอ้างอิงจากศาลเยอรมันหลังสงครามโลกที่มีการสถาปนาอาณาจักรไรซ์ เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐไวมาร์ ตอนเกิดสาธารณรัฐไวมาร์ มีปัญหาว่าตอนเปลี่ยนระบอบ ตัวอำนาจที่ก่อตั้งใหม่จะถูกโต้แย้งไม่ได้ เพราะได้ตั้งอำนาจขึ้นสำเร็จแล้ว เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นรัฏฐาธิปัตย์ในระบอบการปกครองแบบใหม่ เป็นการเปลี่ยนรูปแบบรัฐ การปกครองไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่การแย่งชิงอำนาจจากรัฐบาลดังที่เกิดขึ้นในไทย ซึ่งมีความแตกต่างกัน
ถามว่าของเรามีคราวไหนที่เป็นการเปลี่ยนระบอบอย่างสิ้นเชิง ก็คือ การอภิวัฒน์ 2475 ในทางรัฐศาสตร์ชัดเจนว่าเป็นการปฏิวัติ แม้ไม่ได้เกิดจากการลุกฮือแต่ทำโดยกลุ่มคนคือคณะราษฎร เปลี่ยนระบอบและตั้งมั่นระบอบใหม่ขึ้น แต่การรัฐประหารโดยผิน ชุณหวัณ ไม่ได้เปลี่ยนความคิดผู้ทรงอำนาจรัฐ หรือระบอบการปกครอง แต่เป็นการแย่งชิงอำนาจรัฐบาล แต่นักกฎหมายไทยมักจะเอามาเทียบในระนาบเดียวกัน
เคยมีคนเสียดสีเมื่อครั้งนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างผลพวงรัฐประหารว่า ทำไมไม่เสนอให้ล้มล้างการอภิวัฒน์ 2475 เสียเลย นั่นเพราะเขาไม่เข้าใจว่า 2475 คือการเปลี่ยนตัวระบอบรัฐ มีคุณค่าที่แตกต่างไปจากการยึดอำนาจหรือล้มอำนาจรัฐบาลเฉยๆ เพื่อเปลี่ยนตัวรัฐบาล
วรเจตน์ กล่าวต่อว่า แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ความคิดนี้ก็ฝังแนบแน่นในทางกฎหมาย ทำให้เมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ต้องห้ามเปลี่ยนแปลงหมวดสถาบันฯ ส่งผลให้แก้ไขในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่ององคมนตรีไม่ได้ นี่เป็นความสำเร็จอย่างสูงสุดของการรัฐประหารปี 2490 และรัฐธรรมนูญปี 2492 ที่ได้ทำให้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญปักหลักฝังแน่น ไม่มีใครตั้งคำถามว่าสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ไม่มีใครตั้งคำถามนี้อีกจนถึงปัจจุบัน แนวคิดนี้ก็ดำรงอยู่และจะดำรงอยู่ต่อไปตราบเท่าที่เราไม่สามารถพูดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด โดย strict แค่การไม่แตะต้องรูปแบบการปกครอง
วรเจตน์ กล่าว่า สิ่งที่ปรากฏทุกวันนี้มันรุนแรงกว่า หรือมากกว่าการเขียนห้ามแก้รัฐธรรมนูญเสียอีก เพราะถึงแม้ทุกวันนี้จะไม่ได้ห้ามแก้ในเชิงลายลักษณ์ แต่ที่สุดแล้วทุกคนจะไม่กล้าพูดอย่างตรงไปตรงมา ว่ารัฐธรรมนูญให้แก้ไขหมวดสถาบันฯ ได้อย่างสันติ ผลคือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เหนือการเมืองก็จะปรากฏเป็นจริงไม่ได้ เพราะถูกล็อกไว้โดยสำนึกที่สืบทอดมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2492
เขากล่าวว่า สิ่งที่นิติราษฎร์เสนอลบล้างผลพวงการรัฐประหารนั้นเป็นเพียงเทคนิค แต่เราไม่ได้เสนอเลยไปถึงเรื่องสำนึกเพราะไม่สามารถเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ความสำเร็จของการทำรัฐประหารในสังคมไทยไม่ได้สำเร็จเพียงแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญ แต่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของรัฐประหาร 2490 ก่อเกิดธรรมนูญชั่วคราว และรัฐธรรมนูญปี 2492 คือ การฝังสำนึกห้ามแตะต้องรัฐธรรมนูญหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์
   “เพื่อให้สังคมไทยเดินไปข้างหน้า เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ต่อหน้าเราได้ ถ้าเราต้องการการปรองดอง ที่สมานฉันท์อย่างแท้จริง อย่างน้อยรัฐธรรมนูญต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สถาบันการเมือง ศาล และกองทัพ” วรเจตน์ กล่าว
เขากล่าวว่า แต่ตราบที่สำนึกเช่นนี้ยังมีอยู่ การเปลี่ยนแปลงโดยการเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญใหม่จึงไม่ได้ทำได้ง่ายนัก การรัฐประหารไม่ได้สำเร็จได้ด้วยอำนาจทหาร แต่สำเร็จได้โดยการไม่ต่อต้านหรือมองเห็นกฎเกณฑ์ที่เป็นผลผลิตของการรัฐประหาร
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์ให้ย้อนไปสู่กฎเกณฑ์ก่อนปี 2490 คือ ต้องเปิดโอกาสให้คนที่เขาเห็นเป็นอย่างอื่นได้มีโอกาสพูดในที่สาธารณะ และมาอภิปรายกันว่า อะไรดีกว่า แล้วให้คนส่วนใหญ่ได้เลือกทางของเขาที่จะเดินต่อไปในวันข้างหน้าอย่างดีที่สุดกับสังคมและประเทศชาติ
   “ผมตั้งใจพูดกับท่านเป็นประเด็นหลักประเด็นเดียวเพราะผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้” วรเจตน์ กล่าว