สรุปปาฐกถาเกษียร เตชะพีระ: นักกฎหมายไทยกับการรัฐประหาร

ประชาไท 1 ตุลาคม 2555 >>>





วิดีโอและสรุปปาฐกถา เกษียร เตชะพีระ ในงานเสวนานิติราษฎร์ 2 ปีนิติราษฎร์ 6 ปีรัฐประหาร มุมมองจากนักรัฐศาสตร์ที่มองพัฒนาการบทบาทของนักกฎหมายในการสร้างความชอบ ธรรมให้รัฐประหาร หน้าที่ในเชื่อมรอยต่อเผด็จการกับประชาธิปไตยให้เรียบเนียน โดยยึดถือการดำรงอยู่และอำนาจของสถาบันกษัตริย์

30 ก.ย. 55 เกษียร เตชะพีระ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาในงาน “นิติราษฎร์เสวนา: 2 ปี นิติราษฎร์ 6 ปีรัฐประหาร” ในหัวข้อ นักกฎหมายไทยกับการรัฐประหาร
เกษียร กล่าวว่า ความสัมพันธ์ของนักกฎหมายไทยกับรัฐประหารเหมือน “ผีเน่ากับโลงผุ” คือ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการกับภาชนะเครื่องมือที่ไม่เลือกนาย คือ ต่อให้เป็นผีเน่าก็ช่าง ถ้าเรียกใช้บริการของโลงผุแล้ว โลงผุก็พร้อมจะสนองรับใช้ ซึ่งผลของมันก็คือ หลักนิติธรรมของรัฐก็ผุผังสึกกร่อนกันไปหมด โดยเกษียร ได้หยิบยกบทกลอนของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่เขียนถึงผีเน่ากับโลงผุว่า

ฉันนั้นความเปื่อยเน่าเป็นของแน่ ย้อมเกิดแก้ความนิ่งทุกสิ่งสม
แต่แล้วความเน่าในเปือกตม ก็ผุดพรายให้ชมซึ่งดอกบัว

   “ผมคิดว่านิติราษฎร์ คือ ดอกบัวที่ผุดพรายขึ้นมาจากความเปื่อยเน่า” เกษียรกล่าว

เกษียร กล่าวถึงประเด็นนักกฎหมายกับการรัฐประหาร โดยอ้างคำพูดของ ไพศาล พืชมงคล กับการรัฐประหาร คปก. ไพศาลเป็นนักกฎหมายคดีการเมือง อดีตนักเคลื่อนไหวสมัย 14 ต.ค. 6 ต.ค. ไพศาลจับภาพความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างนักกฎหมายกับรัฐประหารอย่างชัดเจน มีชีวิตชีวา ซึ่งความตอนหนึ่งระบุว่าต้องเดินทางเขาไปยังกองบัญชาการทหาร โดยมีโน้ตบุ๊กและตำรารวมทั้งกฎหมายต่างๆ อย่างฉุกเฉินกลางดึก
ทำไม ทหารต้องการนักกฎหมายเวลาก่อรัฐประหาร  เกษียร เตชะพีระ กล่าวว่า ศาสตราจารย์ เฟรด วอเรน ริกส์ เสนอว่าการเมืองไทยเป็นอำมาตยาธิปไตย โดยมีความสัมพันธ์แบบสนธิพลังร่วมระหว่างทหารกับข้าราชการพลเรือน คือทหารเท่านั้นที่ยึดอำนาจได้เพราะมีกำลังอาวุธ ขณะที่ข้าราชการพลเรือนไม่มี แต่แม้ทหารจะขึ้นเป็นผู้นำก็ต้องอาศัยข้าราชการพลเรือนที่จะสามารถทำในสิ่ง ที่ทหารขาด คือ ความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ด้านเทคนิคอันสลับซับซ้อน เช่น ต้องออกประกาศคำสั่ง ต้องร่างรัฐธรรมนูญ วางแผนเศรษฐกิจ การทูต ฯลฯ ทหารจึงต้องแบ่งอำนาจให้ข้าราชการพลเรือน เนติบริการ รัฐศาสตร์บริการ เทคโนแครตการคลังการเงิน ผีเน่าจึงต้องการโลงผุด้วยประการฉะนี้
เกษียร ยังกล่าวถึงสองสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่จากการปฏิวัติ 2475 คือ นิติรัฐ และการใช้กำลังทหารยึดอำนาจ  ในช่วงของรัฐบาลจอมพล ป. จะพบว่ามีความพยายามประสานสองหลักนี้ คื มีหลักนิติรัฐอยู่และเหนี่ยวรั้งไม่ให้เป็นเผด็จการ ตลอดสมัยรัฐบาลจอมพล ป. จะดีจะชั่วหลักนิติรัฐยังมี แต่ยังมีการใช้กำลังบังคับ ไม่ว่าจะเป็นศาลพิเศษหรือออกกฎหมายพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่มันยังมีสมดุลบางอย่างระหว่างของใหม่สองอย่างที่เป็นไปได้ว่าจะขัดกัน
ดุลมาเสียไปหลัง 2490 เข้าสู่ยุคจอมพล ป. สมัยสอง เหลือแต่จอมพล ป. คณะทหารและเผ่า ศรียานนท์ มาคุมตำรวจ เริ่มมีการใช้อำนาจเถื่อนของผู้รักษากฎหมายโดยเฉพาะตำรวจ มีการใช้กำลังบังคับ จี้ลักพาตัว ฆ่าปิดปาก โดยพลตำรวจอัศวินแหวนเพชร และการฆาตกรรมทางการเมืองก็เริ่มอย่างเป็นเรื่องเป็นราว คนที่เคยเห็นหน้าค่าตาลุกขึ้นมาฆ่ากันเป็ฯว่าเล่นเป็นสิบๆ ศพ มีการฆ่าทางการเมือง ปูทางไปสู่จุดสุดยอดในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ ไปสู่ยุค ‘กฎหมายนั้นหรือก็คือกู’ มีการใช้กำลังบังคับด้วยอำนาจเผด็จการ ยิงเป้า จับคนขังคุก ยึดทรัพย์ ปฏิวัติ และสุดท้ายการฆ่ากันทางการเมืองได้ขยายมาสู่การฆ่าประชาชนซึ่งต้องสงสัยว่า เป็นผู้ก่อการร้ายทางการเมือง เช่น กรณีถีบลงเขาเผาลงถังแดง
นี่คือ หลัก The Rules of Law กลายมาเป็น The Rules of กู, มีการบัญญัติมาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 ที่ระบุว่าให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือ กระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบ ด้วยกฎหมาย นี่คือการทำให้หลักกูกลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอย่างเป็นระบบ และเมื่อกระทำการใดๆ แล้วก็แจ้งให้สภาทราบ เช่นยิ่งเป้าคนแล้วค่อยมาบอกสภา
อะไร คือผลของมาตรา 17 มันคือการรวบอำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการไว้ในมือนายกรัฐมนตรีคนเดียว มันคือการทำให้อำนาจอาญาสิทธิ์แก่คนๆ เดียวได้ปกครองอย่างไม่มีใครขัดขวางได้ กลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยเอาไปบัญญัติไว้ในมาตรา 17 จะบัญญัติเช่นนั้นได้ต้องใช้นักกฎหมาย นักกฎหมายจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสถาปนาหลักกูแทนที่หลัก The Rules of Law เกิดนิติธรรมอย่างไทยขึ้น
เกษียร กล่าวว่า อาจารย์เสน่ห์ จามริก ชี้ไว้ในหนังสือการเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญว่า บรรดาประกาศ คำสั่งคณะปฏิวัติที่ก่อโดยคนถือปืน ได้รับการปฏิบัติต่อจากนักกฎหมายว่า ศักดิ์สิทธิ์เทียบกฎหมายที่ผ่านสภาฯ โดยชอบ นี่เปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของนักนิติศาสตร์ไปอย่างมหาศาล ซึ่งปรีดี พนมยงค์เคยกล่าวว่า หน้าที่ของนักกฎหมายคือการอธิบายหลักที่ว่าด้วยสิทธิของมนุษยชนอันจำเป็นสูง สุดในการศึกษากฎหมายปกครอง และยืนยันว่ากำเนิดแห่งระบอบรัฐธรรมนูญไทยเป็นข้อตกลงหรือสัญญาอันเป็นพระราชประสงค์ของพระปกเกล้าฯ ที่เป็นแม่บทสำคัญ ไม่อาจถวายคืนได้
แต่หลักการนี้ได้เปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญโดยนักนิติศาสตร์ในระบอบประชาธิปไตยแบบ หลัง 14 ตุลาฯ เช่นบวรศักดิ์ อุวรรณโณ, มีชัย ฤชุพันธ์, วิษณุ เครืองาม นำเสนอตีความว่ากำเนิดแห่งรัฐธรรมนูญไทยนั้นเป็นพระบรมราชานุญาต และดังนั้นการถวายพระราชอำนาจคืน ในความหมายถวายอำนาจอธิปไตยคืนจึงเป็นไปได้ในหลักกฎหมายและทำได้ในความเป็น จริง และยังได้อธิบายความชอบธรรมแห่งธรรมราชา จนหลักเหล่านี้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติส่วนที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของรัฐ ธรรมนูญไทย
   “ฝรั่งนั้นเสมอภาคกันแบบลูกกำพร้าไม่มีพ่อ ไม่สามารถซาบซึ้งกับหลักพ่อปกครองลูกแบบไทยๆ ได้” เกษียร กล่าว
เขากล่าวด้วยว่า บทบาทสำคัญของนักกฎหมายกลุ่มนี้คือ หนึ่ง เป็นช่างเทคนิคด้านอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ โดยนักกฎหมายเหล่านี้มีความสามารถเป็นพิเศษในการจำกฎหมายจำนวนมาก ใครๆ ต้องวิ่งไปหามีชัย บวรศักดิ์ วิษณุ บุคคลเหล่านี้ ก็จะไปนั่งตำแหน่งสำคัญด้านกฎหมายเป็นประจำ เป็นการส่งต่อกัน ไม่ว่าจะเป็น เลขานายก รองนายกฯ และคณะกรรมการกฤษฎีกา เรียกว่า เป็นช่างเทคนิคด้านอำนาจอธิปไตย
สอง นักกฎหมายเหล่านี้จะเกลี่ยเชื่อมรอยต่อการเมืองการปกครองระหว่าง ประชาธิปไตยกับเผด็จการ คือไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็ล้วนมีสิ่งเดียวกัน คือมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทั้งสิ้น ดังนั้นการเปลี่ยนระบอบที่เป็นเรื่องใหญ่ในที่อื่นๆ จึงเป็นเรื่องเกลี่ยเชื่อมได้โดยรักษาสถาบันและความมั่นคงของสถาบันไว้เป็น หลัก โดยอ้างงว่าสถาบันกษัตริย์เป็นที่สถิตของอำนาจอธิปไตย การเปลี่ยนผ่านจึงลื่น เนียน  เพราะมีสถาบันกษัตริย์เป็นหลักยึดอยู่ ท่านเหล่านี้ยังประสานหลักนิติธรรมกับอำนาจธรรมราชา แสดงออกเป็นรูปธรรมในปรากฏการณ์ ‘ตุลาการภิวัตน์’ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เรื่องที่ผิดปกติหรือเป็นความเจ็บป่วยทางสังคมนี้ กลายเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นธรรมชาติของ 'ความเป็นไทย' ไป
ปัญหา เกิดคือเมื่อมีนักกฎหมายที่ไมเห็นด้วย คือนิติราษฎร์ ซึ่งเป็น ‘ปีศาจ ของธรรมศาสตร์’ ดูง่ายๆ ก็คือ หาที่จัดงานยาก ต่างกับการจัดเวทีแบบอื่นๆ เช่น จะต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างไร แต่หัวข้อที่นิติราษฎร์จัดคือ การต่อต้านรัฐประหาร และมีอะไรบางอย่างที่แปลกใหม่ไม่เป็นที่คุ้นเคยในงานวิชาการ เช่น ก่อนเวทีเริ่มจะมีการเอาขนมไหว้พระจันทร์ หรือเอาหนังสือมาให้ อ.วรเจตน์ เซ็นต์ชื่อ
นอกจากนี้สิ่งที่นิติราษฎร์ทำนั้นผิดหลักธรรมชาติ ธรรมดาของนักกฎหมาย และแปลก คือไม่ยอมรับอำนาจของการรัฐประหาร ขณะที่รูปแบบกิจกรรมของนิติราษฎร์โดยเฉพาะในระยะหลัง เริ่มนำเสนอหัวข้อที่แหลมคมขึ้น เช่น การลบล้างผลพวงรัฐประหาร
เกษียร กล่าวถึงข้อเสนอต่อนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ระบุว่า คำขวัญของนิติราษฎร์ คือ ‘นิติศาสตร์เพื่อราษฎร’ นั้น น่าคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้เป็น ‘ธรรมศาสตร์เพื่อราษฎร’  เพราะนิติราษฎร์ไม่ได้โดดเดี่ยว หรือไม่มีเพื่อนมิตรที่เห็นด้วย แต่ควรมีการขยายแวดวงการเสวนาทางวิชาการ และรูปแบบอื่น ไม่เฉพาะการจัดตลาดวิชาการเพื่อมวลชน โดยกระบวนการนั้น นิติราษฎร์และเพื่อนนักวิชาการจะได้แลกเปลี่ยนและปรับแนวคิดให้หลากหลายขึ้น ไปสู่รัฐศาสตร์เพื่อราษฎร เศรษฐศาสตร์เพื่อราษฎร ประวัติศาสตร์เพื่อราษฎร วารสารศาสตร์เพื่อราษฎร เพื่อกลับไปสู่จิตวิญญาณเดิมของมหาวิทยาลัยแห่งนี้คือ ธรรมศาสตร์ทั้งธรรมศาสตร์เพื่อราษฎร