"ลุงคิม" ศพ 99-สลายม็อบแดง

ข่าวสด 23 ตุลาคม 2555 >>>




เป็นศพที่ 99 แล้วสำหรับยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน พ.ค. 2553 โดยเหยื่อรายล่าสุดคือ "ลุงคิม" นาย ฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง อายุ 55 ปี ถูกยิงบริเวณแยกบ่อนไก่ ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเป็นอัมพาต ต้องเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลด้วยความทุกข์ทรมานถึง 2 ปี ก่อนเสียชีวิตลงท่ามกลางความโศกเศร้าของครอบครัวและญาติพี่น้อง จากคดี 98 ศพ กลายเป็นคดี 99 ศพทันที
เรื่องดังกล่าวได้รับการเปิดเผยจาก พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค.2553
ระบุขณะเข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการในสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มีการเสียชีวิตของเหยื่อสลายม็อบเสื้อแดงเพิ่มเติมภายหลังอีก 1 ราย
โดยกรณีของลุงคิมซึ่งเป็นศพที่ 99 นั้น ถือเป็น 1 ใน 16 ผู้เสียชีวิตที่ย่านบ่อนไก่ ถ.พระราม 4
ถูกยิงด้วยกระสุนขนาด .223 จากปืน เอ็ม 16 เข้าด้านหลัง 2 นัด เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2553 ช่วงเวลา 12.20-13.06 น. หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบ่อนไก่ พื้นที่สน.บางรัก ขณะออกมาทำธุระกับครอบครัว
กระสุนเข้าที่หน้าอก ปอดรั่ว ต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ซึ่งผลจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ลุงคิมกลายเป็นอัมพาต ครึ่งตัว ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องรักษาตัวอยู่ที่ร.พ. มเหสักข์ ย่านบางรัก
ต่อมาเข้ารับการผ่าตัดกระดูกต้นคอเสื่อมซึ่งเป็นผลมาจากคมกระสุน แต่อาการแย่ลงเรื่อยๆ กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2555 สอบสวนพยานในที่เกิดเหตุหลายปากชี้ว่า ถูกยิงโดยกระสุนปืนจากแนวเจ้าหน้าที่รัฐ
วันนี้ศพของลุงคิมเผาเรียบร้อยแล้วที่วัดหัวลำโพงเมื่อปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา แต่ในทางคดียังเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์และค้นหาความจริงกันต่อไป
กล่าวสำหรับลุงคิม ขณะมีชีวิตประกอบอาชีพขายส่งอาหาร ของขบเคี้ยวเล็กๆ น้อยๆ จำพวกถั่ว ปลากรอบ อยู่ในแฟลตบ่อนไก่ มี นางวรานิษฐ์ อัศวสิริมั่นคง เป็นภรรยา และลูกๆ อีก 2 คน คนโตอายุ 20 ปี คนเล็ก 16 ปี
โดยภรรยานั้นช่วยหารายได้เสริมด้วยการขายของ และอื่นๆ จุนเจือครอบครัวอีกทาง รายได้ 2 คนรวมกันประมาณ 4 หมื่นบาทต่อเดือน พออยู่พอกิน ส่งเสียลูกเรียนหนังสือได้สบาย
แต่ภายหลังลุงคิมถูกยิง ต้องอยู่ในห้องไอซียูนานหลายเดือน นางวรานิษฐ์จึงต้องพักงานเพื่อคอยดูแลทำกายภาพบำบัด ทำให้ไม่มีคนหารายได้เลี้ยงครอบครัว ฐานะทางบ้านเริ่มย่ำแย่
ขณะที่เงินเยียวยาที่ได้รับจากรัฐและสวัสดิการต่างๆ มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก การเดินทางไปติดต่อราชการแต่ละครั้ง หมายความว่าต้องทิ้งสามีไว้ที่บ้านคนเดียว ที่สำคัญกว่าจะได้รับเงินแต่ละก้อน ต้องรอนานมาก
หลังจากเงินที่เคยเก็บออมไว้แทบไม่เหลือ สุดท้ายนางวรานิษฐ์ตัดสินใจออกมาหางานทำ ได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนๆ คนเสื้อแดง เวลาปรนนิบัติดูแลสามีจึงเหลือเพียงสัปดาห์ละ 2 วัน กระทั่งลุงคิมเสียชีวิตลง
สำหรับเหตุการณ์วันเกิดเหตุ นางวรานิษฐ์เล่าว่า ช่วงเวลา 11.00 น. ของวันที่ 14 ต.ค. 2553 ตนพร้อมด้วยสามีและลูกทั้ง 2 คน กำลังออกไปรับประทานอาหาร โดยยืนรอรถเมล์อยู่บริเวณปากซอยปลูกจิต ถ.พระราม 4 ย่านบ่อนไก่
ระหว่างนั้นมีเสียงดังขึ้น แต่ไม่ทราบว่าเสียงอะไร ช่วงเวลานั้นรถประจำทาง รวมถึงรถส่วนตัวเริ่มบางตาลง ไม่นานก็มีเสียงปืนดังขึ้น คนที่อยู่บริเวณ ดังกล่าวต่างตื่นตกใจและวิ่งหนี
สามีซึ่งเพิ่งผ่าตัดมะเร็งและเพิ่งจะเดินได้ ทำให้วิ่งไม่เร็ว ตะโกนบอกให้ตนนำลูกเข้าไปหลบในร้านสะดวกซื้อ แต่ตนตัดสินใจพาลูกวิ่งเข้าซอยกลับไปยังห้องพัก ช่วงเวลานั้นมีเสียงปืนดังขึ้นตลอดเวลา
นางวรานิษฐ์ระบุว่า ต่อมาตนพยายามติดต่อสามีเป็นระยะ แต่ไม่รับโทรศัพท์ เมื่อกลับถึงห้องได้ไม่นาน ร.พ.กล้วยน้ำไท โทร. มาบอกว่าสามีถูกยิง กำลังรักษาตัวอยู่ที่ ร.พ.
จากคำบอกเล่าของแพทย์ทราบว่า สามีถูกยิงด้วยกระสุนไม่ทราบชนิด 2 นัดที่หลัง นัดหนึ่งยิงทะลุกระดูกสันหลัง หัวกระสุนจำนวนหนึ่งแตกไปโดนปอด ส่งผลให้กระดูกสันหลังและเส้นประสาทบริเวณนั้นได้รับความเสียหาย
สามีกลายเป็นอัมพาตช่วงล่างในระยะแรก ก่อนจะลามมายังแขน ต้นคอ กระดูกซี่โครงบริเวณรอบปอดในภายหลัง จนในที่สุดสามีเริ่มมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก แพทย์ต้องเจาะคอเพื่อช่วยหายใจในวันที่ 5 ธ.ค. 2554 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา
   "ช่วงแรกสามียังมีกำลังใจดี อยากจะอยู่ต่อ แต่เริ่มมาท้อช่วงเดือน ก.ย. 2554 เพราะเขาเริ่มแน่นหน้าอก หายใจไม่ได้"
   "เขาพูดว่าทรมาน เริ่มกลัวและตกใจ หมอบอกว่าเป็นผลมาจากกระสุนที่ยิงโดนกระดูกสันหลังซึ่งเป็นจุดสำคัญ ทำให้อวัยวะบางอย่างเริ่มเสื่อม" ภรรยาลุงคิม เล่า
พร้อมเผยด้วยว่า ส่วนกระสุนอีกนัดนั้นตกค้างอยู่ที่สะบักขวา ไม่ได้รับการผ่าตัดออกเนื่องจากอยู่ในจุดอันตราย กระสุนนัดนี้ยังคงอยู่จนวาระสุดท้าย
และมันกำลังจะถูกนำออกมาเป็นหลักฐาน
ในส่วนของความช่วยเหลือจากรัฐ ภรรยาลุงคิมบอกว่า ก่อนสามีจะเสียชีวิต ครอบครัวได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลในกรณีที่สามีเป็นผู้ทุพพลภาพ
แต่หลังจากสามีเสียชีวิตแล้ว ได้ยื่นเรื่องขอรับเงินเยียวยากรณีผู้เสียชีวิต ตนตั้งใจจะนำเงินจำนวนนี้เป็นทุนการศึกษาของบุตรสองคนต่อไป
ด้าน นายปกรณ์ พันธุ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า กรณีลุงคิมหากได้รับเงินเยียวยาไปแล้ว ไม่ว่าประเภทใด ถือว่าคณะทำงานได้ประเมินแยกประเภท ณ เวลานั้น ซึ่งหากหลังจากนั้นเสียชีวิตลง คณะทำงานเปิดโอกาสให้ญาติหรือผู้เกี่ยวข้องยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อพส.ได้อีก โดยพส.จะมีทีมกฎหมายและทีมแพทย์ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน
ก่อนนำเรื่องส่งที่ประชุมคณะทำงาน ปคอป. ที่มี นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณาขั้นตอนสุดท้ายต่อไป
เป็นศพที่ 99 ที่ "คนอยู่" ต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยา และ "คนตาย" ต้องได้รับความยุติธรรม โดยเฉพาะเบื้องหลังทางคดีว่าการเจ็บ-ตายครั้งนี้ มีใครสั่งการหรือไม่