ความเหมือนกันและความแตกต่างระหว่าง 6 ตุลา 19 และ เมษา-พฤษภา 53

บทความ 7 ตุลาคม 2555
โดย ธิดา ถาวรเศรษฐ ....




เหตุการณ์ 6 ตุลา ปี 2519 มาถึงบัดนี้ก็ครบรอบ 36 ปี ถ้าเป็นเด็กเพิ่งเกิดก็สู่ระยะผู้ใหญ่เต็มตัวมีครอบครัวกันแล้ว คนที่ผ่าน 6 ตุลา ถ้าตอนนั้นเป็นหนุ่มอายุ 20-24 ปี มาเวลานี้อายุก็กว่า 55 ถึง 60 ปีเป็นอย่างต่ำ และถ้าย้อนหลังไปอีกสามปีคือคนรุ่น 14 ตุลา 16 อายุก็ต้องประมาณ 60 ปีขึ้นไป พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นผู้เฒ่ากันแล้วทั้งสิ้น
กาลเวลาที่ผ่านมาจนบัดนี้จึงได้พิสูจน์ว่าผู้ที่ได้ชื่อว่าต่อสู้กับเผด็จการทหารมาด้วยกันและสังคมให้เครดิตว่าเป็นคนก้าวหน้านั้น บัดนี้ได้แยกทางกลายเป็นอยู่คนละฟากฝั่งทางการเมือง และพิสูจน์ว่าคนเหล่านั้นก้าวหน้าแท้จริงหรือไม่ ? และนิยามคำว่าก้าวหน้าต้องกลับมาทบทวนหรือไม่ ? อย่างไร ?
เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นบาดแผลลึกสำหรับนักต่อสู้ฝ่ายประชาชนที่ยังแตะเจ็บ กดเจ็บ และริ้วรอยบาดแผลมีลึกอยู่ทั่วตัว แล้วมาซ้ำเติมด้วยบาดแผลการต่อสู้เมื่อพฤษภาคม 2535 และตอกลึกบาดแผล 6 ตุลา แผลแบบเดียวกัน ซ้ำอีกในเมษา-พฤษภา 2552-2553 จนถึงปัจจุบัน
นี่ยังเป็นการกระทำซ้ำรอยประวัติศาสตร์แบบเดิม ๆ พล็อตเรื่องคล้าย ๆ กัน ตัวแสดงก็คล้าย ๆ กัน เมื่อนำภาพวีดีโอเหตุการณ์ 6 ตุลามาแสดงให้คนเสื้อแดงดู จึงเท่ากับการแสดงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนที่เกิดขึ้นจริงเมื่อ 36 ปีที่แล้วที่เหี้ยมโหด อำมหิต ป่าเถื่อนอย่างไม่น่าเกิดขึ้นได้ในประเทศนี้
ความเหมือนกันระหว่างเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 กับเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 คือ
1. ความเหี้ยมโหด ป่าเถื่อน เพราะผู้กระทำเป็นกลุ่มจารีตนิยมแบบเดียวกันที่กลัวพลังอำนาจจะถูกประชาชนแย่งยึดไป แม้ว่าในตอนนั้นพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมของตนคือพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นรัฐบาลอยู่ก็ตาม พระกิติวุฒโทที่เป็นพลังจารีตนิยมถึงกับมีการเทศนาว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ความหมายคือ นิสิต นักศึกษาในธรรมศาสตร์และคนก้าวหน้าเวลานั้นล้วนเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งหมด พูดง่าย ๆ ก็คือพวกจารีตนิยมถือการฆ่าศัตรูทางการเมือง (เจ็ดชั่วโคตร) เป็นเรื่องชอบธรรม เป็นเรื่องที่ต้องทำ ใช้วิธีป่าเถื่อนแบบไหนก็ได้
2. การสร้างองค์กรประชาชนขึ้นมาปะทะกับประชาชนที่ลุกขึ้นมาชุมนุมประท้วงเพื่อให้ประชาชนมีส่วนในอำนาจการเมืองการปกครองที่มากขึ้น ในยุค6ตุลาก็มี นวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน โดยมีกลไกกลุ่มจารีตนิยมสุดโต่ง หน่วยงานความมั่นคงในระบบและนอกระบบ เช่น ลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มวิทยุความมั่นคง ทั้งหมดนี้ควบคุมโดยเครือข่ายระบอบอำมาตย์และพวกจารีตนิยม พวกหน่วยงานความมั่นคง
สำหรับองค์กรประชาชนที่ใช้ปะทะกับประชาชนในยุคนี้ก็เริ่มด้วยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ทำงานได้ผลอย่างยิ่ง สามารถดึงพลังจารีตนิยมในประเทศมาได้ทั้งหมด รวมทั้งชนชั้นกลาง ปัญญาชน เอ็นจีโอ สื่อ และกลไกรัฐอำมาตยาธิปไตยทั้งมวล แน่นอนรวมทั้งกองทัพและการเกิดตุลาการภิวัตน์กระทั่งอดีตคอมมิวนิสต์
6 ตุลา 19 ใช้กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านปะทะนักศึกษาปัญญาชน รัฐประหาร 2549 และเมษา-พฤษภา 53 ใช้องค์กรที่มีตัวแทนกรรมกรรัฐวิสาหกิจ เอ็นจีโอ สื่อ พรรคการเมือง ทุนที่พ่ายแพ้เศรษฐกิจแบบทุนนิยม และนายทุนเก่าที่ทุนพ่ายแพ้ต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมาชนกับประชาชนชั้นล่าง รากหญ้าของสังคมและกลุ่มทุนใหม่ที่ได้อำนาจจากการเลือกตั้ง แต่ในที่สุดกลุ่มจารีตนิยมอื่น ๆ ก็ตามออกมาเพื่อแสดงตนเป็นผู้ปกป้องสถาบัน มีทั้งที่เปิดเผยและที่แทรกซึมอยู่ในพรรคไทยรักไทย (พรรคพลังประชาชน) และพรรคเพื่อไทยก็ตาม กลุ่มจารีตนิยมที่ไม่แสดงตัวเปิดเผยแต่ปะปนทั้งในพรรคเพื่อไทย บ้านเลขที่ 111 และคนเสื้อแดงก็จะแสดงตัวเป็นคราว ๆ แต่จะสำแดงฤทธิ์เดชในเวลาที่ต้องการผล จะก่อผลเสียหายให้แก่พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงที่พูดนี้ไม่ได้ต้องการให้วิตกเกินเหตุ
3. การสร้างพล็อตเรื่องเพื่อปราบปรามที่เหมือนกัน คือ การหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุค 6 ตุลา 19 นั้น ความหวาดกลัวของกลุ่มจารีตนิยมขึ้นสูงสุด เมื่อสงครามปฏิวัติของกลุ่มประเทศอินโดจีนได้เกิดขึ้นและพรรคประชาชนที่ปฏิวัติประสบชัยชนะรุกคืบมาเป็นลำดับ เกิดสงครามระหว่างค่ายที่เรียกว่าค่ายเสรี คือค่ายที่มีสหรัฐและพันธมิตรทำสงครามกับค่ายสังคมนิยม เพื่อที่ประเทศไทยจึงเป็นป้อมปราการสำคัญของโลกตะวันตกที่ต้องการหยุดยั้งค่ายสังคมนิยมให้ได้ กลุ่มจารีตนิยมและสถาบันพระมหากษัตริย์จึงถูกสหรัฐและพวกใช้เป็นเครื่องมือ ทั้งสงครามในสนามรบจริงและสงครามจิตวิทยา ส่วนกลุ่มจารีตนิยมก็ต้องอาศัยสหรัฐเป็นผู้อุปถัมภ์ เป็นเพื่อนใกล้ชิด เพื่อให้ตนเองยังครองอำนาจอยู่ได้ในสังคมไทย ไม่สูญเสียอำนาจให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย
การหมิ่นพระมหากษัตริย์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำรัฐประหารทุกครั้ง ลองอ่ายประกาศของคณะรัฐประหาร 2519 และประกาศคณะรัฐประหาร 2549 เปรียบเทียบกันดูหรือการทำรัฐประหารตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา จะเหมือนกันเพียงแต่ในยุคสังคมเย็นจะระบุเรื่องคอมมิวนิสต์จริง ๆ พอหมดยุคสงครามเย็นก็จะอ้างเรื่องคอรัปชั่นโกงกินกับเรื่องหมิ่นสถาบันเป็นหลักเหมือน ๆ กัน
เหตุการณ์ 6 ตุลามีการแสดงละครซึ่งกลุ่มจารีตนิยมและสื่อเครือข่าย หน่วยงานลับขององค์กรทั้งของสหรัฐและของรัฐไทยเช่น บางกอกโพสต์ ดาวสยาม ระดมพลังสร้างความชอบธรรมในการเข้าปราบปรามเข่นฆ่านิสิตนักศึกษาลูกหลานไทย เยาวชนของชาติไทยแท้ ๆ ยังปราบปรามเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายได้ ปลุกระดมให้คั่งแค้น เข้าร่วมกับกลุ่มจัดตั้งอันได้แก่ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง นวพล และกองกำลังอาวุธรัฐนอกเครื่องแบบ กระทำการรุนแรงต่อนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยได้
สำหรับการปราบปรามคนเสื้อแดงและการจัดการรัฐประหารเพื่อกำจัด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย และกำจัดคนเสื่อแดงในการต่อสู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตย ก็ใช้พล็อตเรื่องหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และหลังรัฐประหาร 2519 ก็ได้เพิ่มโทษการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญาที่มาแสดงฤทธิ์เดชเต็มกำลังในปัจจุบัน นี่ก็มาจากผลพวงการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั่นเอง
พล็อตความพยายามก่อความรุนแรงในเชิงปัญหาหมิ่นสถาบันดังละครแขวนคอในยุค 6 ตุลา ถูกพันธมิตรพยายามสร้างให้เกิดขึ้นในการชุมนุมของคนเสื่อแดง แต่ทำไม่ได้เพราะคนเสื้อแดงไม่ตกหลุมพราง และการโกหกก็มีผลให้พธม.ถูกฟ้องร้องเช่นเดียวกับเรื่องผังล้มเจ้าที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยหน่วยงานความมั่นคง เพื่อสร้างพล็อตให้ได้ใบอนุญาตในการฆ่าเสื้อแดงและจับกุมคุมขัง
สำหรับละครโกหกและเรื่องผังล้มเจ้า น่าเสียดายที่เราผู้เป็นโจทย์ไปยอมความจากการไกล่เกลี่ยของศาลเสียก่อน แต่แค่ผังล้มเจ้าและข้อหาก่อการร้ายเขาก็ฆ่าประชาชนได้สบาย ๆ แถมเปิดเพลงพระราชนิพนธ์ในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 สนั่นหวั่นไหว กลายเป็นเพลงปลุกใจพร้อมเสียงยิงจากกระสุนจริง ! มีคนตายจริง ! บาดเจ็บจริง !
4. กลุ่มผู้กระทำอันได้แก่เครือข่ายระบอบอำมาตย์นี่ยังเป็นการต่อสู้กันระหว่างเครือข่ายอำมาตยาธิปไตยที่ต้องการคงอำนาจอภิสิทธิชนในเครือข่ายผลประโยชน์ของตนต่อสู้กับกลุ่มคนที่ต้องการระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง สายธารประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ยังเป็นสายธารเดิมที่แบ่งผู้คนเป็นสองฟากฝั่งคือ ฝั่งอำมาตย์และฝั่งประชาชนนับจาก ร.ศ. 130 พ.ศ. 2475 มาจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้นกลุ่มผู้คนที่ได้ประโยชน์จากระบอบอำมาตยาธิปไตยหรือประชาธิปไตยปลอม ๆ เสี้ยวใบครึ่งใบก็จะสนับสนุนการทำรับประหารที่รักษาระบอบอำมาตย์และการใช้กลไกรัฐที่ล้าหลังกระทำรุนแรงต่อประชาชน คำว่าสิทธิ เสรีภาพจึงเป็นเรื่องพูดกันเล่น ๆ โก้ ๆ โดยไม่ยอมรับความเสมอภาคทางการเมืองการปกครอง
นี่จึงเป็นความเหมือนกันเพียงแต่บทบาทของจักรวรรดินิยมไม่ออกมาเปิดเผยโจ่งแจ้งเหมือนยุค 2519 เท่านั้นเอง
ในความแตกต่างระหว่าง 6 ตุลา 19 กับปัจจุบันในการต่อสู้ของประชาชนนั้นมีสาระสำคัญ ๆ คือ
1. กำลังหลักในการต่อสู้ต่างกัน จากที่มีนิสิตนักศึกษาปัญญาชนเป็นหลักในช่วงปี 2516 ถึง พ.ศ. 2519 ได้เปลี่ยนมาเป็นประชาชนรากหญ้าและชนชั้นล่างในสังคมเสริมด้วยคนชั้นกลางใหม่ ทุนอิสระ ทุนยุคใหม่และมากับพรรคการเมืองของทุนใหม่ นี่คือกำลังพื้นฐาน ความแตกต่างจึงแสดงออกที่พละกำลังที่ต่างกันเพราะพละกำลังของนักศึกษาเต็มที่สุด ๆ ในการต่อสู้ได้แสดงออกสูงสุดในการต่อสู้เมื่อ 6 ตุลา 19 แล้ว เมื่อถูกปราบปรามเข่นฆ่าทารุณก็ถูกสลายโดยสิ้นเชิง ทั้งโดยความสมัครใจของปัญญาชนที่หันหลังให้กับการต่อสู้สันติวิธี แต่ไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและหวังได้รับชัยชนะเช่นกับประเทศข้างเคียง ได้แก่ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา อีกส่วนหนึ่งก็ยกเลิกการต่อสู้ไปเรียนต่อ ทำงานเลี้ยงตนและครอบครัว
นี่จึงต่างกับกองกำลังหลักในการต่อสู้ในปัจจุบันที่ไม่อาจหนีสนามรบไปได้ ต้องปักหลักสู้ต่อไปในการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าหกปีมาแล้ว เพราะเป็นรากหญ้า ชนชั้นล่างในสังคม พวกเขาต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า เพื่อโอกาสที่เท่าเทียมกัน เพื่อความเป็นอยู่ของครอบครัวและอนาคตที่ดีกว่าของลูกหลานจึงสู้ตายไม่หนีหายไปไหน หากว่าในทางทฤษฎีมันจะไปขัดแย้งกับที่ว่าชนชั้นกรรมาชีพจะเป็นชนชั้นที่ก้าวหน้าที่สุด และเป็นชนชั้นนำในการต่อสู้หรือไม่ เพราะชนชั้นกรรมาชีพในระบบถูกกดขี่สูงสุด มีวินัยสูงสุด ก้าวหน้าที่สุด โดยหลักการคุณสมบัติของชนชั้นกรรมาชีพนั้นเป็นกองหน้ายังถูกต้องอยู่ ชนชั้นอื่นต้องดัดแปลงตนเองให้ก้าวหน้าดังเช่นชนชั้นกรรมาชีพ
แต่ในทุนนิยมโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันที่ทุนนิยมในประเทศไทยเป็นทุนนิยมอ่อนแอที่ด้านหนึ่งถูกกดทับด้วยการเมืองการปกครอบที่ล้าหลัง และถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุนเก่าที่มีอภิสิทธิ์ผูกขาดในสังคมไทย เรามีแรงงานนอกระบบที่เป็นชาวไร่ชาวนา คนรับจ้างอิสระเป็นจำนวนมากกว่าชนชั้นกรรมาชีพมาก ถ้าคิดเป็นกำลังแรงงานกรรมาชีพในระบบจริง ๆ ไม่ถึง 10 ล้านคน อยากมากก็ 7-8 ล้านคน
แต่แรงงานรอกระบบมีเกือบ 30 ล้านคน คนเหล่านี้ถูกกดขี่ขูดรีดจากระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ยิ่งกว่าแรงงานในระบบมากต่อมาก ไม่ต้องพูดถึงแรงงานรัฐวิสาหกิจที่กลายเป็นกรรมกรขุนนาง ดังนี้นพลังแห่งการต่อสู้จึงอยู่ในมือชนชั้นล่าง ลูกจ้างในเมือง ชาวไร่ชาวนาในชนบท และแรงงานรอกระบบทั้งมวล เขาถอยไม่ได้เพราะนี่คือประเทศของเขา แผ่นดินนี้เป็นของใคร? จะเป็นของอภิสิทธิ์ชนหรือประชาชนธรรมดา ๆ ใครที่สมควรจะถอย นั่นคือสิ่งชี้อนาคตของประเทศไทย และคือความแตกต่างแห่งยุคสมัยของการต่อสู้จาก 6 ตุลา 19 จนถึงพฤษภา 53 ที่พลังหลักแห่งการต่อสู้ขายสู่ปริมณฑลของประชาชนส่วนใหญ่โดยมีแนวร่วมเป็นพรรคการเมืองของกลุ่มทุนใหม่และชนชั้นอื่น ๆ
2. ความแตกต่างที่สำคัญอีกอย่างคือ หนทางการต่อสู้หลังการปราบปรามเข่นฆ่า ก็เมื่อคนส่วนใหญ่ต้องการให้อำนาจการเมืองการปกครองอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง การต่อสู้โดยหนทางสันติวิธีทางการเมืองจึงชอบธรรมที่สุดและได้รับชัยชนะแน่นอนในสนามการต่อสู้นั้น ต่างกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่หลังเหตุการณ์ปัญญาชนพากันเข้าป่าเดินหนทางต่อสู้ด้วยอาวุธเพราะมองไม่เห็นชัยชนะจากการต่อสู้ด้วยสันติวิธี เพราะการต่อสู้โดยนิสิตนักศึกษานั้นไม่อาจขยายตัวไปสู่มวลชนอันกว้างไพศาลได้ และแม้แต่การเลือกต่อสู้ด้วยอาวุธของพคท.ก็เช่นกัน ไม่สามารถขยายสู่มวลชนพื้นฐานส่วนใหญ่ได้ ทั้งไม่ใช่การลุกขึ้นสู้เพื่อเอกราชจากจักรวรรดินิยม จึงไม่อาจสามัคคีคนกว้างใหญ่ไพศาลให้จับอาวุธขึ้นสู้ได้
ตรงข้ามการต่อสู้ของประชาชนในยุค พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ประชาชนเติบใหญ่ขึ้นทุกวัน ขยายแนวร่วมได้กว้างใหญ่ในหมู่ปัญญาชนคนรุ่นใหม่ ทุนอิสระ ทุนรุ่นใหม่ นักการเมือง นักวิชาการรุ่นใหม่ ดังนั้นหนทางการต่อสู้หลังการถูกปราบปรามเข่นฆ่าจึงต่างกัน
3. การนำการต่อสู้ด้วยองค์กรและหลักการก็ต่างกัน
การนำการต่อสู้ในยุค 6 ตุลาอยู่ในมือนักศึกษาปัญญาชน มีทั้งอิทธิพลเสรีนิยม ฝ่าย้ายกลาง ๆ และพวกซ้ายสุดขั้วล้ำหน้ามวลชน อิทธิพลการต่อสู้ของสงครามเย็นจึงสูงมาก ประชาชนนิสิตนักศึกษาจึงถูกทำลายด้วยพลังจารีตนิยมและจักรวรรดินิยมที่หวาดกลัวคอมมิวนิสต์มาก ในยุค 6 ตุลาไม่มีการจัดตั้งองค์กรการต่อสู้แบบเปิดเผยที่มีลักษณะแนวร่วมที่มีรูปการ มีแต่องค์กรศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา สำหรับองค์กรกรรมกรและชาวไร่ชาวนาที่จัดตั้งก็มีแต่แกนนำไม่มีสมาชิกกว้างขวางมากพอ เพราะผู้นำเหล่านั้นจะถูกตามเก็บฆ่าทีละคนด้วยความคิดของหน่วยงานความมั่นคงที่สู้กับคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น
แต่ปัจจุบันหมดยุคสงครามเย็น อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และตามด้วยภราดรภาพเป็นสิ่งที่สังคมทั่วไปยอมรับได้ เพราะมีเหตุผลเป็นประโยชน์สอดคล้องกับยุคสมัยและความเรียกร้องต้องการของประชาชนทุกหมู่เหล่า ยกเว้นพวกจารีตนิยมสุดโต่งจำนวนน้อยเท่านั้น ฝ่ายประชาชนจึงสามารถระดมคนที่เห็นด้วยมากมายกว้างขวาง
ยิ่งกว่านั้น ผ่านประสบการณ์การต่อสู้ยาวนานได้บ่มเพาะแกนนำมวลชนหลายระดับ หลากหลายทั้งในชนบท ในเมือง มีการนำด้วยองค์กรนำหลักและกลุ่มอิสระย่อย ๆ ที่มีคุณภาพและมีการจัดตั้งที่พอจะมีคุณภาพระดับหนึ่ง แม้จะถูกบ่อนทำลายทุกรูปแบบทั้งจากภายในและภายนอก แต่มวลชนยังขึ้นต่อการนำรวมของนปช.อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อสู้กับระบอบอำมาตย์เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง และการทำความจริงในการเข่นฆ่าประชาชนให้ปรากฏให้เอาคนผิดมาลงโทษและให้ได้ความยุติธรรม เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นการต่อสู้ที่แหลมคน ประชาชนไม่ยอมถอยหลัง แต่ยอมรับที่จะเดินหน้าอย่างระมัดระวังเคียงคู่กับพรรคการเมืองที่เขาไว้วางจ เพื่อพิงหลังในการต่อสู้ร่วมกัน (ไม่แทงหลังกันในการต่อสู้) เพราะหนทางแห่งการต่อสู้นั้นยังยากลำบากที่ต้องต่อสู้กับผลพวงแห่งชัยชนะ ได้แก่อำนาจรัฐ ผลประโยชน์ซึ่งร้ายกาจกว่ากระสุนปืนจากอำมาตย์ (ที่ยิงเป็นคน ๆ แต่กระสุนแห่งผลประโยชน์อาจจะทำให้พังเป็นแถบ ๆ )
ดังนั้นความแตกต่างในพลังหลักการต่อสู้ พันธมิตรแห่งการต่อสู้ เป้าหมายแห่งการต่อสู้ หนทางแห่งการต่อสู้ และเลือกสนามแห่งการต่อสู้ การนำ การจัดตั้งเป็นองคืกรเพื่อการต่อสู้ด้วยสันติวิธีที่ยืดเยื้อก็ต่างกัน
ขอให้เราช่วยกันทำให้ชัยชนะของประชาชนมาถึงเร็ววัน เพื่อประวัติศาสตร์ประชาชนไม่ต้องซ้ำรอยแห่งการถูกปราบปรามเข่นฆ่าซ้ำแล้วซ้ำอีก บทเรียนและปฏิบัติการที่เป็นจริงท่ามกลางการต่อสู้จึงถูกนำมาถอดเป็นทฤษฎีและหลักการในการขับเคลื่อนการต่อสู้ของประชาชน เพื่อชัยชนะของประชาชนในขั้นที่สูงขึ้นไปเป็นลำดับ และรักษาชัยชนะไม่ให้ถูกทำลายดังเช่นในอดีต !!!