จี้โฆษก ปชป. ขมาเกด

ข่าวสด 8 ตุลาคม 2555 >>>




แม่-นปช. รับไม่ได้ ใส่ร้ายจัดฉากฆ่า

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงเรื่อง "จาก 6 ตุลา 19 ถึงรายงาน คอป." ชำแหละรายงานคอป. ระบุมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ที่โรงแรมอมารี เอเทรียม เมื่อวันที่ 7 ต.ค.
แม่จี้โฆษก ปชป. ขอขมาดวงวิญญาณ "น้องเกด" และศพผู้เสียชีวิตในวัดปทุมฯ หลังกล่าวหาการตายของน้องเกดเป็นการ จัดฉาก "ธิดา" รับไม่ได้ ไม่รู้จะเปรียบกับอะไร ชี้ปชป.กำลังดิ้นเพื่อบิดเบือนเหตุการณ์ไม่ให้ไปถึงผู้สั่งการ ดีเอสไอเตรียมเรียก "วีระ-ตู่-เต้น" สอบ "อ๋อย" ชำแหละรายงาน คอป. ระบุทำได้ดีแต่ไม่ครบ
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด อายุ 25 ปี พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตพร้อมเพื่อนอาสากู้ภัยรวม 6 ศพ ภายในวัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 19 พ.ค. 2553 กล่าวถึงกรณีนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเสียชีวิตของน้องเกดว่าเป็นการจัดฉากของคนเสื้อแดง หลังจากถูกยิงโดยนําชุดกาชาดมาคลุมศพเพื่อโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่เป็นคนทํา ว่า วันที่น้องเกดเสียชีวิตนั้นผ่านมากว่า 2 ปี ตนยังเก็บรักษาชุดกาชาดเปื้อนเลือดของลูกสาวไว้ รวมทั้งบัตรห้อยคอที่น้องเกดใส่ด้วย ซึ่งการออกมาพูดใส่ร้ายน้องเกดของโฆษกพรรคประชา ธิปัตย์ครั้งนี้ตนยอมไม่ได้ ขณะนี้มอบหมายทนายความเตรียมไปดําเนินการฟ้องเอาผิดกับนายชวนนท์ที่ทําให้ตนและครอบครัวได้รับความเสียหายจากคําพูดดังกล่าว
   "ขอเรียกร้องนายชวนนท์รีบมาขอขมาดวงวิญญาณน้องเกดโดยเร็ว รวมทั้งขมาศพ รายอื่นๆ ด้วย" มารดาพยาบาลอาสา 1 ใน 6 ศพวัดปทุมวนารามกล่าว และว่า คําพูดของโฆษกพรรคประชาธิปัตย์นั้นตนไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะบุคคลนี้หรือพรรคนี้สังคมก็รู้ดีอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร การพูดเรื่องคดีช่วงนี้ก็เพื่อต้องการให้สังคมเกิดความสับสนและต้องการให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ ไม่ต้องการปรองดอง ตนยืนยันได้ว่าศพแต่ละรายที่เกิดขึ้นจากคําสั่งของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ในปี 53 นั้นไม่มีศพไหนถูกจัดฉากอย่างที่พวกเขาพูด
   "คดีการเสียชีวิตของน้องเกด และอีกกว่า 90 ศพ ขณะนี้ดีเอสไอโดย พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน อยู่ระหว่างดําเนินการ ดิฉันเชื่อมั่นในการทํางานของ พ.ต.อ.ประเวศน์ เพราะเป็นข้าราชการที่มีความเป็นกลางสูง และขณะนี้คดี 98 ศพก็เริ่มที่จะคืบคลานเข้ามาถึงตัวคนสั่งการเข้ามาทุกขณะ ทําให้ต้องดิ้นรนหาทางรอด อย่างไรก็ตามคงหนีเวรกรรมไม่พ้น ใครทําอะไรไว้ก็ต้องได้รับโทษ" นางพะเยาว์ กล่าว
ด้านนางธิดา โตจิราการ ประธานนปช.กล่าวว่า การที่โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ออกมาพูดใส่ร้ายกล่าวหาว่าศพของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด ถูกจัดฉากขึ้นเพื่อโทษเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นคนกระทํานั้น เป็นคําพูดที่รับไม่ได้ และทําลายศักดิ์ศรีของน้องเกด พยาบาลอาสาที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนภายในวัดปทุมวนาราม ดังนั้นอยากถามว่าคนเสื้อแดงจะเข้าไปจัดฉากศพน้องเกดเพื่ออะไร และในวันนั้นภายในวัดก็มีผู้ชุมนุม นักข่าวต่างประเทศเข้าไปหลบภัยอยู่บางรายก็ได้รับบาดเจ็บ และแกนนําส่วนใหญ่ก็ไปมอบตัวกับตํารวจ คําพูดดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงธาตุแท้ของคนในพรรคนี้ แก้เกี้ยวเพื่อไม่ต้องรับโทษจากการกระทําที่เกิดขึ้นในปี 53
ขณะที่ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวว่า วันที่ตนไปพบดีเอสไอก็ได้อธิบายยืนยันว่าในวันชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 53 ชุมนุมอย่างสันติวิธี ไม่มีอาวุธ และกลุ่มชายชุดดํามีอาวุธก็ไม่สามารถที่จะเล็ดลอดเข้ามาปะปนอยู่ในพื้นที่ได้ เพราะแต่ละวันจะมีการ์ดตรวจอาวุธอย่างเข้มงวด กรณีโฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาการตายของน้องเกดว่าเป็นการจัดฉากศพนั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอน วิถีกระสุนที่บอกว่าถูกยิงในแนวระนาบล่างขึ้นบนนั้น ทราบว่าน้องเกดไม่ได้ถูกยิงนัดเดียวเสียชีวิต แต่ถูกยิงรวม 11 นัด และพบโลหะในร่างกาย 5 ชิ้น เมื่อน้องเกดถูกยิงนัดแรกล้มลงแล้วก็มีหน่วยซุ่มยิงระดมยิงใส่นับครั้งไม่ถ้วน ดังนั้นทําให้วิถีกระสุนเปลี่ยนทิศทางเข้าบริเวณท้ายทอยไปออกหน้าผาก หรือจุดอื่นๆ ซึ่งการที่โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ออกมาพูดเรื่องกระสุนนี้แบบไม่รู้จริง น้องเกดถูกยิงขณะอยู่ในเครื่องแบบกาชาด การเอาคนตายมาโจมตีแบบนี้ตนไม่รู้จะเปรียบเทียบอย่างไรดี
รายงานข่าวจากดีเอสไอ เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดี 98 ศพว่า พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างสอบปากคําพยานแต่ละท้องที่เกิดเหตุ ซึ่งที่ผ่านมาได้สอบปากคํา นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ไปแล้ว โดย นพ.เหวง นําหลักฐานภาพถ่ายชายชุดดํา รวมทั้งเทปคําปราศรัยที่พูดถึงแนวทางการชุมนุมโดยสันติวิธีนํามามอบให้พนักงานสอบสวนด้วย อย่างไรก็ตามช่วงนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างส่งหนังสือเชิญกลุ่มนายทหาร ระดับ ผบ.พล และ ผบ.พัน ที่มีหน้าที่ควบคุมพื้นที่และกำลังพลในช่วงเกิดเหตุมาให้ข้อมูล ซึ่งหนังสือดังกล่าวยังไม่มีการตอบรับจากกลุ่มนายทหารดังกล่าว ซึ่งพนักงานสอบสวนเตรียมส่งหนังสือไปยังกระทรวงกลาโหมและกองทัพ เพื่อให้ส่งตัวนายทหารกลุ่มนี้มาพบดีเอสไอต่อไป
นอกจากนี้พนักงานสอบสวนเตรียมส่งหนังสือเรียกตัวแกนนํานปช. 3 ราย มาพบเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายหรือแผนการชุมนุมในช่วงนั้น ประกอบด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. คาดว่าหนังสือดังกล่าวจะส่งได้วันจันทร์ที่ 8 ต.ค. นี้
วันเดียวกันที่โรงแรมอมารี เอเทรียม นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงเรื่อง "จาก 6 ตุลา 19 ถึงรายงาน คอป." ว่า เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 กับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 มีความเหมือนกันคือเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความรุนแรงต่อประชาชน รายงานของคณะกรรม การอิสระตรวจสอบความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มีทั้งข้อดีและจุดบกพร่อง โดยรวมรายงานของคอป.มีข้อดีอยู่ไม่น้อย มีหลักการในการทำงานพอสมควร มีข้อเสนอที่ดีและเป็นประโยชน์ แต่เมื่อศึกษารายงานของ คอป. แล้วมีข้อผิดพลาดและข้อจำกัดอยู่พอสมควร ซึ่งข้อจำกัดนี้ไม่น่าจะนำพาประเทศไปสู่ความปรองดองได้ เพราะคอป.ไม่ได้ศึกษารากเหง้าและปัญหาที่สำคัญ รวมถึงความขัดแย้งที่เป็นประเด็น รวมถึงประเด็นปัญหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่จำเป็นที่ทำให้เกิดวิกฤต ดังนั้นรายงานของ คอป. จึงไม่ใช่รายงานฉบับสุดท้ายที่สังคมสามารถฝากความหวังให้เกิดความปรองดองได้
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ข้อจำกัดของรายงานที่เป็นปัญหา มีทั้งการสืบหาความจริง การสอบถามความเห็นที่ไม่ครอบคลุม ครบถ้วน ข้อเท็จจริงจำนวนมากไม่ได้นำมาเปิดเผย สังคมได้ข้อมูลเพียงบางส่วนที่ คอป. เลือกมาเปิดเผย ถ้าเทียบกับเหตุการณ์ 6 ต.ค. นั้น คอป. ได้งดเว้นในการค้นหาความจริง เหมือนกับ เหตุกาณ์ปี 2553 เหมือนกับมีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดไปหมดแล้ว รายงาน คอป. ไม่ได้ตอบประเด็นข้อสงสัยในเหตุการณ์ซึ่งเป็นเหตุแห่งการตั้ง คอป. ขึ้นมา
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า เมื่อ คอป. พูดถึงการรัฐประหาร กลับพูดถึงสั้นๆ และพูดเบาเกินไป ให้ความสำคัญกับรัฐประหารน้อยเกินไป ทั้งที่ควรที่จะเป็นประเด็นสำคัญ ว่ารัฐประหารเป็นปัญหาทำให้เกิดความขัดแย้ง เมื่อพูดถึงรัฐธรรมนูญก็มองว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีปัญหาอย่างไร คอป. มุ่งให้ความเห็นที่ตนต้องการ แต่ไม่เอาความเห็นของฝ่ายต่างๆ มาเสนอ นอกจากนี้ คอป. ไม่ระบุว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากใคร หรือรัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนมากไปหรือไม่ หรือเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่ ซึ่งต้องมีการค้นหา รายงานของ คอป. ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างประชาธิปไตยกับการรัฐประหาร ทำให้เป็นปัญหาสำคัญในการวิเคราะห์องค์ความรู้ของ คอป. เอง อย่างไรก็ตามตนยังเห็นอีกว่า คอป. ไม่เห็นว่าตุลาการภิวัฒน์ไม่ทำให้เกิดปัญหา เมื่อพูดถึงเรื่องของการแทรกแซงองค์กรอิสระ คอป. ก็ระบุเหตุผลแบบคลุมเครือ ทำให้รู้สึกว่าไม่เป็นปัญหา
   "แม้รายงานของ คอป. จะมีชายชุดดำในเหตุการณ์ชุมนุมจริง แต่รัฐก็ไม่มีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกับประชาชน จนเกิดความเสียหายตามมา ทั้งนี้ข้อเสนอของ คอป. ขาดน้ำหนัก และไม่ตรงจุด แม้จะมีข้อเสนอที่ดีหลายข้อแต่ก็ทำให้ข้อเสนอที่ดีหลายจุดลดความสำคัญลง เช่น ไม่ควรให้มีการทำรัฐประหารอีก แต่ไม่ได้เน้นความเลวร้ายของการรัฐประหาร คอป. เสนอว่าไม่เร่งแก้รัฐธรรมนูญ แต่เปิดช่องให้ทำได้ในระยะยาว คอป. เสนอให้ปรับกระบวนการยุติธรรม แต่ก็ไม่เน้นการให้กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ คอป. กล่าวถึงการคืนความยุติธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมอยู่บ้าง แต่เมื่อถึงข้อเสนอในบทสรุปกลับเรียกร้องให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการผิดหลักนิติธรรมต้องเสียสละ" นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวสรุปว่า รายงาน คอป. สามารถนำไปปฏิบัติ แต่ถ้าเอาไปทำทุกข้ออาจเป็นอุปสรรคของความปรองดอง ตนจึงเสนอว่าผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ต้องทำตามข้อเสนอของ คอป. ทุกข้อ เพราะข้อเสนอของ คอป. ยังมีข้อผิดพลาดอยู่ แต่ให้ใช้วิจารณญาณพิจารณาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นขอเสนอให้มีการค้นหาความจริงเพิ่มเติมต่อไป ทั้งเหตุการณ์ความรุนแรง และปัญหารากเหง้า การหาความจริงอาจทำในทำนองเดียวกับที่คอป.หรือศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ทำ รวมถึงอาจส่งเสริมให้หลายๆ ฝ่ายที่สนใจได้ค้นความจริง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมค้นหาความจริง ซึ่งฝ่ายรัฐควรให้การสนับสนุน แล้วนำรายงานมาเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ ส่วนข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากให้ทำไปเลย
นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า ส่วนประเด็นนิรโทษกรรม ควรดูบทเรียน 6 ตุลา 19 ที่น่าสนใจ คือ การนิรโทษกรรมประชาชนที่ไม่ใช่แกนนำ ทั้งนี้เรื่องที่จำเป็นต้องทำ แต่ยังเห็นต่างกัน เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม การปรับปรุงบทบาทองค์กรอิสระด้วย โดยควรมีกระบวน การรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นหรือการทำประชามติ เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว ประเด็นเหล่านี้ควรเร่งดำเนินการไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องระยะยาวอย่างที่ คอป. เสนอ