คณิน บุญสุวรรณ: ประกาศ กฎหมายหาย

มติชน 4 กันยายน 2555 >>>





มาตรา 138 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ รวม 9 ฉบับ ด้วยกัน ดังต่อไปนี้
1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
3. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
4. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
5. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
6. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
7. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน
8. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
9. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
การตราและการใช้บังคับของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 ฉบับ ดังกล่าวข้างต้นนั้น มีบทเฉพาะกาลมาตรา 302 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ บัญญัติให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ใช้บังคับในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีผลใช้บังคับอยู่จำนวน 4 ฉบับ มีผลใช้บังคับต่อไป หลังจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประกาศใช้ ได้แก่
(1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542
(2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
(3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 และ
(4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542
ในขณะที่วรรคสอง ของบทเฉพาะกาลมาตรา 302 ดังกล่าว บัญญัติว่า "ให้ถือว่าการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ โดยพระราชบัญญัติที่ได้ประกาศใช้บังคับ ในระหว่างวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มีผลใช้บังคับ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญนี้"
วรรคสามของบทเฉพาะกาลมาตราเดียวกัน บัญญัติว่า "ให้ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสี่ฉบับดังกล่าว ดำเนินการปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้"
วรรคสี่ บัญญัติว่า "ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรานี้ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว และให้วุฒิสภาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น"และ
วรรคห้า บัญญัติว่า "การลงมติให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง 4 ฉบับนั้น ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา"
พร้อมกันนั้น วรรคหก ก็บัญญัติว่า "ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้"
นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 เป็นต้นมา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวข้างต้น ได้รับการดำเนินการตามเงื่อนไขที่บัญญัติในบทเฉพาะกาลมาตรา 302 ไปแล้วแค่ 3 ฉบับ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2550 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2550
2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2552
3. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2554
เป็นอันว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 5 ฉบับ ที่จะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่บัญญัติในบทเฉพาะกาลมาตรา 302 ข้างต้นนั้น มีเพียง 4 ฉบับ ที่ได้รับการดำเนินการอย่างครบถ้วนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ได้แก่
(1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน และ
(4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552)
ส่วน "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน" นั้น ปรากฏว่ายังมิได้ดำเนินการตราและประกาศใช้เป็นกฎหมายเลย จวบจนถึงปัจจุบัน ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้ประกาศใช้มาเป็นเวลาห้าปีเข้านี้แล้ว ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ทั้งน่าสมเพชและน่าละอายในระบบกฎหมายไทยและระบบรัฐธรรมนูญของประเทศ
กล่าวคือ ประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งระบุไว้ชัดว่า"พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน" ซึ่งเป็นหนึ่งในเก้าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องตราขึ้นใช้บังคับนั้น นอกจากจะไม่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินตามที่บัญญัติบังคับไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ยังไม่มีทั้งประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือแม้แต่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน อีกต่างหาก
ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ อีก 4 ฉบับ ที่เหลือ ซึ่งได้แก่
(1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
(2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ
(4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ปรากฏว่า ได้มีการตราและใช้บังคับไปแล้วตามเงื่อนไขที่บัญญัติบังคับไว้ในรัฐธรรมนูญเพียง 3 ฉบับ ได้แก่
1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2550
2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2550 และ
3. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2550
ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น แม้จวบจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการตราและใช้บังคับเลย ทั้งๆ ที่บทเฉพาะกาลมาตรา 300 วรรคห้า ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "ต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้"
จากที่ได้ไล่เรียงมาทั้งหมดข้างต้น จึงสรุปได้ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลักตามรัฐธรรมนูญจำนวน 9 ฉบับ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 138 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2550 นั้น มีเพียง 7 ฉบับเท่านั้น ที่ได้มีการตราและใช้บังคับตามเงื่อนไขที่บัญญัติบังคับไว้ในรัฐธรรมนูญ
แต่อีกสองฉบับ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้มีการตราหรือใช้บังคับตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเลย ทั้งๆ ควรจะต้องมีกฎหมายสองฉบับนี้ประกาศใช้มาแล้วเป็นเวลาอย่างน้อยก็สามปี
พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน รวมทั้ง ส.ส.ร. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 3 คน ที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนี้แสดงความรับผิดชอบหน่อยเถอะครับ