ข้อคิดเห็น "ยิ่งลักษณ์" ต่อยุทธศาสตร์ชาติฯ ปี 2556-60

มติชน 5 กันยายน 2555 >>>




เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมรับฟังและแสดงข้อคิดเห็นในการแถลงยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ทหาร พ.ศ. 2556-2560 ของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) โดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม รักษาการปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ผู้แทนจาก 3 เหล่าทัพ และนายทหารระดับสูงเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี


นโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวถือว่าเป็นประโยชน์และตรงกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะนโยบายการกระจายโอกาสด้านการศึกษาและการพัฒนาครู ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลได้เน้นย้ำมาโดยตลอด ส่วนความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างท่าเรือทวายในประเทศพม่านั้น ขณะนี้มีการทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อเชื่อมไปยังท่าเรือแหลมฉบัง มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อประสานงานเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาลงทุน
หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องการพัฒนาเป็นศูนย์กลางให้เป็นระบบการขนส่งที่ครบวงจร (โลจิสติกส์) เพราะไทยถือว่าเป็นจุดศูนย์กลาง และเป็นพื้นที่ที่ได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ส่วนยุทธศาสตร์ในการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น รัฐบาลถือเป็นนโยบายเร่งด่วน และเห็นด้วยที่เราจะทำอย่างไรให้ปราศจากสิ่งเหล่านี้ ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจต้องร่วมมือกันไม่ให้วงจรเหล่านี้กลับมาโดยเฉพาะแหล่งกำเนิดแรก คือการจ่ายเงินใต้โต๊ะ และการซื้อขายตำแหน่งที่จะต้องมีการปลูกจิตสำนึก และอย่าเห็นว่าเป็น norm (นอม) หรือธรรมเนียม ที่สังคมยอมรับ
ส่วนยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลเห็นตรงกันคือ ในส่วนของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่นอกจากดูแลความสงบในพื้นที่แล้วต้องให้น้ำหนักด้านการพัฒนาด้วย ทั้งด้านการศึกษาและอาชีพ การทำงานมีกฎหมายสองฉบับ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีกฎหมายคนละฉบับ ดังนั้น ต้องบูรณาการและสร้างเอกภาพในการทำงาน
อย่างไรก็ตาม จะนำแนวทางที่ให้มาวันนี้ให้คณะทำงานของรัฐบาลนำไปพิจารณา สิ่งใดที่เป็นประโยชน์จะนำไปปฏิบัติ ในส่วนของยุทธศาสตร์ด้านการทหารนั้นก็เห็นใจเหล่าทัพ หลายคนอาจไม่เห็นความสำคัญในภาวะสถานการณ์ปกติ แต่เราต้องเตรียมความพร้อม รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนทุกด้าน แต่ต้องช่วยกันจัดลำดับความสำคัญในการใช้งบประมาณที่เป็นภาษีอากรของประชาชน ให้โปร่งใสและคุ้มค่าที่สุด

เนื้อหายุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ทหาร พ.ศ. 2556-2560

สําหรับยุทธศาสตร์ชาติที่นักศึกษา วปอ. ได้เสนอในครั้งนี้ เป็นการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2556-2560 เพื่อเป็นการวางรากฐานให้กับประเทศนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยนักศึกษาหลักสูตร วปอ. ได้เสนอใน 4 ยุทธศาสตร์ชาติ ได้แก่
1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของชาติสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยใช้ความได้เปรียบจากตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยที่เชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ รอบทิศ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านทั้งถนน ระบบรางทางน้ำ ทางอากาศ และทางท่อ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อระดมทุนจากทั้งในและต่างประเทศ
2. ยุทธศาสตร์การปฏิรูป การศึกษาเพื่อความมั่นคงของชาติด้วยการยกระดับการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นวาระ แห่งชาติ และจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทั้งการพัฒนาครู ปรับการเรียนการสอน หลักสูตรการศึกษาระบบการรับนักเรียนเข้าระดับอุดมศึกษา ส่งเสริมให้มีศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต จัดตั้งสภาการศึกษาจังหวัด นอกจากนี้จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความ มั่นคงให้ประชาชนมีการทำ เพื่อเยาวชนและศาสนา
3. ยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบเพื่อส่งเสริมและ สนับสนุนให้ภาครัฐและเอกชนมีการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล ปลูกจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริตแก่ประชาชน การปฏิรูปการศึกษาเพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม การสร้างกลไกควบคุมและตรวจสอบภาคธุรกิจ รวมทั้งมาตรการป้องกันและปราบปรามที่มีประสิทธิผล เช่น การใช้มาตรการทางภาษีอากรในการป้องกันและปราบปรามทุจริตมิชอบ และ
4. ยุทธศาสตร์การยุติสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่เคลื่อนไหวอย่างเป็นขบวนการ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเมืองการปกครองในพื้นที่ด้วยการดำเนินการ 3 ขั้นตอน ที่เชื่อมโยงกัน คือ
   1. การปลุกระดมบ่มเพาะเพื่อดึงมวลชนในพื้นที่เข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่ม
   2. การจัดตั้งและการพัฒนาองค์การการต่อสู้ให้มีศักยภาพในการต่อสู้กับรัฐ
   3. การขับเคลื่อนองค์กรดังกล่าวให้ก่อเหตุรุนแรงสร้างสถานการณ์เผชิญหน้ากับ รัฐเพื่อทำลายระบบของรัฐให้อ่อนแอ
ทั้งนี้การยุติความรุนแรงจะต้องดำเนินการ คือ ทำลายกระบวนการปลุกระดมบ่มเพาะ สลายองค์กรการต่อสู้ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ การแย่งชิงมวลชนในพื้นที่กลับมาอยู่ฝ่ายรัฐและทำลายความชอบธรรมของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทั้งในพื้นที่ และประชาคมระหว่างประเทศ
สรุปเนื้อหาว่า ยุทธศาสตร์ชาติแม้จะถูกกำหนดขึ้นอย่างสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมและกำลังอำนาจ แห่งชาติ แต่จะก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อประเทศชาติ ก็ต่อเมื่อมีการผลักดันให้ยุทธศาสตร์ชาตินั้นได้รับความเอาใจใส่ และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยผู้นำและผู้บริหารระดับสูงของประเทศต้องทำความเข้าใจและนำยุทธศาสตร์ชาติ ไปพิจารณาเป็นกรอบในการดำเนินการของภาครัฐที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และคาดการณ์ไปสู่อนาคต
ยุทธศาสตร์ชาติอันประกอบด้วยเป้าหมายของชาติ ที่ชัดเจน รวมทั้งแนวทาง ทิศทาง และวิธีการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของชาติ จะทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเห็นเป้าหมายในระดับชาติที่เหมือนกัน สามารถปฏิบัติงานในทิศทางเดียวกันได้อย่างสอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน สู่เป้าหมายร่วมกันได้อย่างแท้จริง