วิเคราะห์ปมน้ำท่วม-การเมือง

ข่าวสด 14 กันยายน 2555 >>>


นํ้าท่วมเขตเทศบาลสุโขทัย สร้างความแตกตื่นให้ชาวบ้านพากันหวาดผวาน้ำจะท่วมเหมือนปีที่ผ่านมา และกลายเป็นประเด็นโจมตีว่าครั้งนี้รัฐบาลมีทั้งแผนงานและงบประมาณพร้อมแล้ว แต่แก้ปัญหาไม่ได้
ในข้อเท็จจริงน้ำท่วมที่สุโขทัยมีสาเหตุจากอะไร การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต้องทำอย่างไร ความหวั่นวิตกที่เกิดขึ้นต้องแก้ที่จุดไหน

ชูโชค อายุพงศ์
หัวหน้าหน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ภาควิชาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมศาสตร์ มช.

ต้องมองที่สันฐานของเมืองสุโขทัย การรับน้ำผ่านพะเยา แพร่ ก่อนเข้าเมืองสุโขทัยรับน้ำได้ 1,600-3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่เมื่อเข้าเมืองสุโขทัยการรับน้ำหายไป 5 เท่า เหมือนถนน 10 เลน แต่เหลือ 2 เลน จึงเกิดการยกตัวของระดับน้ำ
การเก็บสถิติน้ำท่วมที่สุโขทัยพบโอกาสเกิดน้ำท่วมเกือบทุกปี เป็นธรรมชาติไม่ว่าฝนจะเข้าไทยมากหรือน้อยก็ท่วมเกือบทุกปี จนบริษัทประกันไม่รับทำเพราะมีความเสี่ยงสูง แต่ไม่เป็นประเด็น
พื้นที่สุโขทัยเป็นคอขวดทำให้พนังกั้นน้ำสู้ได้ระดับหนึ่ง พนังชุดนี้มีอยู่แล้ว ถามว่าแล้วช่วยป้องกันน้ำท่วมได้หรือไม่ ฝนตกหนักก็ล้นพนังแต่คราวนี้ไม่ล้นเพราะน้ำไม่มาก และมีการผันน้ำไปบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตาม การสร้างพนังกั้นน้ำมีทั้งข้อดีและข้อเสียเพราะเสี่ยงน้ำลอดใต้พนัง พนังกั้นน้ำจุดนี้ไม่ได้ออกแบบโดยลงทุนมากเพราะพื้นที่ไม่ให้ ความมั่นคงก็ไม่ได้มาก พนังจึงรั่ว แต่ก็เกิดขึ้นได้ทั่วไป เพราะในทางวิศวกรรมการสร้างพนังมีความเสี่ยงเรื่องนี้เป็นปกติอยู่แล้ว
เมื่อรัฐบาลบอกว่าทุ่มเป็นแสนล้านเพื่อป้องกันน้ำท่วม ความคาดหวังสูง พอน้ำท่วมที่เดิม จุดที่ท่วมเป็นประจำก็เลยถูกนำมาเป็นประเด็นว่ารัฐบาลแก้น้ำท่วมไม่ได้ถามว่าที่ประชาชนแตกตื่นว่าสุโขทัยท่วมแล้ว น้ำมาแล้ว รัฐบาลขาดการประชาสัมพันธ์ หรือแจ้งข่าวน้อยหรือไม่ คงไม่ใช่ เพราะจริงๆ เรื่องน้ำท่วมเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ไปแล้ว แต่ที่ประชาชนแตกตื่นเป็นอาฟเตอร์ช็อก
ตระหนกเพราะไม่คิดว่าพนังกั้นน้ำจะพัง เพราะชาวบ้านมั่นใจพนังกั้นน้ำ เทศบาลก็มองว่าระดับน้ำเหลืออีกเกือบเมตร การแจ้งเตือนก็ทำไม่ทัน เพราะน้ำในแม่น้ำสูงกว่าพื้น 2 เมตร แต่พนังสูง 3 เมตร คิดว่าคงไม่ล้น
เมื่อเกิดเหตุก็กลัวว่าจะลามไปจังหวัดอื่นๆ ประกอบกับปีที่แล้วก็เริ่มที่สุโขทัย ทั้งที่สุโขทัยเป็นอย่างนี้ทุกปี เช่นเดียวกับที่บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
ภาพรวมการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลใช้งบฯ ทำแฟลกชิป เน้นการขุดลอกไปจำนวนมาก ในขณะที่การป้องกันโดยให้เห็นผลเร่งด่วนต้องใช้การก่อสร้าง การลงทุนหาพื้นที่เก็บน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำตอนบนผมมองว่าคุ้มค่า การขุดลอกที่กรุงเทพฯ ต้องทำ แต่ถามว่าช่วยได้ทั้งระบบหรือไม่ใช่ หากน้ำมาเหมือนปีที่แล้วปีนี้ก็ท่วม
2 เรื่องที่ต้องทำคือตัดยอดคลื่นหาพื้นที่เก็บน้ำ ต้องมีอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนจึงจะคอนโทรลได้ แต่ต้องดูเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย หากทำไม่ได้ก็ต้องเปิดลำน้ำให้ใหญ่ขึ้นหรือบายพาสน้ำ แต่ที่ภาคเหนือการบายพาสเข้า จ.น่าน อีกก็คงไม่ได้แล้ว
ในทางหลักวิชาการรัฐบาลต้องรู้ตัวว่าเราเป็นมวยรุ่นไหนและจะชกกับมวยระดับไหน เช่น เราเป็นมวยมิดเดิลเวตแต่ไปชกกับมวยเฮฟวี่เวต อย่างนี้ก็แพ้น็อก
ทำงานมา 1 ปี มีงบฯ แล้ว ทำแผนบริหารจัดการน้ำแล้ว ถามว่าวันนี้พร้อมต่อยหรือยัง รัฐบาลก็ยังเป็นมวยเชิงสูงขึ้นมาอีกนิดหน่อย แต่การสู้กับภัยพิบัติธรรมชาติ อเมริกายิ่งใหญ่ขนาดไหนเขาก็ยังสู้ไม่ได้ ไอแซ็ทถล่มนิวออร์ลีนส์ก็เกินความสามารถรัฐบาลอเมริกา
ดังนั้น รัฐบาลต้องรู้ว่าเรามีลิมิตที่จะสู้ได้ระดับไหน เกินจากขีดความสามารถประชาชนจะได้รู้ แต่ถ้าไปบอกแบบเหมารวมว่าไม่ท่วม เอาอยู่ ก็ไม่รู้ตัวว่าขึ้นแข่งกีฬาคนละรุ่น
ต้องประเมินและพูดให้ชัดว่ารับมือได้แค่ไหน ประกาศเลยว่าจังหวัดนี้ได้เท่าไร เกินจากนี้ต้องเข้าสู่มาตรการต่อสู้อีกแบบ เกินจากระดับไหนต้องอพยพ ให้ประชาชนยอมรับสภาพที่จะอยู่กับน้ำ
นิคมอุตสาหกรรมที่มีมาตรการป้องกัน โลจิสติกส์กันได้ เครื่องจักรทำงานได้ แต่หากน้ำท่วมล้อมข้างนอกหมดออกไม่ได้ การขนส่งชะงัก ต้องบอกให้หมด
ที่บอกอีก 2 วัน น้ำที่สุโขทัยจะลด ก็เพราะฝนหยุดตกที่ลุ่มน้ำยม น้ำตอนเหนือก็เริ่มทุเลา ระดับน้ำก็ลดอยู่แล้ว หากไม่มีฝนเติมเข้ามาอีก
รัฐบาลทั่วโลกใช้วิธีนี้ ไม่มีใครด่ารัฐบาลทำให้เกิดน้ำท่วม แต่เพราะเราไปพูดเยอะ ใช้งบฯเยอะ ต้องบอกตามความจริงว่าสู้ได้ขนาดไหน ไม่ใช่สู้ได้ เป็นคำที่นักปกครองชอบใช้

สมบัติ บุญงามอนงค์
แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับน้ำที่ทะลักท่วมเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยเกิดจากพนังกั้นน้ำแตก ปริมาณน้ำยังอยู่ในตลิ่งแต่เซาะมาจากด้านล่างจนพัง เป็นหน้าที่ของเทศบาลที่ต้องรับผิดชอบดูแล
ภาพรวมขณะนี้ไม่ใช่การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐบาล แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อน
หากจะมีคนออกมาโทษว่าเป็นความผิดของรัฐบาลก็ต้องออกมาชี้ให้ได้ว่าตรงไหนเป็นการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด บางเรื่องก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลด้วย
เรื่องน้ำเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนมาก ดังนั้น ก่อนวิจารณ์อะไรต้องรู้ข้อเท็จจริง ไม่เช่นนั้นก็จะถกเถียงกันไม่จบสิ้น เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ลักษณะนี้ออกมาอยู่แล้ว เพราะเราอยู่ในบรรยากาศสงครามสี แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าบางส่วนรัฐบาลต้องรับผิดชอบโดยตรง แต่การพูดอะไรต้องให้ข้อเท็จจริงด้วย ไม่ใช่เล่นการเมืองกันแบบเลอะเทอะ นอกจากน้ำท่วมเพราะฝนแล้วน้ำก็ท่วมใน โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กด้วย แต่เป็นน้ำลาย
จากการติดตามสถานการณ์น้ำส่วนตัวยังไม่เห็นสัญญาณปัญหาอะไรเลย น้ำในเขื่อนก็ไม่ได้มาก ร่องฝนภาคเหนือก็กำลังจะลดลงและเลยมายังพื้นที่ภาคกลางแล้ว จะเข้าหน้าแล้งแล้ว หลายคนตื่นตกใจเกินเหตุไปเอง เพราะช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝนน้ำก็ท่วมเป็นปกติในพื้นที่ลุ่มต่ำ
ภาพรวมการดำเนินการของรัฐบาลเรื่องน้ำเห็นว่ามีความพยายามมาก โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี มีความตั้งใจเป็นพิเศษ ที่นายกฯ ตั้งหน่วยงานบริหารจัดการน้ำเป็นวิธีการที่ถูกต้อง ยอมรับได้ แต่ยังขาดเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่มีต่ำมาก
ผมยังรู้สึกว่าทำไมรัฐบาลไม่ใช้ยุทธศาสตร์การสร้างการมีส่วนร่วมในเรื่องของภัยพิบัติ รัฐบาลยังติดใช้กลไกรัฐบาล แต่ยังไม่ได้ใช้กลไกภาคประชาชนเต็มที่
รวมถึงการประชาสัมพันธ์ข่าวสารเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังชอบพูดในเชิงเทคนิคซึ่งเข้าใจยาก ต้องแก้ไขโดยการพูดแบบภาษาบ้านๆ ให้ชาวบ้านฟังแล้วเข้าใจมากขึ้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์ด้วยการใช้โซเชี่ยลฯ ที่รัฐบาลยังไม่รู้จักใช้ประโยชน์เต็มรูปแบบ

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

เท่าที่รับทราบข้อมูล จ.สุโขทัย เกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าวทุกปีต่อเนื่อง ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าเป็นความผิดของใคร แต่เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นต้องได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม โดยใช้บทเรียนจากน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา
ที่สำคัญคือรัฐบาลควรออกมาชี้แจงถึงสาเหตุและแผนการที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหา และไม่ควรนำประ เด็นดังกล่าวมาเป็นประเด็นทางการเมือง แต่หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขเรื่องนี้ก็จะลามไปสู่ประเด็นทางการเมืองได้
ภาคเอกชนไม่ต้องการให้มีการนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการเมือง แต่อยากให้มีการแก้ไขอย่างจริงจัง เช่น หากในพื้นที่ต้องมีการสร้างเขื่อนแต่มีประชาชนคัดค้านก็ต้องชี้แจงถึงความคุ้มค่า
หากพบว่าสร้างแล้วเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมไม่คุ้มค่า รัฐบาลก็ต้องชี้แจงว่าหากไม่มีเขื่อนจะมีโครงการใดเข้ามาทดแทนเพื่อป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว
ภาคเอกชนเห็นว่าหากมีการป้องกันอย่างได้ผลจะสามารถป้องกันน้ำไม่ให้ท่วมลามมายังในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข
เพราะหากล่าช้า อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะเป็นช่วงฤดูฝนของทางภาคใต้แล้ว หากไม่รีบแก้ไขน้ำที่ท่วมในส่วนของภาคเหนือจะทำให้ปัญหาลุกลามไปถึงภาคใต้ได้