เก้าโมงเช้าวันที่ 17 ก.ย. ถือเป็นจุดสำคัญของคดี 98 ศพ เมื่อศาลอาญานัดฟังคำสั่งคดีนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ชาวยโสธร ซึ่งถูกยิงบริเวณถนนราชปรารภช่วงเช้ามืดวันที่ 15 พ.ค. 2553
นับเป็นคดีแรกใน 19 สำนวนที่พนักงานอัยการยื่นร้องต่อศาล หลังเสร็จสิ้นกระบวนการไต่สวนและชันสูตรพลิกศพแล้วพบว่าน่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
โดยวันดังกล่าวศาลจะอ่านรายละเอียดของคดี ว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเป็นอย่างไร ถ้ามีคนทำร้ายให้ตาย ศาลก็จะสั่งว่าเป็นใคร ใช่ฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐจริงหรือไม่
และหากศาลเห็นพ้องตามที่อัยการเสนอและมีคำสั่งออกมา ก็จะส่งสำนวนการไต่สวนดังกล่าวกลับมาให้พนักงานอัยการ เพื่อส่งต่อไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะผู้รับผิดชอบคดี 98 ศพ ดำเนินการต่อไป
โดยดีเอสไอซึ่งทำคดีในรูปของคณะกรรมการ 3 ฝ่ายที่ประกอบด้วย อัยการ ดีเอสไอ และตำรวจ บช.น. มี พ.ต.อ. ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นหัวหน้าชุด
พนักงานสอบสวนก็จะตั้งเป็นสำนวนคดีฆาตกรรม จากนั้นนัดประชุมเพื่อสรุปว่ามีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง และจะแจ้งข้อหากับใคร เพื่อออกหมายเรียกเชิญตัวมาสอบปากคำ เข้าสู่คดีฆาตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ อธิบายข้อกฎหมายและแนวการทำงานของพนักงานสอบสวน หลังจากศาลมีคำสั่งไว้ว่า
คำสั่งไต่สวนคดีของนายพัน สำคัญยิ่งต่อการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน โดยเฉพาะประเด็นที่ศาลจะสั่งว่าใครเป็นผู้ทำร้ายให้ตาย ซึ่งในสำนวนที่ส่งให้ศาลไต่สวน คือ เจ้าหน้าที่รัฐทำให้ตาย
หากศาลเห็นพ้อง ก็จะทำคำสั่งส่งกลับอัยการเพื่อส่งต่อพนักงานสอบสวนดำเนินการ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 150 ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะตั้งเป็นสำนวนคดีฆาตกรรม
นายธาริต ระบุว่า กรณีนี้มีกฎหมายอาญาเกี่ยวข้องอย่างน้อย 4 มาตรา เริ่มจาก มาตรา 288 ความผิดฐานฆ่าคนอื่นให้ถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงในพฤติการณ์ของเรื่องดังกล่าว จะมีมาตรา 84 เข้ามาเกี่ยวข้อง รับทราบกันว่ามาตรา 84 เกี่ยวข้องกับความรับผิดของผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิด ซึ่งระบุว่า ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ไม่ว่าด้วยการใช้บังคับขู่เข็ญ หรือจ้างวาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีการอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
มาตรา 59 เกี่ยวกับเจตนา ระบุว่าบุคคลที่ต้องรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อต้องกระทำโดยเจตนา แต่กฎหมายระบุว่ากระทำโดยเจตนามี 2 อย่าง คือ
1. รู้สำนึกโดยการกระทำ และขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล
2. เล็งเห็นผลต่อการกระทำนั้น
มาตรา 70 ระบุว่า ผู้ใดกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน แม้คำสั่งนั้นจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ผู้กระทำมีหน้าที่หรือเชื่อโดยบริสุทธิ์ว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม มิต้องรับโทษ
และหากศาลมีคำสั่งว่า นายพันตายจากเหตุการณ์ไม่สงบ และเกิดจากกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จะทำให้พลทหารที่ประจำการบริเวณที่ นายพันเสียชีวิต มีความผิดมาตรา 288 ฐานฆ่าคนอื่นให้ถึงแก่ความตายทันที
แต่ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาดังกล่าว เกี่ยวพันกับเจ้าพนักงาน จึงเกี่ยวข้องกับมาตรา 70
เพราะทหารเหล่านี้ทำตามคำสั่งเจ้าพนักงาน แม้คำสั่งจะไม่ชอบ แต่เชื่อด้วยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ก็ไม่ต้องรับโทษ
ทั้งนี้ ในมาตรา 70 เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องกับคำสั่งการระดับสูงสุด ในครั้งนี้คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะอดีต ผอ.ศอฉ.
และมีการร้องทุกข์กล่าวโทษจากญาติผู้เสียชีวิต ให้ดำเนินคดีกับทั้ง 2 คน เพราะเป็นผู้สั่งการสูงสุด
อีกทั้งการสอบสวนยังปรากฏว่า เรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ภายในคำสั่งการของ ศอฉ. และผู้ที่รับผิดชอบสูงสุดในหน่วย ศอฉ. คือนายกฯ และ ผอ.ศอฉ.
ข้อกฎหมายกำหนดว่า ถ้าทั้ง 2 คน เป็นผู้ร่วมกำหนดหรือออกคำสั่ง การออกคำสั่งคงไม่มีคำสั่งโดยตรงว่าออกไปฆ่าประชาชน แต่เป็นการออกคำสั่งให้ใช้อาวุธเพื่อเข้าไปดำเนินการขอคืนพื้นที่หรือกระชับพื้นที่ได้
แม้จะมีการกำหนดมาตรการจากเบาไปหาหนัก พฤติการณ์เช่นนี้เป็นข้อกฎหมายที่พนักงานสอบสวนจะต้องนำมาวิเคราะห์กับข้อเท็จจริงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า
การสั่งการเช่นนี้ จะเป็นเจตนาเล็งเห็นผลตามมาตรา 59 หรือไม่ เพราะผู้สั่งการคงไม่มีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะทำให้เกิดการทำร้ายหรือฆ่ากัน แต่จะเข้าข่ายเป็นเจตนาเล็งเห็นผลหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องวิเคราะห์ในการสอบสวน
นายพัน คำกอง อายุ 43 ปี เสียชีวิต 15 พ.ค. 2553 ช่วงเวลา 00.05-01.00 น. บริเวณหน้าคอนโดมิเนียม 'ไอดีโอ' ใกล้แอร์พอร์ตลิงก์ พื้นที่ สน.พญาไท ซึ่งเป็นจุดประจำการของทหาร จากกรณีที่มีการยิงสกัดรถตู้ที่เข้ามาในพื้นที่
คดีคืบหน้าขึ้นภายหลังดีเอสไอนำสำนวนคดี 98 ศพ ที่ยังไม่ได้ฟ้องศาล ซึ่งกระจัดกระจายมารวบรวมสำนวนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อส่งต่อ บช.น. ที่มี พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. เป็นหัวหน้าชุด เพื่อไต่สวนและสอบหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม ก่อนส่งให้อัยการยื่นร้องต่อศาล
ถือเป็นหนึ่งในคดี 36 ศพ ที่แยกสำนวนออกมา เนื่องจากมีหลักฐานน่าเชื่อว่าเกิดจากฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ
และใน 36 ศพนี้ ก็มี 19 ศพที่ บช.น. ไต่สวนสำนวนเสร็จเรียบร้อย เข้าสู่กระบวนการไต่สวนของศาลแล้ว
คดี 'พัน คำกอง' เป็นหนึ่งในนั้น และจะเป็นการไต่สวนการตายคดีแรกที่ศาลจะมี คำสั่งในวันที่ 17 ก.ย. นี้ ที่ผ่านมาในชั้นศาล มีการเบิกความบุคคลที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลอภิสิทธิ์ไปแล้วหลายปาก อาทิ นายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ
รวมถึง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาการ ผบ.ตร., พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษก ศอฉ. ตลอดจนเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน แพทย์สถาบันนิติเวช ร.พ. ตำรวจ รวมทั้งพยานในที่เกิดเหตุหลายคน
ในส่วนของญาติผู้ตาย นางหนูชิต คำกอง ภรรยาของนายพัน เคยขึ้นเบิกความต่อศาลว่า วันที่ 14 พ.ค. 2553 ก่อนเกิดเหตุ สามีไปอู่แท็กซี่ย่านวัดสระเกศ เพื่อขับแท็กซี่ประกอบอาชีพ ช่วงนั้นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีคำสั่งขอคืนพื้นที่แถบราชปรารภ
เวลา 20.00 น. สามี โทร. แจ้งบุตรสาวว่าเดินทางกลับไม่ได้ มาหลบภัยบริเวณงานก่อสร้างคอนโดฯแห่งหนึ่งย่านราชปรารภ ซึ่งเป็นการติดต่อครั้งสุดท้าย จากนั้นเที่ยงคืน รปภ. คอนโดฯ ก็ โทร. แจ้งว่านายพันถูกทหารยิงเสียชีวิต
ต่อมาศพถูกนำไปชันสูตรที่ ร.พ.รามาธิบดี ก็สังเกตเห็นรอยกระสุนใต้ราวนมซ้ายทะลุออกซี่โครง และรอยกระสุนที่แขนด้านขวา จากนั้น 3 วันเข้าไปดูพื้นที่เกิดเหตุก็พบรอยเลือด ทราบว่าขณะเกิดเหตุบริเวณดังกล่าวไม่มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีแต่กองกำลังทหารเท่านั้น
คดี 98 ศพเข้าใกล้ความจริงทุกขณะ !