ประชาไท 15 กันยายน 2555 >>>
วัฒนธรรมโปรฯความดีในบ้านเรานั้นดูเหมือนจะเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมมากกว่าประชาธิปไตย ในนามของความดีพ่อแม่ ครูอาจารย์พร้อมที่จะใช้อำนาจเผด็จการกับลูกและลูกศิษย์ ในนามของการปกป้องความดีทางศาสนา องค์กรทางศาสนาก็พร้อมที่จะใช้อำนาจกดบีบคนที่ออกมาตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ และในนามของการปกป้องความดีของสถาบันกษัตริย์ ผู้คนในสังคมนี้ก็พร้อมที่จะทำทุกอย่าง ตั้งแต่ก่นด่าประณามคนเห็นต่าง ไล่ออกนอกประเทศ ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย หาทางเอาผิดทางกฎหมาย ไปจนถึงทำรัฐประหาร และล้อมปราบนักศึกษาประชาชนอย่างโหดเหี้ยมดังประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมืองในนามของการปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ที่เกิดขึ้นซ้ำซากในประเทศนี้
ฉะนั้น การโปรฯความดีจึงมักควบคู่ไปกับการโปรฯความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจ ความดีจึงถูกใช้เป็นเสมือน “ใบอนุญาต” ให้ผู้ซึ่งถูกสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นคนดีมีคุณธรรมทำผิดหลักการได้ และทำได้อย่างอยู่เหนือการถูกตรวจสอบ เช่นพระที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นพระดี เป็นพระอริยะมีญาณวิเศษ แม้จะละเมิดหลักการพระธรรมวินัยด้วยการอวดอุตตริต่างๆ นานา ก็ไม่ถูกตรวจสอบ คนที่ถูกสร้างภาพว่าเป็นคนดีมีคุณธรรมสูงส่งจะทำรัฐประหารหรือถูกสงสัยว่าสนับสนุนการทำรัฐประหารก็ไม่ถูกตรวจสอบ เป็นต้น
น่าสนใจว่า ทำไม “ความดี” และ “คนดี” ในมาตรฐานของวัฒนธรรมโปรฯความดีของบ้านเราจึงมักไปกันไม่ได้กับความเป็นประชาธิปไตย หรือหลักการที่ถูกต้อง?
ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับอำนาจนิยามความดี คุณค่าของความดี และการใช้ความดีตามที่เป็นอยู่จริง ซึ่งมีความสับสนมากว่าความดีคืออะไร มีคุณค่าอย่างไร หรือเราต้องการมันเพื่ออะไร และเราใช้มันอย่างไร ในการรณรงค์ “ทำดีเพื่อพ่อ” นั้น ประเภทของความดีเยอะมาก ตั้งแต่คิดดี พูดดี เก็บขยะ ปลูกป่า ออกกำลังกาย เลิกยาเสพติด ไปจนถึงอ่านหนังสือสอบเพื่อพ่อ คุณค่าของความดีต่างๆ เหล่านี้เชื่อกันว่าคนทำได้ประโยชน์กับตัวเอง และได้ถวายเป็น “พระราชกุศล” ด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม สังคมเราไม่เคยมีการรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเสมอภาคเพื่อพ่อ ฉะนั้น ความดีต่างๆ ที่รณรงค์ให้ทำเพื่อพ่อจึงไม่ได้มีความหมายต่อการสร้างวัฒนธรรมยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมยึดมั่นในตัวบุคคล
ลองมาดูความดีทางศาสนาที่สอนๆ กันอยู่ ก็ไม่ใช่ความดีที่ยึดโยงอยู่กับ หรือสนับสนุนการสร้างสังคมที่ยุติธรรมบนหลักของการมีสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม ความดีทางศาสนามักถูกใช้เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ผิดพลาดในอดีต เช่นการแก้กรรม ปล่อยนกปล่อยปลา สะเดาะเคราะห์โดยการใส่บาตรด้วยของสิ่งนั้นสิ่งนี้ บวชล้างซวย ฯลฯ เป็นเรื่องชี้นำให้คนหลอกตัวเองว่าความผิดพลาดในอดีตสามารถปลดเปลื้องได้ด้วยพิธีกรรม หรือควรจะลืมมันไปเสีย มากว่าที่จะเก็บมาทบทวนหรือเผชิญกับมันอย่างตรงไปตรงมาและพร้อมจะรับผิดชอบต่อมัน นอกจากจะเชื่อว่าความดีทำให้สบายใจ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำในอดีตแล้ว ความดียังให้ความหวังว่าอนาคตจะดีขึ้น เพราะความดีมีอานุภาพดลบันดาลความสุขในโลกนี้และโลกหน้า
นอกจากนี้ “ความดีเพื่อพ่อ” กับ “ความดีทางศาสนา” ยังถูกนำมาผสมกลมกลืนเป็นหลักอ้างอิงรองรับการกระทำที่ถูกต้องในแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องชีวิตการเรียน การทำงาน การมีชีวิตคู่ การบริโภค กระทั่ง “การกระทำที่ถูกต้องทางการเมือง” จนแม้กระทั่งความดีเหล่านั้นกลายเป็น “ใบอนุญาต” ให้ทำผิดหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน (เช่น ฆ่าคอมมิวนิสต์เพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ไม่บาป ฯลฯ)
หากพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่า ชนชั้นที่มีอำนาจนิยาม เผยแพร่ และโปรฯความดีเหล่านี้ คือชนชั้นปกครองฝ่ายอนุรักษ์นิยม ชุดความดีของพวกเขาคือ กตัญญูต่อแผ่นดิน จงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นความดีที่อยู่บนสมมติฐานว่า กษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีตล้วนตั้งมั่นในทศพิธราชธรรม มีบุญคุณต่อราษฎร ฉะนั้น ราษฎรจะเป็นคนดีได้จึงต้องมีคุณธรรมคือกตัญญูต่อแผ่นดิน จงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ความดีในความหมายนี้จึงเป็นความดีภายใต้เงื่อนไขการยอมรับอำนาจพิเศษที่เหนือกว่ามนุษย์สามัญ เราแต่ละคนหาได้เป็นคนดีได้ด้วยตนเองไม่ จะเป็นได้ก็ต่อเมือมี “ตราประทับความจงรักภักดี” รับรองเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นคนที่แสดงตนว่าเขามีตราประทับรับรองที่ว่านี้ ยังทำตัวเสมือนเป็นผู้มีใบอนุญาตให้ทำผิดหลักการประชาธิปไตยได้อย่างออกหน้าออกตา เช่นไล่คนที่เห็นต่างเรื่องสถาบันกษัตริย์ให้ออกไปนอกประเทศ กระทั่งทำรัฐประหารและปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย
ความดีเช่นนี้จึงผูกโยงอยู่กับอำนาจและศรัทธาต่ออำนาจ ฉะนั้น ฐานของความดีจึงไม่ใช่ “ความมีเหตุผล” แต่เป็นอำนาจ + ศรัทธา +อารมณ์ = การมีกฎหมายจำกัดเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบ ความเชื่อที่ไม่ต้องพิสูจน์ และอารมณ์ด้านบวกที่เคลิบเคลิ้มดราม่าอย่างไร้ขีดจำกัด และอารมณ์ด้านลบที่โกรธเกรี้ยวรุนแรงต่อความเห็นต่าง ไม่ให้พื้นที่กับความเห็นต่าง ทำให้ความเห็นต่างเป็นอาชญากรรม คนเห็นต่างเป็นนักโทษการเมือง เป็นคนเลว ถูกสาปแช่งไม่ให้มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพงานงาน ฯลฯ
ส่วนความดีทางศาสนา ผู้มีอำนาจกำหนดนิยาม เผยแผ่คือสถาบันทางศาสนา พระสงฆ์และชาวพุทธส่วนใหญ่ที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีวัฒนธรรมในการใช้ความดีโปรฯชนชั้นปกครอง และใช้ความดีในนามของบุญ กุศล ศีล ทานสร้างความหวังที่จะมีชีวิตที่สุขสบายในโลกนี้และโลกหน้าแก่ชาวบ้าน และทำการตลาดรับทรัพย์กับความหวังที่สร้างขึ้นนั้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
“ความดีโปรฯชนชั้นปกครอง” และ “ความดีสร้างหวัง” ในชีวิตส่วนตัวที่สุขสบายดังกล่าว ไม่ได้มีความหมายใดๆ ต่อการส่งเสริมการสร้างระบบสังคมการเมืองที่ยุติธรรมมีเสรีภาพ ความเสมอภาค หรือทำให้ประชาชนมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ทว่าบ้านเรากลับทุ่มทุนและสรรพกำลังอย่างมหาศาลเพื่อส่งเสริม “ความดียึดตัวบุคคล” และ “ความดีเพื่อความสุขส่วนตน” ที่ว่านั้น
แต่ความดีที่ส่งเสริมหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เช่นความกล้าหาญทางคุณธรรมที่จะต่อสู้ปกป้องเสรีภาพ ความเสมอภาค นอกจากจะไม่ถูกส่งเสริมเท่าที่ควรแล้ว ยังถูกอ้าง “ความดียึดตัวบุคคล” และ “ความดีเพื่อความสุขส่วนตน” เป็นใบอนุญาตให้บรรดาคนดีมีคุณธรรมสูงส่งละเมิดหลักการเหล่านี้มาโดยตลอด
ฉะนั้น เราจึงจำเป็นต้องตั้งคำถามกับความดีที่ “ไม่ดี” ต่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรมให้มากขึ้น และยืนยันการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตย ที่จำเป็นต้องให้ประชาชนมีอำนาจนิยามความดี หรือกำหนดถูก-ผิดทางศีลธรรมด้วยตนเองมากขึ้น