เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลาง โดยนายอภิรัฐ ปานเทพอินทร์ ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะมีคำสั่งให้ยกคำขอทุเลาการบังคับในคดีที่ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ถูกฟ้องคดี เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วย กฎหมาย และขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาบังคับคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ 383/55 เรื่องให้ พล.อ.เสถียร, พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.พิณภาษณ์ สริวัฒน์ เจ้ากรมเสมียนตรา ไปช่วยปฏิบัติราชการที่สำนักรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ฉบับลงวันที่ 27 ส.ค. 2555 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ศาลพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนรับฟังได้ว่า พล.อ.เสถียร ผู้ฟ้องคดี เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของส่วนราชการ (สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม) และเป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ของกระทรวงกลาโหม จึงมีหน้าที่จัดทำบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลของสำนักงาน ปลัดกระทรวงกลาโหม และส่วนราชการอื่นที่นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ เพื่อพิจารณากลั่นกรองให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้ง
แต่เมื่อรับฟังได้ว่า การพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม ประจำปีงบประมาณ 2556 ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงถือว่ายังเป็นความลับของทางราชการ ไม่สามารถนำไปเปิดเผยกับบุคคลภายนอกได้ การที่ น.ส.พ.บ้านเมือง ฉบับลงวันที่ 26 สิงหาคม 2555 ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของผู้ฟ้องคดีว่า ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล และเดินทางไปพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี พร้อมนำสำเนาบัญชีรายชื่อการแต่งตั้งไปมอบให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี หากต่อมามีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเสนอไป แสดงว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อแต่งตั้งนายทหาร หากข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ผู้ฟ้องก็ต้องรีบดำเนินการแก้ข่าวแล้ว แต่ผู้ฟ้องกลับไม่ดำเนินการใด ประกอบกับผู้ฟ้องยอมรับในคำชี้แจงที่ยื่นต่อศาลในชั้นไต่สวน เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555 ว่า ผู้ฟ้องทำหนังสือลงวันที่ 24 สิงหาคม 2555 ถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอเข้าพบชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งตั้งปลัด กระทรวงกลาโหมที่ผู้ฟ้องเห็นว่า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ผู้ถูกฟ้องคดี ดำเนินการไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล พ.ศ. 2551 ทั้งที่ผู้ฟ้องทราบดีว่าการพิจารณาแต่งตั้งดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จและยัง ปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า ผู้ฟ้องได้ไปพบ พล.อ.สุรยุทธ์ องคมนตรี ทั้งที่ไม่ใช่การปฏิบัติตามขั้นตอนปกติของราชการ ข้ออ้างที่ผู้ถูกฟ้องคดีระบุว่าผู้ฟ้องนำความลับของทางราชการไปเปิดเผยต่อ บุคคลภายนอกจึงน่าเชื่อถือ ดังนั้น เพื่อระงับยับยั้งไม่ให้ผู้ฟ้องเผยแพร่ความลับของทางราชการออกไปอีก และไม่ให้แตกความสามัคคีในคณะทหารขยายออกไป ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีคำสั่งกระทรวงกลาโหมดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม
ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงที่มีใน ขณะนี้ยังฟังไม่ได้ว่าคำสั่งกระทรวงกลาโหมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ฟ้องน่า จะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยังไม่มีกรณีที่ศาลจะสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งกระทรวงกลาโหมตามคำขอของ ผู้ฟ้อง จึงให้ยกคำขอดังกล่าว
นอกจากนี้ศาลปกครองกลาง โดยนายอภิรัฐ ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะ ยังมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม ในคดีที่ พล.อ.ชาตรี ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีมีคำสั่ง พล.อ.ชาตรี รองปลัดกระทรวงกลาโหม ไปช่วยปฏิบัติราชการที่สำนักรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม
ศาลพิเคราะห์ แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดๆ ที่จะฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้มีส่วนร่วมรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องในการนำความลับของราชการ เกี่ยวกับการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลไปเปิดเผยแก่บุคคลภายนอก มีเพียงคำกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้นที่ว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยับยั้งที่ พล.อ.เสถียร และ พล.อ.พิณภาษณ์ ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และเข้าพบองคมนตรี โดยผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหม มีอำนาจหน้าที่ตามที่ปลัดกระทรวงกลาโหม มอบหมายเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ประกอบกับการสั่งให้ข้าราชการไปช่วยปฏิบัติราชการในหน้าที่อื่น ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ปกติของตำแหน่งเดิม โดยให้พ้นจากหน้าที่เดิมนั้นจะต้องมีเหตุผลเป็นพิเศษ เพื่อประโยชน์ของทางราชการหรือหากให้ข้าราชการผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งของตนต่อไป อาจเกิดความเสียหายแก่ราชการได้
แต่ในคดีพิพาทนี้ยังไม่ปรากฏข้อ เท็จจริงดังกล่าวว่า หากให้ผู้ฟ้องปฏิบัติหน้าที่รองปลัดกระทรวงกลาโหมต่อไป แล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ แก่ราชการ อีกทั้งการสั่งให้ผู้ฟ้องไปช่วยราชการตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมก็ไม่ได้ระบุ เวลาสิ้นสุดการไปช่วยราชการ ว่าจะให้ผู้ฟ้องกลับมาปฏิบัติหน้าที่ของตนเมื่อใด ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงต่อการปฏิบัติราชการของผู้ฟ้องเป็นอย่างยิ่ง และขัดต่อหลักความมั่นคงในอาชีพตามระบบคุณธรรมที่ราชการยึดเป็นหลักการ ในการบริหารงานบุคคลภาครัฐมาโดยตลอด ดังนั้น คำสั่งกระทรวงกลาโหมในส่วนของผู้ฟ้องที่ไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุด โดยอ้างว่าเพื่อให้การบริหารราชการในกระทรวงกลาโหมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากให้คำสั่งมีผลใช้บังคับต่อไป ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการและกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้า ราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ขณะที่การให้ผู้ฟ้องกลับ ไปปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหมเหมือนเดิม ก็ไม่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของสำนักงานรัฐมนตรีกลาโหม หรือสำนักงานปลัดกลาโหมแต่อย่างใด
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำ สั่งห้ามไม่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการใดๆ เกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลประจำปีงบ ประมาณ 2556 นั้น ศาลเห็นว่า การประชุมคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารเป็นการบริหารจัดการกำลังพล ของกระทรวงกลาโหมที่ต้องอยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล พ.ศ. 2551 ที่ต้องดำเนินการในรูปของคณะกรรมการทั้งระดับของส่วนราชการ และระดับกระทรวงกลาโหม ที่มีผู้ถูกฟ้องคดีเป็นประธาน ศาลจึงไม่มีอำนาจที่จะมีคำสั่งห้าม เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่การบริหารงานของผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะรัฐมนตรีว่า การกระทรวงกลาโหม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลจึงมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคำสั่งกระทรวงกลาโหมในส่วนของผู้ฟ้องคดีไว้ ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ธนพนธ์ ชูชยานนท์(ผู้รับมอบอำนาจจาก พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ - พล.อ.ชาตรี ทัตติ)
ภายหลังรับทราบคำสั่งศาลปกครองกลางให้ทุเลาการบังคับคำสั่งโยกย้ายเฉพาะในส่วน ของ พล.อ.ชาตรี รองปลัดกระทรวงกลาโหม ว่า ได้รายงานคำสั่งของศาลปกครองให้ พล.อ.เสถียร ปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ชาตรี รองปลัดกระทรวงกลาโหม ทราบแล้ว โดย พล.อ.เสถียร ปลัดกระทรวงกลาโหม จะสู้คดีในกระบวนการพิจารณาคดีต่อไป ซึ่งทีมทนายความจะปรึกษาหารือกันอีกครั้งว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูง สุดหรือไม่ ที่ศาลปกครองกลางไม่สั่งระงับคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้ พล.อ.เสถียร ไปปฏิบัติราชการที่สำนักรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม
ส่วนกรณีคำสั่งศาลปกครองกลางคุ้มครองในส่วนของ พล.อ.ชาตรี จะมีผลต่อคำสั่งโยกย้ายให้ พล.อ.ชาตรี ไปดำรงตำแหน่งจเรด้วยหรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่ขอตอบ ต้องให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้ชี้แจง แต่ถ้าการเสนอรายชื่อโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลไปถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบด้วย ขณะนี้มีปัญหาเป็นคดีข้อพิพาทในศาล ซึ่งยังไม่มีคำพิพากษาก็ยังไม่ควรเสนอรายชื่อในส่วนของ พล.อ.ชาตรี สู่ขั้นตอนโปรดเกล้าฯ แต่ควรที่จะปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ปรึกษากฎหมายของฝ่ายบริหารก่อนจะดีกว่า เพราะถ้าสุดท้ายศาลมีคำพิพากษาเห็นว่าคำสั่งกระทรวงกลาโหมนั้นไม่ชอบจะมี ปัญหาตามมา อย่างไรก็ดีเมื่อคำสั่งศาลปกครองกลางระบุชัดเจนว่า การทุเลาให้มีผลไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฝ่ายผู้ถูกฟ้องไม่ยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วันตามกฎหมายแล้ว หากศาลปกครองสูงสุดไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งกระทรวงกลาโหมของศาลปกครองกลาง ที่มีผลให้ พล.อ.ชาตรี กลับไปปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหมดังเดิม