ฐากูร บุนปาน: ประวัติศาสตร์ประชาชน

มติชน 13 กันยายน 2555 >>>




ปกติแล้วตำราประวัติศาสตร์นั้นถูกรัฐเป็นผู้เขียนและเรียบเรียงขึ้นมาเป็นหลัก มีไม่กี่หนที่ชาวบ้านพยายามลุกขึ้นมาเขียนบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่สำเร็จ
ไม่เช่นนั้นป่านนี้เราคงมีประวัติศาสตร์ใกล้ตัวอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 เอาไว้ศึกษาสังคมไทยอย่างรอบด้านแล้ว
ประวัติศาสตร์กึ่งรัฐกึ่งชาวบ้านที่เป็นหลักเป็นฐาน (เพราะเข้าถึงข้อมูลได้มากที่สุด) คือรายงานสรุปปัญหาของคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) ที่รัฐตั้งขึ้นมาสรุปปัญหาวิกฤตการเงิน 2540 แต่ตัวรายงาน "วิพากษ์" การทำงานของรัฐ ทั้งฟากรัฐบาลและแบงก์ชาติเอาไว้อย่างถึงกึ๋นถึงแก่น
ผ่านมา 15 ปี รายงานที่ครบถ้วนรอบด้าน เป็นบันทึกประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งก็ขึ้นหิ้งฝุ่นจับ
ไม่เชื่อดูได้จากสถานภาพทางสังคมของแบงก์ชาติที่รายงานดังกล่าวเห็นว่า เป็นผู้ต้องรับผิดชอบมากที่สุดในวิกฤตดังกล่าว แต่ล่าสุดมีตำราประวัติศาสตร์ "ฉบับประชาชน" ที่แข็งแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาออกตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม
หนังสือหรือเอกสารที่หนาพันกว่าหน้าชิ้นนี้ชื่อ "ความจริงเพื่อความยุติธรรม" ของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) เป็นบันทึกเหตุการณ์ที่รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง โดยเฉพาะจากฝ่ายประชาชนหรือเหยื่อของเหตุการณ์เอาไว้อย่างครบถ้วนที่สุดเท่าที่มีอยู่
ทั้งเหตุการณ์สำคัญๆ ในช่วง 2 เดือน รายชื่อ ลักษณะ และสาเหตุของผู้เสียชีวิต การจับกุมดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม โยงไปถึงปัญหากระบวนการยุติธรรม การวิเคราะห์ขั้นตอน เป้าหมาย วิธีการใช้ความรุนแรงของรัฐ ว่าเกินกว่าเหตุ และละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนหรือไม่ รวมถึงคำให้การของพยานและหลักฐานที่สำคัญ ตั้งแต่คำให้การคลิปวิดีโอ และเอกสารราชการ
บรรณาธิการของหนังสือปกอ่อนราคา 500 บาท ปกแข็ง 1,000 บาท เล่มนี้เขียนทิ้งท้ายในบทนำของหนังสือว่า
   "รายงานฉบับนี้เป็นเหมือนคำประกาศต่อสังคมไทยว่า วัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจลอยนวล และการเหยียบย่ำสิทธิในชีวิตและความเป็นคนจะต้องยุติลงในสังคมไทยเสียที...เราขอเน้นย้ำว่า ความจริงและความยุติธรรมมีค่ามากกว่าความปรองดองอันหลอกลวงฉาบฉวย ความจริงและความยุติธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมใหม่ ที่คุณค่าและศักดิ์ศรีของประชาชนทุกชั้นต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน"
ผู้มีจิตใจแสวงหาความจริง หรือที่ยังลังเลใจว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในช่วงนั้นควรหามาอ่าน อ่านแล้วลองเอามาเทียบกับ "คำให้การ" ของท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายดูเถิด แล้วจะขนลุก