ปัญหาสไนเปอร์

ข่าวสด 22 สิงหาคม 2555 >>>




ถ้าโฆษกของกองทัพบก ซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่เป็นโฆษก ศอฉ. ในช่วงที่มีการสลาย การชุมนุมของประชาชนเมื่อปี 2553 ยอมรับว่าเอกสารที่เผยแพร่กันอยู่ในอินเตอร์เน็ตช่วงปัจจุบัน เรื่องคำสั่งของศอฉ. ที่ให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ปืนซุ่มยิง(สไนเปอร์)ต่อผู้ชุมนุมเป็นเอกสารที่แท้จริง
ประเด็นที่จะต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไปก็คือ แล้วในจำนวนผู้เสียชีวิต 98 ศพ และได้รับบาดเจ็บ 2,000 กว่ารายนั้น
มีบ้างหรือไม่ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติการ ของเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติการที่ดำเนินไปในช่วงนั้นถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เป็นปฏิบัติการที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ เพราะเหตุใด
เพราะความเป็นจริงในช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่า หากไม่หันหน้าเข้าเผชิญกับความจริงอย่างองอาจเปิดเผย ความร้าวฉานและบาดแผลของสังคมไทยก็ไม่มีวันประสานหรือทุเลาเบาบางลงไปได้
มีแต่ความจริงที่ตรงไปตรงมาอันจะนำไปสู่ความยุติธรรมเท่านั้น จึงจะทำให้เกิดการยอมรับ ให้อภัย และปรองดองกันในที่สุดได้
ยิ่งภาพของความจริงบิดเบี้ยวบิดเบือน ไปนานเท่าใด บาดแผลและความร้าวฉานก็ยิ่งทวีความรุนแรงและฝังลึกลงไปมากเท่านั้น เป็นไปตามธรรมชาติเช่นเดียวกันกับกรณีอื่นๆ
จุดมุ่งหมายของการแสวงหาความจริงนั้น แม้ในจุดหนึ่งคือแสวงหาตัวผู้รับผิดชอบหรือผู้ลงมือกระทำผิดมารับโทษ แต่ก็ต้องทำความเข้าใจตรงกันว่า โทษที่ได้รับนั้นเป็นโทษตามที่กฎหมายระบุ ไม่สามารถเป็นไปตามความต้องการของใครหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ โทษของผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง กับผู้ออกคำสั่งหรือนโยบายย่อมแตกต่างกัน และถึงที่สุดแล้วในบางครั้งการแสวงหาผู้รับผิดชอบอาจเป็นเพียงส่วนเดียวของการแสวงหาความจริง
เพราะการทำให้สังคมตระหนักรู้ถึงความจริงที่แท้ เพื่อป้องกันมิให้ปัญหาหรือความรุนแรงเช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต ไม่ให้ความจริงถูกบิดเบือนปิดบัง ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน