ผ่าเงื่อนปม "ทักษิณ" อินยูเอสเอ

ข่าวสด 16 สิงหาคม 2555 >>>


พวงทอง ภวัครพันธุ์
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


ภาษาที่นายกษิตวิจารณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางเข้าสหรัฐ ไม่ใช่ภาษาพูดแสดง ออกด้วยความรุนแรง แต่ตอนนี้นายกษิตไม่มีตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาล การพูดจึงไม่น่ากระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามท่าทีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่นายกษิตสังกัดอยู่ ให้ติดลบในสายตานานาชาติยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีปัญหาครั้งหนึ่งแล้ว จากกรณีการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาขององค์การนาซ่า กรณีนายกษิตออกมาต่อว่ารัฐบาลนั้น สมัยที่เคยดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ก็เคยล้มเหลวที่จะโน้มน้าวให้รัฐบาล ประเทศอื่นๆ เห็นด้วยกับการส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย รวมถึงความล้มเหลวในการร่วมมือกับตำรวจสากลด้วย การที่สหรัฐรวมถึงประเทศอื่นๆ อนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางเข้าประเทศได้นั้น พรรคประชาธิปัตย์รวมทั้งสังคมไทยน่าจะกลับมาตั้งคำถามว่าเป็นเพราะอะไร
ส่วนนี้คิดว่าน่าจะมาจากประเทศต่างๆ มองว่า คดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีปัญหาในกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย ที่ยังแยกไม่ออกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และแยกไม่ออกจากความขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งประเด็น 2 มาตรฐานที่ยังคงเป็นคำถามในใจของคนไทยส่วนหนึ่ง

สีดา สอนศรี
ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


การกล่าวโจมตีประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐ กรณีอนุมัติวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าประเทศ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์ได้ในสังคมไทย และเป็น อุดมการณ์ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของนายกษิต ในการ ตามล้าง พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่แล้ว ตั้งแต่เวทีพันธมิตรเรื่อยไปจนถึงได้เป็น รมว.ต่างประเทศ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ท่าทีดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ เพราะตอนนี้นายกษิตไม่มีสถานะทางการเมืองใดๆ พอที่จะเรียกร้องความสนใจจากมหาอำนาจอย่างอเมริกาได้ เหตุผลที่สหรัฐอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าประเทศนั้น มาจากพื้นฐานการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐเองที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ ซึ่งครั้งนี้น่าจะมีผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นเรื่องอะไร อาจเป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรือเป็นการปัดฝุ่นโครงการวิจัยสภาพอากาศของนาซ่าที่ขอใช้สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งยกเลิกไปเมื่อเดือนมิ.ย.ก็เป็นได้ เป็นธรรมชาติของสหรัฐที่จะปรับท่าทีให้สอดคล้องกับรัฐบาลที่กำลังบริหารอยู่ในประเทศนั้นๆ เพื่อให้สอดคล้องต่อผลประโยชน์ของสหรัฐเอง เช่น กรณีที่ให้การหนุนหลังรัฐบาลเผด็จการมาร์กอสในประเทศฟิลิปปินส์ ทั้งที่ตัวเองเป็นต้นแบบระบอบประชาธิปไตยอยู่ หากมองว่าการอนุมัติวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ในครั้งนี้ สะท้อนถึงการที่อเมริกาไม่เห็นด้วยในรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 2549 คงเป็นเรื่องที่ไกลเกินไป แต่พอมองได้ว่าเป็นการสะท้อนถึงเรื่องของ สิทธิเสรีภาพ และกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐเอง เพราะที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ก็สามารถเดินทางเข้าออกหลายประเทศในยุโรปซึ่ง เป็นประเทศประชาธิปไตยได้ สหรัฐเองคงคิดว่าสามารถให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าประเทศตนเองได้เช่นกัน ซึ่งต่างจากสิ่งที่นายกษิตวิพากษ์วิจารณ์ถึงความยุติธรรมของสหรัฐอย่างตรงกัน ข้าม ที่ได้เปรียบเทียบกรณีที่เคยส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนอย่างนายวิกเตอร์ บูท ให้สหรัฐ แต่กรณีความเป็นนักโทษการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยัง ไม่ชัดเจนนัก เพราะในสังคมไทยยังมีคนมากมายที่ให้การสนับสนุนอดีตนายกฯที่ถูกรัฐประหาร อยู่เช่นกัน
จุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งของพ.ต.ท.ทักษิณที่เดินทางเข้า สหรัฐ นอกเหนือจากเรื่องผลประโยชน์แล้ว น่าจะต้องการให้สังคมไทยเห็นและตั้งคำถามว่า ทำไมประชาคมโลกต่างต้อนรับ แต่ประเทศไทยซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนแท้ๆ กลับไม่เป็นเช่นนั้น สำหรับ การออกมาโจมตีรัฐบาลสหรัฐของนายกษิต เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกมการเมืองภายในประเทศไทย ซึ่งนำสหรัฐเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการโจมตี ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ เอง ก็สามารถออกมาตอบโต้ได้เช่นกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ซึ่งทั้งหมดนี้จะไม่กระทบความสัมพันธ์ไทยและสหรัฐ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
รัฐศาสตร์ จุฬาฯ


นายกษิตตั้งคำถามต่อสหรัฐกรณีผ่านวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น มีความชอบธรรม สามารถทำได้ ซึ่งสหรัฐเองควรตอบว่าทำไมเป็นเช่นนั้น เพื่อทวงถามถึงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐเองด้วยว่า มีจุดยืนอย่างไรในเรื่องผลประโยชน์ของตนเอง เพราะมักบอกว่าดูเป็นกรณีๆ ไป ไม่ น่าใช่ภาพสะท้อนที่ว่าสหรัฐไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 2549 เพราะขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ก็อยู่ในอเมริกา แต่เหตุการณ์ยังคงเกิดขึ้น กรณีวิจารณ์ว่าหากปล่อยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าประเทศได้ ก็ยกเลิกพันธสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปเลยนั้น สหรัฐ ไม่ได้มองเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคดีอาญา แต่มองว่าเรื่องนี้เป็นคดีการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นไทยต้องจัดการเอง จึงมีการผ่านวีซ่าให้เข้าประเทศได้ เพราะสหรัฐจะได้ประโยชน์การเดินทางเข้าสหรัฐของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สร้างความหงุดหงิดใจให้แก่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะนายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีต รมว.ต่างประเทศ วิพากษ์วิจารณ์ด้วยท่าทีรุนแรง ไม่เพียงโจมตีรัฐบาลไทยที่ไฟเขียวการเดินทางเข้าประเทศต่างๆ แต่ยังเลยเถิดไปถึงสหรัฐที่ให้ วีซ่าเข้าประเทศครั้งแรกหลังการปฏิวัติปี"49 หาว่า ไม่เคารพกฎหมาย ไม่ให้เกียรติคนไทย ฉีกพันธสัญญาข้อตกลงการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน นักวิชาการด้านการต่างประเทศมองท่าทีดังกล่าวอย่างไร กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่

ประภัสสร์ เทพชาตรี
ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา ม.ธรรมศาสตร์


สหรัฐ ออกวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจเป็นเพราะรู้ดีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่เบื้องหลังรัฐบาลชุดนี้จึงอะลุ้ม อล่วยให้ เพราะอยาก จะจับมือกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งท่าทีดังกล่าวถือว่าไม่เหมาะสม เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีคดีติดตัวอยู่ การเดินทางเข้าสหรัฐนั้นไม่แน่ใจว่าอดีตนายกฯ มีจุดประสงค์ใด แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง กรณีนายกษิต และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงเครือข่ายออกมาโจมตีเรื่องดังกล่าว ถือเป็นเรื่องปกติที่พรรคประชาธิปัตย์จะเดินเกมเช่นนี้ เนื่องจากไม่มีทางเลือกอื่น การตามล่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเรื่องที่ยืดเยื้อมานานหลายสมัย เป็นธรรมดาของฝ่ายค้านที่จะวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง
ส่วนการกล่าวโจมตีประธานาธิบดี บารัก โอบามา ด้วยนั้น ไม่น่าจะส่งผล กระทบต่อนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับสหรัฐ เพราะเป็นเพียงเกมการเมือง และเป็น คำพูดที่มาจากฝ่ายค้าน ไม่ใช่คำพูดหรือท่าทีจากรัฐบาล รัฐบาลสหรัฐอาจระคายหูนิดหน่อย แต่ไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ