ถอดคำปราศรัย อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ในการเตรียมการจัดตั้งองค์กรของ จ.สมุทรปราการ

อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ
16 สิงหาคม 2555




เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 55

ได้มาร่วมงานกับสมุทรปราการมายาวนานพอควร แล้วมองเห็นความเข้มแข็ง ก็ต้องขอชมเชย
1. ต้องขอยกย่องมวลชนสมุทรปราการที่ยิ่งใหญ่ในการต่อสู้ตลอดมา มวลชนสมุทรปราการ คนเสื้อแดงสมุทรปราการนั้นยิ่งใหญ่มาก เป็นข้อสำคัญ เป็นกองหน้าสำคัญในการต่อสู้
2. ชมเชยสถานีวิทยุ ดีเจ และแกนนำ
3. ชมเชยการประสานงานระหว่าง ส.ส.เพื่อไทย กับ นปช.สมุทรปราการ เป็นแบบอย่างที่ดี
วันนี้เรามาทำให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่ว่าของเดิมไม่ดีที่ทำ ๆ กันอยู่ แต่เขาเรียกว่าดีเป็นความสามารถของบุคคล แต่ว่าจะให้ดียิ่งกว่านี้เพื่อให้เป็นการดีที่ยั่งยืนไม่ใช่ขึ้นอยู่กับบุคคล ต้องสร้างระบบรองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ยากลำบากกลายเป็นเวลาที่เราเป็นรัฐบาล เวลาเราเป็นฝ่ายค้าน เราถูกกระทำ การรวมตัวกันมันจะง่าย จะเข้มแข็ง แต่ว่ายามที่เราเป็นรัฐบาลมันจะทดสอบ เพราะว่ามันจะมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ เรื่องตำแหน่งหน้าที่ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับส่วนตัวมันก็จะขึ้นมา นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งมันจะทดสอบเพราะอะไร เพราะงานเราคนเสื้อแดงนั้นไม่ใช่เป็นงานส่วนตัวแต่เป็นการเสียสละเพื่อทำงานส่วนรวม เพราะฉะนั้นยามที่มีผลประโยชน์เข้ามาทางหน้าต่างมันก็เลยจะกลายเป็นวิ่งออกทางประตู เสียหาย !
นี่จึงเป็นเรื่องที่บอกว่า วันนี้เราควรจะมาทำให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ก็คือ สร้างระบบองค์กรจัดตั้ง และคำถามว่าทำไมเราจึงยิ่งต้องมีในตอนที่เราเป็นรัฐบาล
ขณะนี้เป็นรัฐบาลแต่ปรากฎว่ากำลังถูกท้าทาย รัฐสภาก็ถูกคว่ำไปโดยพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายอำมาตย์ พรรคประชาธิปัตย์ การที่เขาไปดึงเก้าอี้แล้วเอาแฟ้มปาประธานนี่หมายความว่าอะไร หมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการบอกสังคมว่า การต่อสู้ในรัฐสภาไม่เอาแล้ว เลิก แล้วต้องการพังเลย ทำให้เวทีรัฐสภาไม่ดำรงอยู่ นี่คือพฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์ ดังที่เขาบอกว่ายกสองมือ เอาสองเท้ายก ก็ยังแพ้ เขาพยายามที่จะขัดขวางการร่างรัฐธรรมนูญมาตลอด จนกระทั่งผ่านญัตติ 1 ญัตติ 2 เขาทำให้ประชาชนเบื่อรัฐสภา ทำให้รัฐสภาเละเทะเป็นน้ำเน่า ต้องการล้มกระดาน แล้วเมื่อประชาธิปัตย์ทำงานไม่ไหว ตุลาการรัฐธรรมนูญก็เข้ามารับไม้ต่อเพื่อต้องการล้มรัฐสภาเหมือนกันคือขัดขวางไม่ให้ลงมติวาระ 3 เพราะว่าถ้าลงมติวาระ 3 นั้นหมายถึงว่ากล่องดวงใจของเขาคือรัฐธรรมนูญ 50 จะถูกดึงออก เพราะฉะนั้นพี่น้องต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ขณะนี้เขาเรียกว่า “สถานการณ์สู้รบ” ไม่ใช่สถานการณ์ธรรมดา พี่น้องลองดูนะ มาเป็นแผงเลย ประชาธิปัตย์เลิกแล้วรัฐสภา ประชาธิปัตย์เอาอย่างคนเสื้อแดงหมดเลย เพราะว่าเขาถือว่าเขาไม่ได้แพ้พรรคเพื่อไทยแต่เขาแพ้คนเสื้อแดง พรรคประชาธิปัตย์เขาคิดว่าเขาก็เก่ง เมื่อพรรคเพื่อไทยทำโครงการเศรษฐกิจเขาก็ลอกหมดเลย ทำเหมือนกัน แต่ถามว่าทำไมเลือกตั้งแพ้ เขาก็สรุปว่าเขาแพ้เพราะงานมวลชน ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์เลิกต่อสู้ตามรัฐสภาแล้ว หันมาต่อสู้ตามท้องถนน เตรียมตั้งเวทีหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า เพราะฉะนั้นอาจารย์เคยเขียนบทความว่าประชาธิปัตย์เลิกสู้ในระบบ หันมาสู้นอกระบบและนอกระบอบประชาธิปไตยด้วย นี่จึงเป็นสถานการณ์สู้รบใหม่ พรรคเพื่อไทยก็ต้องเข้าใจว่านี่เป็นสถานการณ์สู้รบแบบใหม่ คล้าย ๆ หนังวนกลับแต่เขาเปลี่ยนยุทธวิธีเช่น คาดหัว ออกทีวีทำจอทีวีสายฟ้าฟาด และเปิดเวที แล้วที่อาจารย์ล้อเลียนคือมันปลุกระดมไม่ค่อยเป็น พอเวลาขึ้นเวทีก็พูด “พี่น้องสู้ไม่สู้” พี่น้องบอก “สู้” พูด 3 ที คือเขาคงต้องดูการปราศรัยของ นปช. มากกว่านี้เพราะว่ายังฝึกหัดอยู่ แต่เราประมาทไม่ได้เพราะว่าคนที่เป็นอนุรักษ์นิยมทำอะไรก็ได้ ที่เขาบอกว่าเขาเป็นคนดีนั้นไม่จริงหรอก โกหกอะไรก็ได้ ป้ายสีอะไรก็ได้ ใช้อาวุธในการทำลายคนอื่นแบบไหนก็ได้ เพราะว่าพวกประชาธิปัตย์และพวกอนุรักษ์นิยมนั้นเขาเรียกว่าเป็นพวกไม่มีอนาคต....รอวันตาย..... คนพวกนี้ต้องดิ้นทุกทาง
แต่เราเป็นพวกมีอนาคตที่รุ่งโรจน์ เราก็ดูมันอย่างสมเพชและทุเรศ แต่ว่าเราต้องไม่ประมาทเพราะว่าคนที่รอวันตายนั้นมันจะดิ้นทุกอย่าง แล้วมันก็จะทำให้สังคมนี้ ประเทศนี้เจ็บปวด มันยินดีที่จะทำลายทุกอย่างกระทั่งตัวเองเช่นในรัฐสภาหรือนอกรัฐสภา ขณะนี้มันก็ตั้งองค์กรมวลชนขึ้นมา ความหมายคือพรรคประชาธิปัตย์นี้เป็นพรรคการเมืองตัวแทนของระบบอำมาตย์ที่ทำงานแต่มันไม่ได้ผล คือต้องยอมรับว่าในด้านพรรคการเมืองนี้สำหรับระบอบอำมาตย์ซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียวหมดอนาคตแล้ว เพราะฉะนั้นในวิถีทางในระบบสำหรับระบอบอำมาตย์ที่จะมีพรรคการเมืองเพื่อเอาชนะเลือกตั้ง ให้พี่น้องเข้าใจเรื่องนี้ว่าจบแล้วสำหรับระบอบอำมาตย์เพราะมันจะต้องแพ้ตลอด
ในด้านพรรคการเมืองนี่แพ้ แต่ว่าในอำนาจ 3 อำนาจ อำนาจนิติบัญญัติแพ้ อำนาจบริหารก็แพ้ เขาก็เหลืออำนาจเดียวคืออำนาจตุลาการ เขาจึงสร้างองค์กรอิสระขึ้นมาจำนวนมากเป็นอำนาจที่ 4 เป็นเครือข่ายระบอบอำมาตย์ แต่ว่าพรรคของประชาชนมีที่เดียวที่ชนะคือสนามเลือกตั้งเท่านั้น เพราะฉะนั้นมวลชนจึงมีความหมายสำคัญมาก และมาถึงตอนนี้ให้พี่น้องเข้าใจว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นสถานการณ์สู้รบแบบใหม่ พี่น้องต้องพบกับตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งจะมีการตัดสินสองอย่าง หนึ่งยก ก็คือคำร้อง 5 สำนวนนั้นถ้าหากเขาพิจารณาว่าไม่มีปัญหายกมันก็ผ่านไป แต่ไม่ใช่ผ่านไปทั้งหมดนะ แต่ลองคิดดูว่า ถ้าเขาบอกว่ามีมูลว่าคณะพรรคการเมืองที่ยื่นทำให้มีความสงสัยว่าจะเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครอง อะไรจะเกิดขึ้น ยุ่งแน่สำหรับประมาณ 399 คน ถูกถอดถอนทั้งพรรคเลย ครม.ก็โดน ก็มีโอกาสเป็นไปได้ค่อนข้างสูง แล้วตามมายุบพรรค แต่ว่าการถอดถอนและตัดอนาคตผู้บริหาร 5 ปี อย่างนี้เขาจึงเรียกว่ารัฐประหารโดยตุลาการ หรือการทำรัฐประหารโดยกฎหมาย
คือเรากำลังสู้กับรัฐประหารด้วยปืนนั้นไม่ยาก พอเจอรัฐประหารตุลาการนี่งงนะ เรายอมให้เขาทำมากี่รอบแล้วตั้งแต่คุณสมัคร ที่เขาใช้พจนานุกรมบอกว่าไปทำกับข้าวหน้าจอทีวีผิดแล้วก็ปลด เพราะฉะนั้นหลายครั้งแล้วเอาว่าสถานการณ์ขณะนี้ รวมทั้งการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมาเล่นงานเรื่องจริยธรรมสำหรับนายกฯ ในปัญหาณัฐวุฒิ นอกจากเล่นณัฐวุฒิแล้วเล่นล่วงหน้าว่าตั้งจตุพรเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ แล้วยังมีองค์กรนอกระบบออกมา เอาผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ซึ่งถูกหลอกจำนวนหนึ่งบอกว่าจะมีการให้เงินหลายแสนบาท ให้ออกมาโจม นปช. คุณจาตุรนต์ และอาจารย์ธิดา อยู่ดี ๆ ผรท. จะมาประท้วงว่าเราไปถอดถอนตุลาการรัฐธรรมนูญว่าไม่มีเหตุผลและไม่ใช่เรื่อง ยกเว้นที่เราสามารถเข้าใจได้ว่าการทำงานของกลุ่มเหล่านี้ทั้งหมดล้วนเป็นเครือข่ายของระบอบอำมาตย์ และเครือข่ายระบอบอำมาตย์สำแดงผ่านองค์กรอิสระ สำแดงผ่านพรรคประชาธิปัตย์ สำแดงผ่านศาลตุลาการรัฐธรรมนูญ สำแดงผ่านองค์กรหน่วยต่าง ๆ ของมวลชนนอกระบบ ในระบบ แม้กระทั่งการจัดตั้งเขาส่งมวลชนมาเป็นเสื้อแดงแล้วตั้งองค์กรซ้อนองค์กร อาจารย์มีเอกสารที่เขาเขียนชัดเลยว่าเป็นการจัดตั้งซ้อนจัดตั้ง
เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่กำลังจะพูดว่า การจัดตั้งองค์กรนั้นสำคัญและแข็งแกร่ง เพราะว่าวิธีที่คนต้องการทำลายเรานั้นส่วนหนึ่งเขาก็จะใช้ “จัดตั้งซ้อนจัดตั้ง” สมมุติเรามีการจัดตั้ง นปช.สมุทรปราการ มีองค์กรนำ มีประธาน มีคณะกรรมการ การจัดตั้งซ้อนจัดตั้งก็คือเขาจะมาพาประธานหรือประธานกลุ่มต่าง ๆ ไปตั้งองค์กรใหม่อีกองค์กรหนึ่ง เขาจะไม่ทำก่อน จะรอให้เราทำให้สำเร็จแล้วเขาก็จะมาเอาหัวหน้ากลุ่มไปจัดตั้งองค์กรใหม่ สมมุติของเราเป็น นปช.สมุทรปราการและกรุงเทพฯ ส่วนตะวันออก เขาก็จะไปตั้ง อาจจะเป็นชื่ออื่นหรือเครือข่ายอื่น มันทำงานง่ายดี ไม่ต้องไปทำใหม่ หรือมิฉะนั้นก็สมมุติว่ามีองค์กรไก่ชนอยู่ที่นี่ อีกองค์กรหนึ่งก็เอาไก่ชนไปอยู่ด้วย ไก่ชนก็เลยบอกว่าอยู่สององค์กร องค์กรที่จัดตั้งใหม่เขาก็จะรู้ด้วยเลยว่าพวกองค์กรที่ทำอยู่นี้ทำอะไรบ้าง ความลับทั้งหลายก็ถูกถ่ายทอดไปหมด แล้วแตกแยกกัน เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นเรื่องการจัดตั้งเป็นอาวุธสำคัญในการเคลื่อนไหวของการต่อสู้ของประชาชน ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่ต้องการทำลายการต่อสู้ประชาชนก็ใช้อาวุธแบบเดียวกันเข้ามาซ้อน มีเอกสารที่เขียนไว้ชัด แล้วในการปฏิบัติก็ชัด
ทีนี้บางครั้งคนของเราทำเองเพราะอยากได้มวลชนและอื่น ๆ เขาเรียกว่า “แย่งชิงการนำ” นั่นก็แบบหนึ่ง แย่งชิงการนำนั้นอาจจะเป็นผลประโยชน์เช่น คิดว่าถ้าได้เป็นตัวผู้นำก็จะได้ผลประโยชน์แบบใดแบบหนึ่งเช่น เป็นเงินทอง เป็นตำแหน่ง เป็นชื่อเสียงเกียรติยศ แต่อีกแบบหนึ่งก็คือ ฝั่งอำมาตย์หรือฝั่งปฏิปักษ์ประชาชนต้องการแย่งชิงการนำเพื่อทำลายการต่อสู้ของประชาชน มันจะมีทั้งสองอย่าง เพราะฉะนั้นมันไม่ง่าย แต่วิธีการถ้าคุณจัดตั้งกันเสร็จแล้วเราจะอธิบายให้ฟังว่าเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นขณะนี้มันอยู่ที่จุดเริ่มต้นก่อนก็คือว่า พวกเราต้องสำรวจพวกเรา เช่น เราจะตั้ง นปช.สมุทรปราการ แน่นอน นปช.สมุทรปราการแนบแน่นกับพรรคเพื่อไทย แล้วก็มีที่ปรึกษา มีสส. เข้ามาร่วมด้วยเต็มที่ รวมทั้งแกนนำ นปช. ก็มาร่วมด้วยสนิทแนบแน่น ในหมู่พวกเรา เราจะสังเกตุเลยว่าคนบางส่วนไม่พอใจการนำ แต่ถามว่าแล้วมาอยู่กับพวกเราอย่างใกล้ชิดเพื่ออะไร นี่ยกตัวอย่างนะ ไม่พอใจการนำแต่จะมาอยู่ใกล้ชิดเราก็ต้องสังเกตุว่าเมื่อไม่พอใจก็ตั้งกลุ่มแยกก็ได้ เรื่องแบบนี้เป็นความสมัครใจ ไม่ได้บังคับอยู่แล้ว สมมุติว่าไม่พอใจการนำของที่สมุทรปราการก็ตั้งเป็นกลุ่มอิสระได้ แต่ว่าวันนี้เข้าใจว่าที่มาที่นี่เป็นพวกที่ยินดีอยู่ภายใต้การนำของจังหวัดสมุทรปราการและ นปช. หรือเปล่าคะ (เสียงปรบมือ.....) คือที่พูดนี่ คนที่ไม่ต้องการนั้นก็ไม่มีปัญหาแต่ว่าเราแยกการจัดตั้งอยู่คนละจัดตั้ง คือให้เป็นกลุ่มอิสระไปเลย
ยกตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมา นปช. อยู่กันหลวม ๆ แล้วก็ทะเลาะกัน วันหนึ่งอาจารย์ธิดาก็เลยบอกว่าถ้าทะเลาะกันแบบนี้ อย่ากระนั้นเลย นปช. ต้องมีหลักนโยบาย ต้องมีหลักการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรตัวหนังสือ แล้วเรามาตกลงร่วมกันว่าหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า เราจะทำแบบนี้ แล้วห้ามทำเลยเถิดหรือเกิน อย่างข้อหนึ่ง เราบอกว่าเรายังต้องการให้การเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่มีใครจะให้เป็นสาธารณรัฐ ถ้ามีใครบอกว่าต้องการเป็นสาธารณรัฐก็ไม่ใช่อยู่ในองค์กร นปช. แต่ถามว่าถ้าเกิดมีคนอยากได้จริงแล้วเขาบอกว่าเป็นเสื้อแดง ก็ไม่เป็นไร ก็อยู่คนละองค์กร นี่ยกตัวอย่าง เพราะฉะนั้นครั้งนั้นจึงเกิดการแตก เช่น กลุ่มแดงสยาม ต้องพูดกันตรง ๆ ที่คุณสุรชัยแยกไปเพราะว่าตอนนั้นคุณวีระทำเรื่องฎีกาแล้วเถียงกัน เราจึงต้องคุยว่าหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า มาจับมือร่วมกันว่าเรากอดคอร่วมกันต่อสู้ตามนโยบายกี่ข้อ 6 ข้อ เขียนไว้ที่บัตรด้านหลังเพื่อให้ทุกคนผูกพัน ถ้าไม่มีนโยบายเป็นไปได้ว่ามวลชนและแกนนำนี่ติดคุกหัวโตเลย แต่ว่าในนโยบายข้อ 3 เราบอกเลยว่า “สันติวิธี” เพราะฉะนั้นที่จะมาบอกว่า นปช. ใช้กำลังอาวุธนั้นไม่จริง เราปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง
เพราะฉะนั้นความสำคัญของการจัดตั้งจึงมีความสำคัญมาก ทำให้ นปช. เป็นปึกแผ่น มีก้าวย่างที่ตรงกันแม้นว่าไม่ได้คุยกันแต่รู้ว่าเราจะทำอะไร บางครั้งไม่ได้เจอกันเลยแต่เข้าใจกันเพราะว่าเราตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วว่าจะทำอะไรกัน ทีนี้หันมาดูการจัดตั้ง การจัดตั้งองค์กรนี้เพื่ออะไร เพื่อที่จะทำให้องค์กรนี้มีความเป็นเอกภาพ มีก้าวย่างที่พร้อมเพรียงกัน คือไม่ใช่บางพลีทำไปอย่างหนึ่ง บางบ่อทำไปอย่างหนึ่ง บางเมืองทำไปอีกอย่างหนึ่ง ต่างคนต่างทำ แล้วสมมุติ นปช. ทั้งประเทศ คนหนึ่งทำอย่างหนึ่งถามว่าเราจะสู้รบไหวไหม สู้รบไม่ได้ เหมือนเราร้องเพลง คนที่นั่งอยู่ในห้องนี้ต่างคนต่างร้องคนละเพลงแล้วมันจะได้เรื่องไหม พวกคุณต้องซ้อมร้องเพลงเดียวกัน เหมือนการจัดตั้งของเรา บางพลีทำไอ้นี่ บางบ่อทำไอ้โน่น แบ่งงานกันทำแต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การนำเดียวกัน นี่คือการจัดตั้ง เราต้องทำงานเป็นเอกภาพ ขับเคลื่อนอย่างพร้อมเพรียง อย่างมีพลัง เหมือนกับที่เขาพูดเรื่องไม้ไผ่นั่นแหละ
เพราะฉะนั้นสำหรับขบวนการของนักต่อสู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการต่อสู้ที่ต้องเผชิญความยากลำบากมาก หลีกเลี่ยงการจัดตั้งไม่ได้ การจัดตั้งจึงหมายถึงการนำที่เป็นเอกภาพ การขับเคลื่อนที่เป็นเอกภาพ แล้วก็มีการแบ่งภาระหน้าที่ เหมือนเราบอกว่าวันที่ 24 เราจะจัดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่อีกส่วนหนึ่งบอกว่าจะจัดที่ราชประสงค์ ถามว่าเขาคิดได้ไหม เขาคิดได้ มันก็ไม่เป็นเอกภาพ แต่ว่า นปช. ยังเป็นองค์การจัดตั้งที่ยังหลวม ยังมีพื้นที่แห่งความเป็นอิสระของพวกเราพอสมควร ต่อไปเราทำโรงเรียน เพื่อว่าตรงแกนกลางควรจะต้องเป็นเอกภาพ ออกจากแกนกลางมาเขาเรียกว่าแนวร่วมชั้นใน แนวร่วมชั้นในคือมิตรที่ใกล้ชิด แล้วแนวร่วมชั้นนอกก็ห่างออกไป เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องการจะพูดเริ่มต้นว่า พวกพี่น้องทั้งหลายมา ณ ที่นี้เพื่อเตรียมการจัดตั้ง ขอให้ทุกคนตระหนักว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าพี่น้องมีจิตใจวิญญาณต้องการสู้รบให้ได้รับชัยชนะ
ปัจจัยแห่งการได้รับชัยชนะ

  • ประการแรกต้องมีองค์ความรู้ มีหลักทฤษฎีที่ถูกต้องนำ
  • ประการที่สองที่สำคัญ ก็คือมีการจัดตั้งองค์กรที่เข้มแข็ง
  • ประการที่สาม คือ มีการนำที่ถูกต้อง

ต้องมีสามอย่าง การต่อสู้จึงจะได้รับชัยชนะได้ เพราะฉะนั้นการจัดตั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อพูดถึงเรื่องการจัดตั้งเราก็จะอธิบาย การจัดตั้งมี 2 แบบ แบบหนึ่งจากบนลงมาล่าง แบบหนึ่งจากล่างขึ้นไป จากบนลงมาล่างเขาใช้ในเงื่อนไขอื่น ในเงื่อนไขอื่นของเราที่เราต้องทำจากล่างขึ้นไปบน สมมุติพี่น้องมวลชนเลือกแกนนำในระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล แล้วแกนนำทั้งหลายมาประกอบเป็นอำเภอ หรือพี่น้องมีหลายกลุ่มเพราะว่าเป็นการจัดตั้งโดยธรรมชาติ แต่เราต้องการเอาการจัดตั้งโดยธรรมชาติมาประสานกับการจัดตั้งด้วยเขตพื้นที่ เพื่อทำให้การจัดตั้งนั้นมีประสิทธิภาพ สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็วและมีพลัง เอาการจัดตั้งโดยธรรมชาติมาผนวกกับการจัดตั้งในเขตพื้นที่ และถ้าเป็นไปได้ให้ทำจากล่างขึ้นบน แต่ในกรณีที่ทำจากบนลงล่างนั้นมันจะมี 2-3 อย่าง เช่น ในกรณีของการจัดตั้งที่มีลักษณะสู้รบสูง แล้วต้องการคนที่ไว้ใจได้มาร่วมกันอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งการคัดคนที่ไว้ใจได้ต้องมีมาตรฐานนะ ไม่ใช่คัดเพราะว่าคนนี้สนิทกับคนนั้น ต้องดูว่าเขาจะนำพาไปได้ นำพาไปในทางที่ถูกต้อง อีกอันหนึ่งก็คือการจัดตั้งจากล่างขึ้นบนคือพยายามให้กลุ่มต่าง ๆ หรือคนในชุมชนต่าง ๆ เลือกหัวหน้ากลุ่มขึ้นมา แล้วหัวหน้ากลุ่มก็มาประชุมรวมตัวกันเป็นคณะกรรมการ เพราะฉะนั้นเราจะพูดโครงร่างของ นปช.
นปช. นั้นต้องการให้การจัดตั้งโดยธรรมชาติประสานกับการจัดตั้งในเขตพื้นที่ในขอบเขตทั่วประเทศ เราจะมีกรรมการภาค กรรมการภาคก็มาจากกรรมการจังหวัด กรรมการจังหวัดก็มาจากกรรมการอำเภอ แต่ว่าในบางจังหวัดทำไม่ได้ เพราะว่าบางอำเภอไม่มีแกนนำเลย แล้วแกนนำจำนวนมากอยู่ในอำเภอเมือง แล้วต่างฝ่ายต่างเคลื่อนไหว แปลว่าอำเภอเดียวมีหลายคน เพราะฉะนั้นเราก็ให้มันเป็นไปตามความเป็นจริง ว่าความเป็นจริงนั้นถ้าเรามีหลายกลุ่มในอำเภอไหน ทำได้ไหมว่าให้จังหวัดสมุทรปราการมี 7 อำเภอ เพราะฉะนั้นคุณควรมีคณะกรรมการอย่างน้อยสัก 7 คณะ (มีมากกว่านี้ก็ได้) แล้ว 7 คณะนี้เลือกประธานมา 7 คนเพื่อเป็นคณะกรรมการจังหวัด แต่ทั้งหมดนี่อย่าละเลยกลุ่มต่าง ๆ ของพี่น้อง จริง ๆ ถ้าทำได้ ได้จากทุกกลุ่มมาจะดีมาก เราจะบอกเป็นแนวทางเท่านั้นว่า ถ้าเป็นไปได้ขอให้มีคณะกรรมการอย่างน้อย 6 อำเภอ แต่ว่าคณะกรรมการอำเภอนั้นจะมาจากชุมชนหรือมาจากกลุ่มที่พี่น้องทำกันก็ให้เป็นไปตามความเป็นจริง มันไม่มีอะไรเกินกว่าความเป็นจริง ในบางพื้นที่ที่อาจารย์ธิดาไปตั้งไม่ได้เพราะว่ามีการแยกเป็นสองกลุ่ม สามกลุ่มชัดเจน ไม่ยอมกันเลย ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็รอให้อำมาตย์มาปราบถึงจะยอมกระมัง
ขอให้พี่น้องทำตามความจริง ถ้าได้ประธานชุมชนมา (หมายความว่าประธานชุมชนเสื้อแดงนะไม่ใช่ประธานชุมชนที่เขาแต่งตั้ง) เป็นหมู่บ้าน เป็นตำบลมา ประกอบกันเป็นกรรมการอำเภอก็ดี ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็คือเป็นหัวหน้ากลุ่มต่าง ๆ มาประกอบ อย่างน้อยให้มีอำเภอละ 1 คณะ ถ้าอำเภอไหนเป็นอำเภอใหญ่ก็อาจจะเป็นคณะใหญ่ คณะให้มีมากขึ้น มีตัวแทนเข้าสู่กรรมการจังหวัดมากขึ้น เช่น อำเภอนี้มีเสื้อแดงมากแทนที่จะมีตัวแทน 1 คน ก็อาจจะให้มากกว่า 1 คน นี่จึงเป็นเพียงคำแนะนำแบบที่เรียกว่ายืดหยุ่นได้ตามความเป็นจริง ไม่สามารถที่จะบังคับให้ทำอะไรที่เกินกว่าความเป็นจริงได้
เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าพี่น้องสามารถปูพื้นฐานแนวทางว่า เรารวมกลุ่มกันเป็นคณะกรรมการสัก 7-8 คณะ แล้วกรรมการ 7-8 คณะที่มาจากกลุ่มต่าง ๆ นั้นก็ได้กลายเป็นคณะกรรมการจังหวัด มันมีปัญหาอยู่ว่าบางที่กรรมการอำเภอเมืองมีกลุ่มมากและเป็นกลุ่มใหญ่ พี่น้องก็จัดการยืดหยุ่นเช่นตัวแทนให้มากสักหน่อยเวลามาเป็นกรรมการจังหวัด
ขอพูดถึงวิธีคิดในการนำ พี่น้อง การนำขอให้เป็นการนำรวมหมู่ หลายหัวดีกว่าหัวเดียว อย่าทำคนเดียว คิดคนเดียว หลายหัวต้องดีกว่าหัวเดียว เพราะฉะนั้นขอให้จำคำนี้ไว้ นำรวมหมู่ แบ่งงานกันทำ ไม่ใช่บางคนเอาแต่พูดไม่ทำงาน เราจะพบผู้นำบางส่วนพูดเก่ง แต่ไม่ทำงาน เพราะฉะนั้นนำรวมหมู่ต้องแบ่งความรับผิดชอบและตรวจสอบได้ ที่สำคัญก็คือทั้งหมดนี้ต้องมีวินัย สมมุติองค์กรนั้นตกลงอย่างใด พี่น้องต้องมีวินัย แหกมติไม่ได้ เพราะว่าขณะเป็นองค์กรจัดตั้งใหญ่ เช่น กรรมการจังหวัดสมุทรปราการลงมติว่าจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง กรรมการอำเภอก็ต้องรับเรื่องนี้ไปดำเนินต่อ แล้วออกมาเป็นเอกภาพอย่างนี้ถึงจะมีพลัง สมมุติตกลงว่ามีรัฐประหารแล้ว นปช. ต้องการให้จังหวัดรอบกรุงเทพฯ เป็นที่มั่นใหญ่ แปลว่าสมุทรปราการต้องรับหน้าที่จุดหนึ่ง ปทุมธานีจุดหนึ่ง นนทบุรีจุดหนึ่ง แล้วกรรมการจังหวัดแบ่งงานกันทำว่าจะทำอะไร มันต้องเป็นเอกภาพเหมือนเป่านกหวีดแล้วรู้ว่าใครต้องทำหน้าที่อะไร แต่ถ้าเกิดมีบางคนหรือบางกลุ่มไม่ปฏิบัติตามมติ ถามว่าอย่างนี้การสู้รบแพ้ไหม แพ้แน่นอน รอบก่อนที่ปี 53 เราไม่มีมติพูดเรื่องสีลมเลย มีแกนนำเราคนหนึ่งไปพูดว่าเราจะไปสีลมเท่านั้นแหละทหารมาเต็มเลย หรือว่าเรามีมติไม่ไปบุกรัฐสภา แกนนำเราคนหนึ่งดันเข้าไปที่รัฐสภา คราวนี้รุ่งขึ้นประกาศ พรก.ฉุกเฉินเลย อาจารย์กำลังจะอธิบายว่าวินัยสำคัญที่สุด ตกลงอย่างไรต้องเป็นแบบนั้น ไม่ใช่เขายังไม่มีมติดันไปพูดแล้วทุกอย่างเสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่มีการสู้รบ
ขณะนี้ก็เท่ากับอยู่ในบรรยากาศสู้รบแล้ว เพราะว่าเขาสู้รบหลายแนว แนวศาลก็มี แนวองค์กรอิสระก็มี แนวพรรคการเมือง แนวมวลชน แนวกองทัพ แนว กอ.รมน. ออกมาหมดเลยแล้ว แต่ถ้าพวกเราเสรีไม่มีวินัย ไม่ทำตามมติ เสียหาย เพราะฉะนั้นจึงขอเรียกร้องพี่น้องว่า เมื่อพี่น้องทำการจัดตั้งมีการแบ่งภาระหน้าที่กันทำ ที่จะฝากเอาไว้คือ หัวใจสำคัญยิ่งของการต่อสู้ของประชาชนคือวินัย แล้วในกลุ่มองค์กรของเราก็ต้องมีประชาธิปไตย ไม่ใช่ว่าคนที่เป็นหัวหน้าทำตามใจชอบของตัวเองโดยไม่ฟังคนอื่น แต่เมื่อพูดคุยตกลงกันแล้วว่าจะทำอะไรต้องทำตามนั้น ไม่ใช่ไม่ปฏิบัติตามเสียงส่วนใหญ่ เมื่อเสียงส่วนใหญ่บอกอย่างนี้เราพยายามอภิปรายแต่ต้องเปิดโอกาสให้อภิปราย ไม่ใช่ว่าสมมุติประธานยัดลงไปเลยว่าต้องทำอย่างนี้ อย่างนี้ก็ไม่ใช่ท่วงทำนองประชาธิปไตย ในเมื่อเราต้องการประชาธิปไตย วิธีการของเราก็ต้องเป็นประชาธิปไตย ที่เขาเรียกว่าประชาธิปไตยรวมศูนย์ ก็คือพี่น้องออกความคิดเห็นกันเต็มที่ เอาจังหวัดสมุทรปราการก่อน ความคิดเห็นจากบางพลี บางบ่อ บางเสาธง มาที่คณะกรรมการจังหวัดสมุทรปราการ แล้วคณะกรรมการจังหวัดต้องฟังว่าพี่น้องกลุ่มต่าง ๆ เขาคิดอย่างไรในประเด็นนี้ ถกเถียงกัน แล้วพอมีมติทุกกลุ่มทำตาม ไม่ใช่ว่ากลุ่มบางเสาธงบอกว่าไม่ไดเคิดอย่างนี้เสนอแตกต่างจากกลุ่มอื่นเพราะฉะนั้นผมไม่ทำ อย่างนี้เขาเรียกว่าไม่มีการจัดตั้งหรือไร้การจัดตั้ง เพราะว่าถ้าคุณจัดตั้งเป็นคณะกรรมการแล้ว ถ้าเสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไรคุณต้องทำ ยกเว้นว่าถ้ามันเสียหายจริง ๆ คุณมีอีกช่องทางหนึ่ง ยื่นเสนอต่อแกนนำ นปช.ส่วนกลางเพื่อให้แก้ปัญหา หรือมิฉะนั้นก็คุยกับที่ปรึกษา คุยกับ สส.ว่าคณะกรรมการมีความเห็นแตกแยกอยากให้ที่ปรึกษาช่วยคิดด้วย และขอฟังความคิดเห็นของที่ปรึกษาหรือส่วนกลางเพื่อมาทำให้มันดีขึ้นกว่านี้ แต่ในที่นี้เปลว่าเราต้องไม่จุกจิกนะ ไม่ใช่เรื่องหนึ่งเรื่องใดเรื่องเล็กก็เอาเป็นเอาตาย เรื่องเล็ก ๆ เราก็ต้องข้ามไป เพราะในภาษาเขาเรียกว่า “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” คือเอาเรื่องดีที่เราร่วมกันได้เป็นหลัก บางอย่างต่างกันเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าไปเอาตายเอาเป็นกับเรื่องเล็ก แล้วที่สำคัญก็คือท่าทีต่อพี่น้องด้วยกัน ต้องเป็นท่าทีมิตรไม่ใช่ท่าทีศัตรู ประเภทออกอากาศด่ากันไม่ถูก เราเห็นแตกต่างกันเราก็คือมิตร หรือเสื้อแดงหรือ นปช. บางทีเห็นไม่ตรงกับพรรค พรรคเพื่อไทยอาจจะคิดอย่างหนึ่ง คนเสื้อแดงอาจจะคิดอย่างหนึ่ง แต่ถามว่าเราคืออะไร เราคือมิตรกัน ที่เราถูกกระทำจากระบอบอำมาตย์ด้วยกัน ถ้าสมมุติว่าเราทะเลาะกันหรือใช้ท่าทีเป็นศัตรู ด่าว่าพวกกันเอง ทำลายน้ำใจ ทำลายกำลังใจ แล้วบ่อนทำลายการนำ ในที่สุดท่าทีแบบนี้จะทำให้ขบวนพัง
เพราะฉะนั้นความจริงเรื่องมันยาวแต่ก็พยายามผนวกเรื่องสำคัญ ๆ ที่มาพูดในที่นี้ว่าการจัดตั้งสำคัญอย่างไร เป็นปัจจัยสำคัญให้ได้รับชัยชนะ และในการจัดตั้งนั้นต้องใช้ท่วงทำนองประชาธิปไตยแต่ต้องมีการรวมศูนย์ตัดสินใจ และรวมศูนย์จากส่วนต่าง ๆ แม้กระทั่ง นปช. และต่อไปพวกเราก็จะต้องเข้าไปเป็นแกนนำส่วนกลาง แกนนำส่วนกลางที่มีอยู่แม้กระทั่งอาจารย์ธิดาเอง ถ้าการต่อสู้ยืดยาวแกนนำส่วนกลางส่วนหนึ่งอาจจะต้องไปทำภาระหน้าที่อื่นก็ได้ หรือบางคนอาจจะถอดใจหรือเลิกต่อสู้ นี่เป็นเรื่องธรรมดา มันต้องมีเลือดใหม่ และต้องเป็นเลือดที่ดี เลือดที่เข้มแข็งเข้าไปแทน และอีกอย่างก็คือเป็นวิธีการประชาธิปไตยก็คือว่า ให้ได้แกนนำที่มาจากการต่อสู้ของประชาชนจริง ไม่ใช่แกนนำเพราะว่าส่งมา อันนี้ต้องค่อย ๆ แก้แต่ในตอนแรกเราไม่ได้สมบูรณ์ ต่อไปมันก็จะต้องดีขึ้นเรื่อย ๆ
ทีนี้ก็ ในที่นี้ก็ต้องบอกว่าการจัดตั้งสำคัญ ต้องใช้ท่วงทำนองประชาธิปไตย และเมื่อรวมศูนย์มีมติอย่างไร ต้องไม่เสรี ต้องมีวินัย ต้องขึ้นต่อ คำว่าขึ้นต่อไม่ใช่ขึ้นต่อบุคคล แต่ขึ้นต่อการนำรวมหมู่ ขึ้นต่อหลักการ แล้วไม่ใช่อยู่ในองค์กร นปช.สมุทรปราการ พอมีใครยื่นขนมมา มีองค์กรใหม่อีกองค์กรหนึ่งเขาบอกว่าคุณจะได้อย่างนั้นคุณจะได้อย่างนี้ ก็ยกเข้าไปเลย ยกตัวเองไม่พอยกมวลชน ยกมวลชนตัวเองไม่พอ เอาเพื่อนที่อยู่ในกลุ่มอื่นเข้าไปร่วมด้วย นี่ยกตัวอย่าง อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นการทำลาย แต่ถ้าหากว่าใครที่มีความแตกต่างทางความคิดทางอุดมการณ์จริง ๆ เขาก็แยกไปตั้งองค์กรใหม่ไม่มีปัญหา 24 มิถุนาของคุณสมยศก็ไม่ใช่ นปช. แดงสยามก็ไม่ใช่ นปช. ก็ต่างคนต่างทำ ไม่เป็นไร อย่างนี้แสดงว่าเป็นการแยกโดยความคิดที่แตกต่างกัน ไม่ใช่เป็นการแยกเพื่อทำลาย ตรงข้ามคนที่ไม่แยก ด่าเช้าด่าเย็นอยู่ในองค์กรนี่แหละ พวกนี้แหละทำลาย แต่ถ้าเขาเชื่อและเขาก็แยกไปทำของเขาต่างหากแล้วเป็นมิตรจับมือกันก็เข้มแข็ง แต่ไอ้อยู่ข้างในนี่แหละ ด่าเช้าด่าเย็น ด่าในเน็ตบ้าง ด่าอะไรบ้าง แล้วโกหกพกลมทำตัวเหมือนศัตรู อาจารย์ธิดาขอไว้เลยอย่าทำเป็นอันขาด แต่นี่มักจะไม่เกิดกับรากหญ้า จะเกิดกับปัญญาชนเพราะเสรีไร้วินัยคือคิดว่าความคิดของตัวเองนั้นถูกคนเดียว เพราะฉะนั้นเราต้องใช้การจัดตั้งเป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็ง เราจะเลิกความคิดที่ว่าตัวเองเก่งเขาเรียกว่า ลัทธิวีรชนเอกชน คนเดียวเก่ง ไม่มีทาง หลายหัวต้องดีกว่าหัวเดียว เพราะฉะนั้นอาจารย์ก็ขอฝากไว้ว่านี่เป็นเรื่องสำคัญมากนะคะ ก็ต้องขอขอบคุณ