เมื่อ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ใส่เสื้อแดง ผลกระทบและนัยยะต่อพรรคประชาธิปัตย์

ข่าวสด 1 สิงหาคม 2555 >>>




บทวิเคราะห์โดย "สยาม อินเทลลิเจนซ์ ยูนิท" เว็บไซต์ข่าวและบทวิเคราะห์ รวมถึงการสัมภาษณ์บุคคลที่โดดเด่นในสาขาต่างๆ ในรูปแบบวิดีทัศน์และไฟล์เสียง
ไฮไลท์ข่าวการเมืองในรอบสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอันเงียบเหงา เนื่องจากชาวไทยหันไปสนใจกับการแข่งขันของนักกีฬาไทยในศึก “ลอนดอนเกมส์” กลับโผล่ขึ้นมาช่วงค่ำวันอาทิตย์ (29 ก.ค.) เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สวมเสื้อสีแดงขึ้นปราศรัยบนเวที !
การปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ใช้หัวข้อว่า ”เวทีประชาชน เดินหน้าผ่าความจริง หยุดล้มรัฐธรรมนูญ-ออกกฎหมายล้างผิดคนโกง” จัดที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพฯ (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง โดยนายอภิสิทธิ์ขึ้นปราศรัยในชุดแจ็คเก็ตสีน้ำเงินเข้ม รูดซิปปิดถึงคอเพื่อซ่อนเสื้อข้างในไว้ ส่วนแกนนำพรรคคนอื่นๆ ใส่เสื้อยืดหลากสีพร้อมสกรีนคำว่า “หยุด ปรองดองจอมปลอม” รายล้อมนายอภิสิทธิ์อยู่บนเวที
เนื้อหาการปราศรัยช่วงต้นเป็นการโจมตีความพยายาม “ปรองดอง” ของพรรคเพื่อไทยผ่านร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง โดยนำเสนอวิดีโอของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ “เสด็จพี่” นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยในการแถลงข่าวเกี่ยวกับการปรองดองก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์แสดงจุดยืนว่ารัฐบาลต้องหยุดการแก้รัฐธรรมนูญและออกกฎหมายล้างผิดให้ตนเอง
พอปราศรัยไปได้ครึ่งทาง นายอภิสิทธิ์เริ่มพูดถึงสีเสื้อของ ส.ส. ที่ใส่ขึ้นเวทีว่ามีหลายสี แต่ละคนใส่เสื้อยืดสีที่ต่างกันไปทับเสื้อเชิ้ต ส่วนตัวเองไม่อยากทำแบบนั้นจึงใส่ไว้ด้านในอย่างคนปกติ จากนั้นจึงรูดซิปถอดแจ็คเก็ตแสดงเสื้อยืดสีแดงของตัวเอง ซึ่งได้รับเสียงโห่ร้องตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้สนับสนุน
นายอภิสิทธิ์อธิบายว่าใส่สีแดงเพราะสีแดงเป็นของทุกคน มีหลายคนรวมถึงศิลปินรุ่นใหญ่แสดงความเบื่อที่คนเสื้อแดงยึดเอาสีแดงไปเป็นของตัวเอง สีแดงอยู่ในธงชาติ แปลว่าสีแดงเป็นของคนทั้งชาติ ไม่ใช่ของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การที่นายอภิสิทธิ์สีแดงเป็นสิทธิ์ของตน ไม่มีใครมีสิทธิ์ต่อว่า นี่คือสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่มาขัดขวางกัน ตนตั้งใจใส่สีแดงเพื่อบอกกับคนที่อ้างตัวว่าเป็นเสื้อแดงและชอบว่า “สีแดงเป็นอุดมการณ์” ว่าถ้าจะใส่เสื้อแดงจริงๆ ต้องใส่เสื้อแดงที่สกรีนว่า “หยุดปรองดองจอมปลอม” แบบนี้ จากนั้นก็เปิดคลิป พ.ต.ท.ทักษิณ ใส่เสื้อแดง ปลุกระดมมวลชนในช่วงการชุมนุมปี 53 ประกอบ
คลิปวิดีโอการปราศรัยของนายอภิสิทธิ์ 29 กรกฎาคม 2555 (ช่วงถอดเสื้ออยู่ราวนาทีที่ 20)
การใส่เสื้อแดงของนายอภิสิทธิ์ย่อมได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลก เพราะเป็นการแสดงการตอบโต้ “คนเสื้อแดง” ในเชิงสัญลักษณ์เป็นครั้งแรกของนายอภิสิทธิ์เอง (ในฐานะหัวหน้าคู่ขัดแย้งในเหตุการณ์ปี 52-53) และแน่นอนว่าย่อมได้รับเสียงวิจารณ์จากผู้สนับสนุนฝ่ายเสื้อแดงอย่างล้นหลาม
อย่างไรก็ตาม ถ้าพิเคราะห์ให้ลึกลงไปกว่านั้นแล้ว คำถามก็คือ “มาร์คเสื้อแดง” ส่งผลอะไรต่อพรรคประชาธิปัตย์บ้าง ทั้งในทางบวกและทางลบ
ในสายตาของผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อย่างเหนียวแน่น กองเชียร์และแฟนพันธุ์แท้ การตอบโต้ต่อคนเสื้อแดงโดยตรงอย่างนี้ย่อมเป็นเรื่องดี เพราะได้ระบายความอัดอั้นที่มีในใจมานาน และยินดีที่ในที่สุด “หนุ่มมาร์ค” ก็ลุกขึ้นมาแสดงออกว่าต่อต้านคนเสื้อแดงสักที
แต่ไม่ว่าจะสะใจแค่ไหน ประชาชนกลุ่มนี้ก็เลือกพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว ไม่ว่าอภิสิทธิ์จะใส่เสื้อแดงหรือไม่ก็ตาม
ในสายตาของกลุ่มคนเสื้อแดงและผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ก็คงจะจงเกลียดจงชังอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์มากขึ้นที่นำเอา “สีแดง” ที่เป็นสีของฝ่ายตนมาเป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมือง
แต่ไม่ว่าจะเกลียดชังแค่ไหน ประชาชนกลุ่มนี้ก็ไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว ไม่ว่าอภิสิทธิ์จะใส่เสื้อแดงหรือไม่ก็ตาม
คำถามจึงตกไปอยู่ที่กลุ่มคนกลางๆ ไม่เลือกข้างและแสดงออกทางการเมืองชัดเจนนัก (silent majority) ที่ในเชิงการเลือกตั้งสามารถสวิงโหวตไปได้ทั้งสองฝั่ง ว่าคิดอย่างไรกับท่าทีของนายอภิสิทธิ์ในครั้งนี้
SIU ประเมินว่าการสวมเสื้อแดงของนายอภิสิทธิ์ไม่น่าจะส่งผลในเชิงบวกต่อคนกลุ่มนี้มากนัก เพราะอารมณ์ของคนส่วนใหญ่อยากให้ทั้งสองขั้วปรองดองอย่างสงบ โดยอยู่บนเงื่อนไขกลางๆ จำนวนหนึ่ง (เช่น ไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทักษิณ หรือ ชำระความผิดของรัฐบาลอภิสิทธิ์ช่วงปี 53) ซึ่งสังคมไทยยังหา “ฉันทามติ” (consensus) ไม่เจอว่า “เงื่อนไขกลางๆ” ที่ทุกฝ่ายยอมรับคืออะไรกันแน่
การที่พรรคประชาธิปัตย์รุกขึ้นมาเล่นบทฝ่ายค้านหัวรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก และกับการใส่เสื้อแดงของนายอภิสิทธิ์ที่อาจมองได้ว่า “เติมเชื้อฟืนลงกองเพลิง” จึงไม่น่าจะเป็นผลดีต่อเสียงกลางๆ เหล่านี้ที่มีคะแนนโหวตในมือเป็นจำนวนมาก
ยุทธศาสตร์ aggressive ของพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมขัดแย้งกับภาพลักษณ์สุภาพ เรียบร้อย ทันสมัย ที่นายอภิสิทธิ์วางตัวเองไว้ก่อนได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลสำคัญต่อเสียงสนับสนุนของเขาในช่วงก่อนที่เขาจะขึ้นมาเป็นนายก-ช่วงแรกของการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
ในระยะสั้น ยุทธศาสตร์ aggressive คงช่วยให้ประชาธิปัตย์ได้รับความสนใจจากกระแสการเมืองต่อไป ถือเป็นการ “เลี้ยงกระแส” เอาไว้ไม่ให้เฉาในช่วงที่พรรคอยู่ในขาลง
แต่ในระยะยาวแล้ว การที่พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาครองความยิ่งใหญ่ได้ ก็จำเป็นต้องมีปัจจัยสนับสนุนที่มากกว่านี้มาก ต้องแสดงฝีมือทั้งในแง่การบริหารและนโยบายให้มากกว่านี้
มิหนำซ้ำแล้ว การแสดงออกแบบ aggressive ยังจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อภาพลักษณ์ “พระเอก” ของพรรคประชาธิปัตย์ในอนาคต ชนิดที่อาจกู้กลับมาไม่ได้อีกเลย…