“อภิสิทธิ์” ไปใครจะมา ? ประชาธิปัตย์ยุคไร้ตัวเลือก

โลกวันนี้ 13 สิงหาคม 2555 >>>


กลายเป็นวิวาทะระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปเป็นบุคคลอื่น
กระแสข่าวเรื่องนี้อาจจะดูแปลกไปสักหน่อยตรงที่ว่าคนที่ออกมาบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนผู้นำคือ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.เพื่อไทย แต่คนที่บอกว่าไม่เปลี่ยนแน่นอนคือ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ คนนอกพรรคบอกเปลี่ยนแน่ แต่คนในพรรคบอกไม่เปลี่ยน
นายจิรายุบอกว่า ข่าวลือในทางการเมืองมักเป็นข่าวจริงหากคนระดับกรรมการบริหารพรรคออกมาปฏิเสธ ซึ่งข่าวการเปลี่ยนตัวนายอภิสิทธิ์นอกจากนายเทพไทแล้วยังมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่มีตำแหน่งใหญ่โตเป็นถึงเลขาธิการพรรคออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ด้วย
ในความเป็นจริงคนในพรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมรับว่าพรรคภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ไม่มีโอกาสที่จะดีขึ้นไปกว่านี้
นอกจากไม่มีโอกาสดีขึ้น เติบโตขึ้น ก็ยังเข้าตำรา “มีแต่ทรงกับทรุด” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำลงเรื่อยๆนับตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นหัวหน้านำพรรคแพ้เลือกตั้ง แต่พยายามล็อบบี้ทุกทางเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล จนเกิดภาพกอดสยิวกับนายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งเคยเป็นศัตรูเก่าไม่เผาผีกันมาก่อน ทำลายภาพลักษณ์พรรคด้วยการเข้าไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ทั้งที่มีสโลแกน “ยึดมั่นระบบรัฐสภา”
ยังไม่นับรวมการมองไม่เห็นหัวคนรุ่นเก่าในพรรค เลือกใช้เฉพาะคนใกล้ตัวที่เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันให้ออกมาอาละวาดอย่างไม่ยอมลดราวาศอกต่อฝ่ายใดจนได้ฉายาว่า “แก๊งไอติม”
เมื่อเป็นอย่างนี้คนที่ยังไว้ใจอยู่ใต้การนำของนายอภิสิทธิ์น่าจะมีเพียงกลุ่มใกล้ชิดที่พยายามยึดอำนาจภายในพรรคเอามาไว้ในมือ
แต่คนที่เห็นแก่ประโยชน์พรรคเริ่มไม่มั่นใจอนาคตว่าหากให้พรรคอยู่ใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ที่มี “แก๊งไอติม” เป็นมือเป็นไม้ต่อไป ในวันข้างหน้าพรรคจะเป็นอย่างไร
ที่ผ่านมานำพรรคแพ้เลือกตั้งถล่มทลาย 2 ครั้งซ้อน ทั้งที่การเลือกตั้งครั้งหลังสุดนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศอยู่นาน 2 ปี  8 เดือน แต่ยังไม่ได้ใจประชาชน
แพ้แม้แต่มือใหม่หัดขับทางการเมืองอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีโอกาสทำงานแล้วยังไม่ได้ใจประชาชน แล้วอนาคตพรรคจะอยู่ตรงไหน ?
การทำงานในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่เคยเป็นจุดแข็ง สร้างชื่อเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์มาทุกยุคก็มาตกต่ำในยุคนายอภิสิทธิ์ ที่ผลสำรวจความเห็นประชาชนให้สอบตกเพราะจับต้องผลงานไม่ได้
แถมยังสร้างความอัปยศโห่ฮา ขว้างปาสิ่งของ กระชากตัว ดึงเก้าอี้ประธานสภา สร้างรอยด่างทางการเมืองให้รัฐสภาไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ เรียกว่าฉุดพรรคตกต่ำทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีและในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ยังไม่นับรวมความไม่สง่างามจากปัญหาการเกณฑ์ทหาร การรับราชการสอนหนังสือที่มีวันลาหยุดมากกว่าวันทำงาน การเป็นคนสองสัญชาติ และการใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่มาชุมนุมขอให้ยุบสภา
แต่ปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์คือ หากพ้นจากนายอภิสิทธิ์แล้วจะเอาใครขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคต่อสู้ในสนามการเมืองแทน
ชื่อของนายกรณ์ จาติกวณิช หรือแม้แต่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ถูกปล่อยออกมา แม้จะแก่พรรษาทางการเมือง มีความรู้ มีประสบการณ์ แต่ปัญหาคือ ขายได้หรือไม่ยามต้องลงสนามเลือกตั้ง แม้จะอยากเปลี่ยนตัวผู้นำพรรค แต่ก็ไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีไปกว่านายอภิสิทธิ์
เมื่อยังมองไม่เห็นตัวเลือกที่ดีกว่าจึงเกิดความไม่มั่นใจว่าหากผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำเร็จแล้ว พรรคจะเดินไปทางทิศทางใดต่อไป
คนใหม่จะดีกว่าคนเก่าจริงหรือไม่ เปลี่ยนแล้วพรรคจะดีขึ้นจริงหรือเปล่า เมื่อยังสับสนไม่มั่นใจก็ต้องทนอยู่กับผู้นำคนเก่าต่อไปมากกว่าที่จะเลือกให้มีความเปลี่ยนแปลง
เก้าอี้หัวหน้าพรรคของนายอภิสิทธิ์จึงยังมั่นคงแข็งแรง สวนทางกับสถานะของพรรคที่ยิ่งเก่าแก่ยิ่งสั่นคลอน ไม่เติบโต