'พล.ต.อ.ปทีป' เบิกความคดียิงแท็กซี่แดงดับ ยันไม่มีการใช้อาวุธจริง

ไทยรัฐ 30 สิงหาคม 2555 >>>




พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาการ ผบ.ตร. ขึ้นศาลเป็นพยานเบิกความ คดีไต่สวนหาสาเหตุการตายแท็กซี่เสื้อแดง ยืนยันไม่มีการใช้อาวุธจริงและยึดหลักสากล...

ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลนัดไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา ยื่นคำร้องขอให้ศาลชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตของ นายพัน คำกอง ชาวจังหวัดยโสธร อาชีพขับรถแท็กซี่ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เสียชีวิตหน้าคอนโดมิเนียม ใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ลิงค์ สถานีราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 ระหว่างเหตุการณ์ทหารกระชับพื้นที่ราชประสงค์
โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.ประชาธิปัตย์ และ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางมาศาลตามหมายเรียกในฐานะพยานก่อนการเบิกความ นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากภรรยาของนายพัน เปิดเผยว่า ประเด็นคำถามในการไต่สวนพยาน จะเน้นเรื่องการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเหตุความรุนแรง ทางการเมือง เมื่อปี 2553 ว่าเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่
เมื่อถึงเวลานัด นายอภิสิทธิ์ แถลงต่อศาลว่า ขอเบิกความในช่วงบ่าย เนื่องจากในช่วงเช้าติดภารกิจ ศาลพิจารณาแล้วอนุญาต หลังจากนั้นนายอภิสิทธิ์ได้เดินทางกลับทันที โดยไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
ต่อมา พล.ต.อ.ปทีป ได้ขึ้นเบิกความเป็นปากแรก สรุปว่า ช่วงเกิดเหตุ พยานมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งมีนายสุเทพ เป็นผู้อำนวยการ มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ควบคุมสถานการณ์และแก้ไขสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติ และรักษาความสงบเรียบร้อย
โดยหลักการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมของ ศอฉ. คือ
1. ไม่ใช้ความรุนแรง
2. ใช้การเจรจาเป็นหลัก
3. หากจำเป็นต้องใช้กำลังให้พิจารณาจากเบาไปหาหนักตามหลักสากล โดยจะเตือนให้ทราบก่อนทุกขั้นตอน ซึ่งการใช้กำลังที่หนักที่สุด คือการใช้กระสุนยางที่ยิงด้วยปืนลูกซอง เพื่อป้องกันตัว
ในการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่แยกคอกวัวและราชประสงค์ ตามยุทธศาสตร์ได้วางกำลังปิดล้อมไว้ 3 ชั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเฉพาะชั้นที่ 2 และ 3 โดยมีเพียงโล่และกระบองเป็นอาวุธ ซึ่งการสลายการชุมนุมในวันที่ 11 เม.ย. 2553 ที่แยกผ่านฟ้า เป็นการดำเนินการของฝ่ายทหาร แต่ตนจำไม่ได้ว่า ใครเป็นหัวหน้าที่ควบคุมดูแลสั่งการ ซึ่งไม่สามารถขอคืนพื้นที่ในส่วนสะพานผ่านฟ้าได้ โดยในรายละเอียดการปฏิบัตตนไม่ทราบ เพราะพยานมีหน้าที่ดูแลด้านนโยบาย และเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาทำงานร่วมกับ ศอฉ. เท่านั้น
นอกจากนี้ ในการควบคุมดูแลการชุมนุมในพื้นที่ราชประสงค์ ตนทราบว่า วันที่ 14 พ.ค. มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพกอาวุธปืนพกได้ เนื่องจากช่วงนั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกยิงเสียชีวิตบริเวณถนนสีลม 2 นาย และก่อนหน้านี้ ก็ได้มีเหตุการณ์รุนแรง โดยมีการลอบวางระเบิดรอบๆ กรุงเทพฯ และยิงอาวุธปืนเอ็ม 79 ที่แยกศาลาแดง สำหรับการสลายการชุมนุมที่ถนนราชปรารภ บริเวณที่นายพัน คำกองถูกยิงเสียชีวิต ตนไม่เคยเห็นรายงานสรุปเหตุการณ์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เนื่องจากในรายงานดังกล่าว ได้จัดทำหลังจากที่ตนเกษียณอายุไปแล้ว และแม้ว่าตามหลักการแล้วหากมีผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเข้าไปตรวจสอบพื้นที่โดยเร็ว แต่กรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่ ไม่สามารถเข้าไปยังที่เกิดเหตุได้ เนื่องจากมีการปะทะกันอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ตนยังปฏิบัติหน้าที่ใน ศอฉ. ในส่วนของตำรวจไม่พบว่าเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งในเรื่องของการใช้ อาวุธปืน ถ้าตำรวจทำอะไรเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม ตนในฐานะรักษาการ ผบ.ตร. และผู้ช่วย ศอฉ. จะต้องทราบดังกล่าว