คำเบิกความแกนนำ "นปช." พิสูจน์ "คุกคาม" ศาล รธน.?

มติชน 10 สิงหาคม 2555 >>>




เป็นคำเบิกความของแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และพวก รวม 24 คน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีร่วมกันก่อการร้าย แถลงต่อศาลอาญา กรณีนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวนายจตุพร พรหมพันธุ์ นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก และนายก่อแก้ว พิกุลทอง กรณีมีพฤติการณ์เข้าข่ายผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัว ขึ้นเวทีปราศรัยเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา บริเวณหน้ารัฐสภา กล่าวโจมตีพาดพิง ข่มขู่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่รับคำร้องขอให้วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 ขัดมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม

ยศวริศ ชูกล่อม

ผมเป็นอดีตนักแสดงตลก การพูดปราศรัยบนเวทีบางครั้งมีมุขตลกสอดแทรกไปบ้าง แต่ผมพูดด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า องค์กรศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรอิสระ เหมือน ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) และ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ผมยึดมั่นในความยุติธรรมของศาลยุติธรรม ด้วยเหตุที่คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรอิสระ จึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ตามรัฐธรรมนูญ หากก้าวล่วงประการใดก็ขอให้ดำเนินการกับผมได้
แต่เงื่อนไขของศาลคือ ห้ามยุยงปลุกปั่น ผมได้รับการประกันตัวสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ขณะนี้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแล้ว ผมไม่มีเจตนายุยงปลุกปั่นให้รัฐบาลเดือดร้อน ส่วนชื่อ เบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นเอกสารสาธารณะ ปรากฏตามอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีพี่น้องประชาชนนำมาให้เพื่อให้ช่วยพูดบนเวที ผมพูดเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่ได้ตรวจสอบก่อน หลังจากพูดไปแล้วนึกได้ว่าอาจจะไปกระทบเงื่อนไขศาล จึงได้กล่าวขอโทษพี่น้องประชาชนและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทันที พร้อมกำชับประชาชนอย่าโทรศัพท์ไปคุกคามตุลาการ ขออภัยเพราะพูดไปด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ต่อมาโฆษกศาลรัฐธรรมนูญแถลงข่าวว่า ศาลไม่ติดใจไม่ถือโทษ เพราะผมกล่าวขอโทษแล้ว ผมยังคอยแก้ปัญหาการชุมนุมการประท้วง ขอความกรุณาต่อศาล ไม่มีเจตนายุยงปั่นป่วนและผิดเงื่อนไขของศาล ขอความเมตตาต่อศาล เพราะมีตำแหน่งทางการเมืองทำงานเพื่อประเทศชาติ และเป็นกรรมการจัดงาน 12 สิงหาคม ที่สนามหลวง
ผมมีเทปยืนยันว่าได้กล่าวขอโทษจริง และยืนยันว่าจะไม่กระทำการเช่นนี้อีก หลังจากนั้นก็ไม่ได้ขึ้นเวทีปราศรัยอีก เพราะเกรงว่าจะไปพูดพาดพิงคนอื่น

จตุพร พรหมพันธุ์

ในวันเกิดเหตุผมขึ้นปราศรัยก่อนนายยศวริศ ซึ่งเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ และหลังจากนั้นก็ไม่มีเหตุอะไร ส่วนคำพูดของนายยศวริศ ผมก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะไม่เคยได้พูดคุยก่อน ส่วนการปราศรัยที่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นการพูดเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็น ส.ส. และเคยอภิปรายในสภาหลายครั้ง ซึ่งเห็นว่าศาลรัฐธรรมทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญเอง ด้วยการรับคำร้อง (ขอให้วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 ขัดมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ หรือไม่) โดยไม่ผ่านสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นการกระทำโดยมิชอบ ทั้งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง โดยคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 คน ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการกล่าวหาที่เกินความจริงและใส่ความกัน ซึ่งผมเห็นเหมือนกับนักวิชาการหลายคน และเห็นว่านายยศวริศไม่มีเจตนา
ขณะเดียวกัน ผมได้ปราศรัยให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจไปดูแลบ้านของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะในวันนั้นสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 ในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญล้มล้างการปกครอง เกรงว่าอาจมีมือที่ 3 อาศัยคำปราศรัยของนายยศวริศไปสร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานศาลรัฐ ธรรมนูญได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับผู้ ชุมนุมหลายคน แต่ไม่ปรากฏว่ามีชื่อของผมถูกดำเนินคดีด้วย จึงมีความสงสัยว่าถูกยื่นคำร้องให้เพิกถอนปล่อยชั่วคราวได้อย่างไร
หลังจากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554 และได้กำหนดเงื่อนไข ห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุม หรือกิจกรรมที่เกินกว่า 5 คน ผมได้สอบถามต่อนายมานิตย์ สุขอนันต์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาขณะนั้น ว่าสามารถปราศรัยได้หรือไม่ ซึ่งได้รับการชี้แจงว่าสามารถทำได้ ศาลก็ไม่ได้ห้ามขึ้นปราศรัย เพียงแค่ห้ามก่อความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งหลังการปราศรัยก็ไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยอะไร
ส่วนการปราศรัยทางการเมือง บางครั้งอาจจะมีคำพูดหยาบบ้าง เช่น มึง กู แต่ไม่ได้หนักหนาอะไร ผมใช้ถ้อยคำสุภาพเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีคำแรงๆ มาบ้าง แต่หลีกเรื่องถ้อยคำหยาบคาย แต่ศัพท์สมัยพ่อขุนราม มึง กู ก็มีบ้าง

วีระกานต์ มุสิกพงศ์


ไม่เกี่ยวข้องกับการปราศรัยของนายยศวริศ โดยในวันเกิดเหตุไม่ได้ไปร่วมชุมนุมที่หน้ารัฐสภา หลังศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ขึ้นเวทีปราศรัยครั้งหนึ่ง แต่เป็นตามสิทธิรัฐธรรมนูญ และไม่เคยทำผิดเงื่อนไขของศาล อาจมีการพูดพาดพิงบุคคลอื่นบ้างแต่ไม่เป็นการละเมิดกฎหมาย ไม่มีคำพูดหยาบคาย ไม่มีคำพูดที่กระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

นิสิต สินธุไพร

ส่วนใหญ่ได้ขึ้นปราศรัยตลอด แต่เป็นเชิงหลักการประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แต่ไม่ได้พูดกระทบบุคคลอื่น ไม่พูดจาหยาบคาย ไม่มีพูดพาดพิงสถาบัน และไม่กระทบเงื่อนไขถอนประกัน ส่วนในวันเกิดเหตุผมอยู่ที่หน้ารัฐสภาจริง แต่ไม่ได้ฟังการปราศรัยของนายยศวริศ เพราะอยู่ระหว่างเดินทางมาจากต่างจังหวัด และไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำของนายยศวริศ

ขวัญชัย ไพรพนา

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ผมไม่ได้มาร่วมปราศรัยกับนายยศวริศ เพราะขณะนั้นอยู่ที่ จ.อุดรธานี และไม่ได้เดินทางมากรุงเทพฯบ่อยจึงมีการปราศรัยที่ จ.อุดรธานี มากกว่า แต่ไม่เคยมีปัญหาอะไร และไม่ได้พูดกระทบอะไรรุนแรง

อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง

ในวันที่ 7 มิถุนายน ไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่ได้ไปร่วมปราศรัย อย่างไรก็ตาม ขอเรียนว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นบางครั้งพวกเราไม่มีเจตนาพูดกระทบให้เกิด ปัญหาต่อใครทั้งสิ้น แต่เห็นว่าบ้านเมืองที่เป็นปัญหาบางครั้งก็ต้องมีการพูดถึงบ้าง และอยากให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน แต่การพูดของคนที่มีความรู้มากอาจพูดในหลักข้อกฎหมาย ส่วนผู้ที่มีความรู้น้อยอาจพูดไม่สุภาพ แต่ก็ไม่มีเจตนา ผมทราบดีว่าบทบาทของพวกผมหลังได้รับประกันตัวจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หลักจากบวชก็เคยมีขึ้นเวทีปราศรัยบ้าง แต่เป็นการพูดโดยใช้หลักธรรมะส่วนใหญ่

จำเลยคดีร่วมกันก่อการร้าย 24 คน ประกอบด้วย

1. นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์
2. นายจตุพร พรหมพันธุ์
3. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
4. นายเหวง โตจิราการ
5. นายก่อแก้ว พิกุลทอง
6. นายขวัญชัย ไพรพนา
7. นายยศวริศ ชูกล่อม (เจ๋ง ดอกจิ)
8. นายนิสิต สินธุไพร
9. นายการุณ โหสกุล
10. นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท
11. นายพงษ์พิเชษฐ์ สุขจินดาทอง
12. นายสุขเสก พลตื้อ
13. นายจรัญ ลอยพูล
14. นายอำนาจ อินทโชติ
15. นายชยุต ใหลเจริญ
16. นายสมบัติ มากทอง
17. นายสุรชัย เทวรัตน์
18. นายรชต วงค์ยอด
19. นายยงยุทธ ท้วมมี
20. นายอร่าม แสงอรุณ
21. นายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์
22. นายสมพงษ์ บางชม
23. นายมานพ ชาญช่างทอง
24. นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง