มาร์ค-เทือกแจงศาล ปัด 98 ศพ

ข่าวสด 31 สิงหาคม 2555 >>>


"เทือก" ซัดม็อบทำเพื่อทักษิณ

จากนั้นนายสุเทพ เบิกความว่า กลุ่ม นปช. เริ่มชุมนุมมาก่อนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยบอกว่าถูกรังแก และถูกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน ต่อมานายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ก็เรียกร้องให้ลาออกและยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งพยานเห็นว่านายอภิสิทธิ์มาจากการเลือกตั้งโดยชอบธรรม ภายหลังนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่ง จึงไม่ทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว กลุ่มผู้ชุมนุมจึงชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และยกระดับความรุนแรงของการชุมนุมมากขึ้น
นายสุเทพ เบิกความอีกว่า พยานทราบว่าจะมีการเคลื่อนไหวยกระดับความรุนแรงตราบใดที่ พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ ทั้งการพ้นคดีจำคุก 2 ปี และการได้เงิน 46,000 ล้านบาทคืน หลังถูกยึดทรัพย์คดีทุจริต ซึ่งพยานประมวลจากหลักฐานคลิปวิดีโอลิงก์การปราศรัย และในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการติดตามสถาน การณ์ทางการเมืองตั้งแต่ต้นปี 2553 จึงได้รับรายงานจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และกลุ่ม นปช. ซึ่งมีในรายงานข้อเรียกร้องของกลุ่ม นปช. ด้วย แต่พยานไม่ได้คุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยตรง

เปลี่ยนการปกครองรัฐไทยใหม่

อดีต ผอ.ศอฉ. เบิกความต่อว่า กลุ่มนปช.ยังมีเป้าหมายที่มากกว่าการเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพรรคประชาธิปัตย์ คือต้องการเปลี่ยนแปลงการปก ครองและสร้างรัฐไทยใหม่ขึ้น โดยมีการปราศรัยปลุกระดมจากแกนนำนปช.หลายคน อาทิ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ นายอดิศร เพียงเกษ เป็นต้น ซึ่งกลุ่ม นปช. ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะประกาศชุมนุมใหญ่ในวันที่ 12 มี.ค. 2553 โดยตั้งเวทีที่สะพานผ่านฟ้าฯ ทำให้เกิดการจราจรติดขัด สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่สัญจรไปมา นายอภิสิทธิ์จึงอนุมัติให้ตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และตั้งศูนย์ที่กรมทหารราบที่ 11 รอ. ภายหลังเปลี่ยนเป็น ศอฉ.

ศอฉ. ไม่มีเคยสั่งสลายการชุมนุม

อดีตรองนายกฯ เบิกความว่า ตลอดการชุมนุมนั้น ไม่ได้ชุมนุมกันอย่างสงบ มีการก่อเหตุร้าย ทั้งใช้อาวุธปืนและระเบิดเอ็ม 79 โจมตีใส่สถานที่ราชการ และเอกชน จนเกิดความหวาดกลัวต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไป ทั้งยังปลุกระดมให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล และสถาบันที่เคารพ มีการบุกเข้าไปใน กกต. และยึดอาวุธของเจ้าหน้าที่ นายอภิสิทธิ์จึงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 7 เม.ย. 2553 โดยแต่งตั้งให้พยานเป็น ผอ.ศอฉ. รับผิดชอบปฏิบัติงานแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีคณะกรรม การทั้งหมด 28 คน ซึ่งจัดประชุมกันตอนเช้าและตอนเย็นของทุกวัน เพื่อประเมินสถานการณ์ ซึ่งในทุกคำสั่งของ ศอฉ. พยานจะเป็นผู้ลงนามอนุมัติ
อดีต ผอ.ศอฉ. เบิกความอีกว่า ในกฎหมายได้บัญญัติให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่สามารถระดมกำลังทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ และทหาร เพื่อช่วยป้องกันและระงับเหตุร้าย โดยตลอดระยะเวลา 2 เดือน ทาง ศอฉ. ไม่เคยสั่งการสลายการชุมนุมแม้แต่ครั้งเดียว แต่สั่งการให้แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตามแต่ละเวลาเท่านั้น และเนื่องจากการชุมนุมทั้งที่สะพานผ่านฟ้าฯ และสี่แยกราชประสงค์ ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด จึงขอคืนพื้นที่ตามนโยบายของนายกฯ โดยมีพยานเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้การสลายการชุมนุม หมายถึง การให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังบังคับจนสลายการชุมนุมไปทั้งหมด แต่การขอคืนพื้นที่ หมายถึง การผลักดันโดยไม่ใช้กำลังบังคับผู้ชุมนุม เพียงแค่ให้ถอยร่นออกจากพื้นที่เท่านั้น

ม็อบกระทำรุนแรงกับ จนท.

อดีต ผอ.ศอฉ. เบิกความต่อว่า ในการขอคืนพื้นที่วันที่ 10 เม.ย. 2553 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสะพานพระปิ่นเกล้า เป็นการควบคุมฝูงชนตามหลักสากล โดยให้เจ้าหน้าที่ใช้โล่ กระบอง รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตาชนิดขว้าง และปืนลูกซองบรรจุกระสุนยาง ซึ่งในระดับ ผบ. หน่วย สามารถใช้ปืนเล็กยาวได้ไม่เกิน 10 คน เพื่อใช้ระงับเหตุร้าย การปฏิบัติการขอคืนพื้นที่เริ่มเวลา 13.00 น. กระทั่งเวลา 18.15 น. จึงมีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติและให้ประจำอยู่ในจุดนั้น เพราะเห็นว่าใกล้ค่ำแล้ว ปรากฏว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมไปปิดล้อมเจ้าหน้าที่ และยึดอาวุธของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในรถยานหุ้มเกราะซึ่งไม่ได้นำมาใช้ เนื่องจากหน่วยดังกล่าวใช้รถหุ้มเกราะในการลำเลียงกำลังพลและอาวุธมาจาก จ.กาญจนบุรี โดยสามารถยึดปืนทาโวร์ และเอ็ม 16 ไปได้ ก่อนปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่

อ้างเหตุจำเป็นใช้ ฮ. ทิ้งแก๊สน้ำตา

อดีตรองนายกฯ เบิกความว่า เจ้าหน้าที่จึงใช้แก๊สน้ำตาขว้างใส่ผู้ชุมนุม แต่ทิศทางลมไม่อำนวย จึงจำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยใบปลิว และทิ้งแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม ระหว่างนั้นยังมีกลุ่มชายชุดดำใช้อาวุธปืนสงครามยิงใส่เจ้าหน้าที่และประชาชน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย แต่ไม่สามารถจับกุมได้ เพราะอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุม แต่มีสายสืบของ บช.น. แย่งชิงอาวุธเอ็ม 79 จากชายชุดดำได้

ลูกซองยิงระดับเข่าไม่ประสงค์ชีวิต

พยานเบิกความต่อว่า หลังการก่อการร้ายในวันที่ 10 เม.ย. 2553 จึงมีคำสั่งป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียและล้มตายกับประชาชน โดยให้เจ้าหน้าที่ตั้งหน่วยอยู่กับที่และรักษาระยะห่างกับประชาชนไม่น้อยกว่า 150 เมตร ซึ่งอนุญาตให้ใช้ปืนลูกซองบรรจุกระสุนปืนลูกปราย เพราะเห็นว่าไม่ร้ายแรง โดยแจ้งให้ยิงในระดับเข่าลงไป แต่ไม่ประสงค์ต่อชีวิต กระทั่งมีเหตุการณ์ใช้ปืนและระเบิดยิงใส่เจ้าหน้าที่ตามอาคารสูง จึงประกาศให้เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่ตามพื้นที่สูงโปร่งในจุดต่างๆ โดยอนุญาตให้ใช้อาวุธได้ตามความพร้อมและตามคำสั่งของ ผบ. แต่ละหน่วย
พยานเบิกความอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 2553 ศอฉ.สั่งการให้ตั้งด่านตรวจสกัด เพื่อปิดล้อมพื้นที่ไม่ให้มีผู้มาชุมนุมเพิ่มเติม โดยมีระยะห่าง 2 ก.ม. อาทิ ถนนราชปรารภ ปทุมวัน พระราม 4 เพลินจิต เป็นต้น พร้อมกับยกเลิกการขนส่ง ตัดน้ำ ตัดไฟ ที่จะส่งไปยังเวทีราชประสงค์ เพื่อให้ผู้ชุมนุมได้รับความลำบาก จะได้ล้มเลิกการชุมนุมไปเอง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. ป็นต้นมา มีการใช้อาวุธปืนและระเบิดยิงใส่เจ้าหน้าที่และประชาชนทุกคืน

คนเจ็บ-ตายอยู่ในพื้นที่ของม็อบ

อดีตรองนายกฯ เบิกความว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำตัวออกมาได้ เพราะห่างกันกว่า 100 เมตร และเป็นพื้นที่ของผู้ชุมนุม ในกรณีที่มีผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ไม่ได้รายงานให้ทราบว่า ใครเสียชีวิตที่ไหน เมื่อไหร่ แต่ทราบจำนวนภายหลังเหตุการณ์แล้ว เมื่อจะเตรียมข้อมูลไปอภิปรายในสภา จึงได้ตรวจสอบและซักถามเจ้าหน้าที่เป็นรายๆ ไป เพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าใด
อดีตรองนายกฯ เบิกความต่อว่า กรณีของนายพัน คำกอง และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่บริเวณสถานีรถไฟฟ้า ราชปรารภ ว่า ช่วงเกิดเหตุการณ์ได้ถูกโจมตีด้วยอาวุธสงครามตลอดคืน กระทั่งเวลา 01.00 น. มีรถตู้วิ่งฝ่าเข้ามาในบริเวณดังกล่าว และมีเสียงปืนยิงปะทะกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อเหตุการณ์สงบจึงทราบว่ามีผู้เสียชีวิต 2 ราย คือนายพัน ถูกยิงล้มอยู่หน้าคอนโดมิเนียมใกล้กับบังเกอร์ ของเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ใช่การกระทำของเจ้าหน้าที่แน่นอน ส่วน ด.ช.คุณากร ถูกยิงหน้าโรงภาพยนตร์ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดเป็นคำให้การของเจ้าหน้าที่ แต่ไม่มีรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด

มอบเอกสารคำสั่ง ศอฉ. ให้ศาล

พยานเบิกความว่า การประกาศกระชับพื้นที่จนถึงวันที่ 19 พ.ค. 2553 ในที่สุดผู้ชุมนุมก็ยอมสลายการชุมนุม โดยทราบว่าระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค. มีผู้เสียชีวิตประมาณ 50 ราย แต่จำจำนวนผู้บาดเจ็บไม่ได้ และไม่เคยมีผู้ใดรายงานว่า การเสียชีวิตเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ซึ่ง ผบช.น. เองก็ทำรายงานให้พยานชี้แจงในสภา โดยในสำนวนการสอบสวนไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนใดยืนยันได้ว่า ผู้เสียชีวิตหันหน้า หรือหันหลังไปทางใด และไม่สามารถตรวจสอบวิถีกระสุนได้ จึงระบุไม่ได้ว่าถูกยิงจากทิศทางใด
พยานเบิกความด้วยว่า ขณะนั้นนายกฯมอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการ และมีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) โดยมีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ทั้งนี้ภายหลังเหตุการณ์ปี 2553 กรมสอบสวนคดีพิเศษสอบสวน และสรุปสำนวนส่งไปยังอัยการในคดีก่อการร้าย มีผู้ต้องหา 26 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล จำนวนนี้มีชายชุดดำที่ใช้ปืนเอ็ม 79 ยิงใส่เจ้าหน้าที่ด้วย
ภายหลังนายสุเทพเบิกความเสร็จสิ้น ได้มอบเอกสารคำสั่งแต่ละเหตุการณ์ของ ศอฉ. เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการพิจารณาคดี
ต่อมาเมื่อทนายความญาติผู้ตายซักถามพยานเสร็จสิ้น พนักงานอัยการเปิดคลิปวิดีโอเหตุการณ์ยิงรถตู้ และสอบถามว่าเคยเห็นหรือไม่ นายสุเทพเบิกความว่า ไม่เคยเห็นคลิปวิดีโอดังกล่าวเลย แต่ทราบจากรายงานว่า ขณะนั้นมีผู้ก่อการร้ายยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นฝ่ายใด

"มาร์ค" อ้างใช้วิธีสหประชาชาติ

จากนั้นนายอภิสิทธิ์ขึ้นเบิกความว่า การเสียชีวิตจากการชุมนุมปี 2553 สาเหตุเกิดจากในกลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้อาวุธปืนและวัตถุระเบิดก่อเหตุขึ้นมา แต่รัฐบาลไม่มีนโยบายใดๆ ที่จะใช้กำลังเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม แต่ใช้วิธีการที่ได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติ จะสังเกตได้ว่าในช่วง 2-3 ปีหลังนี้สหประชาชาติให้ความสนใจเหตุการณ์ความรุนแรงหลายประเทศ แต่เหตุการณ์ในประเทศไทย สหประชาชาติไม่ได้กล่าวหาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปี 2553 ว่ามีการละเมิดสิทธิและใช้ความรุนแรง
อดีตนายกฯ เบิกความอีกว่า เหตุการณ์การชุมนุมปี 2553 ตนตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ และ ผอ.ศอฉ. ก่อนจะเปลี่ยนเป็น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ในช่วงหลัง แต่ระหว่างจัดตั้งศอฉ. ตนมีอำนาจในการกำกับดูแลบริหารราชการแผ่นดินอยู่ รวมถึงการสั่งการ ศอฉ. ด้วย ในฐานะนายกฯ

สั่งหยุดขอพื้นที่ตอนกลางคืน

นายอภิสิทธิ์เบิกความต่อว่า ส่วนสาเหตุที่ต้องขอพื้นที่คืนจากกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น เพราะว่าผู้ชุมนุมมีการชุมนุมแบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ ซึ่งไม่มีความจำเป็น รัฐบาลต้องการให้ประชาชน 2 ฝั่งแม่น้ำสามารถเดินทางสัญจรผ่านสะพานพระราม 8 ได้ จึงต้องขอคืนพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้ชุมนุมปิดถนนอยู่ ส่วนมาตรการดำเนินการเป็นหน้าที่ของ ศอฉ. และวิธีการจะต้องปฏิบัติตามที่หลักสากลยอมรับ และย้ำว่าการปฏิบัติไม่ได้มีเจตนาสลายการชุมนุมและระมัดระวัง ทางด้านยุทธวิธีที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง เช่น จะหยุดปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ในช่วงเวลากลางคืน

ซัดชุดดำถล่ม จนท. เสียชีวิต

นายอภิสิทธิ์เบิกความว่า ก่อนช่วงเวลานั้นไม่มีการรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต จนกระทั่งต่อมาได้รับรายงานว่าเจ้าหน้าที่ชุดที่ขอคืนพื้นที่โดนกองกำลังชุดดำปิดล้อมและยิงใส่ด้วยอาวุธสงครามถึงได้รับรายงานการเสียชีวิต
นายอภิสิทธิ์เบิกความอีกว่า สำหรับการขอคืนพื้นที่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น รัฐบาลยื่นขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งให้อนุญาตให้รัฐบาลขอคืนพื้นที่การชุมนุม และศาลแพ่งมีคำสั่งอนุญาตให้ขอคืนพื้นที่ เพราะชุมนุมโดยวิธีไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสั่งว่าการขอพื้นที่ต้องเป็นไปตามหลักสากล ซึ่งรัฐบาลก็ปฏิบัติตาม ตนไม่ทราบว่าในเหตุการณ์ดังกล่าวใครเป็นผู้บังคับบัญชาการในพื้นที่ แต่มีการรายงานมาตลอดเป็นระยะ เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งซึ่งเป็นหลักสากล และไม่มีรายงานว่ามีเหตุที่จะต้องไม่ปฏิบัติตามหลักของคำสั่ง ซึ่งการขอคืนพื้นที่ที่สะพานผ่านฟ้านั้นใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน ก่อนที่ผู้ร่วมชุมนุมจะย้ายไปรวมที่ราชประสงค์

ยอมเจรจาแต่แกนนำไม่ทำตาม

อดีตนายกฯ เบิกความต่อว่า ในการชุมนุมที่ราชประสงค์นั้น ตนได้รับรายงานมาว่าในกลุ่มผู้ชุมนุมมีผู้ติดอาวุธแฝงตัวอยู่ และการสื่อสารกับ ผู้ร่วมชุมนุมเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะผู้ชุมนุมรับข่าวสารด้านเดียวจากแกนนำ รัฐบาลซึ่งมีนโยบายที่จะเจรจาได้ส่งบุคคลไปเจรจากับทางแกนนำอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง และข้อแม้การเจรจามีการเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งที่สะพานผ่านฟ้าฯ มีทั้งการเจรจาในหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องการขอพื้นที่คืน ที่หน้าลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ซึ่งตกลงกันและแกนนำรับปากแต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ รวมถึงเรื่องการยุบสภาตามข้อเรียกร้องของแกนนำ ซึ่งตนได้เจรจาและตกลงประกาศว่าถ้ายกเลิกการชุมนุมตนจะยุบสภาวันที่ 14 พ.ย. 2553 ซึ่งรับปากตกลงกันได้ แต่ภายหลังทางแกนนำไม่ได้ปฏิบัติตาม ต่อมาจึงประกาศว่าจะไม่มีการเจรจาเกิดขึ้นอีก

ถ้าสั่งสลายม็อบต้องหมดไปแล้ว

อดีตนายกฯ เบิกความว่า ส่วนคำว่ากระชับพื้นที่นั้น ไม่ใช่การใช้การกำลังเข้าสลายการชุมนุม แต่เป็นการกำหนดให้มีการกระชับวงล้อมเพื่อให้หยุดการชุมนุมโดยใช้วิธีกดดัน ซึ่งระหว่างนั้นมีการเจรจาขอให้ยกเลิกการปิดล้อมและให้ ชุมนุมโดยอิสระ ซึ่งรัฐบาลไม่รับข้อเสนอ เพราะไม่มีประโยชน์และจะทำให้การชุมนุมยืดเยื้อ ถ้ารัฐบาลใช้กำลังหรือมีคำสั่งสลายการชุมนุมจริงการชุมนุมต้องสลายไปทั้งหมดแต่ในความจริงพื้นที่หลายพื้นที่ยังมีการชุมนุมอยู่
อดีตนายกฯ เบิกความต่อว่า ยืนยันว่าผู้เสียชีวิตที่เกิดจากระเบิดเอ็ม 79 ทั้งหมดไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีการใช้ระเบิดชนิดนี้ ส่วนการเสียชีวิตโดยกระสุนปืนนั้น ต้องสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริง เพราะระหว่างการชุมนุมมีรายงานว่ามีอาวุธของเจ้าหน้าที่ถูกปล้นและมีการแต่งกายเลียนแบบทหาร ซึ่งในเรื่องนี้มีการส่งสำนวนคดีให้ดีเอสไอ และตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ ในส่วนของดีเอสไอมีข้อสรุปแล้วว่าเป็นฝีมือของผู้ชุมนุม 12 ราย

มีชายชุดดำอยู่ในวัดปทุมฯ

นายอภิสิทธิ์เบิกความด้วยว่า ส่วนเรื่อง 6 ศพวัดปทุมฯ นั้น ตนทราบจากสื่อมวลชน และรายงานทางด้านการข่าวทราบว่าช่วงเกิดเหตุมีการต่อสู้กันของกองกำลังและเจ้าหน้าที่ สืบเนื่องมาจากการเผาเซ็นทรัลเวิลด์และสยาม ซึ่งระหว่างเกิดเหตุเพลิงไหม้จะมีเจ้าหน้าที่ดับเพลิง และพยาบาลซึ่งผู้ก่อการจะใช้โอกาสนี้ก่อเหตุกับบุคคลเหล่านี้ อีกทั้งตนได้รับรายงานว่ามีชายชุดดำอยู่ที่วัดปทุมฯ ด้วย
หลังจากไต่สวนพยานทั้ง 3 ปากเสร็จสิ้น ทนายญาติผู้ตายแถลงหมดพยาน ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 17 มิ.ย. นี้ เวลา 09.00 น. คดีนี้เป็นคดีแรกในสำนวนไต่สวนชันสูตรศพที่ศาลจะมีคำสั่ง
นายอภิสิทธิ์กล่าวภายหลังเบิกความว่า วันนี้ตนมาเบิกความในฐานะพยาน และไม่ห่วงว่าจะถูกมองเป็นจำเลยของสังคม ซึ่งตนได้เบิกความข้อเท็จจริง

ดีเอสไอเตรียมสอบ "ถวิล-ธาริต"

วันเดียวกัน พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดี 98 ศพ กล่าวถึงความคืบหน้าของคดี ว่า หลังจากสอบปากคำนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รวมทั้งทหารอีก 2 นาย ที่ปฏิบัติหน้าที่พลแม่นปืนบริเวณบ่อนไก่ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดคำให้การของแต่ละรายว่าจะต้องเรียกใครมาสอบปากคำเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ทั้งนี้ เบื้องต้นอาจต้องเรียกตัวนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิ การสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมต้นสัปดาห์หน้า เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน ส่วนนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ต้องรอหลังจากสอบปากคำนายถวิล รวมทั้งเรียกกลุ่มตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละท้องที่มาสอบปาก คำด้วย และกลุ่มพยานผู้เสียหาย ซึ่งมีจำนวนมากก็ต้องสอบเช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญชี้ใช้กระสุนจริง

รายงานข่าวจากผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนของหน่วยราชการแห่งหนึ่งเปิดเผยว่า กรณีทหาร 2 นายทำหน้าที่พลแม่นปืน ปฏิบัติหน้าที่บริเวณสนามมวยลุมพินี ให้การกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอว่าใช้กระสุนซ้อมไม่มีหัวกระสุนยิงออกไปนั้น จากการวิเคราะห์คลิปภาพถ่ายการใช้อาวุธของทหารทั้ง 2 นาย เป็นการยิงระวังป้องกันให้กับหน่วยหลักจริง แต่เป็นการยิงโดยใช้กระสุนปืนแบบกระสุนจริงแน่นอน ไม่ใช่หัวกระสุนซ้อมตามที่ให้การไว้ เนื่องจากการยิงจากระยะนี้ระยะต้องไม่ต่ำกว่า 50 เมตร และเวลายิงจากคลิปก็ยิงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องเป็นการยิงกระสุนจริง เพราะหากเป็นกระสุนซ้อมจะต้องยิงผ่านอุปกรณ์ช่วย เพื่อช่วยให้แรงดันของกระสุนซ้อมที่มีต่ำกว่ากระสุนจริงไปขับกระสุนนัดต่อไปทำงานต่อไปได้ อีกอย่างการปฏิบัติภารกิจอย่างนี้จะใช้กระสุนซ้อมทำไม เพราะกระสุนซ้อมมีแต่เสียงไม่ทำให้เกิดการระวัง ป้องกัน หรือหยุดยั้งใดๆ ได้ นอก จากนี้ในคลิปก็มีการเล็งและยิงออกไปเป็นชุดๆ จนมีการบอกกันว่า ล้มแล้ว ล้มแล้ว แต่ก็ยังยิงซ้ำออกไปอีก กระทั่งคนชี้เป้าต้องบอกให้หยุด และตบหลังตบไหล่เพื่อให้เลิกยิง