ไต่สวน "6 ศพวัดปทุมฯ" เพรียกหา "ความยุติธรรม"

มติชน 17 สิงหาคม 2555 >>>




ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดไต่สวนคำร้องชันสูตรการเสียชีวิตคดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555 กรณีผู้เสียชีวิต 6 ศพ จากการถูกยิงในวัดปทุมวนาราม แยกราชประสงค์ ในช่วงสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ได้แก่ นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1 นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2 นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3 นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4 น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5 และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6

นางอัญชลี สาลิกานนท์
พี่สาวของนายอัฐชัย ขึ้นเบิกความ


ผู้ตายเป็นบุตรคนที่ 3 และมีพี่ชายคนโตอีก 1 คน ชื่อ พ.ต.ท.ธีระวัฒน์ ชุมจันทร์ รับราชการที่ สภ.ท่าใหม่ ส่วนบิดาเสียชีวิตแล้ว เหลือเพียงมารดา โดยก่อนเกิดเหตุ นายอัฐชัยสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อยู่ระหว่างสอบบรรจุเข้ารับราชการ ตนเองพบกับนายอัฐชัยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2553 และเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2555 เวลาประมาณ 16.00 น. ได้โทรศัพท์คุยกับนายอัฐชัยซึ่งแจ้งให้ทราบความเคลื่อนไหวการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ว่าแกนนำ นปช.ได้ประกาศยุติการชุมนุมและเข้ามอบตัวแล้ว ผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่จึงหลบหนีเข้าไปหลบภัยภายในวัดปทุมวนาราม รวมทั้งนายอัฐชัยด้วย ต่อมาได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากเพื่อนน้องชายที่ไปร่วมชุมนุมว่าน้องชายถูก ยิงเสียชีวิตแล้ว จึงรู้สึกตกใจและเป็นลม แต่ก็ยังตั้งสติเพื่อคุยโทรศัพท์โดยถามไปว่าน้องชายถูกยิงที่ไหน เพื่อนผู้ตายบอกว่าถูกยิงกระสุนเข้าบริเวณหน้าอกซ้าย โดยเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ยิงที่เกิดเหตุตรงบริเวณประตูทางเข้าวัดปทุมวนา ราม
หลังทราบเหตุการณ์ จึงได้โทรศัพท์แจ้งไปที่สถานีวิทยุแห่งหนึ่งให้ช่วยออกอากาศว่ามีผู้ถูกยิง เสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม และโทรศัพท์แจ้งไปยังศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ให้ทราบว่ามีการยิงกัน พร้อมประสานไปยัง พ.ต.ท.ธีระวัฒน์ พี่ชายให้แจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อต้องการนำศพน้องชายออกมาจากที่เกิดเหตุ แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากขณะนั้นมีการประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหสถานใน ยามวิกาล ดังนั้นในวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 จึงได้ไปรับศพน้องชายพร้อมกับ พ.ต.ท.ธีระวัฒน์ โดยแพทย์ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าถูกกระสุนยิง จากนั้นจึงไปแจ้งมรณะ และนำศพไปบำเพ็ญกุศลตามพิธีทางศาสนาเป็นเวลา 3 วัน เมื่อเสร็จพิธีแล้ว จึงได้ไปแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน
นอกจากนั้นยัง ได้ยื่นฟ้องศาลแพ่งต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีขณะนั้น และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ต่อหน่วยงานต้นสังกัดให้ชดใช้ค่าเสียหายอีกด้วย โดยคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล หลังเกิดเหตุพยานได้รับการช่วยเหลือชดเชยจากสำนักพระราชวังจำนวน 50,000 บาท กทม. 30,000 บาท กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จำนวน 400,000 บาท และเงินเยียวยาจากมติคณะรัฐมนตรี (สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี) รวมจำนวนทั้งหมดประมาณ 7,500,000 บาท

นายขาล ศรีรักษา
บิดาของนายสุวัน ขึ้นเบิกความ


ก่อนเกิดเหตุนายสุวันมาบอกว่าจะไปทำงานรับจ้างที่จังหวัดทางภาคใต้ระยะหนึ่ง โดยไม่ทราบว่าผู้ตายเข้าไปร่วมชุมนุมในที่เกิดเหตุได้อย่างไร กระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 มีผู้โทรศัพท์มาแจ้งว่านายสุวัน บุตรชาย ถูกยิงเสียชีวิตใต้รางรถไฟฟ้าใกล้วัดปทุมวนาราม และบอกว่าถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ ทหารยิง แต่พยานยังไม่สามารถเดินทางมารับศพได้ เนื่องจากมีประกาศเคอร์ฟิว หลังจากนั้นประมาณ 7 วัน จึงเดินทางมารับศพบุตรชายพบว่าถูกยิงกระสุนเข้าที่ศีรษะและลำตัวหลายแห่ง จึงนำศพไปบำเพ็ญกุศลตามพิธีทางศาสนา และหลังเกิดเหตุได้เข้าแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน และ สน.บางรัก ให้ดำเนินคดี สำหรับค่าชดเชยพยานได้รับความช่วยเหลือจากสำนักพระราชวัง หน่วยงานต่างๆ และรัฐบาล รวมเป็นเงินประมาณ 7,500,000 บาท 

นายถวิล ใสลำเผาะ
ลุงของนายอัครเดช ขึ้นเบิกความ


นาย อัครเดช ผู้ตายประกอบอาชีพรับจ้าง โดยบิดามารดาเสียชีวิตหมดแล้ว เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ได้รับโทรศัพท์แจ้งว่านายอัครเดช ซึ่งไปเป็นเจ้าหน้าที่อาสาในการแจกจ่ายยา ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม ต่อมาจึงไปดูศพพบว่าถูกยิงกระสุนเข้าที่ปากทะลุท้ายทอย จึงนำศพไปบำเพ็ญกุศลและแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน หลังเกิดเหตุพยานยังไม่ได้รับเงินชดเชยหรือเยียวยาจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ทราบว่าเพราะอะไร