มติชน 17 สิงหาคม 2555 >>>
"เฉลิม" สั่ง "ภาณุพงศ์" เคลียร์ "บิ๊กตู่" ปมดีเอสไอเรียกสอบทีมสไนเปอร์ ยันคุ้มครองผู้ปฏิบัติ เอาผิดเฉพาะคนสั่งการ
คดีเสื้อแดงเสร็จ 19 สำนวน
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. แถลงกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วม ประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 จำนวน 22 สำนวน มาให้ บช.น. เพื่อสอบสวนชันสูตรพลิกศพ ให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อไต่สวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 มี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. รับผิดชอบกรณีดังกล่าวนั้น มีผลคืบหน้าและผลการดำเนินการดังนี้
1. คณะพนักงานสอบสวนร่วมกับพนักงานอัยการ ได้สอบสวนสำนวนชันสูตรพลิกศพดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว 19 สำนวน และอยู่ระหว่างการสอบสวน 3 สำนวน ได้แก่ สำนวนชันสูตรพลิกศพ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก กับอีก 2 สำนวน (นายสยาม วัฒนนุกูล และนายจรูญ ฉายแม้น พื้นที่ สน.พลับพลาไชย 1)
2. คดีชันสูตรพลิกศพที่นับว่ามีความคืบหน้าชัดเจน ได้แก่ คดีตามคำร้องของศาลอาญาที่ อช.2/2553 (คดีชันสูตรพลิกศพของ สน.พญาไท ที่ ช.57/2553) นายพัน คำกอง ถูกยิงเสียชีวิตที่หน้าอาคารไอดีโอ คอนโดฯ ถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ศาลได้สืบพยานโจทก์และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเสร็จสิ้นแล้วและนัดฟังคำสั่งใน วันที่ 17 กันยายน 2555 เวลา 09.00 น. คดีชันสูตรพลิกศพนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น, นายวสันต์ ภู่ทอง และนายทศชัย เมฆงามฟ้า ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน รวมพยานที่ต้องเบิกความทั้งสิ้น 41 ปาก โดยเริ่มไต่สวนพยานครั้งแรกในวันที่ 4 กันยายน 2555 และกำหนดสืบพยานเสร็จสิ้นภายใน 29 พฤศจิกายน 2555 คดีชันสูตรพลิกศพนายฟาบิโอ โปเลงกี ผู้สื่อข่าวชาวอิตาลี ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้ไต่สวน น.ส.อลิสซาเบต้า โปเลงกี น้องสาวของนายฟาบิโอ และพนักงานสอบสวนผู้ร้องไว้แล้ว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างพิจารณา
3. สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งที่ 183/2555 แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปปฏิบัติหน้าที่ในดีเอสไอ และเป็นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสืบสวนสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ซึ่งประกอบด้วย ผมกับพวก รวม 50 นาย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 ทั้งนี้ ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการแล้วจำนวนหลายครั้ง และพนักงานสอบสวนได้ลงพื้นที่รวบรวมพยานหลักฐานแล้ว
4. ได้จัดชุดพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามพื้นที่รับผิดชอบ 3 ชุด มี รอง ผบก. พื้นที่ เป็นหัวหน้า โดยผมทำหน้าที่ควบคุม กำกับดูแล การสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าวให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และมี พล.ต.ต.วัลลภ ประทุมเมือง ผบก.น.6 เป็นผู้ช่วย" พล.ต.ต.อนุชัย กล่าว
5. ขณะนี้มีพยานหลักฐานในสำนวนบางคดีสามารถยืนยันตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งใช้อาวุธปืนในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จะเรียกผู้ปฏิบัติมาให้การในเร็วๆ นี้ และขยายผลไปถึงผู้สั่งการได้ในที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเรียกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการมาเมื่อใด รอง ผบช.น. กล่าวว่า คาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้า ซึ่งจะร่วมประชุมหารือดีเอสไอในวันที่ 20 สิงหาคม เวลา 09.30 น. ที่ดีเอสไอ เนื่องจากนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ รวมถึง พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดี โดยตำรวจได้รับการแต่งตั้งให้ไปร่วม ซึ่งตนอยู่ในฐานะผู้ปฏิบัติฝ่ายตำรวจ ส่วนการสอบสวนนั้นเป็นหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่วนใครจะมาหรือชั้นใดมาให้ปากคำ ขอให้ทาง พ.ต.อ. ประเวศน์ ให้ข้อมูล รวมถึงดูว่าจะเรียกพยานคนใดมาบ้าง
ไม่หวั่นสอบมือ "สไนเปอร์"
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ดีเอสไอจะเรียกมือยิงสไนเปอร์ เหตุการณ์ชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2553 มาสอบสวนว่า ไม่รู้สึกกังวล เพราะทราบว่าข้อเท็จจริงคืออะไร และเห็นว่าเป็นความพยายามของฝ่ายการเมืองจะดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย แต่เจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติตรงไปตรงมา หากมีการกลั่นแกล้ง พวกตนก็สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายได้ และเห็นว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พยายามทำผลงานในเรื่องนี้ แต่ขอเตือนว่าหากกลั่นแกล้งหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจะต้องถูกฟ้องร้อง อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อในกระบวนการยุติธรรม และวันที่ตัดสินใจกระชับพื้นที่ มีเป้าหมายเพื่อคืนความปกติสุขให้สังคมและย้ำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยยึด หลักกฎหมาย แต่ในวันนั้นมีคนติดอาวุธเข้ามา ซึ่งการสอบจะต้องพูดถึงการเสียชีวิตจากกองกำลังติดอาวุธด้วย
โยน "ภาณุพงศ์" แจง "บิ๊กตู่"
ขณะ ที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภากรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ) ไม่สบายใจกรณีดีเอสไอพาดพิง เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับ การเสียชีวิตของผู้ชุมนุม ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม และเตรียมเรียกสอบทีมสไนเปอร์ว่า ผบ.ทบ. เป็นห่วงถือว่าถูกต้องแล้ว เรื่องนี้ตนมอบหมายให้ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รอง ผบ.ตร. ไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับ ผบ.ทบ. รวมทั้ง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ. ว่าข้าราชการทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติหน้าที่ จะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 และมาตรา 70 และที่ดีเอสไอต้องเรียกมาสอบเพราะได้รับการร้องทุกข์ต้องดำเนินการ และเมื่อเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่มาให้ถ้อยคำจะกันเป็นพยาน ยืนยันว่าคนปฏิบัติจะได้รับความคุ้มครอง 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คนสั่งการต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่จะหมายถึงใครต้องไปพิสูจน์กันต่อไป
ยันไม่ใช้ "ดีเอสไอ" เช็กบิล ปชป.
เมื่อถามว่าฝ่ายค้าน แสดงความเป็นห่วงว่าจะเป็นการยืมมือดีเอสไอไล่เช็กบิลฝ่ายค้าน ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ช่วยแนะนำว่าให้ทำอย่างไร จะใช้ดีเอสไอเช็กบิลได้ เพราะตนกลัวติดคุกเหมือนกัน สิ่งที่ฝ่ายค้านออกมาพูดเพราะจวนตัวทั้งที่ในข้อเท็จจริงทำไม่ได้ ไม่มีใครไปเปลี่ยน แปลงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมทั้งพยานเอกสาร พยานวัตถุ และพยานบุคคลซึ่งจะเป็นตัวพิสูจน์ได้ขอย้ำว่าคดีชันสูตรพลิกศพที่ บช.น.เป็นผู้รับผิดชอบ และสิ่งที่ดีเอสไอทำเป็นไปตามที่มีคนมาร้องทุกข์ว่าให้ดำเนินการกับผู้สั่ง การไม่ได้ร้องให้ดำเนินคดีกับผู้ปฏิบัติ ส่วนคดีอื่นๆ หากจะให้ดำเนินการก็ต้องมีคนมาร้องทุกข์ก่อน
"ผบ.ทบ. ทราบและเข้าใจ ดีว่าเราไม่มีเจตนาที่จะไปทำร้าย ทำลายกองทัพ ฝากบอกพรรคประชาธิปัตย์ว่าถ้ามีวิธีคิดดีๆ ว่าจะสั่งดีเอสไอเช็ก บิลพรรคประชาธิปัตย์ได้ ช่วยแนะนำผมหน่อยจะได้ฉลองศรัทธา เพราะมันทำไม่ได้ถ้าไม่ผิดก็คือไม่ผิดและทหารตำรวจไม่เกี่ยวข้อง คนที่สั่งการต้องรับผิดชอบและผมได้กำชับ ผบช.น. ไปแล้วว่า ให้ทำงานไปตามหลักฐานและอย่าให้สัมภาษณ์" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
"บิ๊กตู่" เผย "ธาริต" ขอโทษ
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ที่สโมสรทหารบก กรณีดีเอสไอพาดพิงการเสียชีวิตของประชาชน เกิดการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐว่า "ทุกอย่างเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ถ้ายังไม่ยุติก็ไม่สมควรออกมาพูดจา ซึ่งได้ขอร้องผ่านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอกันไปแล้ว ซึ่งท่านรับปากว่าจะดูให้ และท่านได้ขอโทษ รวมถึงบอกว่า จะไปบอก พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดี ดีเอสไอให้ ซึ่งทางรัฐบาลตอบกลับมาว่า จะให้ลดเรื่องนี้ลงไป ทั้งนี้ขอร้องกันให้หยุดพูด เพราะคดียังไม่สิ้นสุด จะไปทำอะไรกัน ผมไม่รู้ แต่ทั้งหมดมีผู้เสียหายทั้งสองฝ่าย ต้องเห็นใจผม เพราะผมดูแลลูกน้อง และครอบครัว ลูก เมียเขา ขอให้เข้าใจแค่นี้ ผมไม่ได้ต่อต้านใคร แต่ต้องเห็นใจเพราะมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ประชาชนที่เสียชีวิต และชัดเจนว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ยิง เมื่อไม่ใช่เจ้าหน้าที่ยิงแล้วใครยิงก็ต้องไปหากันมา ถ้าจะพูดขอให้พูดทั้ง 2 ทาง ขอให้พูดในส่วนของเจ้าหน้าที่ด้วยว่า เขาบาดเจ็บและเสียชีวิตจากใคร ผมไม่อยากไปรื้อฟื้น เพราะผมเป็นผู้บังคับบัญชารู้ว่า อะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด"
เมื่อถามถึงกรณีที่ดีเอสไอจะเรียกทหารสไนเปอร์ที่ อยู่ในคลิปมาให้ปากคำ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้อนถามว่า สไนเปอร์อะไร ใครเป็นคนใช้ สไนเปอร์ แล้วรู้หรือไม่ว่า สไนเปอร์เป็นใคร ซึ่งในรูปที่ปรากฏเป็นทหารที่เขาติดกล้องเฉยๆ และกล้องตัวนั้นและปืนตัวนั้นไม่ใช่แบบสไนเปอร์ ถ้าพูดแล้วไม่รู้ อย่าพูดดีกว่า ส่วนกรณีคณะกรรมาธิการทหาร (กมธ.ทหาร) สภาผู้แทนราษฎรระบุว่า ในปี 2553 มีการเบิกกระสุนมา 3,000 นัด ใช้ไป 800 นัด อยากทราบว่า กระสุนที่เหลือหายไปไหน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กระสุนที่เบิกมา เมื่อเหลือจะส่งคืน นอกเหนือจากนั้นใช้ฝึกหัด และจำหน่ายต่อไป อยากถามว่าถ้าเบิกไป 3,000 นัด ยิงไป 300 นัด ขาดไป 2,700 นัด แสดงว่าต้องมีคนตาย 2,700 คนหรือไม่ มีใครบอกว่า ทหารเอาปืนไปยิงคน สื่อไปเอามาจากไหน ต้องไปถามข้อมูลจากคณะกรรมาธิ การทหาร เพราะถามลูกน้อง เขาบอกว่า ไม่ได้ยิงใครสักคน มีแต่โดนยิง
อัด พนง.สอบสวน ต้องระวัง
พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า การไต่สวนคดีชันสูตรพลิกศพในขณะนี้ยังเป็นขั้นตอนการแสวงหาพยานหลักฐานและ ข้อเท็จจริงที่ยังไม่มีการกล่าวหาผู้ที่กระทำความผิด การที่มีพยานบางส่วน และพยายามนำเสนอข่าวของบางสื่อ โดยอ้างว่าเจ้าพนักงานสอบสวนมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่าการเสียชีวิตเกิดจาก การกระทำของเจ้าหน้าที่นั้น ในข้อเท็จจริงยังต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย ซึ่งเชื่อว่าพนักงานสอบสวนน่าจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดีและดำเนินการ อย่างถูกต้องและระมัดระวัง มิฉะนั้น อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของทหารอย่างไม่เป็นธรรม อย่างไรกองทัพบกเชื่อมั่นว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมจะทำหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ปราศจากอคติใดๆ รวมทั้งระมัดระวังถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับบุคคลและหน่วยงาน ด้วยความรับผิดชอบในหน้าที่อย่างแท้จริง
"ดีเอสไอ" ระมัดระวังมากขึ้น
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ กล่าวถึงกรณีกองทัพบกแสดงความไม่พอใจการให้ข้อมูลของดีเอสไอเกี่ยวกับคดีการ เสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 ว่า ไม่ได้เป็นคนให้สัมภาษณ์ในประเด็น ดังกล่าวและหลังการประชุมคณะพนักงานสอบสวนชุดใหม่เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมายังไม่มีการรายงานความคืบหน้าใดๆ แต่ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนพร้อมจะรับฟังคําท้วงติง และจะกําชับให้พนักงานสอบสวนระมัดระวังการให้ข่าว ที่พาดพิงหน่วยงานอื่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากคดีมีความชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ดีเอสไอก็พร้อมจะรายงานความคืบหน้า
ด้าน พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข กล่าวว่า หลังจากนี้คงงดให้สัมภาษณ์ในรายละเอียดทางคดี เพราะได้รับการท้วงติงจากผู้ใหญ่ ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนยังคงเดินหน้าทํางานเก็บหลักฐานสอบปากคําผู้เกี่ยวข้องต่อไป
ศาลจัดระเบียบถอนประกัน
ที่ศาลอาญา นายประยุทธ ศิริล้น ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา กล่าวว่า วันที่ 22 สิงหาคม เวลา 09.00.-16.00 น. ศาลนัดไต่สวนและฟังคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวแกนนำ นปช. รวม 19 คน คาดว่าจะมีแนวร่วม นปช. ประชาชน สื่อมวลชน เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีและสังเกตการณ์จำนวนมาก อาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุและรักษาความสงบเรียบร้อย ศาลอาญาจำต้องจัดระเบียบเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพ จึงได้เชิญผู้แทน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้แทนกองปราบปราม ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ และสื่อมวลชนทุกแขนง มาซักซ้อมทำความเข้าใจในการปฏิบัติงาน ในวันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม เวลา 14.30 น.
ไต่สวนพยาน 6 ศพวัดปทุมฯ
วันเดียวกัน ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง 63 ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรการเสียชีวิตคดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของนายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิต ที่ 1 นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิต ที่ 2 นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3 นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4 น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5 และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 ซึ่งทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม แยกราชประสงค์ ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมของ นปช. เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
พนักงานอัยการนำนางอัญชลี สาลิกานนท์ อายุ 36 ปี พี่สาวนายอัฐชัย ผู้เสียชีวิตที่ 2 นายขาล ศรีรักษา อายุ 65 ปี บิดาของนายสุวัน ผู้เสียชีวิตที่ 1 ขึ้นเบิกความโดยทั้งสองกล่าวหา ทหารเป็นผู้ยิงน้องชายและลูกชาย
"เต้น" เบิกความแท็กซี่ถูกยิง
ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำ อช. 2/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง ชาวจังหวัดยโสธร อาชีพขับรถแท็กซี่ ผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. เพื่อทำคำสั่ง แสดงว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด สาเหตุ และพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ซึ่งนายพัน ถูกยิงเสียชีวิตหน้าคอนโดมิเนียม ใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ระหว่างเหตุการณ์ทหารกระชับพื้นที่บริเวณราชประสงค์
โดย นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้ตาย นำนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะแกนนำ นปช. เบิกความสรุปว่า การเสียชีวิตของนายพัน พยานไม่ทราบรายละเอียด เพียงแต่ทราบว่าตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2553 มีผู้ร่วมชุมนุมเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยพยานทราบข่าวเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตเมื่อปรากฏเป็นข่าวหลังที่พยานและแกน นำ นปช.ประกาศยุติการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ขณะที่ส่วนตัวพยานไม่ได้รู้จักกับผู้ตาย และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองอะไรกันมาก่อน
นัด "มาร์ค-สุเทพ" 21 ส.ค.
ภายหลังนายณัฐวุฒิเบิกความเสร็จสิ้นแล้ว ศาลนัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ตายปากต่อไป ในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ เวลา 09.00 น.
นาย โชคชัยกล่าวว่า พยานปากต่อไปที่จะขอให้ศาลไต่สวน คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และอดีต ผอ.ศอฉ. และ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งขอให้ศาลออกหมายเรียกไปแล้ว โดยศาลมีหมายเรียกให้ทั้งหมดมาไต่สวนในวันที่ 21 สิงหาคม