โภคิน พลกุล: ระยะห่างระหว่างศาลกับการเมือง

มติชน 8 กรกฎาคม 2555 >>>




ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยคำร้องนี้ในวันอาถรรพ์ศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2555 ก่อนหน้าจะรู้ผลการลงมติและการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ “โภคิน พลกุล” อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรและอดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด ที่เป็นพยานฝั่งผู้ถูกร้อง ที่เข้าแถลงต่อศาลและตอบคำถามของฝ่ายผู้ร้องนานร่วม 2 ชั่วโมง เมื่อ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา มาวิเคราะห์รูปคดีนี้และแสดงความเห็นในเรื่ององค์กรศาลไว้น่าสนใจ ผ่าน"แทบลอยด์"ไทยโพสต์ วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม 2555  บางตอนมีสาระ ดังนี้
   "ถ้าศาลเล่นการเมืองเสียเอง ยึดอำนาจเสียเอง จะอยู่ได้อย่างไร อยู่ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะคนไม่ชอบ แต่เพราะยูไปกระทำในสิ่งที่คนเห็นว่ามันผิดหลักเกณฑ์ทั้งหมด ถ้าทำในหลักเกณฑ์ ศาลจะมีมากมีน้อยก็แล้วแต่สถานการณ์ของสังคม เมื่อก่อนเราก็ไม่มีศาลภาษี ไม่มีศาลแรงงาน ไม่มีศาลทรัพย์สินทางปัญญา ตอนนี้ก็มีขึ้นมา ก็อยู่ในศาลยุติธรรม ก็แล้วแต่ที่เราจะมอง บางอันอาจจะยุบ อาจจะเพิ่มก็แล้วแต่ แต่ต้องอยู่ภายใต้ระบบปกติ"
ถ้าองค์กรแต่ละแห่งทำหน้าที่ไม่ปกติ มันก็จะเป็นการยั่วยุให้คนเห็นว่าอย่างนี้อย่ามีดีกว่า เพราะยูไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรม แต่ยูในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงศาล แต่เป็นตัวคนที่ไปทำหน้าที่ ทุกศาลมีคนจำนวนมาก แม้แต่ศาลปกครองเองก็มีมาก อยากให้ทำหน้าที่ที่ศาลพึงเป็น
   "แต่อาจจะมีบางส่วนไปทำหน้าที่รับใช้การเมือง หรือทำงานตามที่คุณขอมาก็ทำให้ สมมุติอย่างงั้นนะ ตอบสนองกันงี้ๆ เลย ก็ทำให้คนมองว่าศาลไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น มันก็เสื่อมแล้ว"
   "อย่างศาลรัฐธรรมนูญ คุณจะตัดสินคดีต้องฟังจนได้ข้อยุติได้ว่า ในตอนที่คุณจะตัดสิน แต่ข้อเท็จจริงยังไม่ได้ข้อยุติ แต่จะไปจินตภาพหรือ imagine ไปก่อน มันไม่ได้ คุณทำแบบนี้ คนก็มองแล้วมันจะไปจบตรงไหน สิ่งที่ยังไม่เกิด ยังไม่มี แต่คิดว่าจะเกิดแล้ว แล้วแบบนี้คนจะนับถือศาลหรือ"
ระยะห่างระหว่างศาลกับการเมือง ก็อย่าเอาศาลมายุ่ง ศาลในอดีตไม่เคยยุ่งการเมือง มีแต่การเมืองไปยุ่งกับเขา มันก็เละหมด ก็เลยไม่รู้จะพึ่งองค์กรไหนแล้ว วันนี้ศาลไม่ต้องกลัวแล้ว ศาลต้องทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น ปกป้องอำนาจประชาธิปไตย ปกป้องความถูกต้อง
ถ้าทำแบบนี้แล้วคนจะไม่กราบศาลหรือ วันนี้คุณจะไปหาอัศวินที่ไหน คุณเอาอคติ เอาจินตภาพใส่ไปหมด มันยุ่งเพราะอย่างงี้ไม่ใช่หรือ