"สุริยะใส" จี้ "ชัช ชลวร" ถอนตัวจากองค์คณะคดีแก้ รธน. "ชวน" ขอทุกฝ่าย ยอมรับคำตัดสินของศาล รธน.
วันที่ 8 ก.ค. 55 นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการปั่นกระแสทำลายความน่าเชื่อถือของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นรายบุคคล เพื่อกดดันคำวินิจฉัยของศาลในวันศุกร์ที่ 13 ก.ค. นี้ ขบวนการดังกล่าวก็ไม่ได้คาดหวังบรรทัดฐานอะไร เพราะปลายทางอยู่ที่การแทรกแซงและโค่นล้มองค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญมากกว่า เพราะจริงๆ แล้วคนที่ควรถอนตัวเป็นคนแรกคือนายชัช ชลวร ซึ่งเป็ตุลาการเสียงข้างน้อย 1 เสียง ที่เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องทั้งนี้เมื่อนายชัช ชลวร เห็นว่าคำร้องดังกล่าวไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 68 ก็ไม่เป็นการสมควรที่นายชัช ชลวรจะนั่งร่วมเป็นองค์คณะไต่สวนคำร้อง
นายสุริยะใสกล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องให้นายชัช ชลวร ถอนตัวจากองค์คณะตุลาการในการวินิจฉัยคำร้องนี้ เพื่อสร้างบรรทัดฐานตุลาการ เช่นเดียวกับกรณีของนายจรัญ ภักดีธนากุล แต่กรณีของนายชัช ชลวร เป็นประเด็นร้ายแรงกว่าเพราะถ้าไม่ถอนตัว ก็เท่ากับว่านายชัช กลับความเห็นตัวเองยอมรับว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 2 หากนายชัช ชลวร ร่วมองค์คณะวินิจฉัย แล้วผลของคำวินิจฉัยออกมาแบบคะแนนใกล้เคียงกัน ก็จะซ้ำรอยคำวินิจฉัยคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในอดีตที่ศาล รธน. ตอนนั้นมีคำวินิจฉัย 8-7 ว่าไม่มีเจตนาซุกหุ้น ซึ่งตุลาการ 4 ใน 8 เสียงข้างมากเคยมีความเห็นไม่รับคำร้องแต่กลับมานั่งเป็นองค์คณะ จนคำวินิจฉัยครั้งนั้นถูกสังคมประณามว่าเป็นคำวินิจฉัยสีเทา และเกิดวิกฤติศรัทธาตามมา
"กรณีของนายชัช ชลวร ถ้าคำนึงถึงจรรยาบรรณตุลาการ ควรจะประกาศลาออกจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ที่มีคลิปหลุดของเลขานุการส่วนตัวนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ จัดฉากวิ่งเต้นในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ และปัจจุบันนายพสิษฐ์เผยตัวตนชัดเจนเพราะเข้าไปช่วยงานรัฐบาลและพรรคเพื่่อไทย" นายสุริยะใส กล่าว
นายสุริยะใสกล่าวต่อว่า ไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะออกมาทางใดก็ตาม ขบวนการทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญและการลดทอนอำนาจถ่วงดุลตรวจสอบขององค์กรอิสระยังจะดำเนินต่อไป เพราะพรรคเพื่อไทยส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจและบทบาทของค์กรอิสระและถึงขั้นยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้ง
"ชวน" ขอทุกฝ่าย ยอมรับคำตัดสินของศาล รธน.
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรมนูญจะไต่สวนเพื่อวินิจฉัยกรณีแก้ร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 13 ก.ค. ขอให้เป็นดุลยพินิจของศาล ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ขอให้ทุกฝ่ายเคารพและยอมรับในคำตัดสินนั้น แต่การใช้วิธีข่มขู่คุกคามก็อาจทำให้ศาลซึ่งถือเป็นปุถุชนธรรมดาหวั่นไหวไปด้วย สิ่งที่ต้องระวังคือ อย่าไปเห็นดีเห็นงามหรือไปยอมรับกับวิธีคุกคามกระบวนการยุติธรรมศาลไม่ว่ารูปแบบใด ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันประคับประคองสถาบันศาลไว้ เพื่อบ้านเมืองจะได้มีกติกา
ส่วนกรณีที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช. ระบุว่า จะนำมวลชนมากดดันการวินิจฉัยของศาล ถือเป็นการท้าทายบทบาทของแต่ละฝ่ายว่า มีความหนักแน่นมั่นคงเพียงใด เพราะในช่วงหลังจะเห็นว่า คนกลุ่มนี้มักจะคุกคามกระบวนการทำงานของศาลและสถาบันยุติธรรมต่างๆ ที่พวกตนครอบงำไม่ได้