ช่วงระหว่างวันที่ 5 และ 6 กรกฎาคม 2555 เป็นอีกวันที่จะถูกจดบันทึกไว้ในความทรงจำของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกครั้ง เนื่องเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการไต่สวน คำร้อง 5 คำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กับพวก นายวันธงชัย ชำนาญกิจ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินทร และคณะ ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ของ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) พรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายสุนัย จุลพงศธร และคณะ และ นายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะ เป็นการ ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่
ทั้งนี้ ผลคำวินิจฉัยดังกล่าวมีการคาดคะเนกันไปต่างๆ นานา ทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย โดยเฉพาะ "ฝ่าย พท." ห่วงว่า อาจจะมีโทษถึงขั้นทำให้ยุบพรรค พท. !
ลองย้อนกลับไปดูประวัติความเป็นมาของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ก็พบว่า "ศาลรัฐธรรมนูญ" จัดเป็นองค์กรอิสระจัดถูกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
เดิมมีที่ตั้งองค์กร เลขที่ 326 ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (อาคาร A) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
เนื้อหารัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรวม 15 คน โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวน 5 คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวน 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ที่ได้รับเลือกจากวุฒิสภา จำนวน 5 และ 3 คน ตามลำดับ
ต่อมาภายหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นผลให้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ต้องสิ้นสุดลงตามไปด้วย
แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ในมาตรา 35 กำหนดให้ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้น จำนวน 9 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน, ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นรองประธาน, ผู้พิพากษาในศาลฎีกา จำนวน 5 คน เป็นตุลาการ และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวน 2 คน เป็นตุลาการ ซึ่งต่อมาเป็น "คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ชุดพิพากษาให้ยุบพรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550
กระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีการกำหนด ให้ศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งกับและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา ได้แก่ ผู้พิพากษาในศาลฎีกา จำนวน 3 คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวน 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวน 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ จำนวน 2 คน โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ
สำหรับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน จัดเป็นชุดที่ 3 โดยมี นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 8 คน ประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร นายเฉลิมพล เอกอุรุ นายชัช ชลวร นายนุรักษ์ มาประณีต นายบุญส่ง กุลบุปผา นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
แต่ไม่ว่าจะเป็น "คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ชุดใด ก็จะดูเหมือนว่า "พรรค พท." และ "รัฐบาล" ที่มีความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะมีคดีความข้องเกี่ยวกับ "ศาลรัฐธรรมนูญ" อยู่ตลอดเวลา
ครั้งหนึ่ง "คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" สมัย "นายชัช ชลวร" เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการพิจารณาและวินิจฉัยคดีเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 เมื่ออัยการสูงสุดขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน ข้อหาทุจริตการเลือกตั้งของ นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และกรรมการบริหารพรรค
มติเอกฉันท์ของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" วินิจ ฉัยว่าให้ยุบพรรคพลังประชาชนและเพิกถอนสิทธิเลืกตั้งของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมี นายวสันต์ สร้อย พิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ มี คำวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของ "นายจตุพร พรหมพันธุ์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญเนื่องจากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เพราะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ทำให้การไต่สวนคดีล้มล้างการปกครอง ในวันที่ 5 และ 6 กรกฎาคม นี้ จึงมีความหมายสำคัญอย่างยิ่ง