โลกวันนี้ 21 กรกฎาคม 2555 >>>
ฝ่ายประชาธิปไตยและพรรคเพื่อไทยดูเหมือนว่าจะได้รับ “ชัยชนะเล็กๆ” เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ให้ยกคำร้องเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการ “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ
ผลก็คือผู้ถูกร้องหรือผู้ที่เสนอร่างแก้ไขฯจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 68 และผลอันเลวร้ายที่คาดกันไว้ก่อนคือ “ยุบพรรคการเมือง” ตามมาด้วยคดีอาญาและการถอดถอนตำแหน่งจึงไม่เกิดขึ้น
ในการรุกครั้งนี้ฝ่ายเผด็จการได้ “ลงแรง” ไปมากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่องค์กรตุลาการได้ทำลายเกียรติภูมิ ความศักดิ์สิทธิ์ และความน่าเชื่อถือของตนเองไปจนหมดสิ้น ไปปรากฏตัวเปลือยเปล่าอยู่บนเวทีต่อชาวโลกว่ามิได้เป็นองค์กรที่อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ต้องวินิจฉัยกรณีทั้งปวงบนหลักการแห่งนิติรัฐและระบอบรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นคู่ขัดแย้งตรงข้ามกับประชาธิปไตย อ้างอิงหลักเหตุผลและข้อกฎหมาย นำประเด็นไปในทางที่เป็นผลเสียต่อพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ความจริงข้อนี้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคน ทุกฝ่าย แม้แต่ผู้ที่ไม่นิยมพรรคเพื่อไทยแต่ยังมี “จิตใจที่เป็นธรรม” อยู่บ้างก็ไม่อาจยอมรับการกระทำเช่นนี้
พวกเขาสูญเสียเกียรติภูมิความน่าเชื่อถือไปจนหมด แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามที่หวังไว้ได้ จึงกล่าวได้ว่าพวกเผด็จการ “ยอมถอยชั่วคราว” ในการรุกใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งมิได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่ก่อการรุกในลักษณะเดียวกันอีกในอนาคตอันใกล้
แม้ฝ่ายประชาธิปไตยและพรรคเพื่อไทยจะได้รับ “ชัยชนะเล็กๆ” ในเฉพาะหน้านี้ แต่ในระยะยาวฝ่ายประชาธิปไตยได้สูญเสียทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือความเป็นเอกเทศและอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ
ในโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ 2550 ฝ่ายบริหารมีข้อจำกัดอย่างมากมายในการใช้อำนาจอยู่แล้ว โดยถูกควบคุมและคุกคามจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ ซึ่งล้วนแต่อยู่ในมือของพวกเผด็จการจารีตนิยม องค์กรเหล่านี้กุมอำนาจเฉพาะด้านที่จะ “ถอดถอน” นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้ด้วยข้อกล่าวหาต่างๆสารพัด ทั้งคดีเลือกตั้ง คดีพรรคการเมือง คดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และคดีอาญาอื่นๆ แล้วแต่จะสรรหามาให้
จึงเหลืออยู่เพียงสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนอำนาจนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้ประธานสภาและ ส.ส. อาจถูกถอดถอนเป็นรายบุคคลโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่สภาผู้แทนราษฎรโดยรวมนั้นมีแต่ต้องถูกยุบโดยนายกรัฐมนตรีตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ หรือถูกรัฐประหารโดยตรงเท่านั้น สภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นอาวุธชิ้นสำคัญที่สุด และเป็นอำนาจอันน้อยนิดที่มีอยู่ของฝ่ายประชาธิปไตยและพรรคเพื่อไทย
เหตุการณ์ในครั้งนี้โดยเนื้อแท้แล้วคือ การสถาปนาระบอบการเมืองใหม่ที่มีศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจสูงสุดเหนืออำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญได้สถาปนาอำนาจนั้นด้วยการตีความ “ยืดและหด” นัยของกฎหมายตามที่ตนต้องการ เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ทางการเมืองของตน
เช่น มาตรา 68 ระบุให้คำร้องต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ตีความว่าตนมีอำนาจรับคำรองได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด ซึ่งขัดกับบริบทและเจตนารมณ์ของมาตรา 68 และขัดกับหลักปฏิบัติที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญเองอีกด้วย
หลักการของระบอบรัฐธรรมนูญคือการแบ่งแยกอำนาจทั้งสาม อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นตัวแทนโดยตรงของประชาชนเท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ตีความว่าตนมีอำนาจนั้น โดยอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “อาจเป็นการล้มล้างระบอบการปกครอง” ซึ่งเข้าเงื่อนไขมาตรา 68 เป็นต้น
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมยิ่งเป็นตัวอย่างชัดแจ้งที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจที่มิได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ ประเด็นในคำร้องคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ แต่กลับถูกลากไปโยงกับอีกประเด็นคือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่?”
ในการนี้ศาลรัฐธรรมนูญ “แนะนำ” ว่าให้แก้ไขเป็นรายมาตรา โดยอ้าง “เจตนารมณ์ของมาตรา 191” ทั้งๆที่มาตรา 291 มิได้ห้ามการแก้ไขทั้งฉบับ อีกทั้งผู้ที่เคยมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 รวมทั้งตุลาการบางคนในศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบันเองก็เคยแสดงทรรศนะไว้หลายแห่งว่าสามารถยกร่างใหม่ทั้งฉบับได้
ศาลรัฐธรรมนูญยังมี “คำแนะนำ” ต่อไปอีกว่าถ้าจะร่างใหม่ทั้งฉบับ “ก็ควรทำประชามติก่อน” ซึ่งสร้างความงุนงงให้กับนักกฎหมายโดยทั่วกัน เพราะในรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มีบทบัญญัติใดที่ระบุให้ต้องทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ตามหลักการแห่งระบอบรัฐธรรมนูญนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่อย่างแคบและจำกัดอยู่ที่การตีความและวินิจฉัยกฎหมายรัฐธรรมนูญเฉพาะในประเด็นเท่าที่มีผู้ร้องมาเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ออกความเห็นหรือให้ “คำแนะนำ” ที่นอกเหนือไปจากประเด็นทางกฎหมายเฉพาะที่พิพาทกันอยู่แต่อย่างใด นัยหนึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่และไม่ใช่อำนาจของตน
สิ่งที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำในกรณีทั้งหมดนี้ก็คือ “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทุกวัน” ตามแต่จุดประสงค์ทางการเมืองของตน นี่จึงมิใช่เป็นเพียงแค่ศาลรัฐธรรมนูญได้สถาปนาอำนาจใหม่เหนืออำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่ยังเป็นอำนาจใหม่ที่ “อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ” อีกด้วย ทั้งๆที่เป็นรัฐธรรมนูญที่พวกเผด็จการรวมหัวกันร่างขึ้นหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ที่น่าเศร้าคือท่าทีของแกนนำพรรคเพื่อไทยและประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องต่อสู้ปกป้องอำนาจนิติบัญญัติที่มาจากประชาชน กลับยอมสยบ แสดงความหวาดกลัวจนลนลาน จำนนให้กับการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ยอมให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ขึ้น ด้วยความต้องการแต่เพียงประการเดียวคือเป็นรัฐบาลให้นานที่สุด แต่แก้ตัวให้ดูดีว่า “เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดของประชาชน”
สิ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยและพรรคเพื่อไทยจะเผชิญนับแต่นี้ไปคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะอ้างอำนาจในการรับคำร้องโดยตรงตามมาตรา 68 เข้ามา “แนะนำ” แทรกแซง และสั่งห้ามการกระทำใดๆของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างบรรทัดฐานที่ได้เกิดขึ้นแล้วจากกรณีล่าสุดนี้
นี่คือ “ระบอบรัฐประหารโดยศาลรัฐธรรมนูญ” โดยแท้ ที่ซึ่งตุลาการจะหยิบจับข้อกฎหมายต่างๆ ใช้ตรรกะตามปรารถนา เปิดพจนานุกรมไทย อ้างภาษาต่างชาติ อิงความเชื่อหรือความกังวลส่วนตัวในเรื่องการเมืองมาแสดงความคิดเห็นนอกศาล กระทั่งมีผลต่อการวินิจฉัย โดยมีจุดประสงค์คือทำลายฝ่ายประชาธิปไตย