'เหวง' แนะเดินหน้าวาระ 3 เพื่อประชาธิปไตย

Facebook นพ.เหวง โตจิราการ 21 กรกฎาคม 2555 >>>


วันนี้ (21 ก.ค. 2555) นพ.เหวง โตจิราการ แนะรัฐบาลไม่ต้องสนใจคำวินิจฉัยของตุลาการ รธน. และควรเดินหน้าลงมติวาระ 3 ต่อไป ดังนี้

เพื่อนๆครับ วันนี้ (21 ก.ค. 55) ผมขอพูดเรื่อง ศาล รธน. หน่อยครับ ผมประเมินว่า ฝ่ายอำมาตย์เขาค้นพบอาวุธอันทรงพลังของพวกเขาแล้ว พอใช้ออกไปก็สามารถสร้างความพ่ายแพ้กระเจิดกระเจิงให้แก่ฝ่ายประชาธิปไตยได้อย่างทรงพลัง และไม่เกิดความเสียหายแก่พวกของเขาแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม สร้างความแข็งแกร่งให้แก่ป้อมค่ายฝ่ายเขาและยังรักษาสถานะคุกคามรุกฆาตโจมตีฝ่ายประชาธิปไตยได้อยู่ทุกเวลานาทีเลยครับ
เพราะปรากฏว่า เขารุกข่มฆาตพวกเราตั้งแต่ วันแรกที่เขายื่นกระดาษเพียงแผ่นเดียวที่ “สั่งให้รัฐสภารอการประชุมวาระที่ 3 ไว่ก่อน รอจนศาล รธน. จะมีคำวินิจฉัยคำร้องทั้ง 5 ให้เรียบร้อย” เพื่อนๆลองคิดดูซิครับว่า “กระดาษเพียงแผ่นเดียวของฝ่ายเขาก็สามารถทำให้พวกเราจนแต้มทั้งกระดาน ทั้งรัฐบาล ทั้งพรรคเพื่อไทย ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และท่านประธานรัฐสภาก็ต้องก้มหน้ายอมต่อพวกเขาอย่างเซื่องๆ”
แต่ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน สวนหมัดออกมาทันที คือ เดินเรื่องถอดถอนตุลาการศาล รธน. 7 คน โดยส่ง 23,500 รายชื่อได้ภายในเพียงวันเดียว และยังยืนหยัดที่จะรวบรวมรายชื่อคนที่ไม่พอใจศาล รธน. อีกต่อไป เพื่อยืนยันว่า นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ไม่ยอมรับ ศาล รธน. ตั้งแต่วันที่พวกเขามี “กระดาษแผ่นเดียวดังกล่าว” ออกมาแล้ว และก็ตระหนักนะครับว่า ไม่สามารถถอดถอนพวกเขาได้ดอก เพราะวุฒิสภาที่จะถอดถอนพวกเขาได้นั้นต้องใช้เสียงถึง 3/5 หรือเกิน 90 ขึ้นไปซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย แต่นี่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองไม่ใช่หรือ ดังนั้นถ้าประชาชนจำนวนกว่าครึ่งล้านคนแสดงตัวออกมาบอกว่า ไม่พอใจศาล รธน. แล้วศาล รธน. ยังจะหน้าด้านหน้าทนต่อไปได้อีกหรือ
พอศาล รธน. มีคำวินิจฉัยออกมาเป็นสี่ประเด็นเท่านั้น รัฐสภาก็แตกกระเจิงเลยครับ ตั้งแต่ ลังเลว่า ควรเดินหน้าวาระ 3 ต่อหรือไม่ ควรแก้รายมาตราหรือไม่ ควรทำประชามติก่อนหรือไม่ ประชามติควรทำเมื่อไร ควรแก้ ม.68 ก่อนหรือควรแก้ ม.309 ควรแก้ ม.165 ไปกันมั่วซั่วเลยครับ ไม่อาจจะรวมตัวกันติด ไม่อาจจะสามัคคีกันเป็นหนึ่งเดียวได้อีกต่อไป แค่นี้ก็ถือว่าเป็นผลสำเร็จอย่างมหันต์ของอำมาตย์แล้วครับ
ที่ยิ่งน่าตระหนกตกใจมากกว่านั้นคือ ดูจะมีสมาชิกรัฐสภาจำนวนน้อยมากที่ โต้แย้งอย่างหนักหน่วงว่า ศาล รธน. ได้ทำลายหลักการประชาธิปไตยลงไปเรียบร้อยแล้ว ศาล รธน. ได้ลุแก่อำนาจตนเองได้ขยายขอบอำนาจของตนล้ำแดนเข้าไปในอาณาเขตของอำนาจนิติบัญญัติอย่างกว้างขวางใหญ่โตเสียแล้ว แต่นี้ต่อไปหากไม่อาจจะรุกโต้ศาล รธน. กลับได้ การแก้ไข รธน. จะอยู่ในอำนาจของศาลรธน.อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเลยครับ
ที่ผมประเมินอย่างนี้มิได้หมายความว่าผมมาดูหมิ่นดูแคลนเพื่อนรัฐสภาของผมแต่อย่างไร แต่ชี้ให้เห็นสภาพของเราในตอนนี้ และจะได้เรียกขวัญและกำลังใจของพวกเราคืนมา การรวบรวมสติปัญญาและการรวบรวมความสามัคคีเป็นปึกแผ่นเดียวกันอย่างเหนียวแน่นบนหลักการที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ครับ
พวกเราต้องตีโต้ การรุกล้ำเขตอำนาจนิติบัญญัติของศาลรธน.ให้แตกพ่ายไปให้ได้ในขั้นต้นก่อน ศาลรธน.ไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะมาชี้นิ้วสั่งการ ในรูปโฉมของคำแนะนำครับว่า อำนาจนิติบัญญิต ควรทำอย่างโน้น ควรทำอย่างนี้ ศาล รธน. ต้องกลับไปทำหน้าที่ของตนให้ดีเสียก่อน ต่างคนต่างมีอำนาจหน้าที่และต่างคนต่างต้องปฎิบัติตนให้อยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องครับ อำนาจทั้งสามต้องเป็นอิสระจากกันและตรวจสอบถ่วงดุลย์ซึ่งกันและกัน ในวันนี้เมื่อศาล รธน. ก้าวก่ายล่วงล้ำเขตแดนของอำนาจนิติบัญญัติอย่างไม่ชอบด้วยรธน.แล้วจึงเป็นโอกาสและอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติจะบอกศาล รธน. ได้แล้วว่า “ถึงเวลาที่พวกคุณจะกลับไปในขอบเขตของคุณแล้วครับ”
วิธีบอกก็คือ รัฐสภา ต้องเดินหน้าวาระสามทันทีที่เปิดสมัยประชุมครับ และไม่ต้องห่วงว่าผลจะออกมาอย่างไร เพราะสมาชิกรัฐสภาตัองรับผิดชอบต่อประเทศและประชาชน หากใครไม่มาประชุมทำให้องค์ประชุมไม่ครบ หากใครทรยศต่อการตัดสินใจของตนในคราวโหวตวาระ 1 วาระ 2 ประชาชนจะประนามพวกเขาเหล่านั้นเอง ดังนั้นเดินหน้าวาระสามทันทีเพื่อเป็นการยืนยันว่า อำนาจนิติบัญญัตินั้นเป็นอิสระจากอำนาจตุลาการ และ ศาล รธน. เองก็วินิจฉัยแล้วว่า การทำหน้าที่ของรัฐสภาในวาระ 1 และ 2 ไม่ได้ทำผิดรธน.แต่อย่างไรจึงได้ยกคำร้องทั้ง 5 ดังกล่าว การเดินหน้าวาระ 3 จึงไม่มีอะไรมากังวลว่าจะเป็นเหตุให้ศาลรธน.ก้าวล่วงเข้ามาลงโทษสมาชิกรัฐสภาได้จนถึงขั้นถอดถอน ตัดสิทธิหรือทำให้รัฐบาลล้มลงไป
   “เดินหน้าวาระสามทันทีเถิดครับพี่น้องสมาชิกรัฐสภาทั้งหลาย ช่วยกันรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้อย่าให้ศาลรัฐธรรมนูญมาละเมิดระบอบประชาธิปไตยเลยครับพี่น้องครับ”
เรื่องประชามตินั้น ผมขอให้ไปดูตัวอักษรในมาตรา 165 ให้ละเอียดนะครับ ซึ่งเขียนไว้อย่างนี้ครับ” การออกเสียงประชามติตาม (1) หรือ (2) อาจจัดให้เป็นการออกเสียง เพื่อให้มีข้อยุติ โดยเสียงข้างมาก ของผู้มีสิทธิ ออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ..............................”
อ่านซ้ำหลายๆเที่ยวนะครับ ให้มีข้อยุติ ซึ่งหมายถึงว่าสิ้นสุดโดยสมบูรณ์ โดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามตินะครับ ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติตามข้อมูลของคุณสดศรีสัตยธรรมที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 55 บอกว่ามีจำนวน 47.89 ล้านเสียงหรือ คร่าวๆ 48 ล้านเสียงครับ เสียงข้างมากคือ 24 ล้านเสียงขึ้นครับ ดังนั้น เพื่อให้มีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ คือ 24 ล้านเสียงขึ้นครับ แล้วในขณะนี้ทำได้ไหมครับ ในขณะนี้ตอบได้เลยว่า ทำไม่ได้ครับ เว้นเสียแต่ว่า เมื่อผ่านวาระ 3 แล้ว มีการเลือก สสร. แล้ว สสร. ร่างโดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นแล้ว กระแสการเมืองที่ร้อนแรงในการร่าง รธน. จะปลุกความตื่นตัวของประชาชน แล้วเมื่อมี รธน.2556 เป็นต้นร่าง ไปโหวตแข่งขันกับ รธน.2550 ของเผด็จการอำมาตย์ ผมเชื่อว่า วันนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับเกินกว่า 24 ล้านเสียงครับ นี่เพียงความเป็นไปได้เท่านั้นนะครับ ดังนั้น ประชามติเพื่อยกร่างใหม่หรือไม่นั้น อย่าไปทำเลยครับ เพราะแพ้พันเปอร์เซ็นต์ และเมื่อแพ้แล้ว พวกเราจะร่างรธน.ใหม่ไม่ได้เลยนะครับ จะต้องก้มหน้ารับกรรม รธน.2550 ไปชั่วฟ้าดินสลายนะครับ แล้วจะเอาเช่นนั้นหรือ
จะแก้รายมาตราหรือ ก็เห็นแล้วไม่ใช่หรือว่า ปชป. และพวก ส.ว. ลากตั้ง 40 นั้นลากยาวอภิปราย ม.219 ถึง 15 วัน 15 คืนเลยทีเดียว ถ้าเราจะแก้รายมาตรา พวกเขาก็จะลากยาวมาตราละ 20 วัน/คืนหรือ 30 วัน/คืนก็ได้ กี่ปีกี่ชาติจึงจะสำเร็จครับ เพราะ รธน. นั้นเกาะเกี่ยวพ่วงโยงกันหลายมาตราครับ แก้มาตราเดียวไม่ได้
อย่าไปเดินตาม “คำแนะนำของศาล รธน.” เลยครับ เดินหน้าวาระ 3 ดีกว่า อย่าน้อยก็เท่ากับ ตีโต้เพื่อพลิกเอาความเป็นอิสระของอำนาจนิติบัญญัติคืนมาก่อน เอาหลักการที่ถูกต้องของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงคืนมาก่อนครับ แล้วเรื่องอื่นค่อยไปว่ากัน แม้เดินหน้าวาระ 3 หากตกไปด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ ไม่กระทบถึงรัฐบาลว่าจะต้องลาออกไปหรือต้องยุบสภาแต่อย่างไรครับ ร่างแก้ไข ม.291 กลายเป็นร่างของรัฐสภาไปเรียบร้อยแล้ว เพราะกรรมาธิการที่รัฐสภาตั้งขึ้นจำนวน 45 คน (รวม ปชป. และ ส.ว. ลากตั้งด้วยนะครับ) ได้ดำเนินการแก้ไขอย่างมากมายในเนื้อหาสำคัญจนกลายร่างไปเป็นของกรรมาธิการแล้วครับ ไม่ใช่ของรัฐบาล จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา