“พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” ขึ้นเบิกความศาลรัฐธรรมนูญ สวนเพื่อไทยกลางห้อง เปรียบคนถือร่างเหมือนคนถือน้ำมันเตรียมบุกเผาบ้าน ยืนยันส่อเค้าล้มล้างการปกครองฯ...
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดเบิกความผู้ร้อง แก้ปม รธน. นัดแรก แบไพ่ แก้ รธน. แต่ไม่ใช่ทั้งฉบับ “สมเจตน์” เปรียบคนถือร่างเหมือนคนถือน้ำมันเตรียมบุกเผาบ้าน ส่อเค้าล้มล้างการปกครองฯ ด้าน "วัฒนา” ปธ.สภาฯ ไม่คุมอำนาจเพียงผู้เดียว พร้อมเปิดกว้างผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ร่วมวินิจฉัย ขณะที่ "เดชอุดม” ชี้ แก้ รธน. ผิดตั้งแต่แรก ปัดตอบเพิ่มหาก ปธ.สภาฯ ให้ผู้อื่นร่วมวินิจฉัย ส่วน "วันธงชัย" ลั่น ยกร่างแก้ไข รธน. อำนาจอยู่ที่สภาฯ ไม่ใช่ ส.ส.ร.
เมื่อเวลา 10.05 น. วันที่ 5 ก.ค. 2555 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นำโดย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบังลังก์เพื่อพิจารณาไต่สวนคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ซึ่งในวันนี้เป็นการนั่งพิจารณาไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องนัดแรก โดยเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของคำร้อง นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งกับฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายผู้ถูกร้องว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มอบหมายให้ นายนุรักษ์ มาประณีต และนายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ดำเนินการพิจารณาการไต่สวน
จากนั้นนายนุรักษ์ ได้ชี้แจงว่า การกำหนดพยานไต่สวน ศาลได้พิจารณาโดยเลือกพยานที่เป็นผู้ร้องจำนวน 5 ปาก ประกอบด้วย
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ผู้ร้องที่ 1
นายวันธงชัย ชำนาญกิจ ผู้ร้องที่ 2
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ผู้ร้องที่ 3
นายวรินทร์ เทียมจรัส ผู้ร้องที่ 4 และ
นายบวร ยสินธร ผู้ร้องที่ 5
ส่วนพยานอีก 2 ปาก คือ นายสุรพล นิติไกรพจน์ และนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ เป็นพยานที่เข้าเบิกความในแง่ของกฎหมาย ส่วนพยานปากอื่นๆ ที่ศาลไม่ได้เรียกเข้าเบิกความ เนื่องจากศาลได้พิจารณาบันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงที่ได้เสนอเข้ามาก่อนหน้า ซึ่งศาลก็ได้มีการพิจารณาเอกสารอย่างครบถ้วน โดยส่วนใหญ่จะชี้แจงในเรื่องข้อกฎหมาย
ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาไต่สวนเกิดความกระชับ ไม่ยืดเยื้อ โดยนายวัฒนา เตียงกูล ทนายของผู้ถูกร้องที่ 3 คือ พรรคเพื่อไทย ได้ขอให้ศาลกำหนดประเด็นในการพิจารณา หากมีการพูดนอกประเด็นฝ่ายผู้ถูกร้องจะได้ขึ้นคัดค้านหรือโต้แย้งได้ นายนุรักษ์ กล่าวว่า ศาลได้กำหนดประเด็นการพิจารณาการไต่สวนไว้ 4 ประเด็น คือ
1. อำนาจฟ้อง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง
2. ปัญหาเรื่องมาตรา 291 ว่าจะสามารถยกเลิกหรือแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่
3. มีปัญหาในเรื่องมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ ว่าเป็นการล้มล้างหรือได้มาซึ่งอำนาจหรือไม่ และ
4. ผลของการกระทำดังกล่าวจะมีเหตุให้ยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมือง ตามมาตรา 68 วรรคสามและวรรคสี่ หรือไม่
หลังจากนั้น พล.อ.สมเจตน์ หนึ่งในผู้ร้องได้เข้าเบิกความเป็นคนแรก ซึ่ง พล.อ.สมเจตน์ กล่าวต่อศาลว่า การที่ยื่นคำร้องครั้งนี้เพราะเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แตกต่างจากการปฏิวัติ เพียงแต่การปฏิวัติเป็นการใช้ปืน แต่ครั้งนี้เป็นการล้มล้างการปกครองและล้มรัฐธรรมนูญที่มิชอบ การแก้มาตรา 291 ไปแก้รัฐธรรมนูญผิดอยู่แล้ว ไม่ต้องไปถึงองค์กรที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญ ถึงแม้สิ่งที่คาดยังไม่เกิดขึ้น แต่คาดการได้เช่นเห็นคนเตรียมน้ำมันจะมาเผาบ้าน ก็ต้องเผาแน่นอนถ้าไม่ห้ามปราม แม้ยังไม่เกิดขึ้น แต่คาดคะเนได้ว่าเกิดขึ้น การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นภัยอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ คำกล่าวของ พล.อ.สมเจตน์ ทำให้ฝ่ายผู้ถูกร้องและทีมทนายความหลายคนได้ซักถาม พล.อ.สมเจตน์ อย่างหนัก อาทิ นายวัฒนา เซ่งไพเราะ ตัวแทนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้ถามว่า นายสมศักดิ์ได้แสดงเจตจำนงไว้แล้วว่า ข้อเป็นห่วงที่ว่า เมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร. ออกมาแล้ว ที่คนเกรงกันว่าจะเป็นการไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วจะมีปัญหาที่หลายคนเป็นห่วง แม้ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291/11 จะให้อำนาจประธานรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาว่าจะส่งร่างดังกล่าวไปทำประชามติเลย หรือจะส่งกลับมาให้รัฐสภาพิจารณาอีกครั้ง หากเห็นว่ามีปัญหา แต่ประธานรัฐสภาก็บอกพร้อมจะตั้งคณะกรรมาธิการมาร่วมพิจารณาด้วย โดยจะให้ตัวแทนจากหลายฝ่าย เช่น คณะบดีนิติศาสตร์จากหลายสถาบัน คิดเห็นอย่างไร รวมถึงถามว่าเหตุใดในเมื่อไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วทำไมจึงไปร่วมเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาในสัดส่วนของวุฒิสภา
ด้าน พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า เรื่องการทำหน้าที่ประธานสภาฯ ยิ่งฟังจากเทปที่ประธานสภาฯ พูด จะไว้ใจได้หรือ วางตัวเป็นกลางหรือไม่ ที่ผ่านมาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ตนได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยมาตลอด เช่น การลงมติไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ไปร่วมเป็นกรรมาธิการ เพราะเป็นขั้นตอนทางรัฐสภา “พฤติกรรมของพรรคเพื่อไทยและสมาชิกพรรคเพื่อไทย มีเจตนาล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 โดยดูได้จากคำอภิปราย คำปราศรัยของคนที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย เช่น บอกจะยุบศาลคู่ อย่างศาลปกครอง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ จะถ่วงดุลอำนาจตุลาการที่เป็นอำนาจที่สี่ โดยบอกว่าจะให้ศาลเหล่านี้เป็นอิสระได้อย่างไร หรือการบอกว่าจะเปลี่ยนสถานะของสถาบันให้เป็นสัญลักษณ์ เช่น การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันนั้นมีแกนนำหลายคนที่เป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย สมาชิกหลายคนของเพื่อไทยหลายคนขึ้นปราศรัย เช่น นายอดิศร เพียงเกษ ที่กล่าวว่า ผมใฝ่ฝันต้องการให้สถาบันเราเป็นสัญลักษณ์ หมายความว่าต้องแตกต่างจากปัจจุบัน บอกจะให้เป็นแบบอังกฤษ ญี่ปุ่น กัมพูชา อำนาจทั้งหมดอยู่ที่กษัตริย์ ใครทำหน้าที่ของใครอย่ามายุ่ง เห็นชัดว่ามุ่งร้ายต่อสถาบัน เห็นชัดว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง การยื่นคำร้องนี้เป็นการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามประเพณี ทำได้แต่ต้องดูบริบทสังคมว่ามีความแตกต่าง อย่างไร” พล.อ.สมเจตน์ ระบุกลางห้องพิจารณาคดี
จากนั้น นายชูศักดิ์ ศิรินิล อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งในทีมทนายพรรคเพื่อไทย พยายามซักถามความเห็นถึงเรื่องการล้มล้างการปกครองว่าเป็นอย่างไร และถามว่ามาตรา 291 ห้ามไม่ให้มี ส.ส.ร. หรือไม่ และก่อนหน้านี้ก็เคยมีการตั้ง ส.ส.ร. มาแก้รัฐธรรมนูญ เช่น ในปี 2539 อีกทั้งก่อนหน้านี้เคยมีคนบอกให้รับไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ เช่น นายจรัญ ภักดีธนากุล ที่เคยให้สัมภาษณ์ก่อนการลงประชามติรัฐธรรมนูญปี 50 ว่าให้รับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ แก้ไม่ยาก แก้มาตราเดียวแล้วเราจะหลุดจากอำนาจคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กรณีดังกล่าวนี้ ทำให้นายจรัญรีบชี้แจงทันควันกลางห้องพิจารณาคดีว่า ที่ให้สัมภาษณ์ก็บอกว่าให้เห็นชอบเพื่อให้พ้นจากอำนาจคณะรัฐประหาร แล้วไปแก้ไขได้ แต่ไม่ได้บอกว่าให้แก้มาตราเดียวแล้วจะยกเลิกทั้งฉบับ ถ้าจะแก้ 100 มาตราก็ไม่มีปัญหา เพื่อให้สังคมตรวจสอบ แต่ไม่เคยบอกว่าถ้าแก้มาตราเดียวแล้วจะยกเลิกทั้งฉบับ
ต่อมา นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะฝ่ายผู้ถูกร้อง ได้ซักถาม พล.อ.สมเจตน์ ว่าเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติหรือไม่ เนื่องจากเป็นเลขาธิการ คมช. ใช่หรือไม่ ทำให้ พล.อ.สมเจตน์ สวนกลับมาทันทีว่า ท่านยังไม่รู้เลยแล้วมาถามผมทำไม ผมไม่ได้ร่วมปฏิวัติ ไม่ได้เป็นเลขาธิการ คมช. แต่เป็นหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการ คมช. รัฐประหารปี 49 ก็คือการล้มล้างการปกครอง และไม่ได้แตกต่างจากวิธีการของพวกท่าน มันแตกต่างกันตรงไหน ต่อมานายเดชอุดม พยานฝั่งผู้ร้อง เข้าชี้แจงเป็นคนถัดมา โดยกล่าวว่าตนไม่ขอชี้แจงเพิ่มเติม แต่ขอยืนยันตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง ที่เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ไปเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี ส.ส.ร. เป็นการทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ นายวัฒนาได้สอบถามนายเดชอุดมว่า นายเดชอุดมเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้เข้าร่วมพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 1 และวาระ 2 หรือไม่ นายเดชอุดม ตอบว่า เข้าร่วมประชุมในบางครั้ง แต่ได้ลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายผู้ถูกร้องทั้งจากพรรคเพื่อไทย และนายวัฒนา ได้พยายามถามนายเดชอุดมหลายครั้งว่า การที่ประธานรัฐสภาจะมีการตั้งคณะกรรมการจากหลายฝ่ายมาร่วมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ ส.ส.ร. ก่อนการส่งไปทำประชามติ คิดเห็นอย่างไร รวมถึงแม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างนายวสันต์ และนายบุญส่ง ได้ช่วยถามนายเดชอุดมว่า การที่ประธานรัฐสภาจะตั้งคณะทำงานดังกล่าวขึ้นมาทำ ให้คลายกังวลหรือสบายใจหรือไม่ ในการช่วยดูรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ ส.ส.ร. ว่าร่างออกมาเป็นอย่างไร นายเดชอุดมตอบฝ่ายผู้ถูกร้องและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พยายามถามประเด็นนี้ว่า ไม่ทำให้สบายใจ เพราะแม้จะตั้งคณะทำงานมาหลายคนแต่สุดท้ายทุกอย่างก็อยู่ที่คนคนเดียว เพราะเรื่องนี้ปัญหาสำคัญคือ ทำไมจึงแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ตั้ง ส.ส.ร. มาตรา 291 ถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญ ปี 40 ในฐานะที่เคยเป็นอดีต ส.ส.ร. ปี 2540 มาก่อน เจตจำนงการแก้รัฐธรรมนูญ ที่มีการแปรญัตติและอภิปรายกันก็คือ ต้องให้รัฐสภาทำ การให้ ส.ส.ร. ไปทำมันไม่ถูกต้อง
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ที่น่าสนใจปรากฏว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งได้ถามนายเดชอุดมว่า ในฐานะนักกฎหมาย คิดว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของใคร โดยคำถามนี้นายเดชอุดมตอบว่าต้องประชาชนเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ผ่านการทำประชามติประชาชนทั้งประเทศมาแล้ว จากนั้นนายวันธงชัยพยานและหนึ่งในผู้ร้องได้เข้าชี้แจงว่า ขอยืนตามบันทึกยืนยันถ้อยคำข้อเท็จจริงที่ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ยืนยันว่ามาตรา 291 ที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น ไม่ได้เปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อีกทั้งไม่ได้บัญญัติให้รัฐสภามอบอำนาจให้บุคคลอื่นในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะอำนาจในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นอยู่ที่รัฐสภา อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของปวงชนชาวไทย ตนและปวงชาวไทยได้มอบความไว้วางใจเลือก ส.ส. และ ส.ว. มาทำหน้าที่แทนประชาชนในสภาฯ แต่สภาฯ กลับมอบอำนาจการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ส.ส.ร. ดำเนินการแทน ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 291 อย่างชัดเจน
หลังจากนั้น เวลา 11.55 น. นายวสันต์ ได้ชี้แจงให้พยานผู้ร้องและผู้ถูกร้องรับทราบถึงการพิจารณาการไต่สวนว่า ศาลขอพักการไต่สวน และจะเริ่มไต่สวนอีกครั้งในเวลา 13.30 น.