กรุงเทพธุรกิจ 5 กรกฎาคม 2555 >>>
"เดชอุดม" แจงศาล รธน. ชี้แก้ รธน. ผิดตั้งแต่แรก ปัดตอบเพิ่มหาก ปธ.สภาฯ ให้ผู้อื่นร่วมวินิจฉัย
คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนำโดยนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบังลังก์เพื่อพิจารณาไต่สวนคำร้องการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญมาตรา 291 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ซึ่งในวันนี้เป็นการนั่งพิจารณาไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องนัดแรก โดยเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของคำร้อง นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งกับฝ่ายผู้ร้อง และฝ่ายผู้ถูกร้องว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มอบหมาย ให้นายนุรักษ์ มาประณีต และนายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ดำเนินการพิจารณาการไต่สวน
นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ พยานที่เข้าเบิกความในแง่ของกฎหมาย เข้าชี้แจงว่า ตนไม่ขอชี้แจงเพิ่มเติม แต่ขอยืนยันตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง ที่เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ไปเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี ส.ส.ร. เป็นการทำผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ นายวัฒนา เซ่งไพเราะ ตัวแทนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้สอบถามนายเดชอุดมว่า นายเดชอุดมเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้เข้าร่วมพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 1 และ วาระ 2 หรือไม่ นายเดชอุดม ตอบว่า เข้าร่วมประชุมในบางครั้ง แต่ได้ลงมติไม่เห็นกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายผู้ถูกร้องทั้งจากพรรคเพื่อไทย และนายวัฒนา ได้พยายามถามนายเดชอุดม หลายครั้งว่า การที่ประธานรัฐสภาจะมีการตั้งคณะกรรมการจากหลายฝ่ายมาร่วมพิจารณาร่างรัฐ ธรรมนูญฉบับใหม่ของ ส.ส.ร. ก่อนการส่งไปทำประชามติ คิดเห็นอย่างไร รวมถึงแม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างนายวสันต์ และนายบุญส่ง ได้ช่วยถามนายเดชอุดม ว่า การที่ประธานรัฐสภาจะตั้งคณะทำงานดังกล่าวขึ้นมาทำ ให้คลายกังวลหรือสบายใจหรือไม่ ในการช่วยดูรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ ส.ส.ร. ว่าร่างออกมาเป็นอย่างไร
นายเดชอุดม กล่าวตอบฝ่ายผู้ถูกร้องและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พยายามถามประเด็นนี้ว่า ไม่ทำให้สบายใจ เพราะแม้จะตั้งคณะทำงานมาหลายคนแต่สุดท้ายทุกอย่างก็อยู่ที่คนๆเดียว เพราะเรื่องนี้ปัญหาสำคัญคือทำไมจึงแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ตั้ง ส.ส.ร. มาตรา 291 ถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญ ปี 40 ในฐานะที่เคยเป็นอดีต ส.ส.ร. ปี 2540 มาก่อน เจตจำนงการแก้รัฐธรรมนูญ ที่มีการแปรญัตติและอภิปรายกันก็คือต้องให้รัฐสภาทำ การให้ ส.ส.ร. ไปทำมันไม่ถูกต้อง ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งอย่างเดียวไม่ใช่การ แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ส่วนที่น่าสนใจปรากฎว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งได้ถามนายเดชอุดมว่าในฐานะนักกฎหมายคิดว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของใคร โดยคำถามนี้นายเดชอุดม กล่าวตอบว่า ต้องประชาชนเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ผ่านการทำประชามติประชาชนทั้งประเทศมาแล้ว