เสียงสะท้อนรัฐบาล กรณี "ไต่สวน" แก้ รธน.

มติชน 4 มิถุนายน 2555 >>>




นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวัฒนา เซ่งไพเราะ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แสดงความคิดเห็น กรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนพยานคู่กรณี ในคำร้องการเสนอแก้ไขมาตรา 291 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ.... ว่าขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 68 รัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ ระหว่างวันที่ 5-6 กรกฎาคม

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


พรรคเพื่อไทยมีหน้าที่ชี้แจงก็จะเตรียมการชี้แจงอย่างเต็มที่ แต่คงไม่เตรียมการอะไรมากมาย แค่พูดความจริง ตรงไปตรงมา ก็ชัดเจนว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ เป็นเรื่องที่ทำตามกรอบของกฎหมาย ทำตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาและเปิดเผยชัดเจนในสายตาประชาชน และยิ่งใกล้วันไต่สวน ผมยิ่งมีความมั่นใจมากขึ้นว่าประชาชนทั้งประเทศจะเห็นความจริงทั้งหมด และประชาชนทั้งประเทศจะเลือกยืนอยู่ข้างความถูกต้อง เลือกยืนตามหลักกฎกติกาของบ้านเมือง ยืนเคียงข้างรัฐบาลเพื่อทำให้บ้านเมืองมีทางรอดที่จะเดินไปข้างหน้า
ถ้าผลออกมาเป็นลบคงต้องมีการหารือกัน เพราะเรื่องนี้ผมยืนยันมาตลอดว่าปัญหาใหญ่ที่สุด คือ ศาลรัฐธรรมนูญได้ทำในสิ่งที่อาจไม่มีอำนาจทางกฎหมายหรือไม่ กระบวนการทั้งหมดจึงอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ต้องมีการต่อสู้กันในทางกฎหมายและในทางอื่นตามที่ช่องทางเปิดให้ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลตัดสินจะออกมาเป็นบวกหรือเป็นลบ ขบวนการที่อยู่เบื้องหลังได้กวาดต้อนประชาชนผู้รักความถูกต้องมายืนข้าง รัฐบาลและรัฐบาลจะแข็งแรงขึ้น ทั้งนี้ ช่วงการไต่สวนหรือวันที่จะประกาศคำวินิจฉัย แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะรวมตัวกันที่ห้างอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว เพื่อติดตามสถานการณ์ หากมีความจำเป็นจะตั้งโต๊ะแถลงข่าวและสรุปสถานการณ์ ส่วนคนเสื้อแดงนั้นคงจะไม่ไปชุมนุมที่ศาลรัฐธรรมนูญในวันตัดสิน
การสืบพยานเท่าที่เห็นผมก็สังเวชใจ เพราะกระบวนการเหล่านี้จะก่อการแบบปีละหนคนกันเอง ดูรายชื่อผู้ร้องและพยานที่อ้างล้วนแต่เป็นกลุ่มพวกเดียวกันทั้งสิ้น บางคนก็ถอนตัวไป บางคนก็ออกหน้าเกินหน้าเกินตา ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์จะเพิ่มพยานขึ้นมาอีก เช่น นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ล้วนแล้วแต่เป็นคนหน้าเดิมที่ขึ้นเวทีแสดงโค่นอำนาจอธิปไตยของประชาชน น่าสังเวชพรรคการเมืองบางพรรคยังหวังส้มหล่นจากสถานการณ์แบบนี้ แต่ระวังจะเป็นทุเรียนหล่นลงมาเพราะประชาชนจะรับไม่ได้
ส่วนกรณีที่ หากไม่สามารถคานอำนาจกันได้รัฐบาลควรต้องยุบสภาหรือไม่นั้น ผมเห็นว่ารัฐบาลต้องรักษาอำนาจอธิปไตยของประชาชนไว้อย่างมั่นคงที่สุด ส่วนรัฐสภาและรัฐบาลก็ต้องเดินหน้า ถ้ายอมแพ้ง่ายๆ เท่ากับเราเอาอำนาจอธิปไตยของประชาชนมาเซ่นสังเวยอำนาจนอกระบบ ดังนั้น รัฐบาลกับประชาชนต้องยืนเคียงข้างกัน เชื่อว่าหลังสถานการณ์นี้รัฐบาลจะเข้มแข็งขึ้นด้วยการสนับสนุนของประชาชน ยืนยันว่าเราไม่ได้ตั้งพรรคใหม่แน่นอน มีแต่พรรคเพื่อไทยตัวจริงชัดเจน

วัฒนา เซ่งไพเราะ
โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา


แนวทางการต่อสู้ในคดีดังกล่าว นายสมศักดิ์ได้ให้หลักการว่า จะไม่ยื่นคัดค้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แม้ว่าในระเบียบของศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดโอกาสให้คัดค้านตุลาการศาลที่มี ลักษณะเป็นปฏิปักษ์กับผู้ถูกร้อง โดยในส่วนของประธานรัฐสภาจะชี้แจงการดำเนินการที่ผ่านมาว่า เป็นไปตามหน้าที่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา โดยเฉพาะการบรรจุระเบียบวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ารัฐสภาที่ต้องทำภายใน 15 วัน ภายหลังมีผู้เสนอร่างแก้ไขเข้ามา เพราะหากไม่ดำเนินการอาจถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 157 ได้
ส่วนข้อกล่าวหาของผู้ร้องที่มีระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการแก้ไขทั้ง ฉบับนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะที่ผ่านมารัฐสภาได้แก้ไขเพียง 2 มาตรา คือ มาตรา 136 และ 291 เพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้มีสภาร่างรัฐ ธรรมนูญเท่านั้น ที่สำคัญไม่ได้มีลักษณะเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1) วรรคสอง และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291/11 วรรคห้า ระบุชัดว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง ของรัฐจะกระทำมิได้
ในช่วงที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร. ประเทศก็ยังบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 อยู่ ดังนั้น ถ้า ส.ส.ร.ไปแตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์เท่ากับว่าจะผิดรัฐธรรมนูญและเป็นกบฏ ทันที
ส่วนข้อห่วงใยว่าการใช้ดุลพินิจของประธานรัฐสภาตามร่างแก้ไข มาตรา 291/13 ที่อาจไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับพิจารณาว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร. ได้ยกร่างเสร็จแล้วจะเข้าข่ายเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่นั้น ตรงนี้นายสมศักดิ์ยืนยันในคำให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าจะไม่ใช้ดุลพินิจโดย ลำพัง แต่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูประกอบ เช่น คณบดีคณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศที่มีความสมัครใจ และข้าราชการประจำฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา เป็นต้น
ไม่เข้าใจว่าทำไมฝ่าย ค้านถึงได้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนหน้านี้ฝ่ายค้านได้ร่วมลงเรือลำเดียวกันมาตลอดตั้งแต่วาระที่ 1 และ 2 รวมถึงการร่วมเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมตั้งแต่แรกตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 95 ที่ต้องมี กมธ.จากทุกพรรคก็ไม่สามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อยู่แล้ว แต่ปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ยังได้ร่วมเสนอคำแปรญัตติเท่ากับว่ากระบวนการจึงชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น แล้ว

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
รองนายกรัฐมนตรี


กรณี นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตเลขานุการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุว่าเจตนารมณ์ในมาตรา 291 ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น ผมเห็นตรงข้าม เพราะตามลายลักษณ์อักษรระบุว่าสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ไม่ได้มีอะไรเป็นอย่างอื่นและได้อ้างถึงรัฐธรรมนูญปี 2475 แต่ปีนั้นให้คณะรัฐมนตรีและผู้แทนแก้ แต่ปี 2550 ให้ประชาชนแก้ได้ และเจตนารมณ์ระบุไว้ชัดเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลทำก็ดูตามเจตนารมณ์ ซึ่งก็ชัดเจนไม่มีความคิดเห็นเป็นอย่างอื่น
กฎหมายต้องดูที่ เจตนารมณ์ทุกฉบับ ไม่ว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ไม่ว่ากฎหมายอาญา ก็ต้องดูเจตนารมณ์ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลออกมาในทางลบ ในมาตรา 68 วรรคสุดท้าย ก็ระบุชัดว่า หากขัดก็เพิกถอนสิทธิเฉพาะหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค แต่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ว่าลงโทษคนที่ลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญได้ แต่ผมไม่มองว่าสถานการณ์จะเลวร้ายขนาดนั้น แต่หากเลวร้ายที่สุดตามที่ได้วิเคราะห์ อาจจะบอกว่าถ้ายกร่างแบบนี้ไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ลงโทษ และถ้าจะร่างใหม่ก็ไปร่างในแต่ละมาตราได้