เสียงครวญจากเรือนจำ (ตอนที่ 6)



ทีมข่าว นปช.
24 กรกฎาคม 2555

นปช. ได้เข้าเยี่ยมเยียนเพื่อรับทราบปัญหา และความต้องการของเพื่อนผู้ถูกคุมขังเสื้อแดง 39 คนเป็นระยะๆ
นปช. ได้ดูแลเรื่องอาหารให้กับผู้ถูกคุมขังเสื้อแดงในเรือนจำหลักสี่ โดยมีการจัดส่งกับข้าววันละ 2 มื้อให้กับผู้ถูกคุมขังเสื้อแดงในเรือนจำแห่งนี้เพื่อเสริมกับข้าวและข้าวของเรือนจำ ส่งหนังสือพิมพ์วันละ 5 ฉบับ และนิตยสารเพื่อให้พวกเขาได้คลายเหงา/เพิ่มพูนข่าวสารบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม ยังมีเสียงครวญจากพวกเขาออกมาจากกรงขัง ซึ่งทาง นปช. ได้นำเรื่องราวของพวกเขามาถ่ายทอดให้กับคนเสื้อแดงเพื่อที่จะได้รับทราบ และให้ความช่วยเหลือต่อไป
สำหรับวันนี้มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจของผู้ถูกคุมขังทางการเมือง 2 รายมานำเสนอคือ สุรภักดิ์ ภูไชยแสง และ อเนก สิงขุนทด ดังนี้

สุรภักดิ์ ภูไชยแสง

สุรภักดิ์ ภูไชยแสง ผู้ต้องหาคดี ม.112 ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 54 ที่ห้องพักของตนเองจากการถูกกล่าวหาว่า โพสท์ข้อความที่ละเมิด ม.112 ใน Facebook
สุรภักดิ์ ยืนยันว่า เขาไม่ได้เป็นผู้โพสท์ข้อความดังกล่าวแต่อย่างใด โดยยืนยันที่จะต่อสู้คดี แม้ว่าในชั้นตำรวจจะจำยอมต้องเซ็นต์ชื่อในเอกสารรับสารภาพ เพราะถูกบังคับก็ตาม
สุรภักดิ์ เปิดเผยว่า ในวันดังกล่าวตำรวจได้ยึด Notebook และ PC ของเขาไป ก่อนที่จะกล่าวหาว่า เขาเป็นผู้โพสท์ข้อความดังกล่าวจากการแกะรอยใน Notebook ของเขาในเวลาต่อมา
สุรภักดิ์ เผยว่า ข้อความดังกล่าวถูกโพสท์เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 54 แต่เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 54 ซึ่งผ่านไปเป็นเวลาเกือบ 8 เดือน ตำรวจจึงไม่สามารถหาหลักฐานที่เป็น IP Address ได้ จึงกลั่นแกล้งเขาด้วยการสร้างไฟล์ .htm ที่มีข้อความดังกล่าวขึ้นมา และอ้างว่าไฟล์ดังกล่าวอยู่ใน Notebook ของเขา
สุรภักดิ์ มั่นใจว่า ตนเองจะชนะคดีหากตนเองสามารถหาพยานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาเบิกความในศาล จึงร้องขอให้ช่วยประกาศหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาเป็นพยาน ซึ่งจะสืบพยานระหว่างวันที่ 18-21 ก.ย. 55

อเนก สิงขุนทด

อเนก สิงขุนทด ผู้ต้องหาคดีวางระเบิดหน้าพรรคภูมิใจไทยเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 53 และถูกสะเก็ตระเบิดที่ใบหน้าจนทำให้ดวงตาทั้ง 2 ข้างเกือบบอด ซึ่งต่อมาให้การรับสารภาพจึงถูกศาลพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 35 ปี
อเนก เล่าว่า หลังจากเขาถูกสะเก็ตระเบิดที่ใบหน้าจนทำให้ดวงตาของเขาได้รับบาดเจ็บสาหัส เขาถูกส่งเข้ารักษาบาดแผลที่ใบหน้าและดวงตาทันทีที่ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช (ถ.พหลโยธิน) เป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
ต่อมาเขาถูกส่งตัวไปรักษาบาดแผลที่ รพ.ตำรวจ เป็นเวลากว่า 1 เดือนกับ พญ.สุชาญา (สงวนนามสกุล) ก่อนที่จะถูกส่งตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
อเนกต้องถูกส่งตัวออกไปรักษาดวงตาที่ รพ.ตำรวจ เป็นประจำ จนกระทั่งเกิดวิกฤตมหาอุทกภัยจนทำให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพถูกน้ำท่วมอย่างหนัก เรือนจำฯจึงไม่สามารถส่งเขาออกไปรักษาดวงตาได้ระยะหนึ่ง
หลังจากน้ำลดอเนกถูกส่งตัวออกไปพบแพทย์อีกครั้ง แต่ครั้งนี้แพทย์ตรวจพบว่า ดวงตาทั้ง 2 ข้างของเขาติดเชื้ออย่างรุนแรง เนื่องจากขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง
อเนกถูกส่งตัวไปรักษาดวงตาต่อที่ รพ.ราชวิถี เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 55 กับ นพ.อภิวัฒน์ (สงวนนามสกุล) โดยมีการตรวจอัลตราซาวด์ ซึ่งจักษุแพทย์เห็นว่า หากเขาได้รับการผ่าตัดจะสามารถกลับมามองเห็นได้ถึงร้อยละ 70
อเนก เล่าว่า เวลานั้นเขารู้สึกดีใจมาก แต่จักษุแพทย์กลับบอกกับเขาว่า เขาไม่สามารถผ่าตัดให้ได้ ตราบใดที่คดีของเขายังไม่เด็ดขาด
อเนกตัดสินใจที่จะสารภาพผิดในศาลเพื่อให้คดีสิ้นสุดโดยเร็ว เพื่อที่เขาจะสามารถรักษาดวงตาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษจำคุก 35 ปี (ลดโทษกึ่งหนึ่งจากโทษประหารชีวิต) เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 55
หลังจากนั้นอเนกถูกส่งตัวไปรักษาดวงตาอีกครั้งที่ รพ.ราขวิถี โดยมีความหวังว่า เขาจะสามารถกลับมามองเห็นได้ แม้จะไม่เท่าเดิมก็ตาม แต่ความหวังของเขาต้องพังทะลายลง เมื่อจักษุแพทย์คนเดิมกลับบอกเข่าว่า เขาไม่รับรักษานักโทษ
อเนกรู้สึกเสียใจอย่างมากจนเกิดความเครียดหลายวัน เพื่อนผู้ถูกคุมขังฯในเรือนจำหลักสี่ต้องช่วยกันปลอบโยนเขา  
ต่อมาคุณเมย์ (แดงอียู) ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเขา โดยสัญญาว่า จะส่งเขาไปรักษาดวงตาที่ รพ.พระราม 9 แต่กลับถูกปฏิเสธจากเรือนจำ เนื่องจากระเบียบของเรือนจำกำหนดให้ต้องรักษาเฉพาะ รพ. รัฐเท่านั้น
ขณะนี้อเนกต้องรับยาจาก รพ.ราชวิถี โดยไม่ได้รับการผ่าตัด เขาร้องขอให้ส่งตัวของเขากลับไปรักษาดวงตาทั้ง 2 ข้างที่ รพ.ตำรวจ อีกครั้ง

(ต่อเนื่องจาก: เสียงครวญจากเรือนจำ (ตอนที่ 5))