ย้อนรอย"ยุบพรรค" ประเมินทิศทาง"เพื่อไทย"หลัง 13 ก.ค.

มติชนออนไลน์ 12 กรกฎาคม 2555 >>>




ตั้งแต่เวลา 14.00 น. วันที่ 13 กรกฎาคม เป็นต้นไป ถือเป็นวัน "ชี้ชะตาการเมืองไทย" อีกครั้งหนึ่ง เมื่อ "ศาลรัฐธรรมนูญ" นัดหมายอ่านคำวินิจฉัยคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ว่าจะเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่

โดยมีการวิเคราะห์กันว่า คำวินิจฉัยของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" น่าจะมี 3 แนวทาง ดังนี้ 1.ศาลรัฐธรรมนูญจะยกคำร้อง เพราะไม่เข้าข่ายการทำผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 2.ไม่สามารถแก้ได้ทั้งฉบับตามมาตรา 291 โดยให้ไปยกร่างใหม่เป็นรายมาตรา 3.เข้าข่ายกระทำความผิดตาม มาตรา 68 ส่งผลถึงขั้นยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองของผู้เกี่ยวข้อง

เริ่มที่แนวทางที่ 1 หาก "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีคำวินิจฉัยตามแนวทางดังกล่าว การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นไปตามที่ "รัฐบาล-พรรคร่วมรัฐบาล-พรรคเพื่อไทย" วางกรอบเอาไว้

ขณะที่แนวทางที่ 2.อาจจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุดลงบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นเลวร้ายหรือพังไปทั้งองคาพยพ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังสามารถเดินหน้าต่อได้ แต่อาจจะยากขึ้น เพราะต้องกำหนด "มาตรา" ในการแก้ไข ที่สำคัญจะต้องอธิบายกับสังคมเพิ่มขึ้น ให้ปราศจากความเคลือบแคลง สงสัย ถึงสาเหตุในการแก้ไข "มาตรา" นั้นๆ

ส่วนแนวทางที่ 3. ถือว่า "เลวร้ายที่สุด" เพราะจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องหยุดลงทันที และอาจจะส่งผลกระทบไปยัง "คณะรัฐมนตรี (ครม.)-พรรคเพื่อไทย-พรรคชาติไทยพัฒนา" ถูกยุบพรรคในฐานะที่เป็น "ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ"

"มติชน" จึงรวบรวม "ผล" แห่งการ "ยุบพรรค" เครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนภาพที่ "ฝันร้าย" อาจจะเกิดขึ้นกับ "พรรคเพื่อไทย" หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในแนวทางที่พลพรรคเพื่อไทยไม่อยากให้เกิดขึ้น

เริ่มที่ "พรรคไทยรักไทย" (ทรท.) ภายใต้การนำของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" จดทะเบียนก่อตั้งพรรค เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 และถูก "ศาลรัฐธรรมนูญ" ให้ยุบพรรคเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ในคดีจ้างพรรคการเมืองเล็กลงเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549

เป็นผลให้ "คณะกรรมการบริหารพรรค" จำนวน 111 คน ถูกตัดสินทางการเมือง 5 ปีเต็ม พร้อมกับนักการเมือง "แถว 1" ต้องยุติบทบาททางการเมืองไปโดยปริยาย

ตามด้วย "พรรคพลังประชาชน" (พปช.) ถือเป็น "พรรคสาขาสอง" ของ ทรท. ก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2541 โดยกลุ่ม ทรท.เริ่มเข้ามามีบทบาทใน พปช.ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2550 และถูก "ศาลรัฐธรรมนูญ" ให้ยุบพรรค เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ในคดีที่ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" (กกต.) มติชี้มูลว่า "ยงยุทธ ติยะไพรัช" อดีตรองหัวหน้าพรรค พปช.ทุจริตการเลือกตั้ง

ซึ่งการยุบพรรค พปช.นอกจากจะทำให้ "คณะกรรมการบริหารพรรค" จำนวน 37 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมืองแล้ว ยังทำให้ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" หลุดจากตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" เปิดโอกาสให้ "เนวิน ชิดชอบ" นำ ส.ส.พปช.ในสังกัด พลิกขั้วหันมาจับมือกับ "พรรคประชาธิปัตย์" จัดตั้ง "รัฐบาลเทพประทาน" และได้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ขึ้นเป็น "นายกรัฐมนตรี"

ดังนั้น หาก "ศาลรัฐธรรมนูญ" ติดสินให้ยุบ "พรรคเพื่อไทย" จะทำให้ "คณะกรรมการบริหารพรรค" จำนวน 31 คน จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ไปตามระเบียบ

ทว่า...การยุบพรรคเพื่อไทยอาจะไม่โหดร้ายเหมือนกับการยุบพรรคพลังประชาชน เพราะจะไม่ส่งผลกระทบต่อ "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี เนื่องจากไม่ได้เป็น "คณะกรรมการบริหารพรรค" แต่ก็มี "เสียวเล็กๆ" ได้เหมือนกันหาก "ศาลรัฐธรรมนูญ" ตัดสินให้ความผิดเกิดขึ้นกับ "ครม." ในฐานะหนึ่งในผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

ทิศทางของการเมืองไทยหลังจากนี้ จะออกมาในแนวทางใด คงเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา

แนวทางการ "พลิกขั้ว" ตั้ง "รัฐบาลเทพประทาน 2" ความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้น เป็นไปได้น้อยมาก เพราะคะแนนเสียงของ "เพื่อไทย" กับ "ประชาธิปัตย์" ห่างกันมาก คงยากที่จะเกิดการจับมือ "พลิกขั้ว" เหมือนครั้งที่แล้ว

ส่วนแนวทาง "หาคนนอก" เข้ามาบริหารประเทศขัดตาทัพ ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่ในห้วงสูญญากาศ ตามที่ใครบางคนอยากจะให้เกิดขึ้น ก็อาจจะเป็นไปได้

แต่ย่อมสุ่มเสี่ยงกับการต่อต้านของมวลชน "กลุ่มแนวร่างประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" อย่างแน่นอนที่รับไม่ได้กับกลุ่มการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งความขัดแย้งในสังคมไทยจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง

ดังนั้น น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า คำตัดสินของ "8 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" จะชี้ชะตา "ประเทศไทย" ให้เดินไปในทิศทางใด จะถอยหลัง-เดินหน้า-หยุดอยู่กับที่ "วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคมนี้" จะได้รู้กัน !!!