ชนชั้นนำไม่ปรองดองให้จับตายุบพรรค-ฟันอาญา ส.ส.

โลกวันนี้ 4 มิถุนายน 2555 >>>


“จาตุรนต์” จัดหนักซัดชนชั้นนำที่มีอำนาจแฝงในประเทศนี้ไม่มีแนวคิดเรื่องปรองดอง คิดแต่จะรักษาอำนาจ ให้จับตารัฐประหารโดยตุลาการ โดยเฉพาะการตีความแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 มีโอกาสเข้าข่ายผิดฐานล้มล้าง ซึ่งจะส่งผลถึงการยุบพรรคการเมืองและเอาผิดทางอาญากับ ส.ส.-ส.ว. ที่ลงชื่อให้แก้ไข ยุประชาชนที่ไม่ชอบรัฐประหารไม่ต้องรอ ออกมาต่อต้านได้เลย ขณะที่ภาคประชาชนเปิดให้ดาวน์โหลดแบบฟอร์มเข้าชื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว “เจริญ” แย้มเดินหน้าลุยลงมติวาระ 3 วันที่ 12 มิ.ย. นี้ ปรึกษาฝ่ายกฎหมายแล้วคำสั่งศาลไม่มีผลผูกพันต่อสภา
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับขัดหรือแย้งต่อข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญที่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำโดยรัฐสภา และให้แก้เป็นรายมาตราหรือไม่ เข้าข่ายล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมแจ้งให้รัฐสภางดเว้นการลงมติร่างแก้ไขวาระ 3 ที่มีกำหนดจะลงมติในวันที่ 5 มิ.ย. นี้ออกไปก่อน จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นหรือรู้ผลการตัดสิน

ลุยลงมติแก้ รธน. วาระ3

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การประชุมรัฐสภาวันที่ 12 มิ.ย. นี้จะหารือในที่ประชุมว่าคำสั่งของศาลมีผลผูกพันต่อรัฐสภาหรือไม่ และต้องทำตามหรือไม่ ซึ่งจากการหารือกับฝ่ายกฎหมายเห็นว่าไม่มีผลผูกพันต่อสภา การลงมติวาระ 3 ยังดำเนินได้ตามปรกติ
   “ในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน ในทางตรงกันข้ามการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีข้อกำหนดชัดเจนว่าการลงมติวาระ 3 ต้องพ้นจากการลงมติวาระ 2 แล้ว 15 วัน หากถึงเวลาแล้วไม่มีการลงมติวาระ 3 อาจทำให้มีปัญหาตามมาได้” นายเจริญ กล่าวและว่า ไม่กังวลว่าจะมีการชุมนุมคัดค้านการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เพราะได้สอบถามจากโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแล้ว ทราบว่าไม่ได้ติดใจเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

รัฐประหารโดยตุลาการ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงว่า ขณะนี้มีข่าวลือเรื่องรัฐประหาร แต่สถานการณ์ตอนนี้ไม่มีความจำเป็นต้องรัฐประหารโดยกองทัพ เพราะกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ได้เกิดขึ้นแล้ว
   “ใครที่คิดจะต่อต้านการรัฐประหารไม่ต้องรอ ออกมาต่อต้านได้เลย เพราะกำลังจะมีการรัฐประหารโดยตุลาการเกิดขึ้นอีกครั้ง เหมือนกับที่เกิดในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ครั้งนี้จะมีผลมากกว่านั้นมาก เพราะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเนื้อหารัฐธรรมนูญ สกัดกั้น ปิดโอกาสประชาชนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยผ่านกลไกรัฐสภา"

ชี้ทำผิดรัฐธรรมนูญ

นายจตุรนต์กล่าวว่า การรับไต่สวนเพื่อตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญเอง เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องนี้ ซึ่งต่างจากพระราชบัญญัติที่ศาลวินิจฉัยได้
   “มาตรา 68 มีไว้ป้องกันบุคคลหรือพรรคการเมืองล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย หรือการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เข้าข่ายตามมาตรานี้ ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญกำลังละเมิดหลักการแบ่งแยกอำนาจกระทำการขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง ถือเป็นการขัดขวาง ล้มการแก้รัฐธรรมนูญที่ดำเนินการโดยรัฐสภา ซึ่งเท่ากับยึดอำนาจจากประชาชน ทำลายช่องทางที่ประชาชนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย”

เชื่อมีธงยุบพรรค-ฟันอาญา

นายจาตุรนต์ย้ำว่า ต้องอธิบายให้ประชาชนที่รักประชาธิปไตยเข้าใจว่าได้เกิดกระบวนการรัฐประหารโดยตุลาการภิวัฒน์ขึ้นแล้ว ซึ่งจะเป็นภัยร้ายแรงต่อประชาธิปไตยของประเทศ ถ้าไม่มีแรงต่อต้าน ไม่มีการแสดงความเห็นเชิงหลักการหนักแน่น ก็ยากที่จะทัดทานกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ดังนั้น รัฐสภาควรเดินหน้าลงมติวาระ 3 ต่อไป เพราะคำสั่งศาลไม่อยู่ในสารบบของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังขอสนับสนุนการรณรงค์ถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน และขอให้เตรียมรับมือกับการรัฐประหารโดยตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งคำวินิจฉัยที่จะออกมาอาจชี้ว่าล้มล้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะนำไปสู่การยุบพรรคและเอาผิดทางอาญากับผู้ลงชื่อสนับสนุนแก้ไขได้ ถือเป็นการกระทำที่ร้ายแรงมาก
   “คาดเอาไว้แต่ต้นแล้วว่าชนชั้นนำคงไม่ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญนี้ง่ายๆ แต่นึกไม่ออกว่าจะใช้วิธีไหน การใช้ช่องทางมาตรา 68 ซึ่งจริงๆไม่ใช่ช่องทางที่จะใช้ได้เลย แต่เมื่อกล้าใช้ช่องนี้ก็แสดงว่าต้องกล้าล้มรัฐธรรมนูญ เป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่มีความพยายามที่จะปรองดองใดๆจากชนชั้นนำในประเทศนี้ มีแต่พยายามรักษาอำนาจของตัวเองไว้ และทำลายกระบวนการที่จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยทุกวิถีทาง โดยไม่คำนึงถึงวิกฤตใดๆที่จะตามมา ถือเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง”

ศาล รธน. ข้ามขั้นตอน

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญกระทำการผิดขั้นตอน เพราะเรื่องนี้ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของอัยการสูงสุดก่อน จึงเข้าข่ายกระทำหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ซึ่งประชาชนสามารถเข้าชื่อยื่นถอดถอนได้ตามข้อกำหนดรัฐธรรมนูญ มาตรา 270