โดย ธิดา ถาวรเศรษฐ ....
ปฏิบัติการของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการรับคำร้องของ
1. พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม และคณะ
2. นายวันธะชัย ชำนาญกิจ
3. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ
4. นายวรินทร์ เทียมจรัส
5. นายบวร ยสินทรและคณะ
รวม 5 คำร้องไว้พิจารณาตามคำร้องที่อ้างว่า คณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา นายสุนัย จุลพงศธร และนายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะ ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญซึ่งอาจมีผลทำให้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และตุลาการที่ลงมติรับคำร้องมีรายชื่อดังต่อไปนี้คือ
1. | นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ | ประธานศาลรัฐธรรมนูญ |
2. | นายจรัญ ภักดีธนากุล | ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ |
3. | นายจรูญ อินทจาร | ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ |
4. | นายเฉลิมพล เอกอุรุ | ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ |
5. | นายนุรักษ์ มาประณีต | ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ |
6. | นายบุญส่ง กุลบุปผา | ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ |
7. | นายสุพจน์ ไข่มุกด์ | ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ |
กล่าวคือ การรับเรื่องร้องเรียนนี้ไว้พิจารณา เพื่อยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้น มีปัญหาต้องพิจารณาได้หลายประการ
ประการแรก ก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ
ประการที่สอง ทำตัวเหนือกว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ส่วนที่ 13 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ห้ามมิให้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือให้ได้มาที่อำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ปัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมิได้ เพียงเพราะตามมาตรา 68 วรรคแรกท่านก็ไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ เพราะการยื่นร่างขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามครรลองระบอบประชาธิปไตยที่มีอำนาจหน้าที่ตามอำนาจนิติบัญญัติที่แบ่งแยกอำนาจการเมืองการปกครองไว้ชัดเจน ไม่มีเรื่องล้มล้างการปกครองใด ๆ เพราะเป็นการขอแก้ไขตามมาตรา 291 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้ได้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ความวิตกจริตของกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วที่มายื่นคำร้องไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญลุเกินอำนาจหน้าที่ให้ไว้ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เว้นแต่ท่านจะอยู่ใต้อาณัติหรือความเชื่อของคณะผู้ร้องเท่านั้น กล้าก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติที่ประชาชนทั้งประเทศให้อำนาจมาออกกฎหมาย และกระทำการตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กระทำนอกระบบรัฐสภาและนอกระบอบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด
ยิ่งเมื่อพิจาณาวรรคสองที่กล่าวว่า ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใด กระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
พิจารณาวรรคสองแล้ว การกระทำของตุลาการรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 68 วรรคสองชัดเจน จะใช้ระเบียบ กฎหมายอื่นและความคิดที่ว่า ทำให้ช้าเพื่อไต่สวนความจริงมาใช้โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสองมิได้ เพราะหน้าที่กลั่นรองตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของอัยการ ไม่ใช่ตุลาการรัฐธรรมนูญ เร่งรีบ รวบรัด ตัดตอนมาทำเอง และจะอ้างมาตรา 212 ที่ บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิ์หรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ วรรคสองมาตรานี้กล่าวว่า การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่ต้องใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว
โดยที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้เกิดนิติรัฐที่มีนิติธรรมในประเทศไทย เป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับอนาคตของประเทศไทยว่า จะนำไปสู่ความสงบสุขได้หรือไม่ ?
ดังนั้น นปช. ในฐานะองค์กรประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความยุติธรรมมีความเห็นว่า การยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง ของคณะรัฐมนตรี ล้วนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามวงเล็บ 1-7 แสดงว่ารัฐธรรมนูญได้อนุญาตให้มีการแก้ไขได้ เพิ่มเติมได้ ไม่มีเหตุใดที่จะอ้างรับคำร้องไว้พิจารณาเพื่อหยุดยั้งอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการมอบอำนาจของประชาชน ตรงข้าม คณะตุลาศาลรัฐธรรมนูญมาจากการคัดสรรของคณะบุคคลและวุฒิสภาที่ครึ่งหนึ่งมาจากการคัดสรรแต่งตั้ง เป็นวงจรอุบาทว์ของระบอบอำมาตยาธิปไตย
ถ้าเป็นเช่นนี้เท่ากับว่าคณะบุคคลในนามศาลรัฐธรรมนูญกระทำการเกินอำนาจหน้าที่ และไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และการออกคำสั่งให้รัฐสภาระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดให้อำนาจไว้ แต่ไปเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 264 มาใช้ (การเอากฎหมายศักดิ์ต่ำกว่ามาใช้ก็เป็นเรื่องที่ตุลาการรัฐธรรมนูญนำมาใช้หลายครั้งแล้ว)
สรุปคือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจกระทำการในการตรวจสอบร่างการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่มีอำนาจสั่งการให้ฝ่ายนิติบัญญัติยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นี่เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญละเมิดรัฐธรรมนูญเอง แล้วยังล่วงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ทำตัวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ
จึงสมควรอย่างยิ่งที่ประชาชนจะเข้าชื่อขอถอดถอนตามบทบัญญัติ มาตรา 270
ขอให้รัฐสภายืนหยัดในอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ