จับกระแสหลังพับโครงการนาซ่า

ข่าวสด 28 มิถุนายน 2555 >>>




ในที่สุดรัฐบาลก็หาทางออกให้กับอีกหนึ่งประเด็นร้อน เมื่อการประชุม ครม. วันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีมติให้นำกรณีองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซ่า) ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อสำรวจสภาพอากาศและชั้นบรรยากาศ ภายใต้โครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่อาจมีผลกระทบต่อสภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAC4RS) เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป ซึ่งจะเปิดในวันที่ 1 ส.ค. นี้ เพื่อรับฟังความเห็นของ ส.ส. และ ส.ว. ภายหลังมีเสียงคัดค้านอย่างหนักจากฝ่ายค้านและแนวร่วม

โดยจะเป็นการอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญ แม้ก่อนหน้านี้คณะกรรมการกฤษฎีกาจะให้ความเห็นไปแล้วว่า ปมการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาไม่เข้าข่ายมาตรา 190 วรรค 2 ที่ต้องส่งให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาก็ตาม
เนื่องจากเป็นเรื่องของการวิจัยและงานวิชาการล้วนๆ ตามที่สถานทูตสหรัฐทำหนังสือชี้แจงมา
   "แต่ยังคงมีความเห็นหรือข้อกังวล โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงที่ถือว่าเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรง"
   "ดังนั้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และให้เกิดกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าข้อโต้แย้งหรือข้อสงสัยต่างๆ เป็นไปตามที่กล่าวหาหรือไม่"
   "ครม. จึงเห็นควรใช้กลไกของรัฐสภาตรวจสอบผลประโยชน์ของชาติ โดยจะเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาตามมาตรา 179 ให้สมาชิกอภิปรายโดยไม่ลงมติ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น รวมทั้งให้รัฐบาลชี้แจง"
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจแถลงข่าวนี้ด้วยตัวเองหลังจากเสร็จสิ้นประชุมครม.
พร้อมระบุสาเหตุที่ไม่ชงเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ทั้งที่นาซ่าขีดเส้นรอคำตอบจากฝ่ายไทยตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. ยืดหย่อนอีกนิดไปได้แค่สิ้นเดือน โดยรอพิจารณาในสภาสมัยสามัญเดือนส.ค.นี้ทีเดียวเลยว่า
   "แม้จะเปิดการประชุมสมัยวิสามัญขึ้นมาพิจารณา ก็ไม่ทันตามกำหนดของนาซ่าที่จะรอผลในสิ้นเดือนมิ.ย. นี้อยู่ดี"
และว่า
   "หากกระบวนการของไทยซึ่งต้องใช้เวลาและอาจทำให้นาซ่ายกเลิกโครงการ จะถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายในการมีข้อมูล"
นายกฯ ติงเสียงนิ่มๆ ไปถึงบรรดาขาประจำที่หลับหูหลับตาค้านแหลก ก่อนยืนยันหนักแน่น
   "ขณะนี้ยังไม่มีการลงนามในข้อตกลงที่เป็น การผูกมัดใดๆ"
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับสหรัฐถึงกระบวนการท่าทีของไทยที่มีต่อโครงการ ดังกล่าว ด้วยความหวังที่ว่า ฝั่งสหรัฐจะเข้าใจสถานการณ์และเคารพการตัดสินใจของรัฐบาล
ประเด็นต่อมาที่ผู้คนสนใจคือ สรุปแล้วโครงการนี้ยังเดินหน้า หรือล้มพับไปเรียบร้อยแล้ว
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศฟันธงว่า โครงการนี้ต้องชะลอออกไปอย่างแน่นอน เพราะเงื่อนไขของนาซ่ามีเวลาดำเนินการเพียงแค่ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. เท่านั้น
โดยจะต้องเผื่อเวลาสำหรับขนอุปกรณ์เข้ามา และเตรียมความพร้อมในการบินให้ได้ภายในวันที่ 1 ส.ค.
เพื่อให้ลงล็อกตามกรอบที่วางไว้คือ บินสำรวจ 2 เดือน หรือ 45 ครั้ง โดยที่การบินสำรวจจะทำได้แค่ 2-3 วันต่อครั้งเท่านั้น
นั่นหมายความว่า การนำเรื่องเข้าที่ประชุมรัฐสภาในเดือน ส.ค. จึงไม่ทันตามกรอบการศึกษาวิจัย
   "และถึงแม้รัฐบาลจะตัดสินใจเดินหน้าโครงการโดยไม่นำเข้าสภา ก็ต้องนำเสนอเรื่องให้ตีความอยู่ดี แปลว่าเรื่องก็ต้องชะงักไปอยู่ดี"
จากเหตุผลข้างต้นทำให้มั่นใจว่าโครงการไม่สามารถเดินหน้าภายในปีนี้อย่างแน่นอน
   "เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะนาซ่าเข้ามาศึกษาในช่วงมรสุมที่จะเกิดขึ้นในช่วง ส.ค.-ก.ย. เท่านั้น"
   "ดังนั้น ไม่น่าจะมีการสำรวจร่วมกันในการก่อตัวของเมฆในปีนี้ได้ทัน ก็ต้องเลื่อนออกไป นับเป็นการสูญเสียโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับ"
   "เพราะเล่นการเมืองกันมากจนเกินไป"
รมว.ต่างประเทศ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะนำเรื่องไปแจ้งต่อนางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย รวมทั้งขอให้ยืนยันความร่วมมือด้านวิชาการและวิทยาศาสตร์กับประเทศไทยและสหรัฐในอนาคต
ด้าน นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งเคยทำงานกับองค์การนาซ่า ระบุว่า
ภายหลัง ครม. มีมติดังกล่าวออกมา จะต้องแจ้งให้นาซ่าทราบว่าเรากำหนดพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 1 ส.ค. ส่วนผลจะเป็นอย่างไรต่อไปขึ้นอยู่กับนาซ่าตัดสินใจว่าจะเลื่อนโครงการออกไปหรือไม่
เพราะโปรเจ็กต์นี้เขาเป็นคนเสนอตัวขอเข้ามา ไม่ใช่ฝ่ายเราที่เป็นคนเสนอ
   "แต่หากยกเลิกจะทำให้เราสูญเสียโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลที่จะนำมาใช้งาน และเสียโอกาสที่คนของเราจะได้เข้าไปทำงานในเครือข่ายวิจัย"
   "คราวหลังถ้าเขาจะมาขอความร่วมมือหรือลงทุนอะไร คงจะมองว่าทำไมต้องมีขั้นตอนซับซ้อนมากมาย"
   "และทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในวงการของคนทำงานระดับนานาชาติดูผิดแปลกไป"
นายอานนท์ แสดงความเห็นพร้อมฝากข้อคิดที่เป็นประโยชน์
ผลจากการเสียโอกาสในครั้งนี้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากแวดวงวิชาการที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดคณะนักวิทยาศาสตร์ในสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าของไทยร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการ
โดยยืนยันว่า SEAC4RS (South East Asian Composition Cloud Climate Coupling Regiona-Study) เป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อแวดวงวิชาการในเมืองไทย และการงานศึกษาวิจัยของโลก
พร้อมระบุว่าการปฏิเสธโครงการมีแต่ผลเสีย และที่สำคัญจะตอบสังคมชาวโลกได้อย่างไร ในเมื่อองค์การวิชาการนั้นเข้ามาอย่างโปร่งใส ขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกระบวนการ
ภาระในการตอบคำถามน่าจะตกอยู่กับฝ่ายค้านแล้ว !