มันเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะมารบราฆ่าฟันกันไม่รู้จักหยุดจักหย่อน
ทุกอย่างมันต้องมีเวลาสิ้นสุด...ยุติ
"ความขัดแย้งทางการเมือง" ดูเหมือนจะกลับขึ้นมา "วิกฤต" อีกครั้ง
หลัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) ผลักดัน "ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. .... "
ล่าสุด "พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)" ประกาศจับมือร่วมชุมนุมกับ "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)" ขัดขวาง "พท." ในการผลักดัน "ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง" ทั้งในและนอกสภา เกิดการชุมนุมประท้วง ไปจนถึงการปะทะกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
และนอกจาก "พ.ร.บ.ปรองดอง" จะเป็นปมปัญหา "จุดยืนที่ไม่ตรงกัน" ระหว่าง "ปชป.-พธม." กับ "พท." แล้ว ในส่วนของ "พท." และ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ซึ่งถือว่าเป็นผู้สนับสนุนกันในทางการเมือง ก็ยังมี "ความคิดเห็น" ขัดกันเองอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะประเด็นปัญหาขอบเขต ของ "การนิรโทษกรรม"
จนกลายเป็นว่า "คนเสื้อแดง" บางส่วนไม่พอใจ และแตกตัวออกไป ตาม "จุดยืน" ของตัวเอง
วีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หัวขบวนใหญ่คนเสื้อแดง เปิดใจคุยกับ "มติชน" ถึงจุดยืน ทิศทาง ของแกนนำคนเสื้อแดง ที่มีต่อ "ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง" และวิถีของ "คนเสื้อแดง" ในขณะที่ "วิกฤต" กำลังเพิ่มอุณภูมิสูงขึ้น ...
มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสภา และกระแสต่อต้าน พ.ร.บ.ปรองดอง นอกสภาอย่างไร
ผมยังไม่วิตกกังวลอะไรนะ สิ่งที่เกิดขึ้นดูๆ แล้วมันก็ยุ่งๆ วุ่นๆ วายๆ แต่ผมยังไม่เห็นว่ามันกระทบต่อระบบส่วนใหญ่ คือสมาชิกที่เอะอะอยู่ในสภา
มีกี่คนก็นับตัวได้ ในสภามีตั้ง 500 คน จะมีสัก 10-20 คน ทำอะไรแปลกๆ บ้าง ก็เป็นเรื่องที่พอรับได้ ในต่างประเทศมันยิ่งแย่กว่านี้
แม้จะเอานอกสภามาสมทบ ก็ไม่เป็นไรอีก คือขอให้อยู่ในกรอบกฎหมาย คือ มาชุมนุม มาตั้งเวที แสดงความคิดเห็นส่งเสียงโหวกเหวกยังเป็นเรื่องที่รับฟังได้ไม่มีปัญหา ซึ่งถ้ารัฐบาลยังวางตัวอยู่อย่างนี้ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา
ปชป. ประกาศจะร่วมกับกลุ่ม พธม. อีกครั้ง จะเป็นสัญญาณอะไรหรือไม่
ก็ดี ! ที่เขาพูดออกมาแบบนั้นและก็ทำแบบนั้น เราจะได้เห็นว่าพลังเขามีเท่าไร เวลานี้ก็เริ่มได้เห็นบ้างแล้ว..ก็ดี
อาจจะเป็นสัญญาณของวิกฤตรอบใหม่
ไม่เกิดหรอกครับ ... ไม่เกิดหรอก ที่มันไม่เกิด ก็เพราะคนส่วนใหญ่เขาสนับสนุน ไม่เชื่อก็ลองดูโพลที่แต่ละสถาบันทำมาก็จะพบว่า คนส่วนใหญ่ต้องการปรองดองต้องการความสงบทั้งนั้น และนี่แหละคือเสียงส่วนใหญ่ เพียงแต่ตอนนี้อาจจะมีการใช้อารมณ์กันมากหน่อย
เรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง คนเสื้อแดงกับ พท. ก็ดูเหมือนจะไม่ตรงกันเสียทีเดียว
เรื่องปรองดองเนี่ย แน่นอนแต่ละคนแต่ละฝ่ายมีจุดยืนแตกต่างกัน ไม่มีทางเลยที่จะทำให้คู่ขัดแย้งมีจุดยืนเรื่องการปรองดองที่ตรงกัน ในส่วนของคู่ขัดแย้งก็ควรไปตั้งโต๊ะเจรจากัน ในที่นี้ก็คือเมื่อกฎหมายเข้าสู่กระบวนการของสภาก็ไปพูดจากันในสภา ด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แล้วพูดคุยกันเสีย ผมว่าที่นั่นแหละ (สภา) เป็นที่สำหรับสร้างความปรองดอง แม้จะเห็นไม่ตรงกันก็ไปเถียงกันในสภา เห็นว่าอย่างไรก็ไปยำกันอยู่ในนั้น แล้วเสียงข้างมากว่าอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น
ในส่วนของคนเสื้อแดงที่อาจจะมีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยอยู่บ้าง มันก็เป็นไปตามประสบการณ์และความรู้สึกว่าคนเสื้อแดงรู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่อประสบการณ์ที่พวกเสื้อแดงประสบมาก็แสดงจุดยืนออกไป แล้วก็ไปต่อสู้กันในสภา ส่วนพวกในพรรคที่เขาไม่ได้ร่วมต่อสู้ เขาก็มีจุดยืนแตกต่างกันไป แต่เราต้องซื่อตรงต่อความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคน แต่ละฝ่ายและทุกฝ่ายก็ควรจะฟังว่าเสียงข้างมาก
สุดท้ายแล้วหาก พ.ร.บ.ปรองดอง ออกมาให้นิรโทษกรรมทั้งหมด ก็ยอมรับได้
รับไม่ได้มันก็ต้องรับเพราะต้องรับกฎเกณฑ์และกติกา ส่วนที่บอกว่าตัวเองรับไม่ได้จะไปดำเนินการต่อไปก็ไม่มีใครว่า ในขั้นเขียนกฎหมายมันก็ต้องว่ากันไปตามเสียงข้างมากก่อนเพราะกฎหมายต้องออกมา สมมุติว่าไม่เป็นที่พอใจก็ต้องหาลู่ทางต่อไป เช่นจะไปฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือจะไปทำอะไรก็สุดแล้วแต่ แต่ขอให้อยู่ในกรอบกฎหมาย ถ้าตอนนี้มันทำอะไรไม่ได้ก็ไม่เป็นไร รอไปทำในอนาคตข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมันมีอยู่เรื่อยๆ
ญาติและผู้เสียหายจากเหตุการณ์อาจจะไม่คิดอย่างนั้น
ก็มีบางคนที่เขาก็ไม่ต้องการตรงนี้ แต่เรื่องนี้ผมเตือนทุกที่และเตือนมาตลอดนะ โดยผมจะถามว่าคุณต้องการสงครามไหม ถ้าคุณไม่ปรองดองไม่เป็นไร คุณไปเอาปืนมา ทำสงครามกลางเมืองกัน เขาก็จะฉุกใจได้คิดว่าเออ...จริง !
"คือมันเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะมารบราฆ่าฟันกันไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ทุกอย่างมันต้องมีเวลาสิ้นสุด...ยุติ ผมก็รู้ว่าบางทีเขาก็พูดกันด้วยอารมณ์ พอเราตั้งคำถามไปแบบนี้ เขาก็จนโดยข้อเท็จจริงว่าไม่ได้...มันต้องปรองดอง และในการปรองดองนั้นมันจะมีใครได้ประโยชน์ สมประโยชน์ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย...ไม่มีทาง"
ท้ายที่สุดคือเป็นไปตามกฎหมายกำหนด
ถูกต้อง...กฎหมายออกมาอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น แต่จะดิ้นรนอย่างไรในอนาคตผมไม่ตัดสิทธินะ ยกตัวอย่าง รัฐธรรมนูญ 2550 เรารณรงค์กันว่าไม่รับ ฝ่ายโน้นเขาก็รณรงค์ให้รับ แต่เราบอกตั้งแต่แรกเลยว่า ถ้าหากเสียงข้างมากบอกว่ารับ เราก็รับ แต่เราสงวนสิทธิที่จะบอกว่า เมื่อเรามีกำลังมากพอจะขอแก้ไข ขอยกเลิก ก็อดทนใช้มาจนถึงวันนี้ ถึงเวลาที่จะแก้ไข ที่จะยกเลิกเพื่อหารัฐธรรมนูญใหม่ นี่ไงเวลาที่เราทนมาได้ 5-6 ปี มันไม่ได้หมายความว่าพวกเรายอมสยบ แต่กติกามันก็ต้องเป็นกติกา เสียงข้างมากจะเอาก็ต้องเอา
คนเสื้อแดงที่มีอยู่หลากหลายกลุ่มจะเข้าใจได้ทั้งหมดหรือ
ผมมีความมั่นใจและผมจะขอแรงพวก 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่เพิ่งพ้นโทษออกมา ที่มีประชาชนศรัทธาให้ช่วยกันออกไปพูดจา ชี้แจง ช่วยกันอธิบาย ผมก็ยังเชื่อว่าคนเสื้อแดงส่วนใหญ่รักสันติ และเคารพกฎเกณฑ์กติกา
"เราต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่าการปรองดอง มันมีหลายขั้นตอน ทั้งการปรองดองโดยกฎหมาย และปรองดองโดยไม่ใช่กฎหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นไปตามขั้นตอนธรรมชาติ อย่าไปคิดว่าถ้าออกกฎหมายมาแล้วจะทำอะไรไม่ได้อีกต่อไป...มันไม่ใช่ หากจะทำอะไรต่อไปอีกก็ทำได้ ไม่ใช่กฎหมายปรองดองออกมาแล้ว ทุกคนห้ามเคลื่อนไหว เรามีความประสงค์จะทำอย่างไรก็ทำได้ ตรงนี้อาจจะเป็นเพียงขั้นกลางของการปรองดอง เพราะข้างหน้ามันยังมีอีกมาก"
คำว่า "ข้างหน้า" หมายถึงอะไร
การปรองดองมันจะไปจบสิ้นสุด ในทางนิตินัยเลยคือเราต้องได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชน นี่ยังเป็นงานหนักที่อยู่ข้างหน้า เพราะฉะนั้นถ้ามาทะเลาะกันเสียแต่ตรงนี้ แล้วข้างหน้ารัฐธรรมนูญ เราจะทำกันอย่างไร เพราะเสื้อแดงเรามาเพื่อสร้างประชาธิปไตย วันนี้มันได้มาแค่ครึ่งทางเท่านั้น เราเดินมาได้จนถึงมีการยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งแล้วประชาชนก็เลือกเข้ามา แต่กลไกของเผด็จการที่เรียกว่าผลพวงของการรัฐประหารยังอยู่ครบ เราต้องไปต่อสู้เพื่อที่จะล้างกลไกเหล่านั้นออกให้หมด นอกจากรัฐธรรมนูญแล้วก็ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกอย่างองค์กรอิสระ กฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระต่างๆ ก็ต้องไปชำระกัน
"ตอนนี้ก็มีอารมณ์ความรู้สึกกันบ้าง ก็โอเค คงต้องใช้เวลาเพื่อให้เยือกเย็นลง แต่เราก็จะไปทำความเข้าใจกันบ้าง เพราะระยะหลังคนเสื้อแดงเกิดขึ้นเองเยอะมากโดยไม่ต้องอาศัยแกนนำ ขยายออกไปโดยไม่ต้องอาศัยแกนนำ เราก็เกรงว่าจะสะเปะสะปะ ก็จำเป็นที่จะต้องไปเดินสายไปขอตั้งโต๊ะชี้แจงทำความเข้าใจ เพื่อให้เป็นเอกภาพ คือพลังเสื้อแดงเป็นพลังก้อนใหญ่และเป็นพลังบริสุทธิ์ เราก็ไม่อยากให้สูญสลายไป และอยากให้พลังนี้ออกมาอย่างสร้างสรรค์ คือการสร้างประชาธิปไตย ผมจะเสนอกับแกนนำว่าจะกลับไปทบทวนหลักสูตร ขอเปิดโรงเรียน นปช. แบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็เสริมวิทยากรเข้าไป เราการเมืองก็ต้องไปพูดกันว่าใครอยู่ในแนวทาง ใครอยู่นอกแนวทาง ผมเชื่อว่า 3-6 เดือน คนเสื้อแดงจะกลับมาแน่นเป๊ะ เหมือนเดิม"
จะง่ายอย่างนั้นหรือเพราะล่าสุดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ออกมาพูดเรื่องเรือถึงฝั่งและการเดินทางต่อเอง ก็ทำให้คนเสื้อแดงไม่เห็นด้วยอยู่ไม่น้อย
ตอนนี้เราขัดกันด้วยเรื่องปลีกย่อย ไม่ใช่เรื่องของทิศทางหลัก อุดมการณ์เรายังอยู่เหมือนเดิม คือต้องมุ่งไปสู่ประชาธิปไตย แต่แน่นอนแหละว่า ถ้าใครกระโดดออกนอกแนวทางประชาธิปไตย ก็ต้องจากกันไปตลอดกาล