วสันต์แจงรับคำร้องร่าง รธน. เพื่อถ่วงดุล

โพสท์ทูเดย์ 3 มิถุนายน 2555 >>>




ประธานศาลรัฐธรรมนูญย้ำรับคำร้องวินิจฉัยร่างแก้ รธน. ไม่มีเจตนาแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ ชี้เป็นการถ่วงดุล ให้คำชี้แจงเป็นสัญญาต่อประชาชน

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับ 5 คำร้องกรณีขอให้วินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่เพราะมีเจตนาที่จะขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากมีผู้มาร้องขอให้ศาลดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลต้องไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงว่าการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญตามที่มีการกล่าวหาหรือไม่
ทั้งนี้หากการให้ข้อเท็จจริงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การดำเนินการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้อง ยังไม่มีพฤติการณ์ ตามรัฐธรรมนูญ ศาลก็ยกคำร้อง
อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้ยังไม่มีการยกร่างกันเป็นรายมาตรา และถ้าจะอ้างว่าผู้ที่ยกร่างก็เป็นส.ส.ร.ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือ พรรคการเมือง แต่คนเหล่านี้คือผู้ที่จะต้องให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร. เป็นผู้ยกร่าง จึงถือได้ว่าเป็นอำนาจสุดท้ายในการดำเนินการ ซึ่งนศาลจึงอยากที่จะรู้ว่า คนเหล่านี้ มีความคิดในเรื่องรูปแบบของการปกครองอย่างไร เช่น ถ้าบอกว่าจะไม่แตะสถาบัน แต่ทำไมถึงไม่ยกเว้นในหมวด 1 หมวด 2 ไว้ อย่างนี้มันต้องชัดเจน และต้องให้ความมั่นใจกับประชาชน และผู้ที่ร้องมา
นายวสันต์กล่าวว่าผู้ที่จะมาชี้แจงในชั้นไต่สวนก็เหมือนกับการให้สัญญาประชาคมกับสังคมและผู้ร้อง ว่า ถ้าหาก ส.ส.ร. ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกมาไม่เป็นไปตามที่ชี้แจงในชั้นไต่สวน คนเหล่านี้ก็จะไม่ยกมือรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าทำอีกอย่างหนึ่งประชาชนก็จะได้รู้ว่าใครโกหก ซึ่งก็เหมือนกับเป็นสัญญาลูกผู้ชาย สัญญาลูกผู้หญิง และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะไม่เลยเถิด ฉะนั้นต้องตรวจสอบเพื่อเป็นการถ่วงดุล
   "การรับพิจารณาคำร้องไม่ถือว่าศาลเข้าไปแทรกแซงฝ่ายบริหาร หรือไปแทรกแทรงฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เป็นการดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ให้อำนาจเอาไว้ ถือเป็นการถ่วงดุลในการตรวจสอบ ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจเข้าไปก้าวล่วงไปกำกับรัฐสภา จึงควรมองในทางบวก ว่า การที่ศาลรับคำร้องและมีการไต่สวน ก็เพื่อทำให้ลดความตรึงเครียด และความหวาดระแวงของสังคมที่มีต่อรัฐบาล และรัฐสภา" นายวสันต์ กล่าว
ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะอยู่หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องที่เราสนใจ และก็ไม่ใช่ประเด็นที่ผู้ร้องเขาร้องมา แต่ประเด็นอยู่ที่ก่อนการดำเนินการต่อไปต้องชัดเจนก่อนว่ามีการซ่อนรูปแบบการปกครองบางอย่างเอาไว้หรือไม่ และจะเป็นการเอามาใช้แทนรูปแบบการปกครองในปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนจะได้รับทราบพร้อมๆ กันในระหว่างที่ศาลไต่สวน ก่อนที่จะมีการแก้ไขต่อไป