'บิ๊กบัง' ชี้ถอนร่างปรองดองได้โพลต้องชี้ขาด

คมชัดลึก 29 มิถุนายน 2555 >>>




'สนธิ' เชื่อ พรบ.ปรองดอง ไม่ใช่เงื่อนไขขัดแย้ง ระบุไม่ถอนร่าง อ้างรอผลโพลก่อน ด้าน'ณัฐวุฒิ' พร้อมถอน ร่าง พรบ.ปรองดอง จับตาศึกหนัก ก.ค. ศาล รธน. ชี้ขาดโหวตวาระ 3

29 มิ.ย. 55 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ ในฐานะหนึ่งในผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.... (พรบ.ปรองดอง) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุคลื่น 100.5 เอฟเอ็ม ว่า ตนได้หารือกับ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ภายหลังจากที่ นายสมศักดิ์ เสนอให้ถอนร่าง พรบ.ปรองดอง ออกจากระเบียบวาระประชุม โดยในรายละเอียดของการหารือ เป็นเรื่องหลักการทั่วไป เช่น สถานการณ์บ้านเมือง ความคืบหน้าของการสานเสวนา โดยไม่มีประเด็นของการให้ถอนร่าง พรบ.ปรองดอง ฉบับที่ตนและคณะนำเสนอต่อสภาฯ แต่อย่างใด ทั้งนี้ตนมองว่า พรบ.ปรองดอง ไม่ใช่เงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งของบ้านเมือง แต่ต้องจับตาที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่า อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าจะถอนร่าง พรบ.ปรองดอง หรือไม่เพราะต้องรอดูสถานการณ์และหารือกับคณะก่อน
   "ผมว่าแม้ผมจะถอนร่าง พรบ.ปรองดอง ของผม คงไม่มีความหมาย เพราะยังเหลืออีกหลายร่างที่พรรครัฐบาลเสนอเข้ามา อย่างไรก็ตาม เจตนารมย์ที่ผมเสนอร่างกฎหมายนี้ เพื่ออยากให้ทุกฝ่ายอภัยให้กันและมาร่วมสร้างประเทศ เหมือนอย่างที่นโยบาย 66/23 เคยทำไว้ ผมมีเจตนาดีกับบ้านเมือง สิ่งที่ผมทำเป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นประโยชน์กับประเทศ แต่หากใครมองว่ามันเป็นยุทธวิธี ที่นำไปสู่การสร้างประโยชน์กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคล คนๆ นั้นกำลังมองประเทศในทางที่ผิด" พล.อ.สนธิ กล่าว
พล.อ.สนธิ กล่าวย้ำถึงปัจจัยที่จะให้ถอนร่าง พรบ.ปรองดองว่า ขณะนี้หน่วยงานของรัฐอยู่ระหว่างการจัดสานเสวนา และทำโพล ดังนั้นตนขอรอข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะถอนร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ แสะตนขอให้เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเป็นผู้ตัดสิน หากประชาชนส่วนใหญ่คัดค้านตนพร้อมไม่เดินหน้าเรื่องดังกล่าว

"ณัฐวุฒิ" พร้อมถอน ร่าง พรบ.ปรองดอง จับตาศึกหนัก ก.ค. ศาล รธน. ชี้ขาดโหวตวาระ 3

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะแกนนำ นปช. ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลน ทางสปริงนิวส์ ถึงกรณี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ขอร้องให้ถอนร่าง พรบ.ปรองดอง ออกระเบียบวาระประชุม เพราะเกรงจะเป็นสายล่อฟ้า ว่า ร่าง พรบ.ปรองดองฉบับที่ตนเสนอไปเกิดจาก 3 ร่างแรกที่เห็นว่าเนื้อหาสาระบางเรื่องยังไม่ถูกบรรจุเข้าไป เราจึงเป็นร่างสุดท้ายที่ยื่นไปภายหลัง หากจะมีการพิจารณาเดินหน้าต่อตนก็จะอธิบายให้สมาชิกพรรคและสภาเข้าใจในร่างที่ตนเสนอ แต่หากจะทบทวนก็ต้องพิจารณากันในพี่น้องที่ร่วมลงชื่อและยุทธศาสตร์ของพรรค สิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตประชาชนในเหตุการณ์ ปี 53 จำเป็นต้องมีกระบวนการเปิดเผยความจริง และมีคนรับผิดชอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก และคดีความที่พวกตนถูกกล่าวหาก่อการร้าย ก็ยินดีเข้าสู่กระบวนการ
ส่วนจะยอมถอยหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า คำว่าปรองดองมีรายละเอียดมากกว่าการออกกฎหมายฉบับหนึ่ง และกระบวนการทำงานก่อนที่จะมีกฎหมายเป็นเครื่องมือจำเป็นต้องทำให้เกิดความชัดเจน กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่จักรวาลของการปรองดอง แต่อาจจะเป็นเครื่องมือหนึ่งคือแก้ รธน. ให้เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นจำเป็นต้องทำให้เกิดความชัดเจนก่อนที่จะมาพูดเรื่องร่าง พรบ.ปรองดอง
   "ผมไม่เห็นบรรยากาศปรองดอง เห็นแต่การปรองร้าย ดังนั้นการเดินหน้าของรัฐบาลต้องรอบคอบ อะไรที่จะเป็นมูลเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามทำร้ายก็ต้องระวัง หากพูดคุยกันแล้วเห็นว่าร่าง พรบ. ฉบับนี้อยู่ในระเบียบวาระแล้ว ก็ไม่ได้หมายความต้องหยิบขึ้นมาพิจารณาทันที และเลื่อนกฎหมายฉบับอื่นมาพิจารณาก็ได้ แต่ก่อนชั้นโหวต รธน. วาระ 3 ควรจะนั่งพูดคุยวิเคราะห์สถานการณ์ให้ชัดเจน" นายณัฐวุฒิ กล่าว
นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า มีการพูดคุยของคนบางกลุ่มและเชื่อมั่นว่าในเดือนสิงหาคมนี้ รัฐบาลจะเจอศึกหนักทางการเมือง ซึ่งตนเห็นว่าการดูตัวชี้วัดทางการเมืองต้องดูต้นเดือนกรกฎาคมที่ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้โหวตรธน.วาระสามออกมา หากบอกว่าเป็นไปโดยชอบเดินหน้าต่อไปได้ ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะปลอดภัยเพียงแต่หายใจได้หน่อย แต่ถ้าตัดสินตรงกันข้ามก็หมายความว่ารัฐบาลเดินหน้าโดยไม่มองหน้าประชาชนคนไหนทั้งสิ้น ซึ่งเชื่อว่าเขาจะชี้เร็ว วาระ 3 รธน. หากเทียบกับยุบพรรค ความซ้ำซ้อนต่างกันเยอะ เป็นไปได้ว่า วันที่ 5-6 ก.ค. พิจารณา วันที่ 7 ก.ค. ก็จะชี้เลย ซึ่งควรจะชัดเจนก่อนเปิดประชุม ตนภาวนาให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้อย่างที่ความเป็นจริงปรากฏว่าการแก้ รธน.เป็นด้วยความถูกต้อง ตนไม่ได้ห่วงรัฐบาลเพราะมาถูกต้อง แต่ห่วงสถานการณ์ประเทศ เพราะประชาชนทั่วไปไม่อาจนั่งดูหนังเรื่องเดิมที่ถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อไปได้
   "จริงๆ ไม่ได้ถึงมือศาลรัฐธรรมนูญเลย กฎหมายบอกว่าอัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดเรื่องนี้ แต่เมื่อยื่นมืออออกไปเหนือวงอำนาจ ก็เท่ากับอยู่เหนือสถานการณ์ทั้งหมด" แกนนำ นปช. กล่าวและว่า ส่วนที่ว่าการแก้ รธน. เข้าข่ายล้มล้างการปกครองนั้น ว่า หากพยายามล้มล้างรัฐบาลนี้จริง ก็น่าจะเลือกใช้วิธีอื่นเพราะวิธีนี้เจ็บปวดหักหาญกันเกินไป วิธี รธน. อย่าทำ หากทำแล้วเป็นวิธีลงดาบลงไปโดยเจ็บปวด