'จรัญ' สวนกลับ สสร.40 ถาม ใครเป็นองค์กรหลักตัดสิน กม. ยัน ไม่มีอำนาจเหนือใคร ด้าน 'ศรีราชา' ปิดปาก ไม่ตอบโต้ พท. ขณะที่ ปชป. เตรียมเฮ 'อีสต์วอเตอร์' อาจไม่เข้าข่ายเงินบริจาค
กรณีที่กลุ่มสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 2540 ออกจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเพื่อวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 ถือเป็นการล้มล้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเสียเองนั้น นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวชี้แจง โดยย้อนถามกลับว่า ตกลงบ้านเมืองนี้ จะให้ใครเป็นผู้ที่ยุติข้อกฎหมายที่ขัดแย้งกัน
"ใครจะเป็นองค์กรหลักของกฎหมาย ถ้าไม่มีองค์กรที่ชี้ขาดกฎหมายได้แล้ว จะหาข้อยุติได้หรือ ลองพิเคราะห์ดู หรือจะให้เป็นแบบคนนี้ให้ความเห็น ก็ไปถามคนนี้ ถามไปเรื่อย ๆ ทะเลาะกันไปเรื่อย ๆ ไม่มีจบเช่นนั้นหรือ"
ส่วนที่บอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียวนั้น นายจรัล กล่าวว่า คงไม่เป็นความจริง อำนาจทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการไม่มีใครอยู่เหนือใคร ตุลาการก็ไม่สามารถไปบังคับ หรือมีอำนาจเหนืออีกกว่านิติบัญญัติ และบริหารได้
"ลองคิดให้ดี อย่าคิดแต่มุมของตัวเอง ฟังเสียงคนอื่นบ้าง การแตกต่างทางความคิดสามารถทำได้ แต่ให้ยึดผลประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นที่ตั้งจะดีกว่า" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
'ศรีราชา' ปิดปาก ไม่ตอบโต้ พท.
นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีถูกโจมตีจากพรรคเพื่อไทย เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลาง และเรียกร้องให้คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ลาออกหลังออกมายอมรับว่า เคยพิจารณาเรื่องร้องเรียนจริยธรรมการแต่งตั้งนายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ แต่เกิดความผิดพลาดของระบบฐานข้อมูล จึงให้ข้อมูลกับสื่อมวลคลาดเคลื่อนว่า เขาคงไม่ขอตอบโต้ และขออยู่เฉย ๆ ก่อน เพราะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ แต่เกิดจากความผิดพลาดของระบบงานด้านคอมพิวเตอร์
"ขณะนี้ ผมก็ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว และให้รายงานสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 15 วัน ซึ่งหลังจากรับทราบรายงานดังกล่าวแล้วก็จะแถลงข่าวให้ทราบอีกครั้ง" นายศรีราชา กล่าว
ยัน ผู้ตรวจการฯ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ
ด้าน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวยืนยันว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำงานด้วยความเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติอย่างแน่นอน เพราะการพิจารณาคำร้องเรื่องต่าง ๆ นั้น ทางผู้ตรวจการฯ พิจารณาด้วยความรอบคอบตามหลักฐาน และข้อเท็จจริงที่ปรากฏ อีกทั้งตามขั้นตอนของกระบวนการพิจารณาผู้ตรวจการฯก็เปิดโอกาสให้ผู้ร้อง และผู้ถูกร้องได้ชี้แจงทั้งลายลักษณ์อักษรและวาจา อย่างเท่าเทียมและเสมอภาค ดังนั้น จึงไม่มีทางที่จะเลือกปฏิบัติหรือสองมาตรฐานอย่างแน่นอน
ส่วนผลการวินิจฉัยออกมาแล้ว จะเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายหรือไม่นั้น คงไปห้ามไม่ให้คิดหรือสงสัยไม่ได้ เพราะทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นแตกต่าง โดยเฉพาะฝ่ายใดที่ไม่พอใจในคำวินิจฉัย ก็ย่อมมีความสงสัยและเคลือบแคลงใจในการพิจารณา ซึ่งถือว่า เป็นเรื่องปกติ แต่ขอยืนยันว่า การทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำด้วยความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดเด็ดขาด
ปชป. เตรียมเฮ 'อีสต์วอเตอร์' อาจไม่เข้าข่ายเงินบริจาค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 28 มิ.ย. 55 ได้มีการประชุมคณะกรรมการไต่สวนของ กกต. กรณีนายเรืองไร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ขอให้นายทะเบียนพรรคการเมืองตรวจสอบพรรคประชาธิปัตย์กรณีการรับบริจาคเงิน 1 ล้านบาท จากบริษัทอีสต์วอเตอร์ จำกัด มหาชน
มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการไต่สวนได้มีการพิจารณาข้อมูลที่ได้จากการสอบสวนทั้งหมดแล้ว เห็นว่า ข้อมูลที่ได้รับมีความชัดเจนในระดับหนึ่งว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์รับเงินบริจาคช่วยเหลือน้ำท่วม แล้วนำไปให้กับสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่เข้าข่ายเป็นเงินบริจาค ตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พรบ.พรรคการเมือง ที่ระบุไว้ในทำนองว่า เป็นการให้เงิน หรือทรัพย์สินแก่พรรคการเมือง เพื่อการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมือง หรือของผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ในกรณีนี้ เป็นการให้เพื่อนำไปช่วยเหลือน้ำท่วม อีกทั้งจากหลักฐานเอกสารที่คณะกรรมการไต่สวนได้รับก็พบว่า เงินไม่ได้เข้าพรรค
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการไต่สวนยังจะไม่มีการลงมติในคำร้องนี้ เนื่องจากนายอภิชาต สุขขัคคานนท์ ประธานกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้สั่งให้คณะกรรมการไต่สวน นำเรื่องที่นายเรืองไกร ร้องขอให้นายทะเบียนฯ พิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีนำถุงยังชีพของ ก.พลังงาน ที่มอบให้ผู้ว่าฯพิษณุโลก ไปแจกกับผู้ประสบภัยน้ำท่วม มารวมพิจารณาด้วย เพราะเห็นว่า ผู้ร้องและผู้ถูกร้องเป็นบุคคลเดียวกัน รวมทั้งข้อกล่าวหา ก็เป็นเรื่องของการบริจาคที่ก็เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมเช่นเดียวกัน ซึ่งก็จะต้องให้โอกาสทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องชี้แจง และให้คณะกรรมการไต่สวนฟังคำชี้แจง และการแสดงหลักฐานต่าง ๆ ก่อน ซึ่งคาดว่า คงจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า รายงานดังกล่าวที่คณะอนุกรรมการ ยังไม่มีการสรุปเรื่องอีสต์วอเตอร์ โดยจะรอรวมพิจารณากับกรณีที่พิษณุโลก ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่เจ้าหน้าที่กกต.ว่า ข้อเท็จจริงแล้วหากกรณีอีสต์วอเตอร์แล้วเสร็จ ก็น่าจะสรุปนายทะเบียนพรรคการเมืองไปก่อน เพราะหากหยุดเรื่องไว้รอกรณีพิษณุโลก แล้วดีเอสไอ ส่งสำนวนมาให้กกต.พิจารณา อย่างในคดีพรรคประชาธิปัตย์รับเงิน 258 ล้าน จากบริษัททีพีไอโพลีน จำกัด มหาชน โดยชี้ว่า จากการสอบสวนของดีเอสไอพบว่า คดีมีมูลให้ยุบพรรค จะทำให้กกต.ตกอยู่ในฐานะยุ่งยาก และถูกกดดัน หากผลการพิจารณาของคณะกรรมการไต่สวนเสนอว่า การรับเงินบริจาคน้ำท่วมดังกล่าว ไม่ถือเป็นการบริจาคตามพรบ.พรรคการเมืองที่เป็นเหตุให้ต้องยุบพรรค
กทม. แฉ 'เฉลิม' สั่ง 'กคพ.' เลื่อน 'บีทีเอส' หวั่นแพ้โหวต
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้โพสต์ผ่านทางเฟซบุ็คส่วนตัว "Teetachon Manomaiphibul" ภายหลังกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ เลื่อนการพิจารณาวาระเรื่อง การกระทำความผิดทางอาญากรณีทำสัญญา การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนสงมวลชนกรุงเทพมหานคร ระหว่างบริษัทกรุงเทพธนาคม (จำกัด) หรือเคที กับ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย ว่า "ผู้ใหญ่ท่านเล่าให้ฟ้งว่า เสียงโหวตต้องการสิบสี่เสียง แต่สนับสนุนไม่ถึงสิบ เลยปิดประชุมหนีแพ้โหวต ต้องกราบขอบคุณท่านที่ให้ความเป็นธรรมกับ กทม. และคนกรุงเทพฯจริงครับ"
ด้านนายอัศวัชร์ อภัยวงศ์ ที่ปรึกษานายธีระชน เปิดเผยว่า กคพ. มีการประชุมเรื่องนี้ถึง 2 ชั่วโมง โดยในที่ประชุมเมื่อถึงวาระการพิจารณา พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ได้ลุกเดินออกจากห้องประชุมทันที ทำให้เหลือ กคพ. อยู่ในห้องขณะนั้น 15 คน จากกรรมการทั้งหมด 21 คน ซึ่ง กคพ. 5-6 คนในนั้น ไม่เห็นด้วย หากนำเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ในฐานะประธาน กคพ.ทำหน้าที่แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ประเมินว่า หากมีการโหวต จะทำไม่มีเสียงถึง 2 ใน 3 ได้ จึงสั่งให้มีการเลื่อนประชุมออกไปก่อน เพราะหากมีการโหวตแล้วแพ้เสียงส่วนใหญ่ จะทำให้วาระตกไปในที่สุด
นายอัศวัชร์ กล่าวว่า กรรมการหลายคน ไม่ได้เข้าประชุมกคพ. เนื่องจากไปหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอตรวจสอบข้อเท็จจริงตามเอกสารหลักฐาน ที่กทม.ยื่นให้ กคพ.ก่อนหน้านี้ ซึ่งกรรมการหลายคนก็เห็นใจกทม.ด้วย
สำหรับการประชุมครั้งหน้า คาดว่า หากที่สุดแล้วที่ประชุมประเมินว่า เสียงโหวตแพ้อีก อาจมีการถอนวาระออกจากการพิจารณาได้ ซึ่งกรรมการหลายคนอาจไม่เข้าประชุมในวันที่ 4 ก.ค. นี้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะกรรมการที่ยืนในหลักกฎหมาย ก็ไม่มั่นใจ หากมีการโหวต อาจมีผลทางกฎหมายตามมาภายหลัง จึงอยากถามว่า กคพ.ฝั่งรัฐบาลจะอายหรือไม่ ที่ใช้ประเด็นการเมืองกดดันผู้ใหญ่บางท่านใน กคพ.
“คุณประชา ออกนอกห้องเลย เมื่อถึงการพิจารณาวาระนี้ เพราะกลัวว่า จะผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา กคพ. ก็โดนฟ้องเมื่อปี 49 มาแล้ว ส่วนคนที่ยืนในหลักกฎหมายหลายคนก็เสียว จึงมีการดีเบตเรื่องนี้เกือบ 2 ชั่วโมง แต่กรรมการบางส่วนก็เห็นใจ กทม. ทำให้จากนี้กทม.ต้องทำตัวน่ารักไม่ก้าวร้าว”
นายอัศวัชร์ เปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุมก็ได้สั่งให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ งดการแถลงข่าวกรณีนี้ โดยมอบหมายให้ กคพ.จะเป็นผู้แถลงเอง เนื่องจาก กทม. เคยยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบจริยธรรมของอธิบดีฯ มาแล้ว
ทั้งนี้ กทม. ยืนยันอีกครั้งว่า ดีเอสไอไม่มีอำนาจในการสอบสวน เพราะเกี่ยวข้องกับข้าราชการการเมือง ที่ให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ตรวจสอบ เนื่องจาก มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และ นายธีระชน เป็นข้าราชการการเมือง เมื่อ ปปช. มีอำนาจตรวจสอบ กทม. ก็ไม่กลัว เพราะไม่มีการกระทำที่ผิดกฎหมาย
“มรว.สุขุมพันธุ์ หาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งหน้า หากการสอบสวนไม่พบความผิด ก็จะเพิ่มบารมีให้กับ มรว.สุขุมพันธุ์ ไปด้วย ซึ่งมรว.สุขุมพันธุ์ ก็มีสิทธิ์ที่จะนำเรื่องค่าโดยสารกำหนดเป็นนโยบายหาเสียงได้เช่นกัน อะไรที่ถูกต้องไม่ต้องกลัว ถ้าไม่มีฮั้ว ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง เรื่องก็จบ” นายอัศวัชร์ กล่าว