แนะทางหยุดปรองดอง เขียน กม. ให้ชัดไม่คืนเงิน 'ทักษิณ'

กรุงเทพธุรกิจ 2 มิถุนายน 2555 >>>


เสวนาปรองดอง แนะทางหยุดปรองดองเดือด เขียนกฎหมายให้ชัดไม่คืนเงิน “ทักษิณ”และทอดเวลาทำความเข้าใจกลุ่มต่างๆ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดราชดำเนินเสวนา เรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อใคร โดยมี พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล แห่งสถาบันพระปกเกล้า, นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และ นายชวลิต วิทยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
โดย พล.อ.เอกชัย กล่าวว่าการเสนอร่างพระราชัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ... (พ.ร.บ.ปรองดอง) สู่สภาฯโดยไม่ได้รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนของประชาชน เท่ากับเป็นการผิดขั้นตอน อย่างไรก็ตามเมื่อมีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่สภาแล้ว และทำให้เกิดความวุ่นวาย มีการบุกประชิดตัว ตนมองว่าจะเป็นปัจจัยรุกเร้าให้บุคคลภายนอกเกิดอารมณ์ ผู้ทรงเกียรติในสภาฯ ต้องคุมอารมณ์และสติให้ได้ นอกจากนั้นแล้วความรุนแรงที่เกิดในสภาฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบุคคลที่มีหน้าที่ควบคุมกติกา นำข้อบังคับที่แข็งมากเกินไปมาบังคับใช้
พล.อ.เอกชัย กล่าวต่อว่าตนเชื่อว่าความขัดแย้งในปัจจุบัน เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง มีทางที่จะยุติได้ หากผู้ที่เสนอกฎหมาย เขียนบทบัญญัติในประเด็นที่สังคมเป็นห่วง และสงสัย เช่น จะคืนเงินจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือไม่ จะมีการล้างความผิดให้บุคคลใดโดยไม่มีการดำเนินการต่อในกระบวนการยุติธรรม หรือไม่ ให้เกิดความชัดเจนว่าจะไม่ทำเรื่องดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ ต้องไม่ทำด้วยความเร่งรีบ
   “ความเชื่อแก้ได้ ต้องใช้เวลานาน เพราะถูกไม่เชื่อแล้ว ต้องยอมรับก่อนการปฏิวัติ มีการใช้อำนาจและไม่รับฟังเสียงของประชาชน เป็นจุดอ่อนของฝ่ายการเมือง การจะรับฟังต้องมีเวลา ทิ้งเวลา เปิดเวทีให้เกิดการรับฟัง จะลดความรุนแรงได้ ดูเหมือนไม่อยากทำ และอ้างว่าเป็น ส.ส. เป็นตัวแทนประชาชน ไม่ต้องรับฟังเสียงใครอีกแล้ว ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของการเมือง”
ด้านนายถาวร กล่าวว่าในแนวทางการสร้างความปรองดอง ตนขอเสนอให้มีการหารือร่วมกัน 2 ฝ่าย คือ
1. คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และวิปฝ่ายค้าน และ
2. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หารือกันต่อแนวทางการสร้างความปรองดอง
ส่วนแนวทางที่นำไปสู่ความปรองดอง ต้องให้คนกลางเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ควรทอดเวลาให้ทุกอย่างดูดี ให้ทุกฝ่ายรับได้ และฝ่ายที่สูญเสียทำใจได้แล้วจึงค่อยมาพูดถึงเรื่องปรองดอง
   “แนวทางปรองดอง ผมเห็นต้องถามประชาชนก่อน ไม่ใช่ว่าพวกเรา 400-500 คนได้ดีมีสุขก็เลิกแล้วต่อกัน แบบนั้นประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศเขายอมไม่ได้” นายถาวร กล่าว
นายถาวร กล่าวต่อว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง พยายามล้างการกระทำของคณะปฏิวัติ แต่ทำไมไม่เขียนกฎหมายเพื่อเอาผิด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูติ ฐานะประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพราะเป็นแกนนำของคณะปฏิวัติ ซึ่งเป็นต้นตอแห่งเหตุทั้งหมด อย่างไรก็ตามตนพร้อมยอมรับการนิรโทษกรรมในอนาคต แต่ต้องมีการสอบถามประชาชนก่อน
นายชวลิต กล่าวว่า ช่วงที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านมี ส.ส. ของพรรค คือ นายประเกียรติ นาสิมมา อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ต่อนายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อดีตประธานสภาฯ ซึ่งนายชัย ได้บรรจุร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ดังกล่าว เข้าสู่ระเบียบวาระประชุมโดยไม่ระบุว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน อย่างไรก็ตามในประเด็นที่ฝ่ายค้านพุ่งเป้าว่าการออก พ.ร.บ.ปรองดอง เป็นการทำประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทั้งนี้การทำร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นการมองภาพรวมเพื่อคนทั้งประเทศ
   “ผมเชื่อว่าหากในเชิงการเมืองเราต้องให้อภัย แต่หากใช้โทษทางอาญาแต่เพียงอย่างเดียว บ้านเมืองวุ่นวาย ดังนั้นต้องทำให้เกิดความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เพื่อแก้ปัญหา” นายชวลิต กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงท้ายของการเสวนา ได้มีการโต้ตอบกันไปมาระหว่างตัวแทนนักการเมืองที่ร่วมประชุม โดยนายชวลิต กล่าวต่อว่าสำหรับข้อเสนอให้ผู้นำรัฐบาลและผู้นำฝ่ายค้านหารือกัน ตนเห็นด้วย แต่ต้องยอมรับว่าผู้ที่มีบทบาทในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม คือ รัฐบาล 100 เปอร์เซ็นต์ แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้นำเสนอ เพราะกังวลว่าจะมีข้อกล่าวว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน หากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ฐานะน้องสาวคนที่ถูกกล่าวหา เป็นผู้นำเสนอร่างกฎหมาย
   “ผมหวังว่าหากนักการเมืองมองภาพรวมของประเทศ ที่มีความบอบช้ำเพราะการขัดแย้ง แต่วันนี้ไม่มีความเป็นผู้ใหญ่พอ ไม่มองประโยชน์ของประเทศ และไม่มองถึงวิธีที่ว่าจะทำอย่างไรที่จะร่วมสร้างอนาคตให้กับลูกหลาน” นายชวลิต กล่าว
ด้านนายถาวร กล่าวตอบโต้ว่า ความปรองดองไม่ตรงกับความจริง กังวลว่าความวุ่นวายจะมีมากขึ้น ตนอยากให้ทบทวน และฝากไว้ว่าหากมีโอกาสแปรญัตติ ขอให้แปรญัตติให้นำคนปฏิวัติ ซึ่งปล้นประชาธิปไตยของพวกเราให้มารับผิดด้วย ซึ่ง พล.อ.สนธิ เป็นคนที่ทำลายและปล้นประชาธิปไตยของประชาชน ต้องจัดการ อย่าให้เป็นแบบอย่าง
   “พวกคุณมีอำนาจรัฐ และมีเสียงข้างมากแล้ว ไม่ว่ากี่พลเอก ที่คิดปฏิวัติต้องจัดการ” นายถาวร กล่าว
ขณะที่นายชวลิต กล่าวว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืนยันไม่ได้ทำสามวาระรวดแน่นอน เพราะทางวิปรัฐบาลยืนยันแล้วว่าจะต้องทำตามกระบวนการของรัฐสภาตามปกติ และหวังว่าจะเห็นความปรองดองเกิดขึ้น
จากนั้นนายถาวร กล่าวว่าพวกเรามาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน ไม่ควรเลือกกอดสิ่งชั่วร้ายเอาไว้ หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา มีนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเป็นนายกฯ 3 คนแล้วเพราะผลพวงของการปฏิวัติ แต่ผลพวงของการปฏิวัตินั้นยังไม่ยอมสลัดทิ้ง