'ดุสิตโพล' เผย ปชช. กว่า 70% ระบุปรองดองฯภาพลักษณ์สภาแย่

กรุงเทพธุรกิจ 2 มิถุนายน 2555 >>>


“ดุสิตโพล” เผย “ปชช.” กว่า 70% ระบุ “ร่าง กม.ปรองดองฯ” ทำภาพลักษณ์ “รัฐสภาไทย” แย่ลง

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนถึงการประชุมพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ซึ่งได้เกิดปัญหาความวุ่นวายระหว่างที่มีการประชุมจนเป็นกระแสการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ทั้งของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และประธานสภา และมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐสภาไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และประธานสภา ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ พบว่า

หน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล

  • อันดับ 1 พยายามที่จะหาทางออกให้กับพรรคพวกของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง 46.38%    
  • อันดับ 2 ได้ทำหน้าที่ของตนเองในการผลักดัน ให้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อย่างเร่งรีบ 33.33%
  • อันดับ 3 รักพวกพ้องมากเกินไป/หลงกับอำนาจในเสียงข้างมาก 20.29
        
หน้าที่ของฝ่ายค้าน

  • อันดับ 1 ใช้วาจา และพฤติกรรมที่รุนแรง ใช้อารมณ์โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น 41.90%
  • อันดับ 2 มีความพยายามในการทำหน้าที่ของตนเอง และตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาล 39.52% 
  • อันดับ 3 ไม่ได้ทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง 18.58% 

หน้าที่ของประธานสภาฯ

  • อันดับ 1 ไม่มีความเด็ดขาด สุภาพเกินไป ไม่สามารถควบคุม ส.ส. ในสภาได้ 39.95%
  • อันดับ 2 ไม่มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง 33.58%
  • อันดับ 3 มีความพยายามในการทำหน้าที่ของประธานอย่างเต็มที่แล้ว 26.47%
        
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐสภาไทยหรือไม่ พบว่า

  • อันดับ 1 มีผลกระทบ 77.34% เพราะรัฐสภาเป็นสถานที่อันทรงเกียรติ การแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำให้เห็นถึงความแตกแยกมากกว่าการปรองดอง มีผลต่อความเชื่อมั่นทั้งของคนไทยและต่างชาติ
  • อันดับ 2 ไม่แน่ใจ 17.33% เพราะยังไม่เข้าใจเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง เท่าที่ควร, ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าใครผิดใครถูก, ต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป
  • อันดับ 3 ไม่มีผลกระทบ 5.33% เพราะเป็นเรื่องปกติทางการเมือง ที่ต่างฝ่ายต่างมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน, ในต่างประเทศรุนแรงมากกว่านี้
        
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากสถานการณ์การอภิปราย ร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง ประชาชนคิดว่าจะทำให้การปรองดองเกิดขึ้นได้หรือไม่ พบว่า

  • อันดับ 1 เกิดขึ้นไม่ได้ 50.56% เพราะต่างฝ่ายต่างถือประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก, มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก และไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
  • อันดับ 2 ไม่แน่ใจ 32.29% เพราะความขัดแย้งมีความรุนแรงมากขึ้น, แนวทางการปรองดองยังไม่ชัดเจน, ต่างฝ่ายต่างรักพวกพ้องตนเองมากจนเกินไป
  • อันดับ 3 เกินขึ้นได้ 17.15% เพราะถ้าทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ
        
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความคาดหวังของประชาชน ต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ประธานสภาฯ ในการสร้างความปรองดองให้เกิดเป็นรูปธรรม พบว่า

ความคาดหวังจากฝ่ายรัฐบาล

  • อันดับ 1 ทำหน้าที่ของตนเองอย่างซื่อสัตย์ ดูแลและเร่งแก้ไขปัญหาของประชาชนก่อน 56.79%
  • อันดับ 2 ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของกฎหมาย ข้อบังคับ กฎระเบียบของรัฐสภา และสังคม 22.72%
  • อันดับ 3 ควรรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และควรใช้เหตุผลให้มากกว่าใช้อารมณ์ 20.49%
        
ความคาดหวังจากฝ่ายค้าน

  • อันดับ 1 คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ/ช่วยกันหาทางออกเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้จริง 43.70%
  • อันดับ 2 ควรใช้เหตุผลให้มากกว่าใช้อารมณ์ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รวมถึงรัฐบาล อย่างใจกว้างและเป็นธรรม 28.70%
  • อันดับ 3 เคารพกฎข้อบังคับ และกติกาของสภา ไม่แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม 27.60% 

คาดหวังจากประธานสภาฯ

  • อันดับ 1 ต้องมีความเป็นกลาง ยุติธรรม ตรงไปตรงมา ไม่เอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 51.26%
  • อันดับ 2 ทำหน้าที่โดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ 25.73%
  • อันดับ 3 ต้องมีความเด็ดขาด ใช้อำนาจของประธานสภา อย่างถูกต้องและเหมาะสม 23.01%
        
ผู้สื่อข่าวถามว่าประชาชนคิดว่า "ทางออกของความขัดแย้ง" ที่เกิดขึ้นในรัฐสภาควรแก้ไขอย่างไร พบว่า

  • อันดับ 1 ให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างจริงจัง และเคารพในข้อบังคับ กฎระเบียบ ของรัฐสภา 46.09%
  • อันดับ 2 เปิดใจให้กว้าง รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ใช้เหตุผล ใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงให้มากกว่านี้ 36.02%
  • อันดับ 3 ถอน พ.ร.บ.ปรองดอง ออกไปก่อนเพื่อพิจารณาใหม่ให้รอบคอบก่อนนำเสนอในที่ประชุม 17.89%.