ร่วมปลดล็อกความขัดแย้งแห่งอำนาจ

คมชัดลึก 6 มิถุนายน 2555 >>>




การรับคำร้องคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสั่งระงับการลงมติในวาระ 3 เอาไว้นั้น ทำให้เกิดปัญหาข้อถกเถียงทางกฎหมายว่า การตีความของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะคำถามที่ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติโดยฝ่ายตุลาการหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญยืนยันว่า มีอำนาจรับเรื่องดังกล่าวเอาไว้ตามมาตรา 68 ซึ่งระบุว่า "บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยที่มิได้เป็นวิถีทางตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้"
ขณะที่วรรคสอง ระบุว่า "กรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว"
ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกว่า บุคคลสามารถยื่นตีต่อศาลได้เองโดยมิต้องผ่านช่องทางอัยการสูงสุด ทำให้หลายคนที่เกี่ยวข้องออกมาคัดค้านว่าการตีความเช่นนี้น่าจะเป็นการตีความที่ผิดพลาดของศาลรัฐธรรมนูญ ที่อาศัยช่องว่างของ "ถ้อยคำ"
ขณะที่อัยการสูงสุดก็ออกอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเมื่อต้องเป็นตัวกลาง ไม่สามารถจะบอกได้ว่าเข้าข้างใคร แต่ผลการแถลงระบุว่า "อัยการมีอำนาจในการรับหรือยุติเรื่องได้"
ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายโต้แย้งยังค้านว่า การกระทำครั้งนี้มิใช่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ แต่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการแก้ไขตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงไม่เข้ามาตรานี้แต่ต้น นอกจากนี้ยังอ้างว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจสั่งระงับที่คล้าย "คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว" อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม "วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์" ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก็บอกว่า เนื่องจากเมื่อมีผู้ร้องตามมาตราดังกล่าว ศาลก็ต้องไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงว่า การยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ตามที่มีการกล่าวหาหรือไม่ หากการให้ข้อเท็จจริงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การดำเนินการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้อง ยังไม่มีพฤติการณ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ศาลก็ยกคำร้อง
เรียกได้ว่า มุมมองของ "วสันต์" นั้น เป็นการทำงานเชิงป้องกัน ซึ่งย่อมถูกโต้แย้งว่าศาลรัฐธรรมนูญมิได้มีอำนาจเช่นนั้น
แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนว่า "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ" ซึ่งแม้แต่ "มีชัย ฤชุพันธุ์" กูรูกฎหมาย ก็ยืนยันตามนั้น
แต่ฝั่งโต้แย้งก็ตั้งคำถามย้อนมาว่า เช่นเดียวกันว่าสิ่งที่มีผลผูกพันคือ "คำวินิจฉัย" หากใช่ "คำสั่ง" ไม่
จนถึงวันนี้ พรรคเพื่อไทยเองก็รวมเสียงและข้อมูลคัดค้านทั้งหมด พร้อมทั้งประกาศเดินหน้าต่อ เพราะยืนยันว่า "ศาลรัฐธรรมนูญ" ไม่มีอำนาจ
ขณะที่ตัวศาลก็ขู่ว่า หากไม่ทำตามก็เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสามและสี่ เพราะไม่ฟังคำสั่งให้เลิกการกระทำนั้น และอาจถูกยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคได้
เท่ากับว่า นาทีนี้ต่างฝ่ายต่างยืนยันในอำนาจของตัวเอง ศาลรัฐธรรมนูญเชื่อว่าตัวเองมีอำนาจยับยั้ง ส่วนสภาเชื่อว่ามีอำนาจเดินหน้าต่อไป
นอกจากคำถามที่ว่าใครผิดใครถูก ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการพิสูจน์ทราบกันอีกหลายยก แต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่น่าจะเห็นได้ หากมีการเดินหน้าคือ เมื่อรัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ใครจะเป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ในเมื่อสองอำนาจยังขัดกันอยู่
รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ประกอบ 150 และ 151 ระบุว่า เมื่อเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย หากไม่ทรงเห็นชอบด้วย และพระราชทานคืนมา หรือไม่พระราชทานคืนมาภายใน 90 วัน รัฐสภาต้องเร่งปรึกษากันใหม่ และหากมีมติยืนยันไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ใหม่ และหากไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 30 วัน ก็ให้ประกาศใช้ได้เลย
ถ้าอ่านตามมาตรานี้จะเห็นปัญหาที่ตามมามากมาย ที่อยู่ในสภาพกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ถึงวันนั้นสภาจะกล้ายืนยันอำนาจหรือไม่
หรือหากทุกอย่างผ่านตลอด คำถามคือ ศาลรัฐธรรมนูญจะอยู่ได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้ก็อยู่อย่างยากลำบาก โดยมีฝ่ายที่ตั้งป้อมไม่เชื่อเสียแล้ว หากแต่ถึงวันนั้นการอยู่จะยิ่งยากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่านัก
ยิ่งไปกว่านั้นจะกระทบต่อระบบศาลทั้งกระบวนการอีกด้วย
ในเมื่อต่างฝ่ายต่างมั่นใจในอำนาจที่ตนเองมีอย่างเต็มเปี่ยม โดยที่ไม่ยอมรับอำนาจอันมีอยู่ของฝั่งตรงข้าม ก็ย่อมจะเกิดความวุ่นวาย และสังคมสองฟากที่กำลังขัดแย้งก็พร้อมที่จะกระโจนเข้าสู่เกมนี้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ประธานรัฐสภา ตัดสินใจเลื่อนการลงมติออกไปเป็นวาระ 3 เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการถอยออกหนึ่งก้าว และปลดล็อกปัญหาไปอีกหนึ่งเปลาะ เป็นการถอยหนึ่งก้าวเพื่อลดอุณหภูมิความขัดแย้ง
ดังนั้นถ้าทุกฝ่ายยึดหลักนี้ สังคมก็จะค่อยๆ ปลด-ลดความขัดแย้งลง แต่หากทุกฝ่ายเดินหน้าไม่ลดละเช่นที่เคยเป็นมา ทุกขาจะเดินไปในทางของตัว เมื่อนั้นประเทศไทยก็หัวคะมำแน่นอน