เกมจนตรอก ขุดหลุมฝังตัวเอง

มติชน 3 มิถุนายน 2555 >>>




ถูกบันทึกไว้เป็นความอัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์สภาผู้แทนราษฎรไทย ระหว่างการประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ จำนวน 4 ร่าง แยกเป็นเสนอโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ 1 ร่าง อีก 3 ร่างเสนอโดย ส.ส.เพื่อไทย และ ส.ส.เสื้อแดง
ภาพที่ปรากฏต่อสายตาประชาชนทั้งประเทศ ไม่ว่าการบุกขึ้นไปกระชากแขน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาถึงบนบัลลังก์ การขึ้นไปลากเก้าอี้ประธานสภาลงมา หรือการขว้างปาเอกสารใส่ประธานสภา ทั้งยังมีคิวหวุดหวิดวางมวยตบตีกันอีกหลายคู่ทั้ง ส.ส.หญิง ส.ส.ชาย สวมวิญญาณทาร์ซานโห่ฮา ปล่อยตัวเงินตัวทองวิ่งเพ่นพ่าน
นับเป็นปรากฏการณ์สร้างความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์สภาไทยร้ายแรง แม้แต่คนจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยอย่างมากกับการรวบรัดเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่สภา ยังยอมรับไม่ได้กับพฤติกรรมกลุ่มส.สที่ใช้วิธีป่าเถื่อนหยาบคาย
คุกคามประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ
ดั่งภาพนาทีอัปยศถ่ายทอดผ่านสื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ รวมถึงคลิปทุกความเคลื่อน ไหวซึ่งถูกส่งกระจายกว้างขวางทางโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก
ไม่ว่า ส.ส.ประชาธิปัตย์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคจะพูดถึงสิ่งที่ลูกพรรคกระทำอย่างไร แต่คนที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดประเมินว่างานนี้ ประชาธิปัตย์เสียมากกว่าได้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีศักดิ์ฐานะเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ อันเป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
ส่วนประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองก่อตั้งมานาน 66 ปี เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยตอนนี้ อ้างตัวเป็นพรรคที่ยึดมั่นการเมืองในระบบรัฐสภามาตลอด
รุ่นใหญ่ในประชาธิปัตย์เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ คือ นายชวน หลีกภัย นายพิชัย รัตตกุล และ นายมารุต บุนนาค นั่งบนบัลลังก์ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติตรงที่เดียวกับ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ทำหน้าที่ในปัจจุบัน
รัฐสภาไทยมีประธานสภาผู้แทนฯ มาแล้ว 25 คน แต่ละคนมีสไตล์ของตัวเอง มีทักษะการคุมเกมในสภาแตกต่างกัน แข็งบ้าง ไม่แข็งบ้าง แต่ไม่มีคนใดโดนคุกคามประชิดตัวเหมือนนายสมศักดิ
พรรคประชาธิปัตย์แสดงจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง มาตั้งแต่รู้ข่าวประธานสภาจะบรรจุเข้าวาระสภาผู้แทนฯ วันที่ 30 พ.ค. โจมตีว่าร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีเนื้อหาสาระสำคัญในการมุ่งนิรโทษกรรมช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พ้นจากคดีความทั้งหลายทั้งปวง ได้ทรัพย์สิน 4.6 หมื่นล้านซึ่งถูกยึดไปกลับคืน อันเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม และทำลายระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ส.ส.ประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ระดับแกนนำ ไล่ไปจนถึงระดับกลางและระดับล่าง ประกาศจุดยืนแจ่มชัดว่าพร้อมคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวถึงที่สุดทั้งในสภาและนอกสภา
แกนนำประชาธิปัตย์สั่งการ ส.ส. พรรคทุกคนเข้าร่วมประชุมสภาอย่างพร้อมเพรียง เพื่ออภิปรายคัดค้านการนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่การพิจารณาของสภาอย่างแข็งขัน
ส่วนการเดินเกมนอกสภา ประชาธิปัตย์เตรียมเปิดเวทีในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ดึงนักกฎหมาย นักวิชาการเข้าร่วมชี้แจงให้ประชาชนเห็นถึงด้านมืดของร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ซึ่งการเดินเกมทั้ง 2 ทางเป็นการเล่นตามกติกา ไม่ขัดระเบียบข้อห้ามแต่อย่างใด
หรือแม้แต่การที่ประชาธิปัตย์ประกาศสนับสนุน เชิญชวนกลุ่มพลังมวลชนทุกกลุ่ม ทุกสีเสื้อ ทุกสาขาอาชีพออกมาร่วมชุมนุมแสดงจุดยืนคัดค้านร่างกฎหมาย ไม่ปฏิเสธการจับมือร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เป่านกหวีดเรียกรวมพลหน้ารัฐสภา เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลเพื่อไทยอีกทางหนึ่ง
ตราบใดที่ไม่มีการล้ำเส้นข้อกฎหมาย ไม่มีการใช้อาวุธความรุนแรง ไม่มีการปิดล้อมขัดขวาง การชุมนุมใดๆ ถือเป็นสิทธิกระทำได้ตามกรอบวิถีทางประชาธิปไตย
แต่หากการชุมนุมล้ำเส้นที่ว่าเมื่อใดก็เท่ากับผลักไสความชอบธรรมให้ไปอยู่กับฝ่ายตรงข้ามทันที
หากมองลึกลงไปถึงเบื้องหลัง ความปั่นป่วนวุ่นวายในสภาระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เทียบเคียงกับจุดยืนที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ทุกอย่างยังเป็นไปตามเกมประชาธิปัตย์
ไม่ว่าการชูธงคัดค้านในสภาถึงที่สุดโดยไม่เลือกวิธีปฏิบัติ หรือการยอมกลืนเลือด ? หันกลับไปจับมือกับม็อบพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวนอกสภา ปิดล้อมสภา ไม่ให้กลไกประชาธิปไตยเดินหน้า
กระนั้นก็ตามเป้าหมายในสิ่งที่ประชาธิปัตย์กระทำลงไป คือความพยายามจะยื้อร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่ให้เข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งก็กระทำได้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม
ถ้าต้องแลกกับศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของพรรคที่สูญสลายไปในพริบตา ไม่แน่ว่าจะคุ้มค่าอย่างที่บางคนในประชา ธิปัตย์กล่าวเอาไว้หรือไม่
แทนที่ประชาธิปัตย์จะเล่นการเมืองอย่างตรงไปตรงมาตามกฎกติกา ด้วยการใช้เวทีสภาอภิปรายชี้ให้เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่รัฐบาลพยายามรวบรัดผลักดัน
มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง มีวาระแอบ แฝงในการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ อย่างไร คนกลุ่มใดบ้างที่จะได้รับประโยชน์ หรือสูญเสียประโยชน์จากการปรองดองเพียงด้านเดียว หรือถ้าปล่อยให้กฎหมายดังกล่าวออกมามีผลบังคับใช้ จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติในมิติใดบ้าง
เงื่อนงำที่ถูกซุกซ่อนไว้ในร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เหล่านี้ต่างหาก ที่ฝ่ายค้านจำเป็นต้องคลี่คลาย ตีแผ่ให้ประชาชนในสังคมได้รับรู้รับทราบ เพราะเชื่อว่าถึงมีคนจำนวนมากที่เห็นด้วยกับการปรองดอง
แต่ไม่เห็นด้วยหากว่าการปรองดองนั้นเป็นเพียงแค่ชื่อตบตา แต่เนื้อหาข้างในกลับ อัดแน่นไปด้วยชนวนความขัดแย้งรอบใหม่
ไม่ใช่ใช้วิธีเล่นเกมอย่างนักการเมืองจนตรอก ป่วยเป็นโรคแพ้ซ้ำซาก หน้ามืดตามัวยอมกระทั่งบากหน้ากลับไปขอคืนดีกับกลุ่มเคลื่อนไหวนอกสภา ทั้งที่เคยตั้งเวทีด่ากันเละเทะมาแล้ว
เกณฑ์คนมาขุดหลุมฝังตัวเองแท้ๆ