"วรวัจน์" ชี้รัฐบาลยังไม่ชงปิด สมัยประชุมสภาฯ ย้ำเลื่อนถก พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่มีกำหนด แขวะคน ปชป. คิดมากไปเอง ฟันธงศาล รธน. ไร้อำนาจสั่งรัฐสภา
เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 2 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวรวัจน์ เอื้ออภิญกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า จะมีการเสนอ พ.ร.ฎ.ปิดประชุมรัฐสภาสมัยนิติบัญญัติ เข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 5 มิ.ย. นี้ว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเข้าได้ เพราะตอนนี้ที่รอการพิจารณาของสภาฯ อยู่คือ พ.ร.บ.เรื่องการฟอกเงิน และ พ.ร.บ.เรื่องการก่อการร้าย ซึ่ง ครม. มีความจำเป็นที่ต้องผลักดันกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ก่อน และยังมีเรื่องมาตรา 190 ที่เหลืออยู่ 6 ฉบับ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องผ่านตรงนี้ให้ได้ก่อน ซึ่งวิปของทั้ง 2 ฝ่ายกำลังจะประสานงานกัน รวมทั้งการที่ประธานสภาประกาศเลื่อนการประชุมสภาฯ ในวันที่ 6-7 มิ.ย. นี้จะมีผลให้ไม่สามารถออก พ.ร.ฎ.ปิดสภาฯ ได้
นายวรวัจน์ กล่าวว่า ส่วนการพิจาณา พ.ร.บ.ปรองดอง หากมีปัญหามากก็จะต้องเลื่อนออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด และต้องเอาเรื่องฟอกเงินกับก่อการร้ายนั้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งต้องให้ประธานวิปทั้ง 2 ฝ่ายประสานงานกันในเรื่องนี้ก่อน เพราะถือเป็นเรื่องที่สำคัญของ ครม. ถ้าสองเรื่องนี้ไม่ผ่านก็ยังจะไม่ขอปิด สภาฯ เนื่องจากเป็นปัญหาที่สำคัญของภาคเอกชนในทางการธุรกรรมทางการเงินทางสภาหอการค้าก็ได้ขอร้องมา ซึ่งความจริงเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่ได้มีเจตนาอะไรทั้งสิ้น แต่กำลังจะทำให้คนที่อยู่ในขบวนการที่ติดคดีทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนมากที่ติดคดี ได้ถูกถอดชนวนเพื่อให้ความปรองดอง ความสงบในประเทศได้เกิด และความจริงขั้นตอนกฎหมายนั้นพรรค ปชป. ก็สามารถมาคุยทำความตกลงได้ว่ามีข้อ ไหนจะแก้ไข มาทำความตกลงกัน เพราะรัฐบาลฟังเสียงฝ่ายค้านอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าช่วงนี้ยังมีความไม่สบายใจก็จะยังไม่ผลักดัน ถือว่าเลื่อนออกไปก่อน
เมื่อถามว่า แนวโน้มที่จะมีการนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง กลับมาพิจารณาอีกเมื่อใด นายวรวัจน์ ตอบว่า คิดว่าตอนนี้จะยังไม่นำ พ.ร.บ.ปรองดอง มาพูดกัน” เมื่อถามว่า เป็นการลดความร้อนแรงทางการเมืองหรือไม่ นายวรวัจน์ ตอบว่า ตราบใดที่ยังไม่มีความชัดเจนก็ยังไม่ดำเนินการ ถ้ายังคุยกันไม่ได้ก็ไม่มีปัญหาเรารอได้ เมื่อถามว่า แสดงว่าเจอกันใหม่สมัยประชุมหน้าเลยใช่หรือไม่ นายวรวัจน์ ยิ้มก่อนตอว่า ความจริงไม่มีอะไรเลย พรรคประชาธิปัตย์คิดมากไป
ต่อข้อถามถึงกรณี ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ชะลอการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปก่อน จนกว่าจะมีการตัดสิน นายวรวัจน์ ตอบว่า ตนคิดว่าไม่มีข้อบทบัญญัติ หรืออำนาจใดให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถยับยั้งกระบวนการนิติบัญญัติได้ ส่วนจะดำเนินการใดต่อนั้นต้องแล้วแต่ประธานรัฐสภา ทั้งที่การแก้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่ต้องให้สภาฯ และรัฐสภามีลงมติ ในวาระ 3 ภายใน 15 วัน
เมื่อถามว่า มีนักวิชาการพูดถึงเรื่องการถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญ นายวรวัจน์ ตอบว่า นั่นคงเป็นเรื่องของคนที่มีหน้าที่ในการถอดถอน แต่ในมุมของกฎหมายนั้นไม่เห็นมีข้อไหนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมายับยั้งอำนาจนี้ ได้ แม้แต่กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่า เช่น ตราพระราชบัญญัติที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยได้ว่ากระบวนการถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องให้ผ่านวาระ 3 เสียก่อน ทั้งที่กระบวนการนิติบัญญัติกำลังดำเนินการตามหน้าที่
เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณก็ โฟนอินว่าต้องการให้สภาฯ หารือกันว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งศาล รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวรวัจน์ ตอบว่า ส่วนตัวตนมองว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินการ ไปตรวจดูข้อกฎหมายใดๆ ก็ไม่มี ไม่มีแม้แต่การคุ้มครองชั่วคราว