กรณีองค์การนาซ่าขอใช้สนามบินอู่ตะเภา ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันไม่จบ
ความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ไปในแนวเดียวกันคือเป็นประโยชน์กับไทย
ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมองเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองโยงเข้ากับความมั่นคง
ฝ่ายความมั่นคงเองแม้จะมองว่าเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ก็ยังมีเสียงเตือนเล็ดลอด
ในมุมของนักวิทยาศาสตร์ที่เคยทำงานกับนาซ่า และหน่วยงานที่ต้องทำงานสอดประสานกับนาซ่า ครั้งนี้ มองอย่างไร
อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สทอภ.
ไทยจะได้ประโยชน์ใน 2-3 เรื่อง
1. ประโยชน์ด้านข้อมูลทางวิชาการ เราจะมีโอกาสเป็นครั้งแรกที่จะมีข้อมูลจากการเก็บตัวอย่างอากาศในระดับสูง ซึ่งเป็นการตรวจวัดทางตรง อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่ผ่านมาตรวจวัดโดยดาวเทียมและสถานีภาคพื้นดิน ซึ่งใช้เทคนิคทางแสง ใช้วิธีนี้มาเป็น 10 ปี เป็นการตรวจวัดทางอ้อม
ความร่วมมือครั้งนี้จะได้ประโยชน์ที่สำคัญในการศึกษากระบวนการเกิดเมฆ ละออง จะมีข้อมูลกระบวนการยกตัวของมวลอากาศ ส่งผลต่อการคาดการณ์เรื่องสภาพอากาศจะดีขึ้น ใกล้เคียงขึ้น มีข้อมูลยืนยันเรื่องกระบวนการขนส่งละออง เราเคยเจอปัญหาฝุ่นละอองจากอินโดฯ ลาว จนเครื่องบินลงไม่ได้ ละอองจากการเผาไหม้ของถ่านหินในจีน ทำให้เกิดฝนกรด ในส่วนของ สทอภ. ได้ประโยชน์โดยตรงในการวางแผนการถ่ายภาพได้ดีขึ้น
2. สร้างบุคลากร คนของเรามีข้อมูลจริงจากพื้นที่จริง
3. สร้างภาพลักษณ์ นานาชาติจะได้เห็นเจตนาดีของไทยที่จะช่วยมวลมนุษยชาติ ที่ผ่านมาทำมาแล้ว 10 กว่าจุด กระจายไปทั่วโลก เมื่อเราร่วมมือทำโครงการนี้ไทยมีที่ยืนในฐานะประเทศที่ช่วยให้ได้ข้อมูลในภูมิภาค
ส่วนการทำโครงการนี้จะช่วยการป้องกันภัยพิบัติ ได้ดีขึ้นหรือไม่ขึ้นกับโมเดลแบบจำลองที่ต่อยอด ต้องเข้าใจว่านาซ่ามาทำวิจัยครั้งเดียว ไม่ได้มาตั้งฐาน ประจำ
ส่วนข้อกังวลเรื่องความมั่นคง ภารกิจนี้ไม่ได้เชื่อมโยงทางการทหารหรือการใช้กำลัง ไม่ใช่การสอดแนม ไม่ใช่การดักฟังข้อมูล เพราะเส้นทางส่วนใหญ่อยู่ในทะเล
สอดแนมเพื่อนบ้านยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะจะบินล้ำเขตน่านฟ้ากันไม่ได้ และแผนการบินยังไม่ได้ทำ ใครจะขึ้นบินก็ต้องตรวจสอบประวัติ
สำหรับข้อตกลงที่หวั่นเกรงว่ามีวาระซ่อนเร้นนั้น เรื่องนี้เป็นการขอเข้าใช้พื้นที่ไม่จำเป็นต้องมีข้อตกลง เช่นจะบินไปเวียดนามก็ต้องขออนุญาต แต่ขอแล้วจะอนุญาตหรือไม่เป็นอีกเรื่อง
เราไม่มีข้อตกลง หรือสัญญา มีเพียงหนังสือแสดงเจตจำนงว่าเนื้องานที่จะทำตรงกันและจะร่วมกันทำงาน
ขอย้ำว่าไม่ใช่ข้อตกลงและไม่ผูกพันองค์กร
อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา
นักวิทยาศาสตร์ที่เคยทำงานกับนาซ่า
เป็นโอกาสยิ่งใหญ่ของไทยที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ ได้ข้อมูลที่ลึกขึ้นไปอีกช่วยเราป้องกันไม่ให้เกิดภัยพิบัติ หรืออุทกภัยที่เกิดขึ้นเลวร้ายมากนัก หรือหากจะเกิดอะไรขึ้นเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วม แผ่นดินไหวหลายอย่างด้วยกันก็จะได้เตรียมตัวทัน
เราต้องแก้ปัญหาจากภัยธรรมชาติให้เร็วที่สุด นอก จากเรื่องพยากรณ์อากาศ ถ้ามีโอกาสเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ไม่เลวร้ายมากนัก กรณีนี้จึงเป็นโอกาสของนักวิทยาศาสตร์ไทยในการเรียนรู้ ศึกษาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ ภัยพิบัติต่างๆ เป็นการแนะนำวิธีการปกป้องความปลอดภัยของมนุษย์ เขาอาจสอนให้เราใช้จรวดยิงเข้าไปในท้องฟ้า สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องดินฟ้าอากาศ
องค์การนาซ่ามีผู้เชี่ยวชาญ มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะช่วยเหลือ ขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ไทยเรียนรู้ไปด้วย นี่คือโอกาสสำคัญมากสำหรับไทย เราต้องรีบรับไว้อย่ามัวเถียงกัน ต้องดูว่าประโยชน์ของประเทศคืออะไร
ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบกับความมั่นคง ตอนนี้มันเป็นเรื่องการเมือง เราต้องมองดูประโยน์ของประเทศเป็นหลัก ทำไมประเทศข้างบ้านเรา เช่น สิงคโปร์ ยินดีให้นาซ่าบินเหนือท้องฟ้า เขมรก็ยินดี หลายประเทศยินดีกันหมด เราจะบอกว่าไม่เอาได้อย่างไร ต้องมองในแง่ดี
ส่วนข้อกังวลเรื่องเครื่องบิน ER2 ที่พัฒนามาจากเครื่องบินจารกรรม เครื่องบินที่นาซ่านำมาใช้ก็ให้นักวิทยาศาสตร์ของไทยขึ้นไปด้วย เพื่อเรียนรู้ไปด้วยกัน เขายินดีให้ความรู้ เป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งไม่เป็นความลับอยู่แล้ว
สมัยแรกๆ มนุษย์สร้างเครื่องบินเพื่อสู้รบกันแล้วก็ดัดแปลงมาเพื่อใช้งาน เป็นเครื่องบินพาณิชย์ เครื่องบินสำรวจอากาศ หรืออย่างจรวดเดิมก็สร้างเพื่อยิงใส่กัน ตอนนี้จรวดส่งนักวิทยาศาสตร์ขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ ดาวอังคาร เป็นการพัฒนาเพื่อนำมาใช้งาน
หากจะมีความลับด้านความมั่นคงเขาศึกษาผ่านระบบดาวเทียมก็น่าจะทำได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องมาขอใช้อู่ตะเภา
อย่างไรก็ตาม เรื่องสัญญาข้อตกลง ทุกสิ่งทุกอย่างก็เพื่อประชาชนผมก็ไม่เข้าใจทำไมรัฐบาลถึงเงียบ ไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูล ขณะที่ฝ่ายค้านที่เปิดเผยออกมาก็ผิดพลาดเพราะไม่ได้เข้าถึงข้อมูลจริงๆ
รัฐบาลควรพูดออกมาเลยว่าเราจะร่วมมือกันทำอะไร เพื่ออะไรและจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง
นริศรา ทองบุญชู
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง
ต้องบอกว่ากรณีของฝนหลวงไม่ได้อาศัยปัจจัยทางฟิสิกส์เพียงอย่างเดียว แต่กระบวนการเกิดฝนซับซ้อนกว่านั้น เพราะจริงๆ แล้วละอองลอยเกิดได้จาก การเผาไหม้ของโรงงาน รถยนต์ หรือการเผาไหม้ในที่โล่ง การเกิดฝนจึงมีปัจจัยทางเคมีด้วย
ประโยชน์ที่ได้คือการนำผลจากการตรวจวัด หรือปัจจัยที่ได้จากนาซ่ามาทำความเข้าใจกระบวนการเกิดฝน
เวลาเครื่องบินออกจากอู่ตะเภา เครื่องบินขึ้นลงผ่านทะเลใกล้ชลบุรี ระยอง เราจะได้ข้อมูลที่จำเป็นคือมลพิษทางอากาศ เดิมตรวจวัดได้จากสถานีตรวจอากาศเท่านั้น ไม่ได้วัดที่ทะเล ซึ่งเป็นข้อมูลที่จำเป็น
การพยากรณ์อากาศจะแม่นขึ้นหรือไม่ ไม่ได้คาดหวังจากการทำวิจัยเพียงครั้งเดียว ปัจจุบันสภาพอากาศมันเปลี่ยน ลักษณะพายุ การพยากรณ์เปลี่ยนไป วันนี้ต้องบอกว่าฉีกตำราเก่าๆ เพราะมีการปล่อยมลพิษ
ประเด็นละอองลอยกำลังเป็นประเด็นหลักในภูมิภาค เพราะเรามีการเผาหลังทำเกษตรกรรม มีไฟป่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าละอองที่เกิดจากการเผาทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล แต่ไม่มีหลักการมายืนยัน เช่น การเกิดฝนตกชุกมันเปลี่ยนพื้นที่
โครงการนี้จะเป็นองค์ความรู้ และส่งผลต่อการคาดการณ์การเกิดพายุ เกิดฝนได้ดีขึ้นในอนาคต
เรื่องความมั่นคงที่ห่วงกัน อุปกรณ์ที่ใส่คือแค่เจาะหน้าต่างดูดอากาศเท่านั้น ถามว่าไทยมีอะไรให้เขาต้องเข้ามาสอดแนม ถ้าเขาจะทำแค่ดาวเทียมก็ทำได้แล้ว
โจรที่ไหนจะมาแสดงความบริสุทธิ์ใจ และต้องตอบชาวโลกให้ได้ด้วยหากโครงการไม่ได้เริ่ม ถ้าครั้งนี้ไม่เกิด อย่าคิดว่าปีหน้าจะเกิด