ประชาไท 7 มิถุนายน 2555 >>>
ประธานศาล รธน. แจงการทำหนังสือถึงสภา เป็นการทำตาม รธน. และคำร้องอ้างว่าการก้ รธน. จะล้มล้างการปกครองประชาธิปไตย ข้อกล่าวหาใหญ่พอให้ศาลพิจารณา ยันศาลไม่ได้สั่งให้สภาหยุดทำงาน ทำแค่หนังสือแจ้งเลขาธิการสภา ส่วนสภาจะดำเนินการอะไรเป็นเรื่องของสภา หากเกิดอะไรขึ้นสภาต้องรับผิดชอบ พร้อมแนะตีความ ม.68 ให้ดูรัฐธรรมนูญ 50 ฉบับภาษาอังกฤษจะชัดเจนกว่า
ทีมกฎหมายสภาชี้หนังสือศาล รธน. ไม่ใช่คำสั่งศาล
หนังสือพิมพ์ข่าวสด รายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น. วานนี้ ที่รัฐสภา นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภา พร้อมทีมกฎหมายรัฐสภา แถลงว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือที่ ศร 006/440 เรื่องแจ้งคำสั่งศาลลงวันที่ 1 มิ.ย. 2555 มายังเลขาธิการสภาให้แจ้งประธานรัฐสภาให้รอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยนั้นตนในฐานะเลขาธิการสภานำเรียนต่อประธานรัฐสภาเพื่อทราบโดยมีความเห็นของคณะกรรมการเสนอไปด้วย 6 ข้อดังนี้
หนึ่ง มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภา ครม.และศาล ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้โดยชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญเท่านั้น เป็นผลให้การที่รัฐสภาจะผูกพันต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยใดขององค์กรใด จะต้องมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ผูกพันหรือปฏิบัติตาม
สอง มาตรา 216 กำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา โดยคำวินิจฉัยนั้นต้องทำโดยองค์คณะตุลาการไม่น้อยกว่า 5 คน ซึ่งทุกคนต้องทำความเห็นในคำวินิจฉัยในส่วนตนและประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่คำสั่งของศาลดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีลักษณะตามที่มาตรา 216 กำหนด จึงไม่เป็นคำวินิจฉัยของศาลตามรัฐธรรมนูญอันมีผลผูกพันรัฐสภา
สาม คำสั่งของศาลดังกล่าวใช้แบบหนังสือเรียกเอกสาร หลักฐานหรือบุคคลโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 68 วรรค 2 ประกอบมาตรา 213 วรรค 1 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 264 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยพ.ศ.2550 ข้อ 6 อันเป็นการใช้อำนาจกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราว แต่รัฐสภามิใช่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอันอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจึงไม่ผูกพันต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
สี่ มาตรา 291 กำนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาต้องเป็นไปตามมาตา 122 ที่กำหนดว่าสมาชิกรัฐสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมายหรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย
ห้า คำสั่งของศาลดังกล่าวเป็นการออกคำสั่งต่อเลขาธิการสภาให้แจ้งประธานรัฐสภามิใช่ออกคำสั่งต่อประธานรัฐสภาหรือรัฐสภา
และ หก การดำเนินการของประธานรัฐสภาและรัฐสภาในเรื่องนี้อาจส่งผลต่อบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ในอนาคตของฝ่ายนิติบัญญัติ
หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายงานด้วยว่า เมื่อถามว่าท่าทีของคณะกรรมการแสดงว่ารัฐสภาจะโหวตรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ได้ เลขาธิการสภา กล่าวว่า เป็นเพียงความเห็นให้ประธานสภาประกอบการตัดสินใจ จึงเป็นหน้าที่ของประธานสภาจะใช้ดุลพินิจ ทั้งนี้คณะกรรมการชุดนี้มีมาตั้งแต่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาและทุกเรื่องที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติก็จะมาคุยกันก่อนเสนอต่อประธานสภา และการพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย เพราะคณะกรรมการทุกคนมาจากฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา แต่เราไม่ได้ดูถึงตีความของมาตรา 68 แต่เราพิจารณาเพียงศาลมีคำสั่งให้เราทำอย่างไร หรือไม่ดำเนินการอะไร มีผลผูกพันและผลต่อความคิดเห็นอย่างไร ก่อนหน้านั้นเราไม่ได้พิจารณาว่าชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ถือว่าศาลสั่งแล้วคงจะชอบ แต่คณะกรรมการมองว่าคำสั่งของศาลนั้นไม่ผูกพันรัฐสภา
ผมประชุมคณะกรรมการครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ได้รับคำสั่งจากศาลและนำความกราบเรียนไปแล้ว และประธานสภารับทราบก็พยายามหาข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่ามีประเด็นอื่นๆ หรือไม่ ประกอบการใช้ดุลพินิจ ดังนั้นหากมีการลงมติในวาระ 3 จะเข้ากระบวนการตามรัฐธรรมนูญต่อไป นายพิทูรกล่าว เมื่อถามว่าผู้ที่ลงมติจะมีผลกระทบหรือไม่หากเชื่อตามที่กรรมการเสนอไป นายพิทูรกล่าวว่า เราสุจริตไม่มีฝักใฝ่พรรคใด ความผูกพันก็แบ่งส่วนกันไป ใครคิดเห็นอย่างไรก็ไม่เป็นไรเพราะกรรมการมีความรักชาติบ้านเมืองเช่นกัน
ประธานศาลรัฐธรรมนูญแจงศาลไม่ได้สั่งสภา
ลั่นหากสภาดำเนินการแล้วมีอะไรเกิดขึ้นต้องรับผิดชอบ
ต่อมาเมื่อเวลา 15.00 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญและคณะ ร่วมกันแถลงชี้แจงถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ออกไปก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
นายพิมลแถลงว่า ตุลาการพิจารณาอย่างรอบคอบ การร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มีการแปรญัตติว่า การกระทำดังกล่าวสามารถยื่นต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ทันที จนมาเป็นมาตรา 63 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ 2540 และมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เปลี่ยนแปลงเพียงคำว่า ผู้รู้เห็น มาเป็นผู้ทราบการกระทำ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าการดำเนินการตามมาตรา 68 ทำได้ 2 ช่องทาง คือยื่นผ่านอัยการสูงสุดและยื่นศาลรัฐธรรมนูญ
นายวสันต์กล่าวว่า ตามคำร้องอ้างว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นผลให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ ซึ่งเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ให้เป็นการปกครองอย่างอื่น ข้อกล่าวหาอย่างนี้ใหญ่พอให้ศาลพิจารณา เรื่องจะพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน เปลี่ยนแปลงการปกครอง จะให้เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียวหรือ และขณะนี้ยังอยู่ในชั้นรับคำร้อง ซึ่งศาลไม่ได้สั่งให้รัฐสภาหยุดการพิจารณา แต่มีหนังสือแจ้งสำนักเลขาธิการสภาว่าขอให้แจ้งประธานสภา ส่วนสภาจะดำเนินอย่างไรเป็นเรื่องของสภา หากเกิดอะไรขึ้นสภาต้องรับผิดชอบ
เย้ยเป็นนักกฎหมายก็ตีความกันไป-เก่งกันทั้งนั้น
นายวสันต์กล่าวว่า ส่วนที่เลขาธิการสภาระบุหนังสือขอให้ชะลอการพิจารณาของศาล ไม่มีผลผูกพันรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 ประกอบมาตรา 213 นั้น ก็เป็นความเห็นทางกฎหมาย นักกฎหมายตีความกันไป เก่งกันทั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลฎีกา มีคำพิพากษาก็บอกว่าไม่ใช่ เหลือแต่ศาลเจ้า ดังนั้นจะเห็นอย่างไรก็ตามใจเขา
ยืนยันไม่มีใครมาสั่ง ชี้นำเราได้ เราระวังมากกับการก้าวล่วงอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการทั้ง 9 คนเรารู้ตัวดีว่าไม่มีอำนาจอื่นใด การแก้ไขรัฐธรรมนูญเขากล่าวหาว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกเฉย เท่ากับว่าจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนไป อย่างนั้นได้หรือ มันต้องไต่สวนก่อน หากสภาจะให้ความร่วมมือเลื่อนพิจารณาไปสักเดือนเศษก็ไม่เห็นเป็นอะไร เพราะคณะตุลาการคาดการณ์ว่า 1 สัปดาห์หลังการไต่สวนจะมีคำวินิจฉัยได้ นายวสันต์กล่าว
เชื่อ "ปู" คืออำมาตย์ตัวจริงเพราะมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เมื่อถามว่าหลายฝ่ายมองว่าศาลรัฐธรรมนูญตกเป็นเครื่องมือการเมือง นายวสันต์กล่าวว่า จะเป็นเครื่องมือของใคร ฝ่ายไหน เมื่อถามว่าถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของอำมาตย์หรือชนชั้นสูง นายวสันต์ย้อนถามว่า ใครเป็นอำมาตย์และใครเป็นหัวหน้าอำมาตย์ คนที่เป็นอำมาตย์ตัวจริงคือนายกฯ ที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศไทย ความจริงถ้าผู้ร้องยื่นร้องมาก่อนหน้านี้ เราจะมีเวลาทำงาน แต่เขามายื่นในสถานการณ์ขณะนี้ มันทำให้วุ่นวาย ทุกประเด็นที่มีการกล่าวหาศาล ทางคณะตุลาการได้คุยก่อนหน้านี้ไว้หมดแล้วว่าจะโต้แย้งอะไรบ้าง
เผยโทษหนักถึงขั้นยุบพรรค - เชื่อช่วงนี้ไม่มีสถานการณ์รุนแรง
เมื่อถามว่าถ้ารัฐสภาเดินหน้าประชุมลงมติวาระ 3 ศาลจะยังคงไต่สวนในวันที่ 5-6 ก.ค.หรือไม่ และคำวินิจฉัยของศาลมีสภาพบังคับย้อนหลังได้หรือไม่ รวมถึงบทลงโทษกับผู้ที่กระทำการล้มล้างเป็นอย่างไร นายวสันต์กล่าวว่า สิ่งที่ถาม เป็นเรื่องอนาคตยังไม่เกิดขึ้น ถ้ามีการประชุมสภาพิจารณาวาระ 3 คณะตุลาการต้องคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และถ้าเดินหน้าไต่สวนแล้วมีคำวินิจฉัยจะมีผลย้อนหลังได้หรือไม่ ส่วนโทษ หากพบว่ามีการกระทำล้มล้าง ตามมาตรา 68 กำหนดว่า ให้ศาลสั่งให้หยุดการกระทำนั้นและอาจมีคำสั่งยุบพรรคหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเป็นดุลยพินิจ ส่วนจะยุบพรรคที่เป็นผู้เสนอร่างแก้ไข หรือพรรคที่ ส.ส.ยกมือโหวต ก็ต้องพิจารณากันอีกที
นายวสันต์กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาดำเนินการ เหมือนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แต่กลับไม่มีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ว่า การแก้ไขในขณะนั้น ใช้รัฐธรรมนูญ 2534 มาเป็นฐานแก้ไข ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2534 ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ มีแต่ตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญ 2534 บัญญัติให้มีหน้าที่เฉพาะวินิจฉัยบทบัญญัติของกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และไม่มีบทบัญญัติในเรื่องของสิทธิประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องดังกล่าวมามีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 50 นำบทบัญญัติดังกล่าวมาบัญญัติไว้ด้วย
เมื่อถามว่าคิดหรือไม่ว่าสถานการณ์อาจรุนแรง จนไม่ได้อยู่ไต่สวนในวันที่ 5-6 ก.ค.นี้ นายวสันต์กล่าวว่า ไม่น่ามีอะไรเกิดขึ้น ถ้าทำอย่างนั้นถือว่าใช้อำนาจนอกระบบ ทำไมไม่เข้าสู่กติกา มาชี้แจง ตุลาการแต่ละคนอายุมาก วันหนึ่งก็ตายแล้ว ซึ่งต่อไปจะไม่พูด ไม่ให้สัมภาษณ์อีก สุดท้ายแม้ศาลจะพิจารณาเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง อย่างน้อยยังมีสัญญาประชาคมจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะไม่กระทำการเช่นนั้นจริงๆ
แนะตีความ ม.68 ให้ดูรัฐธรรมนูญฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ
ขณะเดียวกัน ข่าวสดยังรายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายวสันต์ ถึงการดำเนินการยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายวสันต์กล่าวว่า ขณะนี้ไม่รู้สึกเครียด ยังสบายใจดี แม้จะมีผู้ยื่นถอดถอน หรือถูกวิจารณ์ในแง่ลบ การยื่นถอดถอนนั้นทำได้ ใครจะทำอะไรก็ทำไป ส่วนตัวไม่ได้กังวล ยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้ เพราะหากไม่ชะลอ การไต่สวนของศาลจะไร้ผล ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องระบุในเนื้อหาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญลักษณะนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบใหม่จึงเกิดคำถามว่าสมควรหรือไม่ที่จะต้องตรวจสอบเพื่อให้ความมั่นใจต่อสังคมเพราะหากมีสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้วพลิกประเทศจริง จะทำอย่างไร ส่วนการตีความมาตรา 68 นั้น ขอให้ไปดูรัฐธรรมนูญฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ จะชัดเจนว่าการยื่นคำร้อง เป็นเรื่องของผู้ทราบ ไม่ใช่เรื่องของอัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียว
อัยการสูงสุดเตรียมพิจารณาคำร้องวันนี้ - แถลงศุกร์นี้
นายอรรถพล ใหญ่สว่าง รองอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีบุคคลและคณะบุคคล 6 ราย ยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ 416 ส.ส.-ส.ว. เสนอแก้ รธน. มาตรา 291 เพื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า ในวันที่ 7 มิ.ย. เวลา 13.00 น. คณะกรรมการจะร่วมประชุมกันเพื่อพิจารณาเอกสารที่ได้จากคำร้อง และที่ได้ขอเพิ่มเติมจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการประชุมพรุ่งนี้ หากอัยการได้เอกสารครบถ้วน ก็สามารถมีความเห็นเสนอ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ได้ทันที ว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 68 ได้หรือไม่ ซึ่งอัยการจะต้องขอเอกสารมาตรวจสอบอย่างเป็นทางการก่อน ไม่ได้จะประวิงเวลาอะไร และที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้มีการประชุมหารือกันโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมของคณะทำงานอัยการ โดยในวันที่ 7 มิ.ย. จะยังไม่มีการแถลงข่าวแต่อย่างใด และถ้าไม่มีอะไรขัดข้อง คาดว่าจะแถลงข่าวได้ในวันศุกร์ที่ 8 มิ.ย.