อภิสิทธิ์ ยืนยัน ปชป. เคารพคำสั่งศาล รัฐสภาควรเคารพศาล เพื่อปลดชนวนความขัดแย้ง

พรรคประชาธิปัตย์ 6 มิถุนายน 2555 >>>




(6 มิ.ย. 55) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ 101 องศาข่าว ช่วงตรงไปตรงมากับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทางสถานีวิทยุ 101 ถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ต่อมติของศาลรัฐธรรมนูญว่า พรรคประชาธิปัตย์นั้นชัดเจนว่าพรรคฯ ถือว่าเมื่อศาลมีคำสั่ง ทางรัฐสภาก็ควรเคารพคำสั่งของศาล หากศาลมีคำวินิจฉัยแล้วค่อยมาพิจารณารัฐธรรมนูญต่อ ก็ไม่มีปัญหาอะไร และคิดว่าเป็นการปลดชนวนความขัดแย้งไปในตัว
   “เราชัดเจนนะครับ เราถือว่า เมื่อศาลท่านได้มีคำสั่ง ทางรัฐสภาก็ควรที่จะเคารพคำสั่งของศาล แล้วก็ช่วงนี้ก็เป็นการรอให้ศาลวินิจฉัย เมื่อศาลท่านวินิจฉัยเสร็จแล้วก็มาพิจารณารัฐธรรมนูญกันต่อ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร และผมคิดว่าก็เป็นการปลดชนวนความขัดแย้งประการนึงไปด้วย”
มีคำถามว่าความพยายามในการใช้มาตราต่างๆ มาตีความว่าศาลมีอำนาจในการวินิจฉัยนั้น มีมุมมองอย่างไร นายอภิสิทธิ์ ได้ตั้งคำถามกลับไปว่า เมื่อเกิดกรณีปัญหาในข้อกฎหมายต่าง ๆ แล้ว จะให้ข้อยุติไปอยู่ตรงไหน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถูกใจฝ่ายรัฐบาล รัฐบาลก็ขอบคุณ แต่เมื่อวินิจฉัยออกมาแล้วทำให้รัฐบาลไม่พอใจ ก็ปลุกระดมว่าเป็น 2 มาตรฐาน หากทำอย่างนี้แล้ว ต่อไปเราจะหาข้อยุติกันอย่างไร
   “เราก็ต้องตั้งคำถามว่า เวลาเกิดกรณีปัญหาข้อกฎหมายต่าง ๆ แล้วจะให้ข้อยุติไปอยู่ตรงไหน ที่นี้ผมเห็นเวลาศาลรัฐธรรมนูญท่านวินิจฉัยถูกใจฝ่ายรัฐบาล ก็ขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่าง ก็พูดจาดีหมด เวลาที่วินิจฉัยออกมาแล้ว รัฐบาลไม่พอใจก็ปลุกระดมกันยกใหญ่ 2 มาตรฐานอะไรต่าง ๆ เยอะแยะไปหมด แต่นี่ไปไกลถึงขั้นว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจะพยายามจะยึดอำนาจอะไร ทีนี้ผมก็ถามว่า ผมเองนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหลายกรณีและผมก็ไม่เห็นด้วย เรื่อง พรก. 4 ฉบับ นึกออกไม๊ ที่ไปยื่น ผมก็ยังมีความเห็นว่ามันไม่เร่งด่วน และผมคิดว่าตอนนี้เหตุการณ์ก็พิสูจน์ด้วยซ้ำว่ามันไม่เร่งด่วน เพราะถ้าเร่งด่วนจริงทำไมรัฐบาลยังอนุมัติเงินไปไม่ถึง 10% ของเงินที่ขอไป ทั้ง ๆ ที่บอกว่าจะต้องรีบทำก่อนหน้าฝน
แต่ผมก็ไม่เคยออกมาโวยวาย หรือกรณีที่วินิจฉัยว่า ทางฝ่ายรัฐบาลไม่ได้แทรกแซงถุงยังชีพ หรืออะไรนั้น หรือถ้าจะย้อนกลับไป 10 กว่าปีที่แล้ว ที่คุณทักษิณเป็นนายกฯ ต่อได้ ก็มีคดีซุกหุ้นภาค 1 ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ เพราะเกิดข้อเท็จจริงภายหลังตามมาเป็นข้อครหาเยอะแยะไปหมด เพราะฉะนั้นตรงนี้ จริง ๆ แล้วก็ต้องบอกว่า ถ้าแต่ละฝ่ายใครไม่พอใจ แล้วแทนที่จะยอมรับ เหมือนเวลาที่ฝ่ายผมมีคำวินิจฉัยไม่ตรงกับใจ ก็ยอมรับ ถ้าไม่ทำกันอย่างนี้ แล้วต่อไปเราจะหาข้อยุติกันยังไง เพราะฉะนั้นผมว่า เราจำเป็นที่จะต้องเรียกร้องให้ทุกฝ่ายนั้น เคารพคำวินิจฉัยของศาล เพราะว่านั่นคือหน้าที่ของท่านโดยตรง เป็นอำนาจหน้าที่ของท่านโดยตรง”
สำหรับการล่ารายชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายอภิสิทธิ์มองว่าเป็นสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะถอดถอน แต่ตนไม่เห็นด้วยกับการปลุกระดมให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดว่า ศาลเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง
   “อันนั้นไม่เป็นไรหรอกครับ คือหมายความว่า ถ้าเห็นว่าอยู่ในข่ายตามกฎหมายที่จะถอดถอนได้ ก็มีสิทธิ์ที่จะใช้สิทธิ์ตามกฎหมายในการที่จะถอดถอน แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการปลุกระดม ไปล้อมศาล แล้วก็มาพูดจาให้ประชาชนมีความเข้าใจผิดว่า ศาลเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองอะไรอย่างไร เพราะผมมองดูก็คือว่า ผมเชื่อว่าทางพรรคเพื่อไทยต้องเล่นบทนี้ พูดง่าย ๆ เหตุผลที่ต้องเล่นบทนี้ก็เพราะว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะต้องเป็นปลายทางของกฎหมายล้างผิด 4 ฉบับนี้อยู่แล้ว เพราะเป็นกฎหมายที่ผมเห็นหลายคนนะครับ ไม่ใช่เฉพาะทางพวกผมเท่านั้นมองว่าค่อนข้างชัดว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ”
ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ ปฏิเสธที่จะประเมินแรงกดดันหรือความรุนแรงที่จะมีต่อศาล แต่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหาทางตั้งหลัก และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า แต่ที่ดีที่สุดหากนายกรัฐมนตรีต้องการเห็นทุกอย่างสงบเรียบร้อย ก็ควรเสนอ พรฎ.ปิดสมัยประชุมสภา
   “ผมไม่อยากไปประเมินเรื่องความรุนแรง เรื่องอะไร ผมอยากจะเรียกร้องว่าทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายนั้นหาทางมาตั้งหลัก แล้วก็เลี่ยงการเผชิญหน้า ซึ่งความจริงแล้ว คนที่อยู่ในฐานะที่จะทำเรื่องนี้ง่ายที่สุดก็คือรัฐบาล แล้วก็ท่านนายกฯ เพราะว่า สภาฯ ความจริงขณะนี้เราขยายเวลามาตั้งแต่เมษา แล้วก็ตั้งแต่ขยายเวลามา ผมก็ไม่เห็นทำเรื่องอะไรเลย นอกจากเรื่องที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง คือรัฐธรรมนูญกับกฎหมายล้างผิด
เพราะฉะนั้นพอเป็นอย่างนั้นปั๊บ ผมว่าอำนาจ ถามว่าอำนาจใครในการปิดสภา ก็เป็นอำนาจของครม. ท่านนายกฯ นั้นถ้าเกิดอยากจะเห็นทุกอย่างสงบเรียบร้อย แล้วก็เรามีเวลามานั่งพูดคุยกัน มันก็สามารถที่จะขอให้มีพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมสภาไป แล้วก็ 1 สิงหาก็มาว่ากันใหม่ ระหว่างนี้ถึง 1 สิงหา เดือนกว่า ๆ รัฐบาลจะได้ไปแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ประชาชนเดือดร้อนกันเยอะแยะไปหมด แล้วก็ขณะเดียวกันในส่วนของสภาฯ จะให้วิป จะให้รัฐบาล นายกฯ จะคุย ผมก็ยินดีทุกอย่างในการที่จะหาทางออกที่เราเห็นว่าเหมาะสม”
เมื่อสอบถามถึงการพิจารณากฎหมายฟอกเงินที่ยังค้างอยู่ในสภานั้น นายอภิสิทธิ์มองว่า กฎหมายดังกล่าวยังมีเวลาพิจารณาจนถึงสิ้นเดือนมกราคม และเชื่อว่าฝ่ายค้านจะไม่ค้านกฎหมายฉบับนี้ เพราะเป็นกฎหมายที่ได้พยายามผลักดันมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว
   “คือกฎหมายฟอกเงินนั้น ผมเรียนอย่างนี้นะครับ เราพยายามทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว และมันก็ค้างอยู่จริง แต่ว่าการค้างอยู่นั้นอยากจะเรียนอย่างนี้ครับว่าความจริงแล้ว ทางผมเองก็ไปคุยกับภาคเอกชนเมื่อวานนี้เรื่องนี้ด้วย เรามีเวลาจนถึงสิ้นเดือนมกราหน้าครับ เพราะฉะนั้นผมมั่นใจครับว่า สิงหาคมนั้น เอาเข้าสภา พวกผมไม่ได้ค้านกฎหมายฉบับนี้อยู่แล้ว ก็สามารถที่จะผ่านออกมาทันเดือนมกรา ได้อยู่แล้ว อย่าเอาเรื่องนี้มาอ้างเลยครับ”
นายอภิสิทธิ์ได้ให้คำอธิบายถึงสาเหตุที่ตนเรียกกฎหมายปรองดอง ที่รัฐบาลพยายามผลักดันนี้ว่า กฎหมายล้างผิด เป็นเพราะ กฎหมายทั้ง 8 มาตรานั้น ไม่ใช่กฎหมายปรองดอง แต่เป็นการล้างผิดให้กับคนโกง
   “ผมมองไม่เห็นว่ามันปรองดองตรงไหน แล้วก็ตั้งแต่มันมีเรื่องนี้มา ผมก็ยังไม่เห็นว่ามีความปรองดองเกิดมากขึ้นตรงไหน ผมเข้าใจว่าหลายฝ่ายก็ได้แสดงความคิดเห็นชัดเจนตรงกันในเรื่องนี้ เห็นว่าทาง คอป. เองก็ส่งหนังสือมา ถึงหลาย ๆ ฝ่าย รวมทั้งผมด้วย ออกเป็นแถลงการณ์ด้วย มันไม่ได้ปรองดองเลย เพราะฉะนั้นก็ไม่เรียกว่าปรองดองครับ เพราะกฎหมายมันมีอยู่ 8 มาตรา
มาตรา 1 เป็นชื่อ
มาตรา 2 ใช้บังคับเมื่อไหร่
มาตรา 3 ก็ล้างผิดทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง
มาตรา 4 ก็บอกล้างเสร็จแล้วแปลว่า ใครว่าศาลตัดสินว่าผิด ก็บอกไม่ผิด ใครที่กำลังถูกฟ้อง ก็ให้ถอนฟ้อง ถ้ายังไม่ฟ้อง ก็อย่าส่งฟ้อง หรือเลิกสอบสวน
พอมาตรา 5 ก็ล้างผิดคนโกง เพราะว่าถูก คตส. เป็นผู้สอบสวน แล้วก็ส่งไป
แล้วมาตรา 6 ก็ล้างความผิดให้กับ 119
ผมก็เลยยังไม่ค่อยเห็นว่ามันเป็นกฎหมายปรองดอง มันก็มีแต่ล้างผิดครับ”
ส่วนเรื่องความวุ่นวายในสภา สัปดาห์ที่ผ่านมา และอีกฝั่งก็ออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ทาง คอป. ก็ได้ส่งหนังสือมา ดังนั้นตนจะได้พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะมีแนวทางอย่างไรต่อไป ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์มองว่ารัฐบาลน่าจะรู้ดีว่าต้นเหตุนั้นอยู่ที่ใคร นอกจากนี้ยังตั้งคำถามต่ออีกด้วยว่า หากการกระทำอย่างอาทิตย์ที่แล้วนั้นต้องขอโทษ แต่ถ้าทำหนักหนาสาหัสกว่านั้น อย่างเผาบ้านเผาเมืองจึงต้องออกมาขอนิรโทษกรรมให้ตัวเอง ใช่หรือไม่
   “คอป. เองก็ได้แสดงความเห็นเรื่องนี้มาด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ผมก็จะได้พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่า เราน่าจะมีแนวทางอย่างไร แต่ก็อยากจะชี้แจงนะครับ เพราะว่าผมเห็นว่า ทุกฝ่ายถ้าใครติดตามเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจะเข้าใจได้ดีกว่า ถ้าสมมติว่าดูแค่ที่ตรงปลายเหตุ แล้วก็ผมว่าทุกคนที่ทำอะไรลงไป ก็ต้องรับผิดชอบในการกระทำนั้น ๆ ซึ่งก็ต้องไปว่ากันว่า อะไรอย่างไร
แต่ที่ผมเคยเรียนนั้น ผมเข้าใจดีครับว่า เรื่องนี้มันกระทบกับภาพลักษณ์สภา แล้วก็พวกผมก็ไม่ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น แล้วก็ผมเข้าใจพี่น้องประชาชน คนกลางทั้งหลายที่ออกมาตำหนิ หรือมีความรู้สึกไม่พอใจ เราก็ไม่สบายใจในเรื่องนั้น แต่ว่าที่ผมรับได้ยากก็คือ ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งพยายามออกมาเรียกร้องเรื่องเหล่านี้ เหตุผลก็ง่าย ๆ นะครับ
1. รัฐบาลน่าจะทราบว่าต้นเหตุของความวุ่นวายทั้งหมดนั้นมันอยู่ที่ใคร
2. ถ้าบอกว่าพฤติกรรมในสภาอาทิตย์ที่แล้ว มันหนักหนาสาหัสขนาดนั้น ผมถามว่า แล้วกรณีที่ไปเผาบ้าน เผาเมือง ปลุกระดมกัน บุกโรงพยาบาล ขึ้นเวทีกัน แล้วก็ยุยงให้คนทำผิดกฎหมาย ถึงขึ้นไปฝึกอาวุธคน อะไรกันต่าง ๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมของ สส. ของพรรคเพื่อไทยหลายคน ผมไม่เห็นว่าเจ้าตัวจะแสดงความรู้สึกเลยว่า เป็นสิ่งที่ผิด และยังไม่ต้องพูดถึงว่า ผมก็ไม่เคยไปเรียกร้องว่า คุณทักษิณ หรือใครต่อใคร ต้องออกมาทำอย่างนั้นอย่างนี้ ผมก็แปลกใจนะครับ เพราะว่าถ้าเป็นเรื่องการทำอย่างอาทิตย์ที่แล้วนั้นต้องขอโทษ แต่ว่าถ้าหนักหนาสาหัสกว่านั้น ก็ขอนิรโทษอย่างนั้นใช่ไม๊ เพราะว่าทั้งหมดที่ทำนี่ก็คือกฎหมายที่กำลังจะมาบอกว่าไม่ผิดนะครับ”
ส่วนคำถามว่ามีกังวลหรือไม่ว่าคนจะมองว่าหัวหน้าพรรคเอาไม่อยู่ ปกครองไม่ได้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนเอง ก็ไม่ได้อยากให้เกิดเรื่องอย่างนี้ แต่ในการสกัดกั้นกฎหมายล้างผิด ทำลายระบบนิติรัฐ ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นต้นทุนส่วนหนึ่ง
   “ผมก็ได้พูดไปแล้วว่า ผมก็ไม่อยากให้เกิดอย่างนี้ แต่ว่าถามว่าในการสกัดกั้นกฎหมายล้างผิด ทำลายระบบนิติรัฐ ถ้าตรงนี้มันเป็นต้นทุนส่วนหนึ่ง ผมก็บอกว่าผมก็คงต้องยอมรับ แต่ว่าเอาละวันนี้ทาง คอป. เขาก็ทักท้วงมาอีกทางหนึ่ง ผมก็จะพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่งครับ”
เมื่อได้ถามว่าทางพรรคมีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าไม่อยากให้มีประเด็นนี้ ทุกฝ่ายก็ต้องเคารพกติกา และรับฟังความเห็นของแต่ละฝ่าย โดยเชื่อว่าเหตุการณ์จะไม่ลุกลามบานปลาย และที่สำคัญในการทำหน้าที่ของรองประธานสภาฯ ท่านอื่นก็ไม่เห็นมีปัญหาเหมือนประธานสภา
   “คือมันไม่อยากจะให้มีประเด็นนี้ ถ้าทุกฝ่ายเคารพกติกา ความเห็นของแต่ละฝ่าย ผมเชื่อว่าเหตุการณ์มันไม่ลุกลามบานปลาย ก็เห็นนะครับประชุมสภากันมาเป็นปี อันแรกก็คือว่า เหตุวุ่น ๆ จะเกิดเฉพาะเวลามันมีเรื่องซึ่งไม่ถูกต้องเข้ามา และเป็นขัดแย้ง แล้วก็ปรากฏว่า ฝ่ายค้าน หรือสส. ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้ คำว่าทำหน้าที่ไม่ได้ก็คือว่า บางทีถูกตัดบทไม่ให้พูด ถูกตัดไมค์ กำลังอภิปรายอยู่ อยู่ดี ๆ ประธานบอกให้หยุดโดยที่ไม่ให้โอกาสฝ่ายค้านได้แสดงเหตุ แสดงผล กรณีอย่างนี้มันจึงเกิดปัญหาขึ้น
2. ต้องบอกว่า 1 ปีที่ผ่านมา เหตุวุ่น ๆ ที่เกิด มีประธานท่านเดียว ที่ทำให้เกิดเหตุวุ่น ๆ เพราะฉะนั้นถ้าลองเทียบเคียงดู ยุคนี้ผมก็ยืนยันเป็นยุคที่ฝ่ายค้านยกมือให้กับกฎหมายรัฐบาล มากที่สุดยุคหนึ่งที่ผมจำได้ในการทำงานการเมืองของผม แล้วก็ข้อตกลงมาตรา 190 อะไรต่าง ๆ ยกให้เกือบหมดเลยนะครับ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ พรรคประชาธิปัตย์ไปค้านทุกเรื่อง แพ้เลือกตั้งแล้วก็เลยไม่ยอมรับอะไร ไม่ใช่ เรื่องที่มันวุ่น ๆ นี่เกิดจากกฎหมายที่ว่า นั่นอันที่ 1
อันที่ 2 ก็อย่างที่บอก ผมเห็นเวลาท่านรองประธานท่านอื่น ๆ ทำหน้าที่กัน แล้วก็ไม่มีการมาตัดบท ปิดไมค์อย่างนี้ปัญหามันก็ไม่เกิด”
   “หวังว่ามันจะมีบทเรียนนะครับในส่วนของประธานเองด้วย ในขณะเดียวกันก็แน่นอนครับ พวกเราก็ฟังเสียงพี่น้องประชาชนนะครับ ไม่ใช่ไม่ฟัง แล้วก็อย่างที่บอกก็คือว่า คอป. ก็เพิ่งท้วงมา เราก็คงจะต้องพูดคุยกันเพิ่มเติมเรื่องนี้ครับ”
เมื่อถามว่าได้ติดตามเฟสบุ๊คของ นายพานทองแท้ หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่ได้อ่านโดยตรง แต่เห็นเป็นข่าว ซึ่งก็เห็นว่าเขียนอะไรแปลก ๆ และตนรู้สึกว่านายพานทองแท้คงไม่ค่อยเข้าใจระบบสภา เพราะตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้ขยายสมัยประชุมมา ก็มีแต่กฎหมายเพื่อพ่อนายพานทองแท้เท่านั้น แต่ไม่ทำในสิ่งที่จะแก้ปัญหาประชาชนเลย
   “ผมไม่ได้อ่านโดยตรงครับ แต่ผมก็เห็นข่าวอยู่ แต่ผมก็เห็นเขียนอะไรแปลก ๆ เช่นบอกว่าการที่เรียกร้องให้ปิดสภา เพราะแปลว่าไม่เชื่อมั่นในระบบสภา ผมรู้สึกว่าคุณพานทองแท้คงยังไม่ค่อยเข้าใจว่าระบบสภาเป็นอย่างไร และอย่างที่บอกตั้งแต่ขยายสมัยประชุมมา ก็มีแต่กฎหมายที่พ่อคุณพานทองแท้อยากได้ ไอ้ที่จะแก้ปัญหาประชาชนก็ไม่เห็นทำเลย”
นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวถึงการพบกับ ออง ซานซูจี ในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ตนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนถึงความท้าทายในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเปิดเสรีอื่น ๆ ขณะเดียวกันก็ได้พูดคุยเรื่องแรงงานพม่า โดยยอมรับว่า แรงงานพม่านั้นเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
   “ความจริงแล้วก็ต้องยินดีกับเพื่อนบ้านเรานะครับ ซึ่งขณะนี้ก็มีความก้าวหน้าไปมากทีเดียว แต่ว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่พูดคุยกันกับ ออง ซานซูจี ก็ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่า จริงอยู่ขณะนี้ทุกคนก็มองว่า ทุกอย่างไปได้ดี ไปได้สวย แต่ว่าแน่นอนความท้าทายในการที่จะปฏิรูปอะไรต่าง ๆ ยังมีอีกมาก ซึ่งก็ได้แลกเปลี่ยนกัน ตั้งแต่ปัญหากฎหมายเศรษฐกิจ เรื่องการเปิดเสรี เรื่องการทำให้เกิดการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ หรือความโปร่งใส หรือความชัดเจน ความแน่นอน แล้วก็ขณะเดียวกันก็พูดถึงเรื่องแรงงานของพม่า ซึ่งจะมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นแน่นอน ทั้งเข้า และออกจากประเทศไทย ก็ดีครับ เพราะว่าคุณออง ซานซูจี ก็มาพูดกับแรงงานที่อยู่ในไทย ต้องการให้เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ เราเองต้องยอมรับว่า แรงงานพม่าได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะฉะนั้นปัญหาที่ยังค้างคาอยู่ เช่นเกิดการเอารัดเอาเปรียบ การทำผิดกฎหมาย หรือการที่เจ้าหน้าที่ใช้ประเด็นทางกฎหมายไปเอารัดเอาเปรียบเขา ก็เป็นเรื่องที่จะต้องร่วมกันแก้ไขต่อไป นี่ก็เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน แต่ว่าผลกระทบอันหนึ่งซึ่งรัฐบาลคงต้องประเมินนิดหน่อย ก็คือเรื่องของรัฐบาลพม่าเอง เพราะว่าท่านประธานาธิบดี ก็ยกเลิกการเดินทางมา คงต้องไปประเมินนิดนึงว่าเกิดอะไรขึ้น”
ส่วนความเห็นถึงการที่ประธานาธิบดีแสดงท่าทีไม่พอใจที่ นาง ออง ซานมาเมืองไทยนั้น นายอภิสิทธิ์เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรตัดประเด็นเรื่องนี้ออกไป แต่ต้องรีบแก้ปัญหา ไปทำความเข้าใจกันให้ดี
   “เห็นว่ารัฐบาลพยายามบอกว่าไม่เกี่ยว แต่ว่าจริง ๆ แล้วก็ต้องไปคิดนะครับ แล้วก็ต้องไปทำความเข้าใจกันให้ดีครับ”
   “ผมคิดว่าไม่ควรตัดประเด็น แต่ว่าไม่กล้าที่จะไปฟันธงว่าเป็นอย่างนั้น แต่ว่าผมคิดว่าอย่างไรก็ตามไม่ควรมองข้าม แล้วก็ต้องรีบแก้ปัญหา ทำความเข้าใจ ถ้ามันเกี่ยว”
ส่วนคำถามที่ว่าการเมืองข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะวันศุกร์ที่จะถึงนี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในวันศุกร์ ประธานฯ ได้ออกหนังสือเชิญประชุมรัฐสภา ซึ่งมีวาระที่ไม่น่าจะเป็นปัญหา หากการประชุมเป็นไปตามวาระ
   “ในขณะนี้ท่านประธานได้ออกหนังสือเชิญประชุมรัฐสภาในวันศุกร์ แต่ผมเห็นในวาระ ถ้าท่านประธานทำตามอย่างที่ได้ออกระเบียบวาระมาก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา ก็คือท่านประธานจะแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงคำวินิจฉัยของศาล ส่วนเรื่องที่จะพิจารณากันจะเป็นเรื่องของข้อตกลงระหว่างประเทศตามมาตรา 190”
นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวทิ้งท้ายในรายการว่า อยากให้ทุกฝ่ายอดทนกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และช่วยกันประคับประคองบ้านเมือง ทั้งนี้ยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจปิดสมัยประชุมสภา แล้วทุกอย่างก็จะจบ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสพบปะพูดคุยในการหาทางออกร่วมกัน
   “อยากให้ทุกฝ่ายได้อดทนนะครับ กับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แล้วก็ช่วยกันประคับประคองบ้านเมือง และผมก็ยังเรียกร้องนายกรัฐมนตรีครับว่า การทำให้บ้านเมืองผ่อนคลายในขณะนี้ทำได้ง่ายนิดเดียวครับ ท่านก็ตัดสินใจปิดสมัยประชุมสภา มันก็จบเรื่องไป แล้วก็ฝ่ายค้านยินดีให้ความร่วมมือในการหาทางออกร่วมกันระหว่างที่มีการปิดสมัยประชุม”
ส่วนการที่นายสาธิต ปิตุเตชะ ออกมาความเป็นธรรมในเรื่องการทำงานกับสื่อนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คงเป็นเรื่องเฉพาะตัว เฉพาะกลุ่มมากกว่า ทางพรรคฯ เองไม่ได้มีปัญหากับสื่อมวลชน แต่เห็นได้ว่าสื่อเองก็มีข้อจำกัดในการนำเสนอข่าวของฝ่ายค้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่บรรยากาศของเสรีภาพ ประชาธิปไตย
   “เรื่องสื่อนั้น คงเป็นเรื่องเฉพาะตัว เฉพาะกลุ่มมากกว่า คงไม่ได้พูดถึงในภาพรวมว่าสื่อมีปัญหาอะไรกับพรรค เพราะไม่ได้มีปัญหา แต่ว่าได้เห็นว่าสื่อนั้นมีข้อจำกัดมากยิ่งขึ้น ในการนำเสนอข่าวสารของฝ่ายค้าน และความจริงไม่ใช่เฉพาะสื่อ จะเห็นว่าการทำงานของฝ่ายค้านไปตั้งเวที ก็รู้สึกผู้กำกับก็ถูกย้ายนะครับ มันไม่ใช่บรรยากาศของเสรีภาพแล้วก็ประชาธิปไตย หวังว่าอาทิตย์หน้าจะยังได้คุยกันอยู่นะครับ”