ปัญหาการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ของศาลรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดคำถามถึงบทบาทขององค์กรที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญอีกครั้ง และคราวนี้ คำถามนั้นไปไกลถึงระดับที่พนัส ทัศนียานนท์ อดีต สสร.2540 ออกมาสารภาพบาปและระบุว่า เจตนารมณ์ในการก่อตั้งองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญ 2540 และสืบทอดมาสู่ รัฐธรรมนูญ 2550 นั้น บัดนี้ได้กลายเป็นการเปิดโอกาสให้มีอำนาจที่ 4 ขึ้นมาใช้อำนาจเหนือองค์กรหลักคือ บริหาร นิติบัญญัติและตุลาการเสียแล้ว
สมชัย จึงประสริฐ กกต. ด้านสืบสวนสอบสวน อดีตผู้พิพากษา เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวจากประชาไทและมติชนได้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าว ในฐานะที่ กกต. เป็นองค์กรอิสระที่เคยถูกจับตาอย่างยิ่งในการใช้อำนาจหน้าที่เฉกเช่นเดียวกัน โดยใช้โอกาสนี้ในการทบทวนบทบาทของ กกต. สิ่งที่ควรจะเป็นในหลักการแบ่งแยกอำนาจ และสิ่งที่ควรใช้กำกับในการทำหน้าที่และตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อันมีความซับซ้อนและซ้ำซ้อน ซึ่งเขาย้ำอีกครั้งว่า การตีความกฎหมายต้องสอดคล้องกับอำนาจของประชาชน และความถูกต้องนั้นไม่ใช่เหรียญสองด้าน ที่จะตีความไปคนละทาง
ตอนนี้กระแสแก้รัฐธรรมนูญ 2550 มีการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ท่านในฐานะเป็น กกต. เห็นปัญหาอะไรในองค์กรอิสระหรือไม่
องค์กรอื่นผมไม่เห็น แต่สำหรับองค์กร กกต. สำหรับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้นจำเป็นต้องมี กกต. อยู่ แต่ก็จำเป็นต้องปรับปรุงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ส่วนจะปรับปรุงตรงไหนผมก็เห็นว่า
ในหลายๆ ส่วนของ กกต. อาจจะมีอำนาจหน้าที่มีอภิสิทธิ์มากเกินไปหรือเปล่า เช่น อำนาจของ กกต. เฉพาะการจัดการเลือกตั้งก็เรียกได้ว่า มีภารกิจมากมายจนไม่สามารถจะพัฒนาให้เป็นแบบที่เราพึงพอใจได้อยู่แล้ว
แต่บางทีเราก็ทุ่มเททั้งบุคลากรและงบประมาณต่างๆ ไปในด้านอื่นๆ เช่น การเผยแพร่ประชาธิปไตย ทั้งที่ กกต. ก็น่าจะมีส่วนอยู่บ้างแต่หน้าที่นี้น่าจะเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของรัฐ เช่นว่า ต้องเข้าไปสู่มหาวิทยาลัย โรงเรียนต่างๆ
ซึ่งภาระเหล่านี้น่าจะเป็นนโยบายของรัฐที่จะทำมากยิ่งกว่าที่จะให้ กกต. จะต้องไปทุ่มเทและไปทำเรื่องเหล่านี้
เฉพาะงานที่ต้องเข้าไปควบคุมเข้าไปจัดการการเลือกตั้งนั้น ก็ถูกเขาด่า ถูกเขาฟ้องร้องเสียจนเราก็รู้สึกว่าบางอย่างเราก็รู้สึกไม่เต็มที่เหมือนกัน มีข้อที่เราต้องปรับปรุง แก้ไขขอบอำนาจหน้าที่กว้างขวางเกินไป มันมาก มันเยอะเกินไป
ในความเห็นท่าน กกต. ควรจะมีหน้าที่แค่ไหนอย่างไร
ผมเห็นว่าหลักใหญ่ต้องเข้ามาควบคุมและจัดการกิจการการเลือกตั้ง การควบคุมและการจัดการการเลือกตั้งนี้ หมายรวมถึงการที่เราจะต้องพัฒนาถึงวิธีการลงคะแนนเลือกตั้งของเรา
เช่นต้องลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ และเราเลือกตั้งแล้ว ในช่วงที่เลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วเราควรจะพัฒนา เอางานที่เลือกตั้งไปแล้วมีข้อบพร่องอย่างไร ควรพัฒนาอย่างไร เช่นว่า บัญชีรายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กฎหมายก็บัญญัติว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่ความจริงนั้นกระทรวงมหาดไทยเป็นคนทำ แล้วเราจ่ายเงิน แต่ครั้งหนึ่งมหาดไทยบอกว่า เขาทำไม่ได้
เพราะคอมพิวเตอร์ล่ม กกต. ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เขาบอกว่าต้องมีงบประมาณมาเพิ่มไม่งั้นเขาแย่ เราก็ปวดหัวเพราะเราไม่ได้พัฒนาเตรียมการอะไรต่างๆ เหล่านี้ กกต. ต้องไปยืมมือคนอื่นหรืออะไรต่างๆ ซึ่งมันทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเราด้อยลงไป แต่ในด้านหนึ่งการที่มีการบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ กกต. กว้างขวาง ก็เป็นการสะท้อนความคาดหวังถึงองค์กรอิสระในการเข้ามาแก้ปัญหาการเมืองไทย
ถ้ามองในแง่ดีมันก็คงดี ถ้าหากว่ามีอำนาจไม่ใช่มีแต่หน้าที่ คือมีอำนาจและหน้าที่ในการที่จะบริหาร หรือทำให้ไปสู่เป้าหมายแต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ แค่ว่าเขาจะฟ้องจะร้องอะไร มาสู่คดีกันในศาลแค่นี้ก็ปวดหัวจะตายอยูแล้ว
เฉพาะเวลานี้ กกต. ก็ถูกฟ้องนับเป็นคดีไม่ถ้วน ความจริงส่วนใหญ่ก็ชนะ แต่กว่าชนะได้ เราก็หาความสุขแทบไม่ได้
หลังรัฐประหารอำนาจในการลงโทษนักการเมืองหรือพรรคการมือง ย้ายจาก กกต. ไปสู่ศาลรัฐธรรมนุญมากกว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
เขาคงเห็นว่าเรามีภารกิจมาก ประการหนึ่ง ประการที่สองคือ ศาลรัฐธรรมนูญ เขาอาจจะวิจนิจฉัยคดีได้ดีกว่า กกต. เพราะการวินิจฉัยนั้น วิธีพิจารณาแตกต่างกัน แตกต่างกันก็คือ เขาจะเป็นโอกาสให้สองฝ่ายมาต่อสู้กัน แต่ของเราเป็นการสืบสวนสอบสวนในบางครั้งเราไม่สามารถให้เขาเปิดเผยพยานหลักฐานต่างๆ เหมือนกับศาล
ตัวท่านเองมองหรือไม่ว่าตัวบทบัญญัติในเมืองไทยมีความซ้ำซ้อนกันอยู่ในประเด็นการจัดการนักการเมืองพรรคการเมือง
ก็เห็นด้วยว่าของเราซับซ้อน เช่น กรณีของการร้องเพื่อกระทำผิดฐานยุบพรรคนั้น ก็ต้องไปให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งเขาจะต้องตั้งกรรมการขึ้นมาวินจฉัยว่ากระทำความผิดเรียบร้อยแล้ว
ก็ส่งมา กกต. อีก กกต. เองก็ต้องตั้งกรรมการอีกชุดหนึ่งขึ้น ก็เห็นว่าบางครั้งหลายๆ เรื่องก็มีการตั้งกรรมการหลายๆ ชุด ก็มีส่วน แต่ผมก็ยังมีควมคิดว่าภารกิจของ กกต. เฉพาะตอนนี้มีมากเกินไป
หมายถึงเรื่องงานจัดการใช่หรือไม่
ทุกเรื่องเลย นอกจากว่าการควบคุมการเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้ง การสืบสวนสอบสวนว่ามีใครกระทำผิดและวินิจฉัย หลังประกาศผลแล้วก็ต้องไปศาล แล้วก็มีเรื่องพรรคการเมือง รวมตลอดถึงการสิ้นสุดของ ส.ส. ส.ว. ที่ต้องทำ เฉพาะตอนนี้นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ (อดีต สว.สรรหา) คนเดียวเอาเรื่องมายื่น กกต. เราก็ทำไม่ไหวอยู่แล้ว เราต้องสวบสวนทำความเห็นๆ อย่างนี้
ท่านก็คิดูสิ ในกรณีอย่างนี้ นายเรืองไกร ร้องก็น่าจะไปร้องที่ศาลเลย ว่ากันไป ไม่ต้องให้กกต.มานั่งสืบสวนสอบสวน
ท่านคิดว่า หลายเรื่องเป็นการฟ้องร้องที่รกรุงรังมากมีสาเหตุเป็นเพราะอะไร เป็นพัฒนาการเมืองของไทยหรือทัศนคติอะไรที่เป็นปัญหา
นักการเมืองของไทยเรา ก็มักจะไม่เคารพในหลักของกฎหมาย เขามักจะมีศักดิ์ศรี แพ้ไม่ได้ เอาชนะกัน ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล แต่ที่สำคัญประชาชนของเราก็ยังไม่เข้าใจถึงระบอบการปกครองแบบประชาธปิไตย
ผมพูดรวมๆ ว่าแท้ที่จริงนั้นนักการเมืองก็ป็นแต่เพียงผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปให้ทำหน้าที่แทนประชาชยน ผมคิดว่าหลายๆ อย่าง เช่น การถอดถอนบางอย่าง เมื่อประชาชนเลือกตั้งโดยตรงได้ ก็น่าจะถอดถอนโดยตรงได้ ในหลายๆ เรื่องไม่สมควรที่จะไปยื่นเพื่อให้ ส.ว. เป็นคนถอดถอน เพราะคุนก็เห็นกันอยู่ว่า ส.ว. แบ่งเป็นสองพวก บางเรื่องถ้าฟังตามกระแสมันก็น่าจะถอดถอนได้ แต่ถ้าไปอยู่พวกฝ่าย ส.ว. ข้างหนึ่งก็คงถอดถอนไม่ได้ และในบางเรื่องก็ดูแล้วสามารถที่จะยื่นเข้าไปได้ รู้สึกว่าการเมืองในบ้านเมืองของเรากฎหมายต่างๆ ก็ยุ่งยากซับซ้อนมากเกินไป ทำให้การแปลความหมายต่างๆ บิดเบี้ยวไปได้ ซึ่งก็ไม่อยากจะเอ่ย ก็แล้วแต่ว่าเขานั้นมีความคิดเห็นอย่างไร มีทัศนคติอย่างไร
เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเมืองของประเทศเราไม่พัฒนา คนนี้ถ้าทำไม่ดี ถ้าเป็นพวกเราเราก็หาทางแก้ตัวให้เขา อีกคนไม่ใช่พวกเราเราก็หาเรื่องใส่จนกระทั่งเกินเลยไป
บ้านเมืองเราก็ไม่ค่อยได้ให้ความเป็นธรรม และกระทั่งความเป็นธรรมหรือนิติธรรมนั้นก็มองแตกต่างกัน จริงๆ ความเป็นธรรมหรือนิติธรรมนั้นน่าจะเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่ต่างคนต่างแปล
จริงๆแล้วถ้าเรามองและยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยตรง ของส่วนรวมโดยตรงแล้วเชื่อว่าคำตอบมีคำตอบเดียว คือความถูกต้อง ความถูกต้องมันไม่ใช่เหรียญมันไม่ได้มีสองหน้า มันมีหน้าเดียว
มันไม่มีหัวกับก้อย
เราต้องสร้างแนวความคิดของความถูกต้องนั้นต้องเป็นหนึ่งเดียว ถ้าต่างคนต่างมองแล้วบอกว่าฉันถูกอีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าคุณผิดฉันถูก ถ้าอย่างนี้บ้านเมืองนี้จะแตกแยกอย่างนี้ต่อไป
บทเรียนจากต่างประเทศ พบว่า สำหรับประเทศที่ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย การที่องค์กรอิสระขึ้นมากำกับการเลือกตั้ง รวมทั้งการใช้การตีความรัฐธรรมนูญ การจัดการกับนักการเมือง เช่น การยุบพรรคหรือเพิกถอนสิทธิกลับเป็นกระบวนการที่เป็นไปทางเทคนิคอย่างมาก ท่านมองว่าประเทศไทยเป็นเช่นนั้นอยู่ด้วยหรือเปล่า
ผมเห็นว่าบางทีเรามองทางเทคนิคมากเกินไป โดยไม่ได้มองถึงเจตนารมณ์ของประชาชนโดยภาพรวม ตามหลักของประชาธิปไตย แต่ไปเอาเทคนิคอย่างที่คุณว่า จริงๆ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ หยุมหยิมกฎหมายจะไม่สนใจ แต่ในทางปฏิบัติของเราไปเอาเรื่องที่ไมเป็นเรื่องเท่าไหร่
เอาให้มันมาเป็นประเด็นขึ้นมา แต่เรื่องใหญ่ๆ แท้ๆ กลับมองว่าดีแล้ว เช่น ปล่อยให้คนเลวมามีอำนาจมามีอำนาจมาเข้าสภาได้อย่างไร
ปัญหาคือ เลวในสายตาของคุณนั้น กับความดีของอีกฝ่ายมันเกิดมาตรงกัน เลวของคุณดีของอีกฝ่าย ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง แล้วจะทำอย่างไร
พฤติการณ์ของนักการเมืองนั้นมีบางเรื่องต้องทำไม่ได้ ไม่อยากจะเอ่ยว่าคืออะไร และถ้าคุณทำอย่างนี้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เช่น บางคนที่ลงทุน เขาไม่ซื้อสิทธิขายเสียงหรอก แต่เขาซื้อตัว ส.ส. เลย
แบบนี้คุณจะยอมได้ไหม โดยกฎหมายเลือกตั้งมันก็ไม่ผิดหรอก เพราะ เขาเป็น ส.ส. แล้ว แต่เขาขายตัว
บางประเทศ สมมติเขามีสองพรรคใหญ่ คุณเป็นพรรคเล็ก คุณก็ประกาศเลยว่าคุณอยู่ในกลุ่มของพรรคไหน รัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เพื่อประชาชนจะได้เลือกได้ถูก ว่าตกลงแนวคิดของคุณอยู่ในพวกขวาจัดหรือซ้ายจัด ตรงไหน
แต่ของเราไม่ใช่ เลือกแล้ว ไอ้พวกนี้ก็มองดูซิ พรรคไหนได้เป็นรัฐบาลก็ไปอยู่กับพรรคนั้น กลายเป็นว่าประชาชนไม่ได้เลือกตามนโยบายให้คุณมาบริหาร แต่กลายเป็นว่าคุณเป็นตัวไหลไปไหลมา แล้วประชาชนจะเลือกถูกได้อย่างไร วิธีคิดต่างๆ เหล่านี้ ประชาชนในเมืองเราก็ยังคิดกันไม่ถูกอยู่ดี
ท่านเป็น กกต. ช่วงหลังรัฐประหารโดยมีสปอตไลท์ความขัดแย้งพุ่งมา ในหลายประเด็น แรงกดดันเหล่านี้ลดลงไปหรือไม่
มันลดลง เริ่มจางและเริ่มปลี่ยนไปยังองค์กรอื่น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าองค์กรไหน ก็ควรทำหน้าที่ของตนองให้ดี วินิจฉันตามหลักนิติธรรม ตามที่กฎหมายบัญญีติ อย่าเอนเอียงไปข้างหนึ่งข้างใด ประชาชนเขาก็ยอมรับ อย่าง กรณีเรื่องนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เดิมฝ่ายแดงก็ถูกตี แต่ถึงบัดนี้ เขาก็ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นที่รับได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ยึดตามกฎหมาย
เมื่อก่อนนี้ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็โจมตีด่าผมว่าเข้าข้าง เพราะว่า นายจตุพร ถูกควบคุมอยู่โดยหมายของศาล ต้องขาดคุณสมบัติตั้งแต่ แรกแล้ว ทำไม กกต. ถึงรับสมัคร
พวกผม กกต. ไปดูงานที่อเมริกา ไปวัดไทยในลอสแองเจลลิส ก็มีคนไทยที่โน่น ตะโกนว่าทำไมถึงปล่อยให้คนไม่ดี คนเผาบ้านเผาเมือง เข้าไปสู่สภา ในอเมริกาไม่มีรับรองให้เข้าสภาก่อนแล้วมาสอยทีหลัง เขาก็ด่า กกต.
แต่แท้ที่จริง เวลาเราวินิจฉัย เราไม่ได้เลือกเหลืองหรือแดง แต่เราวินิจฉัยตามข้อกฎหมาย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ เขาก็วินิจฉัยเห็นอย่าง กกต. นี่แหละ ว่านายจตุพร ไม่ได้ขาดคุณสมบัติตอนรับสมัคร เราจะเห็นกรณีนายก่อแก้ว พิกุลทอง ศาลก็ให้ควบคุมตัวมาลงสมัคร แสดงว่า แม้เขาถูกควบคุมตัว เขาก็สมัครได้ จวบจนกระทั่งถึงวันเลือกตั้งที่เขายังคงถูกควบคุมตัวอยู่ จึงทำให้เขาสิ้นสุดความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองลง ทำให้เขาขาด คุณสมบัติ
แต่เมื่อประชาชนเลือกเขาแล้วเราก็ต้องประกาศว่าประชาชนเลือกเขา เพียงแต่เมื่อเขายังคงถูกควบคุมตัวอยู่ จึงทำให้ความเป็นสมาชิกของเขาสิ้นสุดลง จึงทำให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91
กกต. ต้องสืบสวนสอบสวนทำสำนวนส่งให้รัฐสภา แล้วรัฐสภา ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อว่า การเป็น ส.ส. ของเขาสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมาย เป็นไปตามหลักนิติธรรม
ไม่ใช่เรื่องว่าเราปล่อยคนผิดเข้าสภา แล้วเรามาสอบทีหลัง มันไม่ใช่ แต่มันเป็นไปตามหลักนิติธรรม เป็นไปตามหลักกฎหมายบัญญัติไว้อย่างนั้น แล้วไม่ใช่เรื่องปล่อยก่อนสอยทีหลัง เป็นเรื่องที่ เขามีคุณสมบัติครบถ้วน แต่ต่อมา คุณสมบัติเขาขาด ความเป็น ส.ส. จึงสิ้นสุดลง ปัญหาว่า ปล่อยไปก่อนและสอยทีหลังเคยมี แต่ไม่ใช่กรณีนายจตุพร เช่น กรณี นายยงยุทธ ติยไพรัช เป็นเรื่องที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ บอกว่า ถ้าเราไม่มีหลักฐาน ก็ต้องรับรองเขาก่อนภายใน 7 วัน แต่ถ้ามันมีเรื่องร้องเรียน ร้องคัดค้านและมีเหตุสงสัยว่า การเลือกตั้งจะไม่สุจริตยุติธรรม เราจะยังไม่ประกาศผลก็ได้ แต่เราต้องสอบสวนให้เสร็จภายใน 30 วัน ถ้าเราสอบสวนไม่เสร็จ ก็ต้องปล่อยเขาไปก่อน สอบสวนเสร็จเมื่อไหร่ ก็ไป สอยเขา อันนี้เรียกได้ว่า เข้าสภาก่อนแล้วมาสอยทีหลัง แตกต่างจากกรณี ของจตุพร ไม่เหมือนกัน กฎหมายเลือกตั้ง ก็ยุ่งยาก เข้าใจยาก คนเรียนกฎหมายแท้ๆ ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ
นี่เป็นปัญหาการตีความกฎหมายที่ต่างกัน เช่นเดียวกับกรณีมาตรา 68 ทำให้เกิดการตีความที่หลากหลาย ท่านมองอย่างไร
ถ้ายึดหลักจริงๆ ดูที่มาที่ไปแต่แรก ก็ตีความได้อย่างเดียว แต่เราก็ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลก็ยังไม่ได้วินิจฉัย ซึ่งโดยหลัก ถ้าเราไปพูดก่อนก็เหมือน เราไปชี้นำ แทรกแซง ไปให้ท้ายฝ่ายใด ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี ขณะเดียวกัน องค์กรไหน จะอยู่ได้หรือไม่ สมัยนี้ประชาชน ก็ไม่โง่ เขาก็รู้ว่าสิ่งที่วินิจฉัยนั้นถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ เรื่องนี้ กกต. คงไม่ต้องออกความเห็น
มองเหตุการณ์ขณะนี้ อำนาจอธิปไตยของรัฐ ซึ่งแบ่งแยกการใช้เป็น บริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ กำลังเข้าสู่วิกฤตศรัทธาหรือไม่
ช่วงนี้เข้าสู่วิกฤตศรัทธา โดยเฉพาะหลักการแบ่งแยกอำนาจของ มองเตสกิเออ นักคิดชาวฝรั่งเศส ที่อธิบายว่า ประชาชนประเทศชาติจะสงบสุข อำนาจทั้ง 3 จะต้องถ่วงดุลและคานกันได้
แต่บัดนี้รู้สึกว่าอำนาจตรงนี้ไม่สมดุลกัน ผมคิดว่า เมื่อเสียสมดุลแล้วบ้านเมืองก็จะไม่สงบสุข จำเป็นต้องปฏิบัติให้เข้าไปสู่หลักทางทฤษฎีว่า อำนาจทั้ง 3 ต้องถ่วงดุลและคานกัน ไม่ใช่ถ่วงแล้วทำให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งใช้อำนาจของตนเองไม่ได้ กระทั่งเกิดความไม่สมดุล
หลายฝ่ายพูดเรื่องการปรองดองแต่มองภาพปรองดองแตกต่างกัน ดังนั้นสิ่งนี้จะเป็นไปได้จริงหรือไม่
เรื่องปรองดอง ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าใครปรองดองกับใคร การปรองดองแบบไหนยังไง ผมก็สับสนอยู่ แต่บ้านเมือง ก็ปรองดองกันยาก เหตุผลเพราะใน 2 ฝ่าย หากฝ่ายใดมีอำนาจ อีกฝ่ายก็ไม่ไว้ใจว่า เมื่อมีอำนาจแล้วจะมาทำลายตัวเองหรือไม่ บรรยากาศต่างก็ไม่ไว้ใจกัน แล้วเป็นเรื่องความเป็นความตาย ใครพลาดก็ตาย หลายๆ คนอาจจะไม่กลัวความตาย แต่ก็ยังไม่อยากตาย เพราะความไม่อยากตายนี้เองจึงยังไม่อยากเสี่ยง
ผมเห็นว่า การปรองดอง ถ้าปล่อยให้คนที่อยู่คนละฝั่งมาปรองดองกัน เป็นเรื่องยาก ต้องมีคนที่เหนือกว่านั้น บอกให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดก็น่าจะจบ เพราะถ้าต่างฝ่ายต่างมีอำนาจและระแวงกันก็ไม่สามารถตกลงกันได้ ต้องอาศัยคนที่อยู่ตรงกลางและเหนือกว่าทั้ง 2 ฝ่าย
สถานการณ์จะถึงขั้นล้มกระดานและเลือกตั้งใหม่หรือไม่
กกต. คงตอบยาก แต่ไม่ประมาท ไม่ว่าจะเลือกตั้งซ่อมหรือเลือกตั้งใหม่ ตราบใดที่ท่านยังไม่ยุบ กกต. และมีงบประมาณ เราจะจัดการให้เรียบร้อยได้
ผมมองว่าตอนนี้พรรคการเมืองของไทย มีอิทธิพลกับ ส.ส. มากเกินไป ความจริงพรรคมีอิทธิพลเพียงตอนส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งก็พอ เพราะเมื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง เขาได้รับเลือกตั้งแล้ว ส.ส. ควจะเป็นผู้แทนปวงชน ต้องผูกพันกับประชาชนมากยิ่งกว่าพรรค ต้องถือประโยชน์ของประเทศชาติ ของปวงชนมาที่หนึ่ง ไม่ใช่คำนึงแต่ผลประโยชน์พรรค
เราควรแก้รัฐธรรมนูญเรื่องการสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่
เราทดลองมาหลายหนแต่ ส.ส. ของเรายังไม่พัฒนา เพราะถ้าไม่สังกัดพรรค เวลาจะโหวตอะไร ก็มีปัญหาการเอาเงินไปจ่าย เพื่อโหวตเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้ จึงต้องแก้ให้พรรคการเมืองเข้มแข็งแล้วคุม ส.ส.
แต่พอพรรคการเมืองเข้มแข็งแล้วคุม ส.ส. ก็กลายเป็นพรรคการเมืองมีอำนาจ เหนือ ส.ส. จนกระทั่ง ส.ส. ไม่มองประชาชนเป็นที่หนึ่ง เขามองพลาดไป
ส.ส. ของเรา เวลาไปเขียนอาชีพที่ไหน จะบอกว่า อาชีพนักการเมือง ทั้งที่ ไม่มีอาชีพนักการเมือง เพราะนักการเมืองไม่ใช่อาชีพ นักการเมือง คือตัวแทนที่เข้ามาทำเพื่อประชาชน
เมื่อบอกว่า อาชีพก็ต้องแสวงหาประโยชน์ หารายได้ เฉพาะคิดตรงนี้ก็ผิดแล้วนักการเมืองไม่ใช่อาชีพ เพราะการเป็นผู้แทนประชาชนเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นผู้มีเกียรติ ถ้าถือว่านักการเมืองเป็นอาชีพ แสดงว่าเกียรติ ก็หายไป
มองเหตุการณ์ความวุ่นวายในรัฐสภา อย่างไร
ถ้า ส.ส. มีความประพฤติที่แย่ ก็ไม่น่าจะเป็น ส.ส. ได้ ทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น แสดงว่า ไม่ได้นึกถึงประชาชน แต่คุณนึกถึงพรรคพวก ผมคิดว่าสถาบันหลักใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี รวมทั้ง กกต. ก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี